ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชวนถกวิกฤติ “Population Disruption” จากกับดักคนเกิดน้อยถึงพันธุกรรมเปลี่ยน

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชวนถกวิกฤติ “Population Disruption” จากกับดักคนเกิดน้อยถึงพันธุกรรมเปลี่ยน

5 กุมภาพันธ์ 2020


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดงาน Thaipublica Forum 2020 เวทีเสวนาปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เปิดมุมมองการใช้ชีวิตยุค Population Disruption” โดยมีดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม,อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. และที่ปรึกษาสถาบันกำเนิดวิทย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมการบรรยายจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท Siametrics Consulting จำกัด

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

จากประชากรขยายตัวเป็นหดตัว

ดร.ไพรินทร์เริ่มต้นเกริ่นนำว่า ตนเองโดยส่วนตัวเป็นวิศวกรและไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชากรศาสตร์ตั้งแต่แรก แต่ช่วงหลังตั้งใจว่าจะทำเรื่องการศึกษาจึงไปสร้างโรงเรียนกำเนิดวิทย์กับมหาวิทยาลัยวิจัยที่ระยอง(สถาบันวิทยสิริเมธีหรือ VISTEC) พอต้องจับเรื่องการศึกษาก็ต้องจับเรื่องคนไปด้วย และเป็นที่มาของหัวข้องานเสวนาในวันนี้ Population Disruption โดยในวันนี้จะพูดเรื่องความปั่นป่วนหรือ disruption ของคนใน 4 หัวข้อ เริ่มตั้งแต่ปริมาณของคนในอนาคตจะเป็นเท่าไหร่ คนในอนาคตจะอยู่ที่ไหน คนในอนาคตจะมีคุณภาพอย่างไร และสิ่งเหล่านี้จะกระทบตัวเราอย่างไร

เรื่องแรกสุดอยากจะพูดเรื่องปริมาณจำนวนคน ผมคิดว่าเรากำลังเดินเข้าสู่วิกฤติอันหนึ่งที่ค่อนข้างน่ากลัว หลายคนยังไม่ทราบว่าคนไทยในวันนี้ 70 ล้านคน หากมองไปในอดีตเรามีไม่กี่ล้านคน อย่างสมัยอยุธยาคาดว่ามีล้านคน 2-3 ล้านคน ประเทศไทยทำสำมะโนครัวประชากรตอนสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน สมัยนั้นเซอร์จอหน์ เบาว์ริงเองคาดว่ากรุงเทพฯ มีไม่เกิน 300,000-600,000 คน

“เราจะเห็นว่าจำนวนคนที่น้อยมากในอดีตในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่เราเปิดประเทศและรับเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามา สิ่งที่เราเลือกเป็นผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้ามาในประเทศ เราจะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว แล้วมีการคาดการณ์ในตอนนั้นด้วยว่าในอนาคตต่อไปจะมีประชากร 60-70 ล้านคน แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าประชากรสูงสุดที่ประมาณ 70 ล้านคน” ดร.ไพรินทร์กล่าว

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความแข็งแกร่งความก้าวหน้าของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่คน ถ้าไม่มีคน ประเทศทำอะไรไม่ได้ ดั่งในอดีตเราจะได้ยินคำว่าเจ้าขุนมูลนายมีการเทครัวสักเลข ดึงทรัพยากรคนไปตามที่ต่างๆ อย่างตอนที่เราเสียกรุงครั้งที่สอง ในประวัติศาสตร์บอกว่าคนไทยถูกกวาดต้อนไปหงสาวดี เวลาคนไทยถูกกวาดต้อนเราเรียกว่ากวาดต้อน แต่พอเราไปเราไปกวาดต้อนคนอื่นมาเรียกว่าเทครัว การเทครัวแบบนี้มีมาจนถึงสมัยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา คือช่วงสงครามสมัยรัชกาลที่ 3-4 ตอนนั้นเราไปเทครัวเขมรลาวมามากมาย เราจะเห็นที่เกาะเกร็ด ราชบุรี สระบุรี

“ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่าการที่จะรักษากำลังอำนาจของประเทศได้ จำเป็นต้องมีประชากร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนสัญชาติอะไร แล้วการเทครัวเราไม่ได้เอามาเป็นทาส เอามาปู้ยี่ปู้ยำ เราให้เขาอยู่ทำมาหากินและเป็นกำลังคนเวลาทำศึก เวลาคนไปรบเราต้องรู้ว่าจะเอาใครไปรบ ก็มีการสักเลข คือสักที่ข้อมือบ้าง หัวบ้าง เมื่อรัฐบาลเรียก พร้อมที่จะทำการรบ แต่ในอดีตประเทศไทย พื้นที่ใหญ่ แต่มีคนไม่กี่ล้านคน ทำอะไรไม่ได้มาก”

อัตราการเกิดของไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนมาถึงประมาณปี 2514-2515 ที่จุดสูงสุดอัตราการเกิดที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี หลังจากนั้นอัตราการเกิดเราลดลงด้วยอัตราเร่ง ส่วนหนึ่งจากการรณรงค์ควบคุมการเกิดในช่วงปี 1970 หรือปี 2513 โดยคุณมีชัย (วีระไวทยะ) หรือ Mister Condom ที่เริ่มรณรงค์ให้ลดการเกิดของประชากรด้วย แต่อัตราการเกิดของไทยตอนนี้อยู่ที่ 600,000 คน หรือครึ่งหนึ่งของจุดสูงสุด และแต่ละปีอัตราการเกิดจะลดลง 60,000-70,000 คน ถามว่ามากหรือไม่ ถ้าไปดูจะเท่ากับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของไทย 1 แห่งทุกปี แนวโน้มนี้ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงด้วย

โดยสรุปประชาชนไทยเพิ่มขึ้นอยางเร็วตามการเข้ามาของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จำนวนคนเพิ่มขึ้นไปจนถึงใกล้ๆ 70 ล้านคน ซึ่งเราจะได้ยินว่า 68-69 ล้านคน แต่ไม่เคยแตะถึง 70 ล้านคน เป็นเพราะประชากรไทยขึ้นไปจนถึงสูงสุดแล้ว และหลังจากนี้ประชากรของเราจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วและลดเร็วกว่าของโลกด้วย ถ้าดูตัวเลขจะน่าสนใจว่าตัวเลขอัตราการเกิดเทียบกับสตรีของไทยคนหนึ่ง หากจะรักษาอัตราการเกิดให้คงที่หรือ Break Even ไม่เพิ่มไม่ลด อย่างน้อยจะต้องอยู่ที่ 2.1 คือครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน แต่ของเราตอนนี้ต่ำกว่าแล้ว

“ถ้าเทียบกับทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วเราเคยมีอัตราการเกิดถึง 6-7 คนต่อสตรีหนึ่งคน แต่ส่วนใหญ่ลงมาถึงระดับ 2 คนแล้ว และมีเพียงแอฟริกาเท่านั้นที่อัตราการเกิดสูง แล้วทำไมเราต้องรณรงค์ให้ลดอัตราการเกิด สาเหุตเพราะตอนนั้นเราพบว่าอัตราการตายของเราต่ำลงมาก เดิมการมีอัตราการเกิดที่สูงไว้เพราะว่าโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ พออัตราการตายลดลงในระยะหลัง เราไม่จำเป็นต้องรักษาอัตราการเกิดให้สูงอีกต่อไป แต่ในแอฟริกายังสูงเพราะว่าระบบสาธารณสุขที่ไม่ดี อัตราการตายสูงก็ต้องรักษาอัตราการเกิดเอาไว้”

ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางการแพทย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การผลิตวัคซีนขึ้นมา เรื่องของการใช้การผ่าตัด น้ำสะอาด การมียาปฏิชีวนะ ซึ่งพัฒนาอย่างมากในช่วง 200 ปีหลัง และทำให้อัตราการตายลดลงอย่างมาก ดังนั้นถ้าอัตราการเกิดลดลงมาไม่ทันมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าการสะสมตัวของประชากร ถ้าจำได้เรามีแพทย์สมัยตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 อัตราการตายลดลงมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่เรายังไม่ลดอัตราการเกิดจนกระทั้งรัชกาลที่ 9 ที่เข้าสู่จุดพีก

ถ้าดูสำมะโนประชากรของไทยตัวเลขตอนนี้จะมีจำนวนประชากร 68 ล้านคนและลดลงมาเรื่อยๆ เราจะไม่เห็นตัวเลข 70 ล้านคนอีกแล้ว

“ที่ผมรู้ว่าอัตราการเกิดลดลงปีละ 60,000 คน เพราะตอนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการเข้ามารายงานว่าคนที่ขายนมกล่องประท้วงว่ากระทรวงไปตัดโควตาเขา กระทรวงก็มารายงานว่าไม่ได้ตัด แต่เด็กลดลงปีละ 50,000 คน เขาก็ต้องสั่งนมลดลงทุกปีด้วย แล้วเด็กกลุ่มนี้อีก 10 กว่าปีจะเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมต่างจังหวัดไม่มีเด็กเรียนหรือเด็กน้อยลง”

กับดักโครงสร้างประชากรเปลี่ยน-ใครจะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ?

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเริ่มต้นที่เป็นรูปเจดีย์ก็กลายเป็นสถูปไป เพราะว่าอัตราการเกิดใหม่ลดลง แล้วอัตราการเกิดของคนที่เกิดมาแต่ยังไม่ตายก็สะสมขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการเกิดของคนไทยอยู่ที่ 1.6 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ดังนั้นเราพูดโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าจำนวนประชากรของไทยเป็นขาลง

ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ด้วยความเจริญทางการแพทย์ อายุก็มากขึ้น มีคำกล่าวติดตลกว่าไม่อยากตายก็อย่าหยุดหายใจ คือถ้าทนอยู่ได้อีก 10 ปี ด้วยข้อมูลสถิติทางการแพทย์ท่านจะมีอายุไปอีกได้ 2 ปี เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์จะไปช่วยยืดอายุไปได้อีก 2 ปี จริงๆ ตัวเลขน่าจะข้ามไป 3 ปีแล้ว ญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุเกินหน้าเราไปมาก มีอัตราผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ยุโรปก็เดินไปแบบนี้ สังคมไทยก็เข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกัน

“ทีนี้ถ้าแบ่งประชากรตามอายุตั้งแต่เกิดจนถึงตายประชากรไทยประมาณ 70 ล้านคน เราจะเห็นข้อมูลน่าสนใจว่าช่วงวัยทำงานมีจำนวนพอๆ กับกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ แล้วคนกลุ่มผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นมาทุกที และส่วนวัยทำงานก็ลดลงไปทุกปี ในระบบเศรษฐกิจคนทำงาน 37 ล้านคนคือคนที่ต้องแบกคนสูงวัยและเด็ก แต่เราจะเห็นว่าถ้าคนกลุ่มนี้แบกคนไม่ทำงานเฉลี่ยเกือบ 2 คน อย่าลืมว่าเขาก็ต้องแบกตัวเองด้วย แล้วตัวเลขนี้จะเปลี่ยนหนักไปเรื่อยๆ อีกหน่อยอาจจะต้อง 2-3 คน ถามว่าในระบบเศรษฐกิจคนกลุ่มนี้จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ถึงจะพอ และนี่จะเป็นต้นตอของปัญหาที่จะเกิดในหลายประเทศพูดกันว่าเงินเกษียณที่สะสมเอาไว้ไม่พอที่จะไปแบกคนสูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตรงนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจ ตอนนี้ประเทศไทยเลือกตั้งได้อายุ 18 ปีและยังเรียนหนังสืออยู่ สมมติว่าอยู่ในกลุ่มเด็กประมาณ 6 ล้านคน เดี๋ยวจะมีอะไรสนุกๆ เล่าให้ฟัง”

ธนาคารโลกบอกว่าไทยกำลังตกอยู่ในกับดักอันหนึ่ง เพราะโดยปกติหากเอารายได้ประชาชาติเทียบกับอัตราการเกิด เราจะพบว่าออกมาเป็นรูปที่แบ่งออกเป็นสองแกนซ้ายขวา นั่นคือประเทศที่รวยจะต้องมีประชากรน้อยหรือไม่ก็มากไปเลย เพราะประเทศที่การเกิดน้อยจะดูแลประชากรได้ง่าย รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี รายได้ประชากรสูง ส่วนประเทศที่ใหญ่มีประชากรเกิดมาก เขาจะมีรายได้มากขึ้นด้วย แม้ว่ารายได้ต่อหัวจะลดลง แต่ประเทศที่แย่ที่สุดคืออัตราการเกิดก็ต่ำ รายได้ก็ต่ำ

“แล้วเผอิญว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ ธนาคารโลกบอกว่าอยู่ในกับดักที่แย่ที่สุดแล้ว ดังนั้นคุณต้องเพิ่มประชาชนหรือทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ามันเป็นสถานะที่ไม่ดีเป็นกับดักที่ไม่ดี เพราะถ้าอยากได้รายได้เยอะก็ต้องได้คนเยอะ แต่ตอนนี้จำนวนคนเราก็น้อย รายได้ประชาชาติต่อหัวก็ต้องสูง แต่เราอยู่ในกับดักที่ไปไหนไม่ได้ทั้งคู่”

ถามว่าสถานการณ์แบบนี้เกิดกับประเทศอื่นหรือไม่ ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนกำลังเข้าสู่วิกฤติเดียวกัน จีนหลังสงครามโลกตอนพรรคคอมมิวนิสต์ชนะ อัตราการเกิดของจีนเด้งขึ้นมา แต่หลังจากนั้นลดลง รัฐบาลจีนมีนโยบายลูกคนเดียว จนตอนนี้เข้าสู่ระดับเดียวไม่ต่างจากญี่ปุ่นแล้ว ตอนนี้การเกิดต่ำกว่า break even แล้ว ผลก็คือว่าเด็กเกิดเพียงครึ่งเดียวของตอนสูงสุด ตอนนี้เริ่มตระหนกแล้วว่าประเทศที่ต้องเลี้ยงคน 1,400 ล้านคน ต้องทำงานและมีรายได้ขนาดไหน

“ประเทศญี่ปุ่นเคยมีอัตราการเกิด 2 ล้านคนต่อปีแล้วลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญพอคนอายุมากขึ้น อัตราการตายที่เคยลดกลับเพิ่มขึ้น เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่คนแก่เพิ่มขึ้น เราจะเห็นว่าญี่ปุ่นพอเข้าสู่ช่วงประชากรไม่เกิดแล้ว จีดีพีของเขาจากที่เคยเป็นประเทศที่ดันตัวเองขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกจากแพ้สงครามในไม่กี่ปี แต่พอโดนสหรัฐอเมริกาทำสงครามการค้าในปี 1985 คือโตชิบาสมัยนั้นเหมือนหัวเว่ยในสมัยนี้ ผู้บริหารตอนนั้นถูกจับขังคุกด้วย ญี่ปุ่นหลังจากนั้นตกเข้าสูงช่วงเติบโตต่ำเป็นเวลานานมากและไม่น่าจะสามารถพ้นจากกับดักแบบนี้ไปได้ และนี่เป็นรูปที่จีนกลัวมากที่สุด จีนพยายามรักษาการเติบโตที่ 6.5% เพราะเห็นญี่ปุ่นแล้วว่าพออัตราการเกิดลดลงการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นด้วย

ตัวเลขอัตราการว่างงานเราต่ำมาก…ค่อนข้างจะหลอกลวง

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า ถามว่าแล้วประชากรเกี่ยวอะไรกับการเติบโของเศรษฐกิจ ในประเทศจะเจริญได้มันต้องมีการผลิต นำเข้า ส่งออก ค้าขาย แล้วเราวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย 3 ตัวที่เรียกว่าจีดีพีที่คิดค้นมาตอปีค.ศ. 1930 กว่าๆ คือวัดจาก 1.การผลิต 2.รายได้ 3.ใช้จ่าย โดยทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นตัวไหนจะออกมาเท่ากัน แต่อยู่ที่ความสะดวกว่าจะใช้อะไร OECD จะใช้นิยามแรก ประเทศไทยจะใช้นิยามที่สาม ถ้าอ่านตามข่าวว่าเศรษฐกิจมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 4 เครื่อง บริโภค ลงทุน รัฐบาล ส่งออก

“แต่เราลืมนิยามที่สองไป ถ้าเราดูแต่นิยามที่ 3 สิ่งที่เราทำคือชิมช้อปใช้ เพราะว่าจะไปเร่งเครื่องยนต์เหล่านี้ แต่ถ้ากลับมาดูนิยามที่สองระบุว่าจีดีพีเกิดจากคน ถ้าไม่มีคน โรงงานจะไปได้อย่างไร และนี่คืออะไรที่เกิดกับญี่ปุ่น คือพอคุณไม่มีคนเกิด จะผลักดันจีดีพีอย่างไร ใครจะไปใช้เงินให้เศรษฐกิจขยายตัว แล้วเรารู้ด้วยว่าประชากรเราลดลงปีละ 50,000-60,000 คน เราจะแก้ไขอย่างไร”

ญี่ปุ่นแก้ไข 3 มาตรการ อันแรกโดยเอาแรงงานคนแก่มาใช้จากเกษียณอายุ 60 เป็น 65 ปี เราเห็นอากงอาม่ามาล้างห้องน้ำ แล้วเขาก็ต้องทำเพราะเขาจะอยู่ถึง 90 ปีแน่ๆ ถ้าไม่ทำงานเขาจะอยู่ลำบาก อันที่สองคือเอาผู้หญิงมาใช้จากเดิมที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว ตอนนี้ผู้หญิงทำงาน 20-30% เทียบกับบ้านเราทำงานกัน 60-70% แล้ว ทางเลือกนี้เราไม่มีแล้ว อันที่สามใช้แรงงานต่างชาติ ตอนนี้เขาเปิดแล้วและคุ้มครองด้วย บ้านเราเปิดเหมือนกันแต่เราบังคับว่าแค่ไร้ทักษะและเปิดแค่ 3 ล้านคน และจากที่เราเห็นว่าคนวัยทำงานของไทยมีอยู่ 37 ล้านคน และในนั้นอย่างน้อย 3 ล้านคนคือแรงงานไร้ทักษะที่ทำงานอยู่

“ผมกำลังบอกว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อาจจะต้องเปิดให้แรงงานมีฝีมือเข้ามาทำงาน ถ้าเรายังอยากรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราไว้ ฉะนั้นตัวเลขอัตราการว่างงานเราต่ำมากค่อนข้างจะหลอกลวง คือถ้าแรงงานเราไม่พอมันก็ต่ำอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอะไร”

หากเทียบกับหลายประเทศมีโครงการที่จะให้มีลูกมากขึ้น สิงคโปร์จับคนมีการศึกษาใส่เรือแล้วให้ออกไป 3 วัน หวังว่ากลับมาจะมีคนแต่งงานกันบ้างและมีลูกดีๆ ให้กับประเทศ เราจะเห็นว่าแนวคิดแบบนั้นของเราชิมช้อปใช้ก็โอเค แต่ทำไปเรื่อยก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่อย่างเช่นนโยบายที่จะให้เงินกับผู้หญิงท้อง คิดว่ามีประโยชน์ หรือให้เงินกับผู้หญิงท้องที่ฝากคครรภ์เพราะเราอยากได้เด็กที่มีคุณภาพ หรือลดภาษีช่วยคนมีลูกคนที่สองถึงสามหนักๆ ไปเลย

อนาคตพันธุกรรมจะเปลี่ยนไปหรือไม่?

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า หากถอยออกมาจากเรื่องเศรษฐกิจ เรากำลังมาถึงจุดหนึ่งที่น่ากลัวกว่าเศรษฐกิจถดถอยลง เพราะถ้าเราถามว่าอะไรคือสัญชาตญาณของมนุษย์ คือการสืบพันธุ์และรักษาเผ่าพันธุ์ เราเลี้ยงลูกเราเก็บเงินทุกๆ อย่างให้ลูก เพื่อว่าเราตายแล้วลูกจะได้อยู่สบาย คำถามคือสิ่งนี้มันหายไปโดยเฉพาะคนมีการศึกษา เราแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง อัตราการเกิดน้อยลง แล้วอัตราการเกิดไปไหน

“มีประเด็นที่เราต้องคิดต่ออีกมากมาย ยกตัวอย่าง ช้างในแอฟริกา เหตุการณ์ที่เกิดคือช้างที่ตัวใหญ่มีงาสวยๆ เริ่มหายไปหมด เพราะว่าคนต้องการงา เราก็ไปยิงช้างที่มีงา พอตอนหลังเรากลัวว่าช้างจะสูญพันธุ์เราก็ไม่ยิงช้างตัวเมียหรือตัวผู้มีงาไม่สวย สิ่งที่เกิดขึ้นช้างตัวใหญ่ที่มีงาสวยมันหายไป ยีนส์พันธุกรรมของช้างแบบนี้ ประชากรของช้างเปลี่ยนหน้าตาไปแล้ว ช้างไม่ได้สูญพันธุ์อะไร เราเป็นคนคัดเลือกพันธุ์ ดังนั้นจึงมาถึงจุดที่รัฐบาลต้องคิดแล้วว่าถ้าเราอยากให้ประชากรของเราเป็นอย่างไรในอนาคต เราต้องใช้มาตรการภาษี มาตรการอะไรต่างๆ ไม่เช่นนั้นเราจะจบเหมือนช้าง”

คนกระจุกตัวในเมืองกับโจทย์ออกแบบ “เมืองน่าอยู่”

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อไปที่จะพูดเรื่องคนเกิดน้อยลงแล้วคนพวกนี้ไปอยู่ที่ไหน มีคำพูดอันหนึ่งว่า urbanization คือการเข้าสู่เมือง ตอนนี้มีตัวเลขที่พิสูจน์แล้วมากมายทั้งในยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้วว่าพอประเทศเจริญขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น คนจะย้ายจากชนบทออกมา ตัวเลขกลมๆ คือ 70% ของคนจะย้ายสู่เมือง ซึ่งถ้ามีเมืองรองรับมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าไม่พอมันก็จะกลายเป็นสลัม

“ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น คำตอบที่ดีที่สุดคือระบบการศึกษาของเรา ลูกเราเรียนหนังสือเรียนในห้องแอร์ สมัยผมไม่มีแอร์ สมัยนี้มีรถไฟฟ้า มีห้าง ตัวเลขของเราเด็กประถมมีมือถือหมดแล้ว แล้วพอขึ้นมัธยมก็ซื้อจักรยานยนต์ให้ในต่างจังหวัด นี่คือวิถีชีวิต ถามว่าเด็กพวกนี้เรียนในระบบการศึกษาแบบนี้ ชีวิตเมื่อโตขึ้นถามว่าเขาจะไปขุดดินเผาหญ้าในชนบทหรือไม่ คงไม่”

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

ตัวอย่างหนึ่ง ของการย้ายเข้าเมืองที่เกิดขึ้นอย่างเวลาเรานั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง คอนโดที่อยู่ข้างทางเยอะหรือไม่ แล้วเราไปอยู่หรือไม่ ไม่ ใครอยู่ คนต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามา นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการย้ายเข้าเมืองที่เกิดขึ้น แต่เราที่อยู่ในเมืองอยู่แล้ว เราก็อยู่บ้านเดิม ขับรถเหมือนเดิม อัตราพวกนี้เพิ่มขึ้นเร็วขึ้นมาก การอยู่คอนโดเริ่มเป็นเรื่องปกติแล้ว ฉะนั้นเวลาเราไปเที่ยวเมืองในต่างจังหวัดของประเทศอื่นๆ อากาศสดชื่นจังเลย มีอากงอาม่าแก่ๆ สองคน แล้วคำถามคือคนหนุ่มสาวไปไหน แล้วเราจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ อีกหน่อยไปถึงอยุธยามีแต่คนแก่ แล้วหนุ่มสาวไปไหน ไปอยู่ในเมือง

ดังนั้น เมื่อคนย้ายเข้าเมืองทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืองานก็อยู่ในเมือง ระบบแบบนี้มันเอื้อซึ่งกันและกัน ฉะนั้นเวลาถามว่าในเมืองรถติดแล้วไปสร้างรถไฟฟ้าจะแก้รถติดได้หรือไม่ คิดว่าไม่ได้ แม้ว่าคมนาคมจะสะดวกขึ้นแต่มันก็ดึงคนเข้ามาอยู่ด้วย ฉะนั้นปัญหาสลัมจึงเกิดขึ้นทุกแห่ง

“คำว่า smart city ที่ราชการไทยชอบไปแปลว่าเมืองอัจฉริยะ ผมว่าต้องแปลว่าเมืองน่าอยู่ แนวคิดเกิดขึ้นมาว่าพอคนมาอยู่แออัดกันมากขึ้น ถ้าเราไม่มีการออกแบบเมืองที่ดี คนจะกระจุกตัวในสลัม ฉะนั้นเมืองน่าอยู่คือเสนอรูปแบบการอยู่อาศัย ไม่ให้ชุมชนเมืองกลายเป็นสลัม แต่บ้านเราเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องมีอินเทอร์เน็ต ต้องมีไวไฟอะไร ซึ่งไม่ถูกทีเดียว”

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในอดีตคือที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงประเทศแรก ตอนนั้นเขาสร้างจากโตเกียวไปโอซาก้า เพื่อรองรับโอลิมปิก 40 ปีที่แล้ว ระยะทาง 400-500 กิโลเมตร ญี่ปุ่นมีประชากร 120 ล้านคน ถามว่าพอสร้างเสร็จเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่เปิดใช้มา 40 กว่าปี คนญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งย้ายไปอยู่ระหว่างทางรถไฟนี้ ฉะนั้นประชากรจะย้ายเข้าหาเมืองใหญ่ จะย้ายเข้าหาระบบคมนาคมที่ดีที่สุดสำหรับคนรุ่นเขา ญี่ปุ่นจะสร้างรถไฟระบบแม่เหล็กแล้ว แต่จะสร้างไม่ทับเส้นทางเดิม เพื่อกระจายเมืองเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ

“กลับมาที่ไทย ถ้าคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเหมือนกันและอย่าลืมว่าเราลงทุนไปแล้วคือรถไฟไทยจีนจากหนองคายมา กทม.และเชื่อมต่อจีน และอีกอันจะไปที่ระยอง เราจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นแน่แล้ว ส่วนเส้นที่สามไปเชียงใหม่ ผมว่าไม่ควรสร้าง เพราะเราไม่สร้างรถไฟเพื่อรถไฟ เราจะสร้างเพื่อการเชื่อมโยง รถไฟไปเชียงใหม่แล้วยังไงต่อ ถ้ามันต่อไปที่ไหนไม่ได้มันไม่น่าสร้าง อีกสายที่น่าสร้างคือไปทางใต้เชื่อมโยงกับสิงคโปร์อะไรได้”

ประเด็นต่อไปคือเมื่อคนกว่า 70% ของคนอยู่ในเมืองใหญ่คือประมาณ 50 ล้านคนของไทย ทุกท่านถามว่าไทยมีเมืองใหญ่สักกี่เมือง อาจจะ 5-6 เมือง กทม.ใหญ่ที่สุดคิดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน ผมไม่แปลกใจว่าถ้าทำรถไฟฟ้าสีลูกกวาดต่างๆ เสร็จ ประชาชนอาจจะเพิ่มไปถึง 15 ล้านคนด้วย

แล้วดูแผนที่ประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ้าแบ่งประเทศไทยตามประชากรหน้าตาจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจริงๆ อยู่มากที่อีสานกับใต้ รองลงมาคือภาคกลาง แล้วภาคกลางคือ กทม.และปริมณฑล ส่วนภาคเหนือคนน้อยมาก สอดคล้องกับที่บอกว่าไม่น่าสร้างรถไฟความเร็วสูงไป ทีนี้ถ้าแบ่งตามจีดีพี เราจะพบว่ากระจุกตัวอยู่แต่ กทม.ปริมณฑลและอีอีซี แล้วต่อไปมีอีอีซีเต็มรูปแบบ ประเทศไทยก็จะมีแค่ 50,000 ตารางกิโลเมตรจาก กทม.ถึงอีอีซีแค่นั้นเอง ดังนั้น การที่รัฐบาลสร้างรถไฟไปเชื่อมกับจีนและเชื่อมออกไปตะวันออก เราก็จะเหมือนญี่ปุ่นคือคน 35 ล้านคนแห่ไปตามแนวรถไฟเหล่านี้ด้วย

ช่องว่างระหว่างรุ่นมีจริงหรือไม่

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า “เรื่องต่อไปคือเรื่องคุณภาพของคน เรื่องนี้มีการพูดถึงเรื่อง generation gap ซึ่งคงจริงเพราะผมพูดกับลูกสาวไม่รู้เรื่องเลย แล้วถ้าเขามีลูก ผมคงพูดกับหลานลำบากเหมือนกัน แต่ถามว่าช่องว่าระหว่างรุ่นมันจับต้องได้จริงหรือไม่ มันวัดได้หรือไม่ หรือมันเป็นความรู้สึกที่นักจิตวิทยาคิดขึ้นมา”

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

“ผมไปพบตัวเลขอันหนึ่งที่น่าสนใจและจับต้องได้ คือว่าเขาทดสอบความสามารถของคนในแต่ละช่วงอายุและเทียบกับความสามารถสองแบบ อันแรกที่เป็นเรื่องทางด้านชีววิทยาล้วนๆ อีกอันหนึ่งความสามารถที่เกิดจากการเรียนการอบรม เราพบว่าตอนเด็กความสามารถทางด้านชีววิทยาสูงมาก คิดคำนวณ ความสามารถทางร่างกายอะไรสูงมาก แต่มันลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ ตรงกันข้ามความรู้ประสบการณ์วิธีคิดมันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นแต่พอไปถึงจุดหนึ่งมันจะไม่ลดลง ผมตกใจคือที่เห็นว่าช่องว่างมันต่างกันมาก ความสามารถทางด้านชีววิทยาลดลงเร็วมากตามอายุ แต่ความสามารถทางด้านการอบรมการศึกษาขึ้นแล้วไม่ได้ลงไปไหน

ถามว่าดีที่สุดของคนคนหนึ่งคือเอามาบวกกัน แบบนี้ถ้าบวกกันผมบอกได้เลยว่ามันจะต้องมีจุดพีกสูงสุด เพราะอันหนึ่งค่อยๆ ลดลง ดังนั้นถ้าต้องการประสิทธิภาพในการทำงาน เราต้องใช้เด็กทำงาน บอกว่างานเยอะทำงานถึงตีสามได้ เพราะเขายังมีกำลัง คนแก่สามทุ่มก็หลับแล้ว แต่อีกด้านถ้าการทำงานที่จะประสบความสำเร็จมันต้องมีประสบการณ์ วิธีการทำงาน เทคนิคต่างๆ ผู้ใหญ่จะทำงานดีกว่า ดีที่สุดคือเอามารวมกัน ถ้าเราจะต้องใช้เด็กคนหนึ่งไปทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน ควรมีผู้ใหญ่คนหนึ่งไปสอนงาน เราเรียกว่าโค้ชชิ่ง เรียกว่าเมนเตอร์ หรืออะไรก็ตามก็เรียกไป

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือถามว่าจะขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ไหน ประมาณ 30-50 ปี แปลว่าคนคนหนึ่งจะทำงานได้ดีที่สุดคือช่วงนี้ แล้วมาพิสูจน์กันว่าจริงหรือไม่ แต่เวลาจ่ายเงินเดือนเราจ่ายขึ้นไปเรื่อยๆ จริงๆ ก็ผิดหลัง 50 ปีควรลดเงินเดือนลงด้วยซ้ำ ทีนี้พอไปวาดใหม่อีกมุมหนึ่งก่อน 20 ปี เราจะพบอีกว่าความสามารถทางชีววิทยาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิด ผมไปถามหมอว่าทำไมเป็นแบบนั้น หมอก็บอกว่าเกิดจากการสร้างสมอง สร้างเซลล์ประสาทอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วหยุดและลดลงด้วย

“ฉะนั้นพอไปดูเพื่อน เราถามว่าคนที่เรียนเก่งๆ ตอนเด็กหายไปไหนหมด ไม่ใช่ทุกคนจะยังประสบความสำเร็จนะ แปลว่าเขาเติบโตขึ้นมาจากความสามารถแบบแรก แต่ไม่ได้มีการพัฒนาความสามารถที่สองขึ้นมารองรับที่จะรองรับตอนที่สมองของเขาเริ่มถดถอยลง ดังนั้น มีช่วงเวลาที่คนเราจะทำอะไรได้ดีที่สุดแตกต่างกัน คนที่ได้โนเบลมักจะได้ตอนแก่ๆ แต่ผลงานส่วนใหญ่จะทำช่วง 30-40 ปี แล้วรอเวลาพิสูจน์ว่าทฤษฎีต่างๆ มันถูกต้องใช้ได้ ตรงกับที่บอกข้างต้นว่าช่วงชีวิตที่ดีที่สุดคือช่วง 30-50 ปี หรือในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ทำงานได้ดีที่สุดคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่พอขึ้นเป็นศาสตราจารย์เอาไว้โชว์แล้ว”

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

ต้องเข้าใจเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้อย่างไร

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า ความสามารถทางชีววิทยาของคนแต่ละช่วงอายุแตกต่างกันจากข้อพิสูจน์ทางชีววิทยาที่พิสูจน์ให้เห็นแบบนั้นแล้ว ถามว่าแล้วจะจัดการบริหารคนแต่ละรุ่นอย่างไร อย่างตอนนี้ตั้งแต่เกิดมา 2-3 ปี พอเด็กร้องก็เอามือถือใส่มือยังไม่ได้เรียนตัวหนังสือด้วยซ้ำ พอเริ่มอ้อแอ้ๆ ก็คุยกับสิริ (Siri) ได้ แปลว่าอะไร แปลว่าเขาอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว ท่องเอบีซียังไม่ได้เลย ถามว่าแล้วต้องเรียนหรือไม่ในมุมของผู้ใหญ่

“พวกเอไอที่อยู่ในมือถือของพวกเรา โดยข้อมูลขณะนี้อัตราการเข้าใจคำถามของเราประมาณ 70-80% แล้วด้วย เข้าใจภาษาเป็น 100 ภาษาแล้ว คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาเกือบทั้งโลกแล้ว แล้วพวกนี้จากการวัดไอคิวอยู่ที่ 80 กว่าแล้ว เท่ากับเด็ก 8 ขวบแล้ว ทีนี้ถ้าสิริมีไอคิวเด็ก 8 ขวบแล้วเด็ก 3 ขวบคุยกับเด็ก 8 ขวบได้ แปลว่าเขาก็มีไอคิวเท่ากันหรือไม่ ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนนะ”

นี่คือเด็กรุ่นใหม่ปัจจุบันที่ความสามารถทางชีววิทยาของเขาเป็นแบบนี้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือก็ตาม ย้ำอีกทีคือตอนนี้เด็กในช่วงประถมเล่นมือถือกันหมดแล้ว ฉะนั้นจริงๆ พวกนี้ เราเรียกว่าเขามีตัวคูณ เด็กที่เกิดขึ้นมาไม่นาน ก็มีไอคิวเยอะแล้ว เพราะเราเอามือถือให้เขาไป ขณะเดียวกัน เด็กมหาวิทยาลัยที่ไอคิวสัก 100 แล้วมีมือถือและใช้กูเกิลเก่งๆ เขาจะมีไอคิวเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะมีเอไอคอยช่วยเหลือเขาอยู่ แล้วต่อไปก็จะไม่มีเด็กโง่ต่อไปแล้ว ถ้าเขาจะฉลาดที่ใช้มือถือ

แต่ถามว่าเขาจะประสบสำเร็จการทำงานหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะว่ามันต้องมีอีกหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะอีคิว ซึ่งมันหาในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ จะเกิดจากการเรียนการสอน แล้วส่วนผสมของไอคิวกับอีคิวก็ไม่เท่ากัน ถ้าผมเป็นเสมียนหรือนักบัญชี ผมไม่ได้ต้องการอีคิวเลย แต่ต้องการไอคิว เพราะว่าคุยกับเครื่องคิดเลข แต่ถ้างานเปลี่ยนไปถึงการสร้างทีมจำเป็นต้องใช้อีคิวมากกว่าไอคิว

“ทีนี้อีคิวจะเอามาจากไหน มันต้องมาจากการศึกษา ผมยกตัวอย่างเรื่องของตำราที่ใช้กันหรืออย่างงานของกูเกิลมันไม่มีเรื่องของไอคิว โดยสรุป WEF ปีที่แล้วก็บอกว่าการศึกษาในอนาคตจะต้องให้เด็กกลุ่มนี้ที่กำลังขึ้นมาใหม่ คือต้องเป็น demand led คือต้องสอนที่เขาอยากเรียน ไม่ใช่ที่เราอยากสอน วันนี้เรามีผู้ใหญ่บอกว่าให้เรียนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองต่างๆ แล้วต้องมี competency based คือมีสมรรถนะเชิงพฤติกรรม อีกอันคือต้องเป็น life-long learning แทนที่จะเกิดมาแล้วเรียนๆ จบมา ขอเรียนปริญญาโทอีก พอจบมาก็ไม่เรียนอีกแล้ว ซึ่งมันไม่เหมาะสมกับชีวิตในอนาคตแล้ว”

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กตอนนี้ เขาแบ่งออกเป็น 3 ด้านคือเรื่อง foundation literacy เรื่อง competency เรื่องของ character ไม่มีเรื่องของตัวความรู้อีกแล้ว ไม่ได้พูดเรื่องคณิตศาสตร์ ไม่ได้พูดเรื่องแพทย์ หรืออะไร แต่พูดว่าการเตรียมคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จะต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ แล้วคือบุคคลิกของตัวเขาจะเป็นอย่างไร

“เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือว่า WEF ชี้ไปให้เห็นว่าการศึกษาต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง แล้วเราจะเห็นว่าการศึกษาที่อนาคตต้องการเป็นเรื่องของพลวัต ห่างกัน 5 ปีก็เริ่มจะทำคำแนะนำใหม่อีกแล้ว แต่เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา 20-30 ปีเราพูดทีหนึ่ง แต่ภาพของอนาคตมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว 5 ปีก็เปลี่ยนไปแล้ว แล้วปฏิรูปการศึกษาที่ผมอยู่เป็นกรรมการของรัฐบาล ทำเสร็จมา 2 ปี รอกฎหมายเมื่อไรจะออกมาผมก็ไม่รู้ แต่โลกมันก็เปลี่ยนไปด้วย เราไม่มีทางตามทันเลย”

คนน้อยแต่ปะทะกันระหว่างรุ่น

ดร.ไพรินทร์กล่าวว่า กลับมาพูดเรื่องช่องว่างระหว่างรุ่น ที่แน่ๆมันไม่เหมือนกันทางชีววิทยาแล้ว อีกด้านหนึ่งในแง่เศรษฐศาสตร์ก็มีช่องว่าง เพราะปัจจุบันความมั่งคั่งอยู่กับพวก Baby Boomer หรือคนรุ่นผม แต่หนี้อยู่กับพวกคุณ แล้วคนที่เบี้ยวหนี้มาที่สุดคือคนกลุ่มนี้ อันนี้คือความแตกต่างทางเศรษฐกิจด้วย และนอกจากชีววิทยาและเศรษฐกิจแล้ว ถามว่ามีอะไรที่เร่งความแตกต่างอีก ผมคิดว่าคือเรื่องเทคโนโลยี

“ผมเกิดมาในช่วงเป็นแอนะล็อกไปดิจิทัล ปี 2518 ผมเรียนปีแรกที่วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่แรกๆ ในเอเชียที่ให้เครื่องคิดเลขเข้าห้องสอบได้ ชีวิตผมเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัลเลย แต่หลังจากนั้นไปเรียนเมืองนอกอีก 10 ปี คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพิ่งเกิด แล้วตอนนี้มีอะไรบ้าง”

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

เด็กในวันนี้ที่เกิดมาเขาไม่ต้องเรียนรู้พื้นฐาน เขานอนอยู่ในเปลก็มีมือถือให้เขาแล้ว ที่เรากลัวว่าอีกหน่อยเทคโนโลยีจะมาปั่นป่วนทำให้เราตกงาน ท่านคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ กลัวเทคโนโลยี กลัวเอไอหรือไม่ เขาไม่กลัว เพราะว่าเขามีความรู้พวกนี้ดีกว่าเรา

เมื่อเป็นเช่นนั้นในต่างประเทศมันเป็นการปะทะระหว่างคนระหว่างช่วงอายุ มันมีวลีแบบ Ok Boomer ที่ด่าคนรุ่นเก่า แต่ขณะเดียวกันเราก็ด่าเด็กว่าเป็น Peter Pan syndrome คือเด็กที่ไม่ยอมโต

ฉะนั้นถ้าสรุปแบบของผม ในอดีตตอนที่เราเป็นสังคมเกษตรกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ผู้ถูกปกครองกับผู้ปกครอง ต่อมาช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม การต่อสู้เกิดขึ้นอีกเป็นการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานกับนายทุน แต่ตอนนี้ถามผม ผมว่าเป็นชนชั้นคนรุ่นผมต่อสู่กับคนรุ่นต่อไป และเขาก็จะต่อสู่กับคนรุ่นหลานต่อไป หรืออาจจะเป็นคนต่อสู้กับหุ่นยนต์ก็ได้ ซึ่งก็คงไม่ใช่ปัญหาของผมแล้วตอนนั้น

เจาะลึกแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังแต่ละรุ่น

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า มีการวิเคราะห์อันหนึ่งที่น่าสนใจว่าคนแต่ละรุ่นเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงอายุอย่างไร โดยอิงกับทฤษฎีของ Maslow ที่บอกว่าความต้องการของคนกับความจำเป็นมันวิ่งสวนกัน ความต้องการของคนคือปัจจัย 4 มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร เราถูกล่าด้วยซ้ำ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการหลังท้องอิ่มคือความปลอดภัย แต่พอมนุษย์มารวมกันเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน มันก็ต้องมี self-esteem แล้วว่าฉันอยู่ตรงไหนของสังคมนี้ และสุดท้ายคือ self-fulfillment แล้วคือความพอใจส่วนตัวแล้ว ทีนี้ชั้นล่างสุดมันใหญ่มาก ไม่มีจะตาย แต่ข้างบนๆ ไม่มีก็ไม่ตาย แต่จริงๆ ความต้องการของมนุษย์ เราต้องการจากบนลงล่างเสมอเลย

ถามว่าคนแต่ละรุ่นต้องการต่างกันอย่างไร เด็กตั้งแต่เกิดมาจนถึงมหาวิทยาลัย เขาอยู่อันบนๆ เขาไม่ต้องหาเงิน เราหาเงินให้พร้อม แต่พอวันหนึ่งเขาเริ่มทำงาน เขาเริ่มไม่มีคนให้เงินต้องหาเงินเอง ก็จะลดลงมา ดังนั้นคนในเจนอัลฟาไม่ต้องหาเงินมีทุกอย่างพร้อมแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคืออะไร ประชาธิปไตย ฉะนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนี้จะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยก่อน เพราะเป็นกลุ่มคนที่พร้อมที่สุด ไม่มีห่วงต้องดูแลครอบครัว ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง

“แล้วจำได้หรือไม่ บอกว่ามีคนอายุ 18 และเรียนหนังสืออยู่กี่คน พรรคสีส้มได้รับเลือกมากี่เสียง ทำไมบางพรรคถึงชูเรื่องประชาธิปไตย ทำไมบางพรรคพูดเรื่องปากท้อง เพราะว่าพรรคที่พูดเรื่องปากท้องจะเป็นพรรคที่เล็งคนอีกกลุ่มหนึ่ง 6 ล้านเสียงที่มาตรงสีส้มทำไมเป็นแบบนั้น แล้วถามว่าจะอยู่ตรงนั้นตลอดไปหรือไม่ คงไม่ คนกลุ่มนี้พอเริ่มหาเงินแล้ว เขาก็จะมาแทนที่เจนวายในปัจจุบันแทน”

ทิ้งท้าย เมื่อคนอยู่นานขึ้นแล้วจะอยู่อย่างไร

ดร.ไพรินทร์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่องสุดท้ายคือเรื่องของอายุเฉลี่ยของคนที่จะมากขึ้น ถามว่าพอคนอยู่นานขึ้นแล้วเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรายังอาศัยแนวคิดเดิมว่าช่วงวันทำงานมันน้อยเกินไปไม่พอสนับสนุนช่วงที่ว่างงาน ผมไปคุยกับหัวเว่ย เขามีคนอยู่ 300,000 คน แต่เขาทำงานแค่ 45 ปีแล้วเกษียณ ผมบอกแล้วจะทำอะไรต่อแบบนี้ ไม่แย่หรือ เขาบอกไม่ต้องห่วง ออกมาตอน 45 เขายังมีเรี่ยวแรงอยู่และมีเงิน เพราะเขารู้ว่าต้องออกตอน 45 ปี แล้วพอ 42-43 ปี ก็เริ่มหาทางทำธุรกิจต่อไปแล้ว

มันมีอีกอันที่น่าสนใจว่า ทำไมบริษัทใหญ่ๆ ต้องรอว่าเด็กเรียนจบใหม่มีปริญญาแล้วมาสมัคร เพราะเด็กก็เกิดลดลง บางบริษัทในสหรัฐอเมริกาบอกแล้วว่าถ้าเก่งจริงไม่มีปริญญาก็มาทำงานได้ พอพูดแบบนี้ใครถูกกระทบ มหาวิทยาลัย เพราะเขาเชื่อว่าทุกคนต้องมารอรับปริญญาจากฉันก่อน ถ้าเกิดแบบนี้จะทำอย่างไร เมืองนอกเขาก็เด็กเกิดใหม่ลดลง เขาไม่สามารถรอได้เหมือนกัน ถ้าจะหาเด็กเก่งทำไมต้องไปรอรับปริญญาก่อน

“นี่นำไปสู่แนวคิดอันหนึ่งที่คิดว่าจะเป็น general concept ในอนาคต ในสมัยที่เป็นสังคมเกษตรกรรมเกิดมาแล้วก็ทำงานเลย การศึกษาไม่มี แล้วพออายุ 50 เราก็ตายแล้ว การเกษียณในอดีต ไม่มี แต่พอสังคมอุตสาหกรรม เราจะเห็นว่าการผลิตมันซับซ้อนมากขึ้น คุณไม่สามารถเรียนง่ายๆ แล้วมาทำงานได้ คำว่า “งาน” กับ “วิชาชีพ” มันแยกออกจากกัน งานคือไปยืนเก็บเงินอะไร แต่พออาชีพจะเป็นหมอ เป็นทนาย หรืออะไรคุณต้องเรียนวิชาชีพพวกนี้ แล้วเราก็พัฒนามาจนว่าต้องมีปริญญานะ ต้องมีประถม มัธยมนะ ต้องเรียนเท่าไหร่ล่ะ ก็สัก 20 ปีก็แล้วกัน แล้วเราก็ทำงานหลังจากนั้น ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็พัฒนาจนอายุ 50 ปีก็ตายแล้ว แต่กลายเป็นภาระของสายการผลิตแล้ว ก็กลับไปอยู่บ้าน แนวคิดเรื่องเกษียณก็มีขึ้นมา”

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า “เผอิญปัจจุบันนี้คุณไม่ตายง่ายๆ ยิ่งกว่าเดิม แต่ว่าระบบเกษียณ 60 ปีมันยังอยู่ มันก็จะมีปัญหาว่าคนทำงานไม่สามรถจ่ายภาษีพอที่จะแบกคนแก่หรือเด็กได้ หัวเว่ยจึงน่าสนใจว่าพอเขาบังคับเกษียณตอน 45 ปี มันก็เป็นเวลาที่เขายังมีแรง ตอนนี้เราทำงานจนอายุ 70 ได้ด้วยซ้ำ ผมว่าในอนาคตจะมีการจ้างงานสองครั้ง เพราะคุณจะต้องอยู่ถึง 100 ปี แล้วมีหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีแบบนี้อยู่เยอะแยะ แล้วพอเราขยายเวลาทำงานออกไปได้ เราก็จะมีเวลาจ่ายภาษีมากขึ้น ฉะนั้นการแก้ปัญหาเงินเกษียณไม่พอเนี่ย ด้วยการขยายเวลาเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63, 65 ปี มันไม่ใช่คำตอบ เราจะต้องเปลี่ยนระบบใหม่”

ทำไมเราไม่คิดแบบนี้เพราะช่วงชีวิตหนึ่งเรายาวมาก เราถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิดว่าเกิดมาเรียนหนังสือ ทำงาน แล้วก็ตายไปแบบนี้ ฉะนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในตะวันตกมีรณรงค์มากให้จ้างคนแก่ มีงานวิจัยที่พบว่าพวก startup ที่อายุ 20-30 ปี เจ๊งหมด สถิติที่เห็นเป็นแบบนั้น สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าจากประสิทธิภาพของคนในช่วงที่ดีที่สุดคือช่วง 40 ปี เด็กมีสมองที่ดีก็จริงแต่ขาดประสบการณ์ ขณะที่คนที่อายุ 40 ปีในช่วงนั้นเขาเขามีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า