ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์”สั่งเร่งคดีทางด่วน 135,000 ล้าน – คมนาคมแจงไม่ขยับ อ้างรอบอร์ด กทพ.เคาะโจทย์ประท้วง 3 ประเด็น

“ประยุทธ์”สั่งเร่งคดีทางด่วน 135,000 ล้าน – คมนาคมแจงไม่ขยับ อ้างรอบอร์ด กทพ.เคาะโจทย์ประท้วง 3 ประเด็น

5 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก กทพ.หอกระจายข่าว

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แพ้คดีต้องจ่ายเงินให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นคดีที่ BEM ฟ้องให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงในช่วงเวลาแค่ 2 ปี คือ ปี 2542-2543 เท่านั้น ซึ่งตามสัญญา กทพ. ต้องชดเชยจนถึงปีปัจจุบัน (2561) เมื่อคิดตามเกณฑ์คำพิพากษาจะเป็นเงินสูงถึง 75,000 ล้านบาท

  • ข้อเท็จจริง “ข้อพิพาททางด่วน” มรดกบาป 130,000 ล้านบาทที่ไม่มีใครกล้ารับ – “ประยุทธ์” ปลดล็อกตั้งทีมเจรจา ล่าสุดสรุปผลแล้ว
  • สำหรับคดีนี้ในเบื้องต้นแล้ว ทาง BEM สามารถบังคับคดีให้ กทพ. จ่ายได้ทันที เพราะมีผลตามคำพิพากษาแล้ว แต่ได้ยืดการบังคับคดีมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากรัฐบาล โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นว่าคดีนี้ควรเจรจากับเอกชน เพราะความเสียหายเป็นเงินค่อนข้างสูง หากเอกชนดำเนินการฟ้องร้องต่อให้ชดเชยรายได้จนถึงปีปัจจุบัน คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 75,000 ล้านบาท

    นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีอีกคดีที่ BEM ชนะคดี ข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทางเกิดขึ้นในปี 2546 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม จากกรณีที่ กทพ. ไม่ปรับขึ้นค่าทางด่วนให้ BEM ตามสัญญา ซึ่งกำหนดว่าทุกๆ 5 ปี ให้ปรับขึ้นค่าทางด่วนตามเงินเฟ้อที่มากขึ้น โดยปัดขึ้นเป็นจำนวน 5 บาท เพราะตลอด 5 ปีไม่ได้ปรับ แต่ กทพ. ใช้วิธีปัดลงหากคำนวนแล้วไม่ถึง 5 บาท ทำให้ BEM ได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ BEM แต่ กทพ. ไม่ยอมรับการชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครอง ซึ่งวงเงินที่ต้องชดใช้จนถึงปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท

    เมื่อรวม 2 ดคีนี้ กทพ. ต้องชดใช้ให้ BEM ประมาณ 135,000 ล้านบาท

    ด้วยเหตุนี้ ครม. จึงมีมติตั้งทีมเจรจาจนได้ข้อสรุปว่า

      1. กทพ. และ BEM จะถอนฟ้องยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยไปรับสิทธิรายได้ในอนาคตจากการขยายสัมปทานแทน มูลค่าข้อพิพาททั้งหมดประมาณ 135,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือประมาณ 64,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับเงินที่ กทพ. ต้องจ่ายจากข้อพิพาทจากเรื่องผลกระทบทางแข่งขันที่ต้องจ่ายจนถึงปัจจุบัน 75,000 ล้านบาท ก็ถือว่าต่ำกว่า ทั้งนี้ทุกสัมปทานจะสิ้นสุดสัญญาในปี พ.ศ. 2600

      2. BEM จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน โดยจะมีการสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 จากอโศก-งามวงศ์วาน ระยะทาง 17 กิโลเมตร และก่อสร้างช่องจราจรบายพาสโดยไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน มูลค่าก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท โดยจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจรให้กับประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ

      3. กทพ. และ BEM จะแบ่งสัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางเท่ากับที่ กทพ. ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

    แม้การเจรจาได้ข้อสรุปชัดเจน แต่ยังไม่สามารถนำเรื่องเสนอ ครม. พิจารณาได้ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมไม่ได้นำเรื่องเสนอให้ ครม. พิจารณา และล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

    คมนาคมอ้างรอมติบอร์ด กทพ. สรุปคำตอบข้อคัดค้าน 3 ประเด็น

    ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องนี้จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงความคืบหน้า แต่นายอาคมได้ชี้ไปที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ดูแล กทพ. ให้เป็นผู้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า บอร์ด กทพ. ได้อนุมัติเห็นชอบเรื่องการเจรจากับ BEM แล้ว อยากทราบว่ายังติดปัญหาอะไร กระทรวงคมนาคมจึงยังไม่เสนอ ครม.

    นายไพรินทร์ชี้แจงว่า “เรื่องนี้คงต้องรอบคอบมั้ง แต่ผมไม่ทราบ ผมจะไปก้าวล่วงบอร์ดได้อย่างไร ต้องรอบอร์ดให้สรุป ผมรู้แต่ภาพใหญ่ๆ คือเขา (กทพ.) มีคดีฟ้องร้องกับ BEM ซึ่งมันมีอยู่ 2 กลุ่มคดี กลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องที่รัฐผิดสัญญาไปแข่งขันด้วย เรื่องนี้เดิมตั้งแต่การทางพิเศษฯ อยู่กับกระทรวงมหาดไทย แล้วไปทำทางด่วนเส้นทางอุดรรัถยาที่ออกจากแจ้งวัฒนะไป ตอนนั้นมันจะมีเอเชียนเกมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาคิดว่ามันต้องมีทางด่วนไปเชื่อมตอนนั้น แต่หลังงานจำนวนจราจรมันไม่พอหรอก และเขาก็เขียนในสัญญาว่ารัฐอย่าทำทางอื่นมาแข่งขัน”

    หลังจากนั้น 10 กว่าปีมาแล้ว รัฐไปทำทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เป็นของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นคนละกระทรวงที่ดูการทางพิเศษฯ ตอนนั้น เสร็จแล้วเส้นอุดรรัถยาปริมาณการจราจรก็เลยน้อย เขาก็มาฟ้องว่าไหนว่าจะไม่ทำทางแข่งขันกัน ซึ่งมาแย่งปริมาณผู้โดยสาร จากนั้นการทางพิเศษฯ ก็ย้ายมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคมแล้ว อันนี้เป็นที่มาของเรื่องคดีกรณีแรก

    กรณีนี้เราแพ้แบบ 99.99% เพราะว่าคดีแรกมันถึงศาลสุดท้ายไปแล้ว การทางพิเศษฯ แพ้ไปแล้ว คือคดีมันมีเป็นช่วงๆ เวลาไม่เท่ากัน แต่คดีที่เก่าที่สุดแพ้ในศาลไปแล้วทั้ง 3 ศาล แล้วต้องจ่ายเงินชดเชย 4,000-5,000 ล้านบาท ที่มันแพงขึ้นมาเพราะดอกเบี้ยมันเยอะ กฎหมายกำหนดไว้ 7.5% แพงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้อีก ทีนี้อันนี้หมายความว่าอะไร มันหมายความว่าคดีลักษณะเดียวกันที่จะยังฟ้องไล่ๆ มามันก็อนุมานได้ว่าจะแพ้เหมือนกัน เพราะนี่คือศาลปกครอง พอมันตัดสินแล้วแบบนี้ก็คงตัดสินคล้ายๆ กัน ศาลคงไม่ตัดสินคดีนี้ชนะอีกคดีแพ้อะไรแบบนั้น ถ้าเนื้อหาสาระมันเหมือนกันนะ

    “ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นตัวใหญ่ของหนี้ที่ได้เกิดและกำลังจะเกิด แล้วถ้านั่งไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็หาเงินจ่ายไปก่อน 4,000 ล้านบาท แล้วมาอีกเท่าไหร่ก็ไปหาจ่ายๆ ไปเรื่อยๆ”

    อีกก้อนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นคดีเรื่องที่รัฐบาลในอดีตไม่ให้ขึ้นค่าทางด่วน แต่สัญญาระบุว่าเวลาผ่านไปนะ เงินเฟ้อ ดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแบบนั้นแบบนี้ ค่าผ่านทางต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้นะ ในอดีตเราบอกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ไม่ขึ้น มันก็เป็นเหตุให้ฟ้องร้องมา แล้วจริงๆ คนได้สัมปทานทางด่วนนี้ เมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่ใช่ BEM แต่เป็นกูมาไกกูมิ เป็นบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่น แต่พอสร้างเสร็จแล้วเปิดดำเนินการ ปรากฏว่าเขามาขอขึ้นราคาแล้วไม่ให้ขึ้น ญี่ปุ่นตกใจมาก ว่าสัญญาเป็นแบบนี้ ทำไมเป็นไม่ยอมให้ปรับราคา เรื่องนี้ตั้งแต่ ครม. สมัยนั้น เขาก็ขายโครงการนี้ให้ BEM ไป

    “กลับมาที่คดี หลังจากนั้นไปเรื่อยๆ ทุกๆ กี่ปี ตามสัญญาจะให้ขึ้นค่าทางด่วน เราก็ไม่ได้ให้ขึ้น เรื่องนี้ถามว่าการดำเนินคดีไปถึงไหน ในขั้นอนุญาโตตุลาการเราแพ้แล้ว ถ้าไปต่อก็เข้าสู่ศาล ทีนี้เนื่องจากเป็นศาลปกครอง ถามผมว่าแพ้ไปเยอะหรือยัง ผมว่าแพ้ไปเกินครึ่งแล้ว เพราะว่าในแนวของศาลถ้าไม่มีเรื่องทุจริตหรือเรื่องที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี ส่วนใหญ่ศาลจะยืนตามอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเราแพ้ไปแล้ว”

    ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อว่า “ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อ สมมตินะ สมมติว่าถ้าเกิดแพ้ขึ้นมาหมดตัวเงินใหญ่ก็เป็นแสนล้านบาท ทีนี้มีคำถามว่าจะทำอย่างไร รอให้แพ้ทุกอันแล้วค่อยมาเจรจา มันก็ไม่มีประโยชน์ แพ้แล้วก็ไม่ต้องเจรจา ดังนั้น ถ้าจะเจรจานะ ถ้าคิดว่าโอกาสเราชนะก็ไม่เยอะ แพ้ก็มี ดังนั้นช่วงที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะทั้งหมด เจรจาเสียมันก็ไม่ต้องรอให้ผลออก ผลออกมาก็ไม่ต้องเจรจาแล้ว จ่ายอย่างเดียว”

    พร้อมกล่าวต่อว่า “ก็มีข้อถกเถียงอีกว่าในอดีตเราก็เคยชนะเหมือนกันนะ อย่างทางด่วนบูรพาวิถี สมัยที่การทางพิเศษฯ อยู่กับกระทรวงมหาดไทย แล้วมีเส้นบางนา-ตราดของกรมทางหลวง ที่ทางด่วนไปสร้างตรงกลางเขาไง กรมทางหลวงก็ไม่ส่งมอบพื้นที่ มันก็ผิดสัญญาก็โดนฟ้องกัน แต่เรื่องนั้นไปถึงศาลแล้วสุดท้ายศาลตัดสินว่ามันน่าจะมีเรื่องทุจริตนะ เลยไม่ให้ แต่ศาลนั้นเป็นศาลแพ่ง ไม่ใช่ศาลปกครอง แล้วกรอบกฎหมายเรามีศาลปกครองไว้ตัดสินเรื่องพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และศาลปกครองตัดสินตามเนื้อผ้า”

    อย่างไรก็ตาม ดร.ไพรินทร์ให้ความเห็นว่า “กลับมาว่าก็มี 2 ทาง อันแรกก็จ่ายไปตามเนื้อผ้าแบบเมื่อกี้ ศาลพิจารณาไป แพ้ก็จ่ายๆ ชนะก็ไม่ต้องจ่าย สุดท้ายเป็นเท่าไหร่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าให้ผมเดาว่าแสนกว่าล้านบาท สมมติว่าต้องจ่ายแสนล้านบาท สิ่งที่การทางพิเศษฯ ทำคือต้องไปหาเงินกู้แสนล้านบาทแล้วจ่ายเงินต้นกับดอกเบี้ย แต่ข้อดีก็คือว่าถ้าไม่ให้สัมปทานต่อ เราก็ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำไป เข้าใจว่าอีก 2-3 ปี แต่รายได้มันก็แลกกับว่าต้องจ้างคนมาดูแลทางด่วนอีก คิดว่าเป็นหลักพันคน แล้วก็มีเงินต้นดอกเบี้ยอะไรมากมายที่ว่าไป”

    “ส่วนอีกวิธีบอกว่าเอาละมาเจรจาดีกว่า ขอว่าไม่ต้องฟ้องกันต่อ ต่างคนต่างเบื่อ ก็ลดราคามาเหลือเท่าไหร่ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ อันหนึ่งคือสัมปทานทางด่วนหรือไม่ก็ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม (BEM เสนอสร้างทางด่วน 2 ชั้นช่วงจากอโศก-งามวงศ์วาน ระยะทาง 17 กิโลเมตร และก่อสร้างช่องจราจรบายพาสโดยไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน มูลค่าก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท โดยจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจรให้กับประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ) อย่างทางด่วน 2 ไปแจ้งวัฒนะเดี๋ยวนี้มันแทบจะติดทั้งวัน จ่ายเงินผ่านทางเข้าไป 50 บาทเข้าไปก็ติดอยู่ในนั้น เขาก็คิดว่าบางจุดมันมีคอขวดอยู่ ก็สร้างเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะรถบางคันไม่ได้วิ่งไปถึงแจ้งวัฒนะ แต่คนที่ไปแจ้งวัฒนะขึ้นแล้วต้องออกไปอีกก็ข้ามไปเลยดีกว่า ก็ต้องตัดสินว่าแบบไหนดีกว่ากับประเทศชาติ ต่อการทางพิเศษฯ มากกว่ากัน”

    ในตอนท้ายสุด ดร.ไพรินทร์กล่าวย้ำว่า “บอร์ดสรุปเมื่อไรก็คงแจ้งมาที่กระทรวง ก็เห็นประชุมไปหลายๆ ครั้งแล้ว แต่ที่บอกว่ากระทรวงคมนาคมยังไม่ขยับอะไร ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของบอร์ดบริหาร อาจจะมีภายในของเขานะ แต่ถ้าเรื่องมันจบเมื่อไรเขาจะส่งมากระทรวง ซึ่งกระทรวงตอนนี้ยังไม่ได้เห็นข้อสรุปอะไรมา แล้วรัฐมนตรีไปก้าวก่ายอะไรบอร์ดไม่ได้ นี่เป็นที่มาที่ไปของมันนะ กทพ. เขาต้องเลือกที่มันเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด”

    ตัวแทนสหภาพเรียกร้อง 3 ข้อ

    ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าหลังจากที่บอร์ด กทพ.มีมติและเห็นด้วยข้อเจรจากับ BEM แต่เนื่องจากมีตัวแทนจากสหภาพแรงงาน กทพ. มายื่นหนังสือประท้วงที่กระทรวงคมนาคม ได้เรียกร้องให้บอร์ด กทพ. ตอบใน 3 ประเด็นคือ 1. รู้ได้อย่างไรว่าเอกชนทำ (บริหารจัดการทางด่วน) แล้วถูกกว่ารัฐบาล (หน่วยงานรัฐ) ทำ 2. ทางด่วน 2 ชั้นทำโดยไม่ได้ดูผลประโยชน์ของประเทศ 3. ถ้า กทพ. สู้คดีต่อ แล้วรู้ได้อย่างไรว่า กทพ. จะแพ้ทุกคดี

    สำหรับพนักงานที่ออกมาประท้วงคัดค้านต่อเนื่องตั้งแต่มีคำพิพากษา เช่น นายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ อดีตประธานสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. ทั้งนี้ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ ศราวุธ ศรีพยัคฆ์ คัดค้านการต่อสัมปทานให้ BEM และเรียกร้องให้นำเงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์หรือ TFFIF มาใช้จ่ายให้กับ BEM ที่ กทพ. แพ้คดี ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกองทุน TFFIF ระดมทุนมาจากประชาชนเพื่อนำมาลงทุนในโครงการที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้

    ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก ศราวุธ ศรีพยัคฆ์
    ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก ศราวุธ ศรีพยัคฆ์

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 3 ข้อที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้อง เป็นประเด็นที่กระทรวงคมนาคมระบุว่ารอคำตอบจากบอร์ด กทพ. ว่าจะเสนอมาอย่างไร จึงทำให้เรื่องการเจรจาที่ได้ข้อสรุปจากบอร์ด กทพ. เรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้เห็นชอบแล้ว ไม่สามารถนำเสนอ ครม. พิจารณาได้

    ศาลพิพากษาอดีตประธานสหภาพแรงงานฯกทพ.มีความผิดคดียักยอก

    แหล่งข่าวจากฝ่ายที่เห็นด้วยกับมติบอร์ดเรื่องการเจรจาเปิดเผยว่า กรณีนายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา กรณีความอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เรื่องยักยอก โดยมีสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. เป็นโจกท์ฟ้อง นายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ 468/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 5656/2560

    โดยโจทก์ (สหภาพแรงงาน กทพ.) ฟ้องว่า จำเลย (นายศราวุธ) เคยเป็นประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจ กทพ. มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบของสหภาพแรงงานฯ กทพ. ในระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งรักษาการประธานสหภาพแรงงานฯ กทพ. ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมหลายบทต่างวาระกัน ได้เบียดบังเอาทรัพย์ของสหภาพแรงงานฯ โดยได้ถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน 40 บัญชีเลขที่ 980-8-44617-5 ชื่อบัญชีนายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ (สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของสหภาพแรงงานฯ กทพ. โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยนำเงินที่ถอนออกไปนั้นไม่ได้นำไปใช้ในกิจกรรมของสหภาพแรงงานฯ กทพ. รวม 22 ครั้ง ทำให้โจทก์หรือสภาพแรงงานฯ กทพ. เสียหาย 686,662 บาท

    ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ทางโจทก์หรือสหภาพแรงงานฯ ได้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากดังกล่าว พบว่ามีการเปิดบัญชีไม่ถูกต้องและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชี 22 ครั้ง ทางโจทก์หรือสหภาพแรงงานฯ กทพ. ได้มีหนังสือให้จำเลยนายศราวุธชี้แจงรายละเอียดพร้อมหลักฐานภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยนายศราวุธเพิกเฉย โจทก์จึงเรียกร้องเงินคืน 686,662 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

    จากพยานหลักฐาน ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ว่า จำเลยนายศราวุธมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 353 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างวาระกัน 22 กระทง กระทงละ 2 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91(1) คงจำคุก 120 เดือน และให้คืนเงิน 686,662 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%

    และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นพ้องตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

    แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า “หลังคำพิพากษาทางจำเลยได้นำเงินชดใช้คืนแก่สหภาพแรงงานฯกทพ.เรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าผู้บริหารได้รับทราบเรื่องนี้หรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไร”