ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > “อริญญา เถลิงศรี” เปิดโลกยุค Population Disruption ต้อง “เร็วและเรียนรู้ตลอดชีวิต”

“อริญญา เถลิงศรี” เปิดโลกยุค Population Disruption ต้อง “เร็วและเรียนรู้ตลอดชีวิต”

8 กุมภาพันธ์ 2020


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดงาน Thaipublica Forum 2020 เวทีเสวนาปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เปิดมุมมองการใช้ชีวิตยุค Population Disruption” โดยมีดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม,อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. และที่ปรึกษาสถาบันกำเนิดวิทย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมการบรรยายจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท Siametrics Consulting จำกัด

ดร.อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (South East Asia Center: SEAC)

  • “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชวนถกวิกฤติ “Population Disruption” จากกับดักคนเกิดน้อยถึงพันธุกรรมเปลี่ยน
  • นางอริญญากล่าวว่า ในโลกยุคดิสรัปชัน (disruption) ประเด็นแรกที่คนเริ่มมอง คือ เรื่องของเวลา เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมาตลอดว่าเวลามันซื้อไม่ได้ และถ้าเราไปดูสถิติบริษัทที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย วันนี้ส่วนใหญ่ยอดขายลดลง แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น คือ การสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ปีที่แล้วลูกค้าของ SEAC ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารได้รับความเดือดร้อนมาก ยอดขายไม่ค่อยดีเหมือนสมัยก่อน

    “สมมติ ดิฉันเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ต้องดึงคนให้เข้ามาที่ร้าน แต่ถ้าไม่มีวิธีการใหม่ๆ ดิฉันควรจะทำอย่างไร ประเด็นคือ ในวันนี้เรากำลังต่อสู้กับวัฒนธรรมของคนสมัยใหม่ แทนที่เราจะออกเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหารที่สำเพ็งหรือที่เยาวราชแล้วไม่มีที่จอดรถ ปัจจุบันก็มีคนกลุ่มหนึ่งหันไปสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์แทน”

    “แต่ถ้าดิฉันเป็นคุณยาย หรือเป็นคุณแม่อยู่ที่บ้าน ปัญหาคือจะพูดคุยกับหลาน ซึ่งเป็นคนรุ่น GenZ หรือ Gen Alpha อย่างไร ถ้าดิฉันสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ไม่เป็น การใช้ชีวิตสมัยนี้ แค่เรื่องรับประทานอาหารมันก็เปลี่ยนไปแล้ว จากข้อมูลทางสถิติของธุรกิจร้านอาหารพบว่า การสั่งอาหารผ่านทางออนไลน์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 30% อันนี้คือภาพที่อยากจะชี้ให้เห็น”

    ประเด็นถัดมา เมื่อเรารู้สึกสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี (ภาพที่ 2) ในอดีตดิฉันก็ต้องไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจร่างกาย แต่มาวันนี้เริ่มมีเครื่องมือสารพัดที่มีความชาญฉลาด อย่างเช่น นาฬิกาก็ทำให้เราสามารถตรวจวัดอะไรหลายอย่างได้ด้วยตนเอง ล่าสุดทางกูเกิลกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่สามารถดูแลหรือช่วยชีวิตคนได้ ขณะเดียวกันที่ค่ายแอปเปิล คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้ายอดขายของแอปเปิลน่าจะมาจากแอปเปิลวอตช์ โดยในปี 2562 ยอดขายของแอปเปิลวอตช์เท่ากับยอดขายของแท็บเล็ตแล้ว

    และถ้าดิฉันเป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับเด็กรุ่นใหม่ พวก Gen X หรือ Baby Boomer ตอนนี้ดิฉันกำลังแข่งกับนาฬิกา และกำลังแข่งกับอีกหลายๆ เช่นเรื่องของโฮมเซอร์วิส และถ้าดิฉันเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน ฉันจะเริ่มหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองได้อย่างไร นี่คืออีกภาพที่อยากจะแสดงให้เห็นว่ามันมากระทบกับการใช้ชีวิตของเราอย่างไร และถ้าเราไม่ปรับตัว เราจะไปดึงคนให้มาใช้บริการโรงพยาบาลได้อย่างไร

    อีกกรณี หากดิฉันเป็นผู้บริหารบริษัทที่ขายกล้องถ่ายรูปให้กับลูกค้าที่อยู่ในกลุ่ม Gen X หรือ Baby Boomer ภาพใหม่ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เรารู้ใช่ไหม บริษัทมือถือต่างๆ พยายามพัฒนาให้โทรศัพท์มือถือสามารถถ่ายรูปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และดีกว่ากล้องถ่ายรูปเสียอีก ประเด็นที่ต้องคิดคือ ถ้าเราเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ขายกล้องถ่ายรูปเราจะทำอย่างไร

    เรื่องถัดมาที่อยากจะชี้ให้เห็น (ดูภาพประกอบ) ในอดีตกว่าที่เราจะรับทราบเรื่องราวต่างๆ ได้ ในวัยของดิฉัน เริ่มมาจากจดหมาย จากนั้นก็พัฒนามาเป็นอีเมล การเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาจนถึงวันนี้ ก็คือเรื่อง “ความเร็ว” อย่างลูกสาวของดิฉันเป็นเด็กรุ่น GenZ แต่เดิมทีดิฉันก็ไม่เข้าใจคำว่า speed หรือ “ความเร็ว” บางครั้งดิฉันได้รับข้อความจากลูกสาว ซึ่งต้องใช้เวลาอ่านข้อความ เวลาผ่านไปแค่ 2 นาที ยังไม่ทันได้ตอบกลับไป ลูกสาวเขียนข้อความกลับมาถามคุณแม่อีกรอบว่า “ทำไมช้าจัง ตกลงได้หรือเปล่า” นี่คือตัวอย่างของคำว่า speed

    อริญญา เถลิงศรี

    และถ้าดิฉันเป็นคนรุ่น Gen X หรือ Baby Boomer และเมื่อถึงวันหนึ่งดิฉันก็ต้องมาเป็นผู้สูงอายุแล้ว คำถามคือเราจะทำอย่างไรกับคำว่า Speed และจะทำอย่างไรให้เราเกิดความเร็วอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนี้ทุกอย่างที่มันวิ่งเร็ว และถ้าเป็นแบบนี้เราจะวิ่งตามทันหรือ

    ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยเข้าไปดูโครงการ lifelong learning ในต่างประเทศแล้ว น่าตกใจมาก เขาเริ่มฝึกผู้สูงอายุวัยตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถทำอะไรๆ ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว ซึ่งประเทศสิงคโปร์เริ่มเปิดหลักสูตรนี้แล้ว นี่คือตัวอย่างเรื่อง speed

    อีกเรื่องที่อยากแสดงให้เห็น คือ เรื่องการดูภาพยนตร์ ในสมัยก่อน ยุคของดิฉันดูหนังได้แค่เดือนละ 1 ครั้ง ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แต่มาถึงยุคนี้มีเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ แต่ดูผ่านออนไลน์ได้วันละหลายๆ เรื่อง

    ปัจจุบันดิฉันทำหน้าที่สอนผู้บริหารระดับสูงภายในองค์กร ลูกค้าของดิฉันเดิมก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับดิฉัน แต่ตอนนี้เริ่มสอนผู้บริหารระดับสูงขององค์กร รุ่น GenZ แล้ว คำถามคือดิฉันจะเอาอะไรมาคุยกับพวกเขา และจะตามทันลูกค้าหรือไม่ อย่างไร เราไม่ได้คุยกับลูกค้าแค่เรื่องงานอย่างเดียว แต่เราก็ต้องคุยเรื่องอื่นๆ ด้วย แล้วจะทำอย่างไรจะให้เด็กอีกเจเนอเรชันหนึ่งอยากคุยกับเรา

    มาดูภาพนี้ ในอดีตดิฉันมีความสามารถในการอ่านหนังสือพิมพ์ได้ทีละเล่ม คราวนี้มาดูเด็กรุ่นใหม่เขาดูอะไรกัน ดิฉันถามลูกน้องว่า “คุณติดตามข่าวสารที่สนใจผ่านทางช่องทางใดบ้าง” ดิฉันรู้สึกตกใจมาก เมื่อลูกน้องของดิฉันซึ่งเป็นเด็กรุ่น GenZ โชว์แอปพลิเคชันที่ใช้ติดตามข่าวสารที่พวกเขาสนใจคนละไม่ต่ำกว่า 12 แอป ขณะที่ดิฉันยังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และติดตามอ่านข่าวออนไลน์ได้ไม่กี่ฉบับ ดังนั้นดิฉันจึงเกิดคำถามอยู่ในใจตลอดเวลา ทำอย่างไรเราถึงจะตามลูกค้าให้ทัน ทำอย่างไรจะสื่อสารกันได้

    ในอดีตเราเคยชินกับการรอคอยแท็กซี่ แต่วันนี้ไม่ต้องรอแล้ว ประเด็นวันนี้คือ ทำอย่างไรเราถึงจะเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ชาวบ้านหรือลูกค้าไม่ต้องมารอเรา เพราะทุกอย่างวันนี้มันคลิกดูได้จากมือถือภายในไม่กี่วินาที อ่านหนังสือก็อ่านผ่านแอปพลิเคชัน เร็วกว่าที่มานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ทีละเล่มเสียอีก

    “ขอย้ำ วันนี้คนกำลังวิ่งแข่งกันในเรื่องขอ speed และแข่งกันค้นหาวิธีการที่ไม่ต้องรอ แต่ถ้าเราไปได้ช้ามาก และเราไม่เข้าใจคำว่า speed เราก็จะวิ่งตามเขาไม่ทัน และกลายเป็นมนุษย์ที่ไม่มีคุณค่า เพราะเรายังทำสิ่งเหล่านี้ไม่ทัน

    โลกวันนี้ไม่ใช่แข่งกันแค่ความรู้ แต่เป็นเรื่องของความเร็ว

    ถ้าวัยอย่างดิฉัน หรือวัย Baby Boomer ไม่ฝึกเรื่องความเร็ว ไม่เข้าใจเรื่องความเร็ว และเราไม่เอาตัวเองเข้าไปลิงก์กับเรื่องเหล่านี้ ถึงแม้เราจะมีความรู้มากมายแต่คนก็ไม่ยอมรับ

    อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ในภาพของการทำงานวันนี้ ถ้าเราเข้าใจเฉพาะเรื่องออฟไลน์อย่างเดียว แต่เราไม่นำมาผสมผสานกันให้ถูกต้อง และไม่รู้ว่ามันมีจุดต่างกันอย่างไรระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ มันก็จะมีปัญหามาก เพราะอะไร? เพราะโลกวันนี้มันไม่ได้มีแค่ภาพเดียว แต่มันเป็นการผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์

    เด็กทุกวันนี้เขาโตมากับมือถือ เขาไม่ต้องเล่นของเล่น เพราะฉะนั้นความเร็วในการเรียนรู้ของเขามีเยอะมาก เขาสนใจเรื่องอะไรจะวิ่งเข้าไปดูในกูเกิล สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทางออนไลน์ แพลตฟอร์ม ยกตัวอย่าง ลูกสาวของดิฉันยังไม่ทันได้จบมัธยมศึกษาตอนปลายเลย แต่เรียนจบหลักสูตรและได้รับใบประกาศนียบัตรมาแล้ว หลายๆ หลักสูตร ซึ่งเด็กๆ สมัยนี้สามารถวิ่งเข้าไปเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้

    ประเด็นที่อยากจะขอกล่าวย้ำคือ วันนี้คนไม่รอ ไม่ต้องไปรอที่จะเรียนอะไรก็ตามที่ถูกกำหนดเอาไว้ตามช่วงจังหวะเวลาของชีวิต และที่สำคัญคนเริ่มเลือกเองว่า ชีวิตของเขา เขาจะเรียนอะไร สังคมที่เปลี่ยนไปด้วยการที่ไม่รอ เปลี่ยนไปด้วย speed

    เด็กรุ่นใหม่ ทั้ง Gen Alpha หรือ GenZ ก้าวข้ามประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอายุเท่านี้ ต้องเรียนชั้นประถม อายุเท่านี้ต้องเรียนชั้นมัธยม และถ้าอายุเท่านี้ต้องเรียนมหาวิทยาลัย วันนี้เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องรอ

    เรื่องโครงสร้างประชากร ก็เป็นหัวใจสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น คือ มีคนชราเพิ่มมากขึ้น วัยของดิฉันทำงานอีกไม่กี่ปีก็จะเป็นไปตามภาพที่นำเสนอ คือ กำลังจะเกษียณ แต่ดิฉันบอกตัวเองว่าไม่ใช่ ถ้าเราอายุ 60 ปี เรากำลังเริ่มอาชีพใหม่ และเราจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ให้ชีวิตของเราได้อย่างไร ทุกอย่างมันลิงก์กับเราทั้งหมด หากคนที่อยู่ใกล้ตัวเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายความว่าการใช้ชีวิตของเราจะไม่เหมือนเดิม แต่เรายังก็ต้องแข่งกับความรู้ใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันกับความเร็ว และแข่งกับความสะดวกสบาย และถ้าเราต้องการที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขเมื่อยามที่เรามีอายุมากขึ้น เราต้องให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพและเรื่องของการเงิน หลังเกษียณที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี เราจะอยู่อย่างไร

    สิ่งที่เป็นคำตอบและเป็นเทรนด์ของวันนี้ คือ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ lifelong learning ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งดิฉันเองก็ไม่ต้องให้ใครมาเรียกดิฉันว่า “คุณป้า คุณยาย” แต่ดิฉันต้องการที่จะเข้าไปคุยกับเด็กรุ่น Gen Z หรือ Gen Alpha ได้ ดังนั้น เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือคำตอบ

    lifelong learning วันนี้ เด็กรุ่น GenZ หรือ Gen Alpha อยากเรียนรู้เรื่องอะไรเข้าสมัครเรียนเองได้ เขาอยากรู้เรื่องอะไรสามารถค้นหาได้จากกูเกิลหรือสอบถาม Siri อย่างลูกสาวของดิฉันอยู่ในบ้าน ก็คุยกับพ่อแม่พอๆ กับการพูดคุยกับหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกล สิ่งที่แม่พูดถึง บางครั้งลูกสาวของดิฉันก็นำมาตรวจเช็คกับกูเกิลหมายความว่าอย่างไร Siri หมายความว่าอย่างไร และถ้าวันนี้ดิฉันต้องเรียนไปตามสเตปของชีวิต มัวแต่รอว่าเมื่อไหร่บริษัทจะส่งดิฉันไปเรียน หรือรอคนมาจับดิฉันไปเรียนนั่น เรียนนี่ ดิฉันจะไม่มีคุณค่า

    แต่ดิฉันยังอยากอยู่ในโลกใบนี้ และยังอยากที่จะเป็นบุคลากรของประเทศที่มีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของน้องๆ ทำงานอยู่ในสังคมได้ ตัวดิฉันเองจะต้องสร้างแรงจูงใจหรือ motivation อย่างไร ถึงจะไปสู่เป้าหมายที่ว่านี้ได้ ต่อให้มีอุปสรรคก็ต้องฟันฝ่าให้ได้ ประเด็นที่สำคัญกลุ่มผู้สูงอายุในหลายๆ ประเทศกำลังวิ่งไปข้างหน้าพร้อมกับเด็กรุ่น GenZ ตัวดิฉันเองก็กำลังจะเกษียณอายุ ทำอย่างไรที่จะต้องทำให้กลุ่มเหล่านี้เข้าใจว่า คุณยังเกษียณไม่ได้ คุณต้องแอคทีฟ และก้าวไปสู่ที่ระดับสูงขึ้น

    ประเด็นสุดท้าย เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต lifelong learning ดิฉันขอนำเสนอบุคคลตัวอย่างที่เป็น lifelong learner ตัวจริง 3 คน ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ใช้เวลาเรียนรู้เพิ่มเติมสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ตัวอย่างแรก นายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ท่านใช้เวลาในการอ่านหนังสือทุกวันวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เป็นหนึ่งคนที่ถือว่าเป็น lifelong learner ตัวจริง โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และเรียนรู้จากสายสัมพันธ์ใหม่ๆ เพราะทุกๆ สัปดาห์นายบารัก โอบามา จะต้องออกไปพบปะพูดคุยกับคนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และต้องฟังเรื่องราวของเขา

    คนที่ 2 บิลล์ เกตส์ นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ได้รับรางวัลว่าเป็นบุคคลที่เป็น lifelong learner ตังจริงอีกท่าน สิ่งที่บิลล์ เกตส์ ทำคือใช้เวลาอ่านหนังสือก่อนนอนทุกคืนวันละ 1 ชั่วโมง และบิลล์ เกตส์ เป็นคนที่ชอบดูหนังสือใหม่ๆ อ่านทุกอย่างเพื่อพัฒนาไอคิวและอีคิว

    คนที่ 3 คือ แจ็กหม่า ถ้าใครติดตามแจ็กหม่าช่วงที่เขาแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่ง แจ็กหม่าบอกว่ากำลังจะก้าวไป chapter ใหม่ ยังไม่จบ รอดูตอนต่อไป แจ็กหม่าเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้ง 3 ท่านเป็น lifelong learner ตัวอย่าง ให้เราได้ศึกษาว่าเราจะอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไร

    โดยสรุปดิฉันอยากให้เห็นภาพทั้งหมดก่อนว่าเทคโนโลยีมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร และมันไปเชื่อมกับกลุ่ม Gen Alpha, Gen Z อย่างไร เมื่อเราเห็นเด็กกลุ่มนี้ เขาดำรงชีวิตอีกแบบหนึ่งแล้ว และเราจะอยู่ในโลกใบนี้อย่างไร ทั้งในเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวและเรื่องสังคม เพื่อให้เราสามารถที่จะอยู่ในโลกใบนี้ได้ในฐานะบุคลากรของประเทศที่มีคุณค่าและมีความสุขด้วย

    คำตอบเดียว คือ เราจะต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเอง ละทิ้งหรือเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ จากเดิมที่ให้คนมาป้อนเรา แต่ทำอย่างไรที่เราจะลุกขึ้นมา และมีความมุ่งมั่น หรือ commitment ที่จะต้องเป็น lifelong learner ด้วยตัวของเราเอง