ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ด PTTGC นัดพิเศษถก 4 ชม. คำตอบระบบวาล์วเป็น “manual” ไม่อัตโนมัติตามที่แถลงข่าว – สั่งเปลี่ยนท่อใหม่ทั้งหมด

บอร์ด PTTGC นัดพิเศษถก 4 ชม. คำตอบระบบวาล์วเป็น “manual” ไม่อัตโนมัติตามที่แถลงข่าว – สั่งเปลี่ยนท่อใหม่ทั้งหมด

8 สิงหาคม 2013


ท่อน้ำมันพีทีทีจีซีรั่ว ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)
ท่อน้ำมันพีทีทีจีซีรั่ว ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)

เหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วใกล้ท่าเทียบเรือมาบตาพุดยังไม่จบ หลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมกับคณะผู้บริหารระดับสูง ปตท. เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 อีก 6 วันถัดมา นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษ เวลา 18.00 น. อาคาร Energy Complex เพื่อรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบรั่ว และปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน ให้กับที่คณะกรรมการรับทราบ

แหล่งข่าวจาก ปตท. กล่าวว่า การประชุมบอร์ดนัดพิเศษครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ในที่ประชุมได้รายงานถึงเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่ว เริ่มตั้งแต่ในช่วงเช้าวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซ ถ่ายน้ำมันดิบผ่านท่อยางเสริมใยเหล็กขนาด 16 นิ้ว ยี่ห้อ“กู๊ดเยียร์” ที่วางเพื่อใช้ถ่ายน้ำมันดิบจำนวน 23 ท่อน ท่อดังกล่าวเกิดแตกรั่วขึ้นมาบริเวณท่อนที่ 3 นับจากเรือ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หลังจากถ่ายน้ำมันดิบจากเรือผ่านท่อไปได้ 30 นาที เจ้าหน้าที่ PTTGC เห็นน้ำมันรั่วไหล จึงรีบไปปิดวาล์วส่งน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบ “Manual” ไม่ใช่ ระบบ “อัตโนมัติ” ปรากฏว่าน้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร ได้รั่วไหลลงทะเลไปแล้ว ประเด็นนี้กรรมการบอร์ดหลายคนมีข้อสงสัยว่าท่อส่งน้ำมันอย่างดี ซึ่งเป็นสเปคเดียวกับที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกิดการแตกรั่วขึ้นได้อย่างไร

ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th
ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th

ระบบวาล์ว”อัตโนมัติ” หรือ”Manual”

ในประเด็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงและระบบความปลอดภัย กรณีการปิดวาล์วเมื่อทราบว่าน้ำมันรั่วนั้น ในวันแถลงข่าว นายไพรินทร์กล่าวว่า ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซ กำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นได้ประมาณ 30 นาที ท่อส่งขนาด 16 นิ้ว ซึ่งเป็นท่อแบบอ่อนที่น้ำไม่สามารถเข้าไปได้เกิดการรั่วซึมขึ้น เมื่อเกิดเหตุ วาล์วอัตโนมัติได้ตัดระบบการส่งน้ำมันโดยทันที และมีน้ำมันที่หลงเหลือในท่อหลุดออกมาประมาณ 50,000 ลิตร โดยท่อดังกล่าวเป็นเหล็กอย่างดีมีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่บริษัทจะเปลี่ยนทุก 2 ปี เปลี่ยนครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทก็ยังสงสัยอยู่ว่าเกิดเหตุการณ์รั่วขึ้นมาได้อย่างไร

และขณะเดียวกันก็มีคำถามในประเด็นเดียวกันนี้จากองค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้ง21 คำถามที่ พีทีทีจีซี ต้องตอบ แต่ล่าสุด จากข้อมูลข้างต้นของที่ประชุมคณะกรรมการพีทีทีจีซีนัดพิเศษ มีการยอมรับว่าระบบวาล์วดังกล่าวไม่ใช่วาล์วอัตโนมัติ แต่เป็นระบบ “Manual”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ท่อส่งน้ำมันชนิดนี้มีอายุการใช้งานถึง 5 ปี PTTGC เพิ่งเปลี่ยนเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถทนทานต่อแรงดันได้สูงสุดถึง 27 บาร์ ขณะที่น้ำมันดิบที่ส่งผ่านท่อมีแรงดันแค่ 8 บาร์ ทำไมถึงเกิดการแตกรั่วเป็นรูใหญ่มาก ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ PTTGC มีมติให้ให้เปลี่ยนท่อส่งน้ำมันใหม่ทั้งหมด และล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำเรื่องถึง PTTGC ขออายัดท่อส่งน้ำมัน เพื่อส่งให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตรวจสอบหาสาเหตุการแตกรั่ว แต่เจ้าหน้าที่ PTTGC ยังไม่อนุญาตให้ดีเอสไอทำการเคลื่อนย้ายท่อน้ำมัน คงต้องรอบริษัทประกันภัยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบก่อน

“ที่ประชุมถกกันเรื่องสาเหตุการแตกรั่ว ซึ่งอาจจะเพราะท่อส่งน้ำมันที่สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ เป็นท่อมีตำหนิมาจากโรงงานผู้ผลิต หรือถูกกลั่นแกล้ง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ เพราะขณะถ่ายน้ำมันคลื่นสูงถึง 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งบอร์ดได้สั่งให้ผู้บริหาร PTTTGC แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและสรุปผลสอบรายงานบอร์ดโดยเร็วที่สุด เพราะสาเหตุการแตกรั่วอาจจะมีผลต่อการจ่ายค่าสินไหมชดเชยวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องไปดูเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกอบด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนประเด็นการจ่ายเงินเยียวยา หรือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ที่ประชุมบอร์ด PTTGC ไม่ได้กำหนดวงเงินและยินดีรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่ PTTGC จะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เท่านั้น ล่าสุดมีชาวประมงกลุ่มหนึ่งเรียกร้องค่าเสียหายเพราะออกเรือจับปลาไม่ได้หลายวันช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว แต่ในช่วงเวลานั้นเกิดคลื่นลมแรง ตามหลักไม่ควรออกเรือหาปลา และบริเวณเกาะเสม็ดก็ไม่ใช่แหล่งหาปลา กรณีนี้เจ้าหน้าที่ PTTGC ได้รับเรื่องเอาไว้พิจารณา แต่ก่อนที่จะจ่ายเงินต้องมีกระบวนการพิสูจน์ว่าได้รับจริงหรือไม่ ซึ่งบอร์ดสั่งให้ผู้บริหาร PTTGC กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาให้ชัดเจน

ภาพโขดหินบริเวณอ่าวพร้าว ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)
ภาพโขดหินบริเวณอ่าวพร้าว ที่มาภาพ: บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้านปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน โดยภาพรวมสามารถกอบกู้สถานการณ์ชายหาดให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้กว่า 90% เจ้าหน้าที่ PTTGC ร่วมกับชาวประมง ชาวบ้าน ร้านค้า ผู้ประกอบการรีสอร์ท ขนส่งขยะปนเปื้อนน้ำมันดิบออกจากบริเวณอ่าวพร้าวเรียบร้อย นอกจากนี้ เมื่อขุดทรายลงไปลึก 1 ฟุต ก็ม่พบคราบน้ำมันดิบ และในวันที่ 9–10 สิงหาคมนี้ ผู้บริหารของบริษัท ปตท. และ PTTGC พร้อมกับนักศึกษาวิทยาลัยพลังงานจะเดินทางไปเกาะเสม็ดเพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ หรือ “BIG CLEANING”

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ทาง “กู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์”ได้ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดดังกล่าวแล้ว โดยได้ขายธุรกิจผลิตภัณฑ์สำหรับงานวิศวกรรมให้กับบริษัท เวเยนซ์ เทคโนโลยี ในปี 2550 ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ท่อส่งใต้น้ำ ทั้งนี้ บริษัทเวเยนซ์ เทคโนโลยี ได้รับสิทธิ์ในการใช้ตราสินค้ากู๊ดเยียร์สำหรับผลิตภัณฑ์ยางสำหรับงานวิศวกรรม ทั้งนี้ บริษัทเวเยนซ์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองแฟร์ลอว์น มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา

“PTTGC รายงานเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ฉบับที่ 14”