ThaiPublica > เกาะกระแส > “อุตสาหกรรมเรือสำราญ” ไวรัสโควิด-19 คือฝันร้ายของภาพลักษณ์ธุรกิจ

“อุตสาหกรรมเรือสำราญ” ไวรัสโควิด-19 คือฝันร้ายของภาพลักษณ์ธุรกิจ

17 กุมภาพันธ์ 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2020/02/16/asia/coronavirus-outbreak-diamond-cruise-us-evacuation-intl-hnk/index.html

เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์มาแล้ว ที่คนทั่วโลกได้เห็นภาพในโทรทัศน์และการรายงานข่าวเรื่องเรือสำราญชื่อ Diamond Princess จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือโยโกฮามา ญี่ปุ่น นับจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ผู้โดยสารกับลูกเรือทั้งหมด 3,600 คนถูกกักตัวอยู่บนเรือสำราญ เพื่อตรวจโรคไวรัสโควิด-19 และมีคนที่อยู่บนเรือสำราญลำนี้ติดเชื้อไวรัสนี้ไปแล้วกว่า 350 คน

ส่วนเรือสำราญอีกลำหนึ่งชื่อ Westerdam ต้องหันไปจอดเทียบท่าที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ กัมพูชา เพื่อส่งผู้โดยสารบนเรือขึ้นฝั่ง และเดินทางกลับประเทศของตัวเอง หลังจาก 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาะกวม ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ไม่อนุญาตให้เรือสำราญลำนี้เข้ามาจอดเทียบท่า เพราะกลัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นแบบเดียวกับเรือสำราญ Diamond Princess

ฝันร้ายของภาพลักษณ์ธุรกิจ

การเดินทางบนเรือสำราญในทะเล เป็นการท่องเที่ยวที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหรูหรา การเดินทางในทะเลในช่วงที่มีสภาพอากาศปกติสมบูรณ์แบบ อาหารและการบริการที่ดีเลิศ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดฝันร้ายด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจเรือสำราญ จากภาพลักษณ์ของโรงแรม 5 ดาวลอยน้ำ กลายเป็นค่ายกักกันลอยน้ำแทน

บทความของ New York Time เรื่อง In Coronavirus, $45-Billion Cruise Industry Faces a Big Challenge กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมเรือสำราญที่มีมูลค่า 45 พันล้านดอลลาร์ ไวรัสโควิด-19 คือฝันร้ายของการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ ในอดีตธุรกิจนี้เคยเผชิญหน้ากับวิกฤติต่างๆ มาก่อน แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือปัญหาท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดต่อธุรกิจนี้

James Hardiman ผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ Wedbush Securities บอกกับ New York Times ว่า “ยิ่งเรื่องราวของ Diamond Princess เป็นข่าวครึกโครมในสื่อมวลชนนานเท่าไหร่ คนที่ไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวกับเรือสำราญมาก่อนเลยก็จะคิดว่า การเดินทางกับเรือสำราญไม่ใช่การท่องเที่ยวพักผ่อนในความใฝ่ฝันอีกต่อไปแล้ว”

ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2020/02/16/asia/coronavirus-outbreak-diamond-cruise-us-evacuation-intl-hnk/index.html

บริษัททำธุรกิจเรือสำราญ เช่น ยักษ์ใหญ่อย่าง Carnival Corp หรือ Norwegian Cruise Lines แถลงออกมาว่า ตัวเองให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร และมีมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้โดยสารเกิดความปลอดภัย เพราะเรือสำราญจะมีผู้โดยสารหลายพันคนมาอยู่แออัดกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เรือ Harmony of the Sea ของบริษัท Royal Caribbean บรรทุกคนได้ถึง 5,400 คน จึงเป็นที่รู้ๆ กันว่า เรือสำราญคือแหล่งเพาะโรค

ตลาดจีนและเอเชีย

หนังสือชื่อ Cruise Ship Tourism ที่พิมพ์ออกมาในปี 2017 กล่าวว่า ตลาดจีนเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของธุรกิจเรือสำราญ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คนจีนแทบไม่รู้เลยว่ามีการท่องเที่ยวแบบเรือสำราญ เพราะยังไม่มีเรือสำราญไปจอดเทียบท่าในจีน แต่ในปี 2014 คนจีนที่เป็นผู้โดยสารเรือสำราญมีจำนวน 697,000 คน รัฐบาลจีนเองคาดหมายว่าในปี 2020 จะมีถึง 4.5 ล้านคน

หนังสือ Cruise Ship Tourism กล่าวอีกว่า ตลาดเอเชียของธุรกิจเรือสำราญกำลังเติบโตรุ่งเรือง ในปี 2017 ผู้โดยสารเรือสำราญที่เป็นคนเอเชียมีอยู่ 3.7 ล้านคน ในปี 2020 คาดว่าจะมีถึง 7 ล้านคน การเติบโตของธุรกิจเรือสำราญในตลาดเอเชียเป็นเพราะชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น เฉพาะชนชั้นกลางในจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านคนในปี 2012 มาเป็น 630 ล้านคนในปี 2022

ในอดีต ธุรกิจเรือสำราญในเอเชียเติบโตช้า เพราะมีเรือสำราญของเอเชียเพียงลำเดียวชื่อว่า Star Cruise ที่เป็นของบริษัท Genting Group มาเลเซีย โดยมีเส้นทางเดินเรือในระยะเวลา 3-4 วัน ระหว่างสิงคโปร์กับฮ่องกง การทำการตลาดของ Star Cruise ก็เน้นที่โอกาสที่ผู้โดยสารจะเล่นการพนันบนเรือสำราญนี้ ส่วนเรือสำราญจากภูมิภาคอื่นก็มองท่าเรือในเอเชียเป็นจุดแวะผ่านเท่านั้น

ที่มาภาพ : https://www.businessinsider.com/coronavirus-case-found-on-westerdam-cruise-after-hundreds-disembark-2020-2

การเติบโตของธุรกิจเรือสำราญในเอเชีย เกิดจากการที่เอเชียกลายเป็นปลายทางที่สำคัญของเรือสำราญ ไม่ใช่แค่จุดแวะเทียบท่า ในอดีตมีเพียงสิงคโปร์กับฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางเรือสำราญของเอเชีย ต่อมาเซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งคนในเอเชียเองก็มองว่า เรือสำราญเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการท่องเที่ยว

หนังสือ Cruise Ship Tourism ระบุว่า ภูมิภาคที่เป็นปลายทางการท่องเที่ยวของเรือสำราญ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเรียงตามลำดับ คือ แถบทะเลแคริบเบียน (33.7%) ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (18.7%) เอเชีย (9.2%) และออสเตรเลียกับแปซิฟิก (6.1%) ส่วน 80% ของธุรกิจนี้ตกอยู่ในมือของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ Royal Caribbean Cruise Lines (RCCL), Carnival Cruise Lines (CCL) และ Norwegian Cruise Lines (NCL)

ไม่เพียงการท่องเที่ยวกับเรือสำราญทางทะเลเท่านั้นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญบนแม่น้ำก็ได้รับความนิยมมากขึ้น จากตัวเลขในปี 2017 นักท่องเที่ยวของเรือสำราญบนแม่น้ำมีจำนวนราวๆ 1 ล้านคน ปลายทางยอดนิยมคือเรือสำราญบนแม่น้ำดานูบ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเซน แม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำไนล์

ผลกระทบต่อตลาดเอเชีย

ส่วนบทความของ South China Morning Post เรื่อง ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมเรือสำราญ กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 จีนและฮ่องกงถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของธุรกิจเรือสำราญ โดยสมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (Cruise Lines International Association – CLIA) คาดว่า ในปี 2020 ทั้งโลกจะมีผู้โดยสาร 30 ล้านคน ในปี 2018 มีผู้โดยสารเรือสำราญ 28.5 ล้านคน โดยเป็นผู้โดยสารจากจีน ฮ่องกง และมาเก๊า 2.5 ล้านคน หรือ 9%

Jack Hickey นักกฎหมายทางทะเลของสหรัฐฯ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรือสำราญ Diamond Princess เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการดำเนินงานของเรือสำราญ เป็นเรื่องยากที่จะรักษาคุณภาพบริการไว้ในระดับสูง และไม่ให้พนักงานบนเรือเคลื่อนไหวทั่วเรือโดยสาร โมเดลธุรกิจของเรือสำราญประสบความสำเร็จ เพราะจ้างพนักงานจากประเทศกำลังพัฒนา ทำงาน 7 วันในสัปดาห์ 12-14 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานบนเรือ 6-10 เดือนในแต่ละปี จึงมีปัญหาเรื่องการฝึกอบรมพนักงาน เพราะมีปัญหาพนักงานลาออก

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สมาคมเรือสำราญ CLIA ออกคำแนะนำให้สมาชิกสมาคมห้ามไม่ให้ผู้โดยสารคนใดขึ้นเรือสำราญ หากในช่วง 14 วันที่ผ่านมาได้เคยเดินทางไปจีน ฮ่องกง และมาเก๊า เรือสำราญของบริษัท Royal Caribbean ห้ามไม่ให้ผู้โดยสารและลูกเรือที่ถือหนังสือเดินทางของจีนกับฮ่องกงขึ้นเรือ และยกเลิกโปรแกรมเดินเรือของเรือสำราญที่จดทะเบียนในจีนชื่อ Spectrum of the Seas เรือสำราญชื่อ Viking Cruise ที่ล่องตามแม่น้ำแยงซี ก็ประกาศยกเลิกโปรแกรมการเดินทางจนถึงเดือนมิถุนายนนี้

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ฮ่องกงเองก็ประกาศปิดท่าเทียบเรือสำราญที่ Ocean terminal เพราะหลายประเทศในเอเชียประกาศไม่รับเรือสำราญจากจีนและฮ่องกง ทางสมาคมเรือสำราญ CLIA ยังประกาศกฎเข้มงวดมากขึ้นอีก คือไม่รับผู้โดยสารที่ถือหนังสือเดินทางของฮ่องกง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจเรือสำราญไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ

การท่องเที่ยวบนเรือสำราญค่อนข้างมีราคาแพง โปรแกรมเรือสำราญในเอเชียที่มีระยะเวลา 9 วัน จะมีค่าใช้จ่ายคนหนึ่ง 1,800 ดอลลาร์ และผู้โดยสารต้องจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน เช่น ผู้โดยสารคนหนึ่งของเรือสำราญ Westerdam บอกกับ New York Times ว่า เขาเองต้องจองล่วงหน้าปีกว่า

นักวิเคราะห์ที่ศึกษาธุรกิจเรือสำราญชื่อ Ross Klein บอกกับ New York Times ว่า ธุรกิจเรือสำราญไม่เคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อน และก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร การตัดสินใจส่วนใหญ่ของธุรกิจเรือสำราญล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นหลัก คนพวกนี้จะตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจะเสียเงินให้น้อยที่สุด และขาดทุนให้น้อยที่สุด

เอกสารประกอบ

In Coronavirus, $45-Billion Cruise Industry Faces a Big Challenge, 12 February 2020, nytimes.com

After thousands stranded at sea, coronavirus set to hit cruise industry, 15 February 2020, scmp.com

Cruise Ship Tourism, Edited by Ross Dowling and Clare Weeden, CABI, 2017.