ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนปรับอาลีบาบา 2.8 พันล้านดอลลาร์ สะท้อน กม.ต่อต้านการผูกขาดของจีน ที่มีอำนาจมากสุดของโลก

จีนปรับอาลีบาบา 2.8 พันล้านดอลลาร์ สะท้อน กม.ต่อต้านการผูกขาดของจีน ที่มีอำนาจมากสุดของโลก

17 เมษายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.alizila.com/alibaba-reports-december-2020-quarter-earnings/

จีนปรับอาลีบาบา 2.8 พันล้านดอลลาร์ สะท้อน กม.ต่อต้านการผูกขาดของจีน ที่มีอำนาจมากสุดของโลก

ทางการจีนสั่งปรับอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน เป็นเงิน 2.8 พันล้านดอลลาร์ (8.4 หมื่นล้านบาท) อาลีบาบาถือเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนของจีนที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด และเป็นเสาหลักอาณาจักรธุรกิจของแจ็ก หม่า การสั่งปรับอาลีบาบาถือเป็นมาตรการครั้งสำคัญสุดของจีน ที่จะกำกับควบคุมบริษัทไฮเทค

ในเดือนธันวาคม 2020 ทางการจีนเริ่มสอบสวนว่า อาลีบาบาละเมิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่ เนื่องจากอาลีบาบากีดกันไม่ให้พ่อค้านำสินค้าไปขายในแพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซอื่น ทางการจีนกล่าวว่า วิธีให้ทำการค้าแบบเฉพาะกับอาลีบาบาเท่านั้น ถือเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของการค้าปลีกออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อนวัตกรรมของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต และยังเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค

บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน People’s Daily กล่าวว่า การผูกขาดถือเป็นศัตรูต่อเศรษฐกิจตลาด สำนักงานกฎระเบียบตลาดของรัฐ (State Administration for Market Regulation — SAMR) ที่สั่งปรับอาลีบาบาแถลงว่า จำนวนเงินที่ปรับจะไม่กระทบต่ออาลีบาบา เพราะมีสัดส่วนแค่ 4% ของยอดขายในประเทศ ของอาลีบาบาในปี 2019 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2020 อาลีบาบามีผลกำไร 12 พันล้านดอลลาร์

การผูกขาดที่กำกับได้

บทความชื่อ China Fines Alibaba $2.8 Billion in Landmark Antitrust Case ของ New York Times ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ทางการจีนเริ่มทำการสอบสวนบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค สำนักงาน SAMR เสนอการให้ปรังปรุงกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ที่ครอบคลุมถึงบริษัทแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น อาลีบาบา ในเดือนพฤศจิกายน 2020 จีนสั่งระงับการระดมทุนถึง 34 พันล้านดอลลาร์ของ Ant Group กลุ่มธุรกิจการเงินของอาลีบาบา จากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง

แจ็ก หม่า ที่มาภาพ : nytimes.com

ในเดือนตุลาคม 2020 แจ็ก หม่า เจ้าของกลุ่มอาลีบาบากล่าวต่อที่ประชุมการเงินที่เซี่ยงไฮ้ โดยกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่กำกับทางการเงินของจีน เป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมทางการเงิน เพราะเจ้าหน้าที่มุ่งที่จะควบคุมความเสี่ยง ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ทางการจีนเปิดเผยร่างแนวปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจแพลตฟอร์ม แต่จีนก็ไม่ต้องการจะกำกับธุรกิจยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต ที่จะทำให้จีนเสียเปรียบในการแข่งขันด้านไฮเทคกับสหรัฐฯ

บทความ Why Beijing Is Bringing Big Tech to Heel ใน foreignaffairs.com กล่าวว่า เดิมนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีน จะมี “ภูมิคุ้มกัน” จากกฎหมายต่อต้านการผูกขาด แต่ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การที่จีนสั่งดำเนินการลงโทษต่อบริษัทไฮเทคเหล่านี้ ได้ทำลายความเชื่อความเข้าใจดังกล่าว

นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า การดำเนินการสั่งปรับบริษัทไฮเทคของจีน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และกลุ่ม EU ที่กำลังหาทางจำกัดอำนาจของบริษัทไฮเทค เช่น Google, Facebook, Amazon และ Apple ทั้งสหรัฐฯ และ EU ต่างก็ห่วงกังวลต่อการดำเนินงานในทางที่ผิด เนื่องจากการผูกขาดของธุรกิจแพลตฟอร์ม

แต่บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า การใช้มาตรการต่อต้านการผูกขาดของจีน มีพื้นฐานความคิดที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก ในสหรัฐฯ ปัญหาการผูกขาดและความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนกลุ่มน้อย สร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย ต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ส่วนจีนไม่ได้กังวลมากในเรื่องการผูกขาด ที่ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน แต่เห็นว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่ได้มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ

ทางการและสื่อมวลชนจีนอธิบายการการใช้มาตรการทางกฎหมายกับธุรกิจไฮเทคว่า “เป็นการป้องกันการผูกขาด และป้องกันการขยายทุนที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน” ความหมายของข้อความที่ 2 คือสิ่งที่สะท้อนความวิตกกังวลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ต้องการควบคุมกำกับทิศทางการพัฒนาด้านนวัตกรรม และอิทธิพลของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ที่จะมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมของจีน

ที่มาภาพ : https://www.alizila.com/alibaba-business-school-bringing-netpreneur-masterclass-to-europe/

อันตรายที่ทุนขยายตัวไม่เป็นระเบียบ

Tian Lihui อาจารย์ด้านการเงินจาก Nankai University ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ Economic Daily ว่า การเติบโตของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เป็นดาบสองคม หากการขยายตัวของทุนเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม แต่หากขยายตัวไม่เป็นระเบียบ จะทำให้เกิดการผูกขาด ที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ

Zhu Ning นักวิจัยจาก Tsinghua University กล่าวว่า การขยายตัวและเติบโตของทุนที่ไม่เป็นระเบียบ เป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม การขยายตัวของทุนที่ไม่มีการกำกับควบคุม จะทำให้สังคมหันเหออกจากเส้นทางความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยี ไปสู่หนทางที่จะแสวงหากำไรแบบง่ายๆ ใช้ทุนไปเพิ่มธุรกรรมและขยายฐานลูกค้า แต่กลับละเลยการสร้างนวัตกรรมต้นแบบทางเทคโนโลยี

สื่อมวลชนจีนยกตัวอย่างการขยายทุนแบบไม่เป็นระเบียบ คือกรณีที่อาลีบาบา หรือ Meituan ยักษ์ใหญ่ส่งอาหาร เข้าสู่ธุรกิจแบบ “การสั่งซื้อแบบรวมกลุ่มชุมชน” ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ สามารถรวบรวมการซื้อสินค้าของชำหรือของจำเป็นต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วก็ไปซื้อกับผู้ค่าส่งโดยตรง และจะได้ราคาถูกที่สุด วิธีการจัดซื้อแบบนี้เป็นการก้าวข้ามคนขายสินค้าของชำในท้องถิ่น แม้การซื้อสินค้าจากธุรกิจออนไลน์จะสะดวก แต่ก็ทำลายการจ้างงานในท้องถิ่น และทำลายห่วงโซ่อุปทานอาหาร (food supply chain)

ผลกระทบต่อท้องถิ่นจากการค้าสินค้าของชำออนไลน์ สะท้อนความกังวลของทางการจีนที่ว่า ยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีนนำทุนที่สะสมมา ไปใช้เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตัวเองมากขึ้นกับธุรกิจที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะนำไปลงทุนด้านการวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของสังคมโดยรวม

เมื่อเดือนธันวาคม 2020 สำนักงาน SAMR เรียกประชุมบริษัทไฮเทคจีน และแจ้งว่าให้หยุดการทุ่มเทแสวงหากำไรระยะสั้น และให้ดำเนินการที่จะทำให้จีนเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ทางการจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านเทคโนโลยี จีนกำลังเผชิญปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และมีปัญหาขัดแย้งกับสหรัฐฯ มากขึ้น ผู้นำจีนจึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมต้นแบบ ที่จะทำให้จีนเป็นอิสระทางเทคโนโลยี การที่จีนคัดค้านการขยายทุนแบบไม่เป็นระเบียบ ไม่ได้หมายความว่าจีนคัดค้านการสั่งสมทุนของธุรกิจ หรือการผูกขาด แต่คัดค้านการสั่งสมทุนของธุรกิจ ที่หันเหออกจากแนวนโยบายด้านนวัตกรรมของจีน

สำนักงานกฎระเบียบตลาดของจีน (SAMR) ที่มาภาพ : wikipedia.org

กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน

หนังสือ Ani-Monopoly Law and Practice in China (2011) กล่าวว่า เดือนสิงหาคม 2007 สมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน ผ่านกฎหมายต่อต้านการผูกขาดฉบับแรกของจีน ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลาง มาสู่ “เศรษฐกิจตลาดที่มีลักษณะสังคมนิยม” กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน ที่ใช้เวลานานถึง 13 ปี ในการปรึกษาหารือและร่างตัวกฎหมายขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้แสดงถึงความเป็นสากลของจีน หลังจากเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001

กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีนมีผลบังคับใช้เมื่อสิงหาคม 2008 สาระสำคัญของกฎหมายประกอบด้วย เนื้อหาที่สำคัญจากกฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศสำคัญๆ ในโลก คือการระบุพฤติกรรมการผูกขาดว่าประกอบด้วย

    (1) ห้ามข้อตกลงผูกขาดระหว่างผู้ประกอบการ
    (2) ห้ามการใช้ฐานะนำในตลาดไปในทางที่ผิด (abuse of a dominant position
    (3) ห้ามการรวมกิจการ ที่จะเป็นผลเสียต่อการแข่งขันทางการค้า ดังนั้น กรณีที่อาลีบาบากำหนดให้ซับพลายเออร์ทำธุรกรรมเฉพาะกับอาลีบาบา จึงเข้าข่ายการใช้ฐานะนำตลาดไปในทางที่ผิด

กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน ถือเป็นกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ใหม่ แต่ก็มีอิทธิพลมากสุดของโลกในปัจจุบัน สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกังวลไม่ใช่ตัวเนื้อหาของกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่า กระบวนการพิจารณาไต่สวนจะมีความโปร่งใสหรือไม่

เอกสารประกอบ

China Fines Alibaba $2.8 Billion in Landmark Antitrust Case, nytimes.com, April 9, 2021.
Why Beijing Is Bringing Big Tech to Heel, foreignaffairs.com, February 4, 2021.
Anti-Monopoly Law and Practice in China, H. Stephen Harris, Jr. and Others, Oxford University Press, 2011.