ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เตรียมย้ายออก “บ้านหลวง” – มติ ครม.จบปม “ค่าโง่ทางด่วน” ถอนทุกคดี แลกสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

“บิ๊กตู่” เตรียมย้ายออก “บ้านหลวง” – มติ ครม.จบปม “ค่าโง่ทางด่วน” ถอนทุกคดี แลกสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

18 กุมภาพันธ์ 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ให้ “กรมธนารักษ์” ดูแลระบบสวัสดิการ ทบ.- นายกฯเตรียมย้ายออก “บ้านหลวง”

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่กองทัพบก(ทบ.)ให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เข้ามาดูแลและจัดการสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบกว่า จริงๆ แล้วมีกฎระเบียบอยู่ทั้งหมด ในการทำงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น ตนไม่ขัดข้องที่จะให้ให้กรมธนารักษ์ เข้ามาดูแลการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก ในส่วนของการบริหารต่างๆ ว่าเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาในฐานะที่ตนเองเคยเป็นผู้บังคับหน่วยมาก่อน ได้ดำเนินการตามระเบียบมาโดยตลอด เพียงแต่อาจมีบางคนที่ไม่ทำตามระเบียบ เมื่อมีปัญหาก็ต้องให้มีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ต่อคำถามถามว่ากรณีบ้านพักของนายกรัฐมนตรีแม้จะอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น แต่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการใช้บ้านพักทหาร จะตอบคำถามสังคมอย่างไร และหากพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะออกจากบ้านพักหรือไม่พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยชี้แจงว่า ตนเองทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต และถึงแม้กฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้ตนเองก็ยังทำงานอยู่

“ปัญหาของผมคือ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงต้องมีเรื่องของการดูแลรักษาความปลอดภัยหรือการ รปภ. จึงต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อการดูแลรักษาความปลอดภัยในฐานะของผู้นำประเทศ ผมได้เตรียมการที่จะไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักของตนเองอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มีคำตอบ ปมเอื้อ’เจ้าสัว’เช่าศูนย์สิริกิติ์

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านทยอยเปิดข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะเรื่องการให้เจ้าสัวเช่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 50 ปีว่า คนมีข้อมูลที่จะชี้แจงในทุกประเด็น และขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้รับฟังข้อเท็จจริง อย่าบิดเบือนข้อมูล

“มีข้อมูลชี้แจงให้ได้หมดทุกประเด็น ก็ขออย่าบิดเบือนละกัน เวลาชี้แจงก็กรุณาฟังด้วย คำถามทั้งหมดที่อภิปรายมาทุกเรื่อง”

ลั่นไม่มีส่วนคดียุบพรรค เชื่อมันกระบวนการยุติธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามการที่ศาลจะพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองในขณะนี้ ว่า ตนเห็นพูดกันทุกวัน อันนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับตนและรัฐบาลเลย ผลจะถูกหรือผิดเป็นเรื่องของหลักการข้อเท็จจริง ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรมด้วยข้อมูลและหลักฐานทุกประเด็น เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันทั้งสิ้น เป็นกฎเกณฑ์และข้อความเดียวกัน

“ส่วนผลการตัดสิน ผมไม่ทราบว่าจะออกมาอย่างไร ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นไปดูความผิดพลาดว่าเกิดจากใคร และประชาชนควรสนับสนุนหรือไม่ ผมในฐานะรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความโปร่งใส ยุติธรรม และต้องปฏิบัติต่อประชาชนคนไทยด้วยความเท่าเทียมกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่ง กทม. แจงปัญหา-เยียวยา ชาวหนองจอก

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มีชาวบ้านบริเวณหนองจอก ออกมาเรียกร้องขอให้นายกฯช่วยเร่งรัด เงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน ภายหลังมีวัด มัสยิด ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก และทางเดินริมทางคลองแสนแสบ ของสำนักการระบายน้ำ กทม. ทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุด แตกร้าว พัง ว่า ต้องดูว่าการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตนั้น สร้างเพื่อประโยชน์อะไร ทางเดินนั้นเพื่อใคร

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบ้านของประชาชนนั้น ตนได้ให้ทาง กทม.ออกมาชี้แจงรายละเอียด ข้อเท็จจริงกับชาวบ้านว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่บ้าง

เบรกหยุดยาว 9 วัน ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีข้อเสนอหยุดยาว 9 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ว่าไม่เห็นว่าควรจะให้หยุดเพิ่มเติมในช่วงวันสงกรานต์ แต่หากใครจะหยุดก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน และการมีวันหยุดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้นอาจได้ผลตอบแทนกับมาเท่าที่ควร

“ผมเห็นด้วยที่จะให้มีวันหยุดเพิ่มเติม เพราะถือว่าหยุดปกติมากพอแล้ว การให้บริการประชาชนต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็น และก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนในการที่จะหยุดหรือไม่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่ง “วิษณุ” เคลียร์ปมค่าโง่ทางด่วน ดักทางฝ่ายค้านในศึกซักฟอก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในหลายปัญหาตนอยากให้ประชาชนย้อนกลับไปดูว่ารัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาอะไรที่คั่งค้างจากก่อนหน้าบ้าง ซึ่งหลายเรื่องด้วยกันที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ขณะนี้ หากเราไม่แก้ปัญหาก็จะค้างคาไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับทุกรัฐบาลก่อนหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขในหลายเรื่อง

“เช่น เรื่องโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านเราก็แก้ไขไปได้แล้ว ก็ต้องตามมาแก้ไขเรื่องคดีโทลเวย์ โฮปเวลล์ ทำนองนี้ หลายๆ เรื่องรัฐบาลก็ต้องแก้ไขไป หากจะปล่อยค้างคาไปอีกความเสียหายก็เกิดขึ้น อีกอันเรื่องบีอีเอ็มวันนี้ผมจะให้เขาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการให้ชัดเจนว่าเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป หากปล่อยไว้ก็ได้แต่ความเสียหายจะมากขึ้น ขอให้ไปฟังแถลงการณ์ ผมให้มีการอัดเทปส่งสื่อสำนักพิมพ์ทุกแห่ง ไม่อยากให้ใครมาใช้ประโยชน์ในการอธิปรายบิดเบือนข้อเท็จจริง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.),นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)

จบปม “ค่าโง่ทางด่วน” ถอนทุกคดี แลกสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าสำหรับเรื่องที่ครม.ประชุมวันนี้เรื่องจำยุติข้อพิพาทระหว่างกทพ.และบีอีเอ็ม ซึ่งทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่ 2542 จนถึงปัจจุบัน ต้องเรียนว่าข้อพิพาททั้งหมดเกิดขึ้นจากการตามการดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้แล้วว่าเวลาที่มีการดำเนินการที่มีปัญหาต้องเจรจาให้ยึดแนวทางตามสัญญาข้อ 27 คือให้เป็นเรื่องการส่งข้อพิพาทให้คณะกรรมการเจรจาก่อน หลังจากนั้นพอพ้น 60 วันและเจรจาไม่ได้ข้อยุติ และคู่สัญญาจะประสงค์จะไม่ขยายเวลาเจรจาต่อ ก็จะนำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการพิจารณา

ข้อพิพาททั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 17 เรื่อง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรื่อกงารผิดสัญญาสร้างทางแข่งขัน 2 คดี กลุ่มสองไม่ขึ้นราคาค่าผ่านทางด่วนตามสัญญาตามเงินเฟ้อที่ถึง 5% และกลุ่มสุดท้ายคือคดีอื่นๆ ทั้งหมดนี้กทพ.ศึกษามานานแล้วและใช้หลักเจรจาไปตามเงื่อนไขข้อ 27 ของสัญญา พอรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หนึ่ง ก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ให้ไปเจรจาโดยมอบหมายให้กพท.ดำเนินการให้นำเรื่องข้อพิพาทไปเจรจา

ต่อมาเมื่อกทพ.เจรจาว่าทั้งหมด 17 เรื่อง ให้เรื่องในกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามยุติทั้งหมดและเหลือเพียงคดีกลุ่มแรกเรื่องการสร้างทางด่วนแข่งขันแทน 2 คดี ในคดีแรกเป็นคดี 2542 -2543 ได้ฟ้องร้องและศาลปกครองสุงสุดพิพากษาให้บีอีเอ็มชนะ มูลหนี้แบ่งเป็นเงินต้น 1,790 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยอีก 2,528 รวมที่ต้องชำระ 4,318 ล้านบาท ถัดมาคดีที่สองถูกฟ้องเรื่องผิดสัญญาการแข่งขันช่วงปี 2544-2561 เป็นมูลหนี้เงินต้น 50,290 ดอกเบี้ยอีก 24,300 รวมเป็นเงิน 74,590 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ แต่ด้วยคดีที่สองลักษณะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแบบเดียวมันก็มีแนวโน้มว่าจะแพ้เหมือนกัน ทั้งสองคดีมีมูลหนี้รวมกัน 78,908 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำมาเจรจาหาข้อสรุปว่าจะจ่ายคืนอย่างไร

สิ่งที่กระทรวงคมนาคมและกทพ.ดำเนินการต่อคือนำมูลหนี้นี้ไปคำนวณไปหาเวลาตามมติครม.ที่มอบไว้ว่าถ้ากทพ.จะต้องชำระค่าเสียหายแก่บีอีเอ็ม ไม่ให้ชำระเป็นเงินสดแต่ให้ชำระเป็นระยะเวลาสัมปทานแทน พอคำนวณออกมาได้เสร็จพบว่าวงเงิน 78,908 ล้านบาท ตีเป็นมูลค่าสัมปทานระยะเวลา 19 ปี 1 เดือนที่จะขยายเวลาสัมปทานให้

หลังจากนั้นกระทรวงมอบให้กทพ.ไปเจรจากับบีอีเอ็มว่าขอให้ลดเวลาลงมาได้หรือไม่ ทางบีอีเอ็มตกลงว่าจะลดระยะเวลาเป็น 15 ปี 8 เดือน และยกเว้นการเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดต่างๆที่ครม.อนุมัติในแต่ละปี หรือเกือบ 300 กว่าวัน หรือจะเหลือเวลาที่ต้องต่ออายุสัมปทานไปอีก 14 ปีเศษ ส่วนข้อพิพาทอื่นให้ยกเลิกทั้ง 17 เรื่อง และแก้ไขสัญญาในเรื่องที่อาจจะเป็นข้อพิพาทออกไปทั้งหมด เช่นการสร้างทางแข่งขัน ภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ

“โดยสรุปบีอีเอ็มก็ยินดีตามนี้และรัฐบาลก็คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด สิ่งที่เอกชนได้คือระยะเวลาในการขยายไปแทนเงินสด และสาเหุตที่ต้องรีบดำเนินการเพราะสัญญาจะหมด 28 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ และถ้าสัญญาหมดไปรัฐบาลจะไม่สามารถขยายเวลาชำระหนี้ได้และต้องประกวดราคาใหม่ตามกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ แต่พอประกวดราคาใหม่แล้วไม่ได้หมายความว่าหนี้ที่บีอีเอ็มฟ้องกทพ.อยู่หยุดไปได้ มันต้องมีหนี้บวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ และจากการประเมินว่าถ้าไปจบคดี 2578 จะมีมูลหนี้ 300,000 ล้านบาท ตรงนี้กระทรวงจึงพิจารณาตามข้อสัญญาว่ากทพ.ผิดสัญญาจึงต้องชดใช้ให้และให้ยุติไปทั้งหมดในวันนี้แทน”

ส่วนคำถามว่าเรื่องต่อสัญญาอีก 2 ครั้งๆละ 10 ปี ตามสัญญาเดิม บีอีเอ็มยังมีสิทธิอยู่ ซึ่งต้องมาตกลงกันใหม่ก็เป็นคนละเรื่องกันคือหลังจาก 2578 แล้วก็มีสิทธินี้อยู่คือมาต่อสัญญาได้อีก 10+10 ปี เป็นลำดับแรกในการเจรจาได้ ส่วนทางเลือกว่าที่จะมาทำเองเอารายได้ 100% ไม่ต้องแบ่งกับบีอีเอ็ม 40% ก็อาจจะไม่เพียงพอชำระอยู่ดี

ชง 1,776 ล้านบาท สร้างสายไฟเคเบิลใต้น้ำเกาะเต่า

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,776 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,332 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 444 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เรื่อง แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ กฟภ. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และเพื่อลดปัญหาในการปฏิบัติการและบำรุงรักษา ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย โดยมีมีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ระยะทางประมาณ 45 วงจร – กิโลเมตร มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ 2564-2566

โอนกรมทรัพยากรน้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโอนหน้าที่และอำนาจ และกิจการบริหารบางส่วน ของ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปเป็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

“เรื่องนี้สืบเนื่องภายหลังการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ทำให้ 2 สองหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่บางส่วนทับซ้อนกัน เช่นเป็นเลขานุการของคณะกรรมการและทำหน้าที่บริหารจัดการกับหน่วยงานนานาชาติ ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจึงหารือร่วมกันว่าให้โอนกรมทรัพยากรน้ำไปเป็นของสทนช.ให้ขับเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มที่ไม่ทับซ้อนกัน”

สำหรับรายละเอียดการโอน กำหนดให้โอนบรรดาหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวกับราชการ การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ในภารกิจด้านการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ภารกิจการส่งเสริมและประสานมวลชน และภารกิจการประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำ และบรรดาหน้าที่และอำนาจของข้าราชการ และอัตรากำลังบางส่วนของกรมทรัพยากรน้ำ ดังต่อไปนี้ ไปเป็นหน้าที่และอำนาจของ สทนช. หรือของข้าราชการ และอัตรากำลังของ สทนช. แล้วแต่กรณี ดังนั้น

    1.1 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เฉพาะงานที่เกี่ยวกับงานฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงและคณะกรรมการระหว่างประเทศของฝ่ายไทย และบางส่วนของงานติดต่อประสานงาน กำหนดท่าที เข้าร่วมเจรจาเตรียมการต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ โครงการเงินกู้ และโครงการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในภาพรวมของประเทศ

    1.2 สำนักส่งเสริมและประสานมวลชน เฉพาะงานเกี่ยวกับงานส่งเสริมและสนับสนุน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยใช้กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ และงานจัดทำแผนปฏิบัติการของลุ่มน้ำ และบางส่วนของงานพัฒนาและให้ความรู้เพิ่มทักษะแก่บุคลากรด้านทรัพยากรน้ำ และด้านอื่น ๆ รวมทั้งรณรงค์ทำความเข้าใจให้แก่กรรมการลุ่มน้ำ บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ องค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนทั่วไป ทั้งในภาพรวมของประเทศและระดับลุ่มน้ำ

    1.3 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 – 10 เฉพาะงานเกี่ยวกับงานฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และงานจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการของลุ่มน้ำ และบางส่วนของงานส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำและท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย งานพัฒนา เสริมสร้างขีดความสามารถ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำแก่ผู้มีส่วนได้เสีย งานพัฒนาระบบฐานข้อมูล และศูนย์เครือข่ายข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับลุ่มน้ำ และงานส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาด้านเทคนิค มาตรฐานและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแก่หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน และให้โอนข้าราชการ และอัตรากำลังบางส่วนของกรมทรัพยากรน้ำตามข้อ 1. รวมทั้งสิ้น 178 อัตรา ดังต่อไปนี้ ไปเป็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

    2.1 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เฉพาะส่วนงานคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงทุกอัตรา และบางส่วนของส่วนงานวิเทศสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ และฝ่ายบริหารงานทั่วไป

    2.2 สำนักส่งเสริมและประสานมวลชน เฉพาะส่วนส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำทุกอัตรา และบางส่วนของส่วนส่งเสริมและประสานมวลชน เฉพาะส่วนส่งเสริมและพัฒนา

    2.3 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 – 10 เฉพาะบางส่วนของส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำ ส่วนวิชาการ และส่วนอำนวยการ

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

แก้ไขระเบียบจัดตั้งสถาบันชาวไร่อ้อย เอื้อเกษตรกรรายย่อย

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ได้กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย ข้อ 8 (3) มีสมาชิกเป็นชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน และ (4) มีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งให้แก่โรงงานรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณอ้อยที่โรงงานนั้นหีบทั้งหมดในแต่ละฤดูการผลิต

“การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ได้รับการร้องเรียนว่า เป็นการกีดกันกลุ่มเกษตรชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อยที่มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยได้ การที่ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยขนาดเล็กเสียโอกาสในหลายเรื่อง”

ตัวอย่างเช่น 1) ขาดตัวกลางประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก ระหว่างโรงงานน้ำตาลกับสมาชิก ส่วนราชการกับสมาชิก และระหว่างสมาชิกด้วยกัน 2) ขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เนื่องจากไม่มีตัวแทน (ในนามสถาบัน) ไปร่วมในฐานะกรรมการคณะกรรมการต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดราคาและนโยบาย และ 3) ไม่ได้รับค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยที่ได้รับจากโรงงานเพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิก

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยและสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ ครม.จึงเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย โดยยกเว้นคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ 1)มีสมาชิกเป็นชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน 2)มีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งให้แก่โรงงานรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณอ้อยที่โรงงานนั้นหีบทั้งหมดในแต่ละฤดูการผลิต และเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับสหกรณ์ที่มีฐานะเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยเดิมออกไป 2 ฤดูการผลิต คือ ปี 2562/2563 และ ปี 2563/2564

จีนจับมืออาเซียนประชุมรับมือ “โควิด 19”

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษว่าด้วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ กรุงเวียงจันท์ ประเทศลาว ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ ในโอกาสที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

โดยสาระของถ้อยแถลงคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งจะมีการดำเนินการ 1) ส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายและการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกอาเซียน-จีน ด้านการพัฒนาสาธารณสุข 2) การแลกเปลียนเทคโนโลยี ประสบการณ์ การฝึกอบรม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3) การแบ่งปันข้อมูลอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง 4) การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะSME และ 5) การลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ

นำ พ.ร.บ.งบ 63 ขึ้นทูลเกล้าฯ สัปดาห์หน้า คาดเม็ดเงินเข้าระบบ 4 แสนล้าน

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ถึงผลการเร่งรัดงบรายจ่ายลงทุนว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้ผ่านการพิจารณาจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.)เป็นที่เรียบร้อย และได้นำส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว กลับมายังครม.แล้ว โดยคาดว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในสัปดาห์หน้า

“หลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จะมีเม็ดเงินที่เป็นรายจ่ายด้านการลงทุนเข้าสู่ระบบทันทีประมาณ 4 แสนล้านบาท และเหลืออีก 2.4 แสนล้านบาท ที่ต้องขอให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดกระบวนการในการเตรียมแผนการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง ให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งหมดได้ภายในปี 2563 ตามกำหนด”

สร้างรถไฟฟ้าจ.พิษณุโลกสายสีแดง เฟสแรก

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณคม รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. … เพื่อกำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาคและแก้ปัญหากรจรารจในเมืองหลัก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าลงทุนก่อสร้างโครงการ 3,440 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นการลงทุนในระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก) ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี เท่ากับ 3,207.57 ล้านบาท และโครงการระยะที่สองเท่ากับ 233.42 ล้านบาท

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานโครงดังกล่าวนั้นจะมีการจ้างที่ปรึกษาและงานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น จัดทำรายงาน EIA และรายงาน PPP ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 จะมีการขออนุมัติดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนในช่วง พฤษภาคม 2564 – มีนคาคม 2565 โดยคาดว่าเริ่มประการเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ในเดือนกันยายน 2565-ตุลาคม 2566 และจะเริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม 2566 โดมีกำหนดเปิดใช้บริการในปี 2569

“คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 สายสีแดงในช่วงแรก 57,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 13,700 คนต่อเที่ยวต่อวัน ในปี 2574” นางสาวไตรศุลี กล่าว

อนึ่ง โครงการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมโยงเมืองหลักนี้  จะมีขึ้นใน 6 เมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา นครราชสีมา และพิษณุโลก

พร้อมเปิดสนามวิ่งเทรล “Thailand By UTMB” เบิกทางนักวิ่งสู่เวทีโลก

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า มีการรายงานผลการการจัดการแข่งขัน Ultra Trail Thailand 2020 ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ได้รับการประเมินและรับรองจาก UTMB ว่าไทยมีศักยภาพที่สามารถจัดการแข่งชันในระดับโลกได้ โดยจะมีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนตุลาคมนี้ ในชื่อ “Thailand By UTMB” ซึ่งคาดว่าจะมีนักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกจากสนามนี้ จะมีเอกสทธิ์เหมือน “พาสปอร์ต” ที่จะได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันรายการ UTMB ซึ่งเป็นรายการวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้ทันที

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์เพิ่มเติม