ThaiPublica > เกาะกระแส > บอร์ดกทพ. ยืดสัมปทาน 30 ปีชดเชยหนี้1.3 แสนล้าน แลกยุติข้อพิพาททางด่วนทั้งหมด พร้อมทางยกระดับชั้นที่ 2 มูลค่า 31,500 ล้าน

บอร์ดกทพ. ยืดสัมปทาน 30 ปีชดเชยหนี้1.3 แสนล้าน แลกยุติข้อพิพาททางด่วนทั้งหมด พร้อมทางยกระดับชั้นที่ 2 มูลค่า 31,500 ล้าน

16 พฤษภาคม 2019


หลังจากที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 ให้นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ไปปฏิบัติหน้าที่ “เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 โดยสาเหตุการย้ายครั้งนี้แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าน่าจะมาจากความล่าช้าการเจรจาชดเชยค่าเสียหายให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นำมาสู่การพาดหัวข่าว “ค่าโง่ทางด่วน 4,000 ล้านบาท”

  • นายกฯ สั่งย้าย “สุชาติ” ผู้ว่าฯ กทพ. นั่งสำนักนายกฯ คาดเคลียร์ปมค่าโง่ทางด่วน ขั้นที่ 2 ล่าช้า
  • ข้อเท็จจริง “ข้อพิพาททางด่วน” มรดกบาป 130,000 ล้านบาทที่ไม่มีใครกล้ารับ – “ประยุทธ์” ปลดล็อกตั้งทีมเจรจา ล่าสุดสรุปผลแล้ว
  • “ประยุทธ์” สั่งเร่งคดีทางด่วน 135,000 ล้าน – คมนาคมแจงไม่ขยับ อ้างรอบอร์ด กทพ. เคาะโจทย์ประท้วง 3 ประเด็น
  • “สุรงค์ บูลกุล” แจงสหภาพ กทพ. ตั้งทีมเจรจา BEM คดีข้อพิพาทค่าชดเชยทางด่วนแล้ว ระบุไม่รีบ รอข้อสรุปหลังเลือกตั้ง
  • สำหรับค่าโง่ทางด่วนเกิดขึ้นเนื่องจาก กทพ. มีสัมปทานทางด่วนกับ BEM อยู่ 3 สัญญาที่มีปัญหาข้อพิพาทกับจำนวนมาก คือ สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน ABC และ D) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) ข้อพิพาทส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องการปรับค่าผ่านทางและผลกระทบทางแข่งขัน โดยมีผลต่อเนื่องไปตลอดสัญญา

    1. ข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาทที่ถูกพูดถึงในขณะนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ค่าโง่” นั้นเป็นข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นข้อพิพาทจากผลกระทบทางแข่งขันที่ กทพ. ไม่ชดเชยรายได้ที่ลดลงสำหรับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้แก่ NECL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM เนื่องจากมีการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาแข่งขันทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลง

    ตามสัญญาระบุว่า หากมีการก่อสร้างทางในพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลงถือเป็นทางแข่งขัน กทพ. จะชดเชยรายได้ให้ NECL ตามวิธีที่กำหนดในสัญญา

    ที่ผ่านมา กทพ. ไม่ยอมชดเชย โดยอ้างว่าดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไม่ใช่ทางแข่งขัน จึงเกิดข้อพิพาท คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ NECL ชนะ แต่ กทพ. ไม่ยอมรับ โดยไปฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครอง และท้ายสุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผผลกระทบทางแข่งขันในปี 2542-2543 ให้แก่ BEM เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ถ้านำบรรทัดฐานคำพิพากษานี้มาคิดค่าชดเชย ซึ่งคดีนี้จะมีผลต้องชดเชยถึงปัจจุบัน คิดเป็นเงินกว่า 75,000 ล้านบาท

    2. ข้อเท็จจริงข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทางเกิดขึ้นในปี 2546 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม จากกรณีที่ กทพ. ไม่ปรับขึ้นค่าทางด่วนให้ BEM ตามสัญญา ซึ่งกำหนดว่าทุกๆ 5 ปี ให้ปรับขึ้นค่าทางด่วนตามเงินเฟ้อที่มากขึ้น โดยปัดขึ้นเป็นจำนวน 5 บาท เพราะตลอด 5 ปีไม่ได้ปรับ แต่ กทพ. ใช้วิธีปัดลง หากคำนวนแล้วไม่ถึง 5 บาท ทำให้ BEM ได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ BEM แต่ กทพ. ไม่ยอมรับการชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครอง ซึ่งวงเงินที่ต้องชดใช้จนถึงปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท

    ดังนั้น ถ้ารวมข้อ 1 และ 2 กทพ. ต้องชดใช้ให้ BEM ประมาณ 135,000 ล้านบาท

    จึงเป็นประเด็นที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ยกับ BEM

    แม้การเจรจาจะได้ข้อยุติ แต่มีพนักงานกทพ.บางส่วนยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านข้อตกลงมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงทำให้เรื่องราวยืดเยื้อมาประมาณ 5 เดือนหลังคำพิพากษา

    แต่หลังมีการย้ายผู้ว่ากทพ.ไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ล่าสุดวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 มีการประชุมคณะกรรมการ กทพ.และมีการนำเสนอเรื่องการชดเชยค่าเสียหายให้กับ BEM โดยนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการเปิดเผยว่าคณะกรรมการมีมติเรื่องการชดเชยค่าเสียหายให้แก่BEM ด้วยการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนทั้ง 3 สัญญา จำนวน 30 ปี นับจากวันที่ที่แต่ละสัญญาสิ้นสุด เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยลดหนี้จากกว่า 130,000 บาท เหลือประมาณ 59,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดค่าผ่านทางแบบคงที่ ปรับขึ้นทุก 10 ปี อัตรา 10 บาท จากเดิมที่ปรับตามดัชนีผู้บริโภค

    นอกจากนี้ BEM จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน โดยจะมีการสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 จากอโศก-งามวงศ์วาน ระยะทาง 17 กิโลเมตร (ก่อสร้างช่องจราจร Bypass โดยไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน) มูลค่าก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท (ไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจรให้กับประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ)

    “จากนี้ไปจะเร่งนำเสนอคณะกรรมการร่วมทุน และเสนอต่อครม.ว่าจะเห็นชอบตามที่กพท.เสนอหรือไม่”