ThaiPublica > เกาะกระแส > AOT เดินหน้าสร้าง”เทอร์มินอล 2″ รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 40 ล้านคน ชงเสนอบอร์ด ทอท.เคาะ 20 พ.ย.นี้

AOT เดินหน้าสร้าง”เทอร์มินอล 2″ รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 40 ล้านคน ชงเสนอบอร์ด ทอท.เคาะ 20 พ.ย.นี้

15 พฤศจิกายน 2019


นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.”

AOT เดินหน้าสร้าง”เทอร์มินอล 2″ รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 40 ล้านคน ชงเสนอบอร์ด ทอท.เคาะ 20 พ.ย.นี้

ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และตอบข้อซักถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รอบด้าน ประกอบการตัดสินใจในโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)นั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.ได้ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และชี้แจงข้อซักถามกับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวแล้วมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ทำไม ทอท. จึงไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทเดิม

ประเด็นนี้ ทอท. ขอชี้แจงว่า ทอท.ปฏิบัติตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ทอท.ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ทสภ.ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(International Air Transport Association : IATA) ได้ศึกษา และแนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานทุกๆ 5 ปี หรือ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ทอท.ได้เร่งรัดดำเนินการตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งยังคงดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานจากด้านทิศเหนือไปยังทิศใต้ โดยมิได้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด

แต่เมื่อ ICAO ได้ปรับปรุงแผนแม่บทตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถนั้น ICAO ได้แนะนำให้ปรับปรุงแผนแม่บทเดิม โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในแผนแม่บทฉบับดังกล่าวว่า “จากข้อเสนอเดิมที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมากสำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานที่เต็มขีดความสามารถอยู่ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการย้ายกระบวนการผู้โดยสารในประเทศไปยังบริเวณอื่น และปรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศทดแทน ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการน้อยกว่า” โดย ICAO ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า“วิธีการที่ดีที่สุดในระยะสั้น คือ การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและขาออก” ซึ่งแผนแม่บทปัจจุบันที่เขียนขึ้นในภาวะที่ท่าอาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถเช่นกัน แนวทางการก่อสร้างจึงยังยึดหลักการเดิมของ ICAO ที่แนะนำให้ต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ออกไปในตำแหน่งเดิมที่ ICAO เคยแนะนำทางด้านทิศเหนือจะมีปรับก็เพียงวิธีการบริหารจัดการอาคารดังกล่าวให้เหมาะสมกับจำนวนและแนวโน้มผู้โดยสารตามคำแนะนำของผู้ใช้งานโดยตรงรวมถึง IATA ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บททุก 5 ปีด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ทอท. จึงขอยืนยันว่า ในอุตสาหกรรมทางการบิน จำเป็นต้องไม่ยึดติดกับแผนแม่บทที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยองค์กรระหว่างประเทศแนะนำให้ต้องปรับปรุงแผนแม่บทให้ทันสมัยทุก 5 ปี เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแท้จริง

นายนิตินัย ยอมรับว่าปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้างต่างๆไม่เป็นไปตามแผนแม่บทเดิมเมื่อ 16 ปีที่แล้ว และอีกส่วนเกิดจากปริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวย่าง แผนแม่บทเดิมเน้นการลงทุนไปที่ด้าน Air Side โดยขยายอาคารเทียบเครื่องบินรอง (Satellite) เพื่อรองรับผู้โดยสารที่รอพัก (Transit) หรือ เปลี่ยนเครื่องบินระหว่างทาง (Tranfer) ส่วนการลงทุนด้าน Land Side ภายในอาคารผู้โดยสารแทบไม่ขยายเลย ปรากฏว่าผู้โดยสารทั้ง Transit – Tranfer แทบไม่ขยายตัว ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้โดยสารที่มาใช้บริการส่วนนี้แค่ 1.7% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 65 ล้านคนต่อปี เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความแออัด ต่อมาได้มีการปรับปรุงแผนแม่บทใหม่ โดยองค์การการบินระหว่างประเทศ หรือ “ICAO” แนะนำให้ขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ผลปรากฎว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้โดยสารภายในประเทศติดลบทุกปี ดังนั้น ในแผนแม่บทฉบับที่ 5 จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแผนการก่อสร้างอาคารผู็โดยสารหลังใหม่อีกครั้งให้สามารถรองรับผู้โดยสาร ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ด้วย โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 40 ล้านคนต่อปี

ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่

ในการขยายอาคารไปทางทิศเหนือตามคำแนะนำของ ICAO นี้ ทอท.ได้มุ่งแก้ปัญหาความแออัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเอาปัญหา (pain point) ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาต่างๆอย่างครบถ้วน จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยยังได้มุ่งเน้นการบรรเทาที่เกิดขึ้นจากแผนแม่บทฉบับก่อนหน้าควบคู่กันไปด้วย

ทอท.ได้พูดคุยกับผู้ใช้บริการสายการบิน และผู้ประกอบการใน ทสภ.ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการใช้บริการ ทสภ. เช่น การจราจรติดขัดบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสาร การใช้เวลารอนานทั้งในขั้นตอนการตรวจหนังสือเดินทาง ซึ่งมีจำนวนเคาน์เตอร์จำกัด จุดรับกระเป๋าและเคาน์เตอร์เช็คอินไม่เพียงพอ โดย ทอท.ได้เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีการหารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่มีสัดส่วนเที่ยวบินมากที่สุด สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการบิน และส่งเสริมมาตรฐานการบริการด้านการขนส่งทางอากาศ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee : AOC) Board of Airline Representatives Business Association (BAR) คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airport Consultative Committee : ACC) และประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบ เรื่องการพัฒนาที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) เป็นอาคารผู้โดยสาร (Optional Terminal) ตามที่ระบุในแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ.ของ ICAO ฉบับ 2552 และ 2554 และมีความเห็นสอดคล้องกับ ทอท.ในการดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ(North Expansion) ทสภ.ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้รวดเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุด

นอกจากการแก้ปัญหาจากคำแนะนำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงข้างต้นแล้ว ส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ (North Expansion) ยังบรรเทาปัญหาที่มีอยู่เดิม อาทิ การมีหลุมจอดด้านตะวันออก (จุดที่จะมีการต่อขยาย) แต่อากาศยานต้องไปขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งเดิมจะทำให้เกิดการตัดของการจราจรทั้งรถบัสที่ไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องฯ และเกิดการตัดของการจราจรอีกครั้งเมื่อเครื่องฯจะมาขึ้นในทางวิ่ง (Runway) ด้านตะวันออก เมื่อมีส่วนต่อขยายทางทิศเหนือแล้ว ก็จะสามารถลดปัญหาเดิมที่จะต้องนำรถบัสไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ เป็นต้น

  • วิศวกรรมสถานฯ ค้าน AOT ชี้ “สร้างเทอร์มินัล 2 แบบตัดแปะ “ แนะขยายเทอร์มินอล 1 รองรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินคุ้มกว่า
  • ทอท.ไม่ได้เมินหน่วยงานรัฐ

    ทอท. ยืนยันดำเนินการตามกระบวนการ โดยหลังจากนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป มิได้ข้ามขั้นตอน หรือสามารถจะมีอภิสิทธิ์เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ สำหรับประเด็นที่ว่า ทอท.ไม่สนใจคำทักท้วงและข้อเสนอแนะนั้น ทอท. ขอยืนยันว่า นอกจาก ทอท.ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว ทอท.ได้ดำเนินการโครงการนี้ตามสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันนำมาซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมข้อเสนอแนะจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น และยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการลงทุนของประเทศทุกขั้นตอน โดยหลังจากนี้ฝ่ายบริหาร ทอท. จะนำข้อมูลประกอบการตัดสินใจนี้ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 หากคณะกรรมการฯ เห็นชอบก็จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด และ สศช. เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป