ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ “วิษณุ-ศักดิ์สยาม”แจงต่อสัญญา BEM 15 ปี แลก 3 แสนล้าน-ถอนฟ้องทุกคดี

คำต่อคำ “วิษณุ-ศักดิ์สยาม”แจงต่อสัญญา BEM 15 ปี แลก 3 แสนล้าน-ถอนฟ้องทุกคดี

19 กุมภาพันธ์ 2020


นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.),นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)

คำต่อคำ “วิษณุ-ศักดิ์สยาม”แจงมติครม. ต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM 15 ปี แลกถอนฟ้อง – ค่าโง่ 3 แสนล้าน ปิดคดีตำนานทางด่วนขั้นที่ 2

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมแถลงผลการเจรจาเพื่อยุติปัญหาพิพาทโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนเเละรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BEM” ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้กระทรวงคมนาคมมีความจำเป็นที่ต้องนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. เนื่องจากมีระยะเวลาบังคับที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทำให้ครม.ต้องบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา ซึ่งไม่ใช่วาระจร และเป็นเรื่องที่มีการลงนามในสัญญากันมาเมื่อ 30 ปืก่อน จากนั้นก็มีประเด็นข้อพิพาทกันมาทุกปี หากไม่แก้ไขให้จบ ก็จะพิพาทกันไปทุกปี เพราะมีบางสัญญาอายุครบ 30 ปีก็จริง แต่มันยังไม่หมดอายุ

“วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติยุติประเด็นข้อพิพาทต่างๆจบลงโดยสิ้นเชิง ทั้งประเด็นข้อพิพาทในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตรวม 17 เรื่อง ต้องพิจารณาให้จบก่อนวันที่ 28 ก.พ. 2563 ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดโกลาหลวุ่นวาย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของเรื่อง และด้วยความสลับซับซ้อน ยุ่งยาก มีคำถามมากมาย ที่ประชุม ครม.ใช้เวลาพิจารณาประเด็นนี้ 2 ชั่วโมง ท่านนายกฯจึงสั่งให้ชี้แจงอย่างละเอียดครบถ้วน โดยมอบหมายให้คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , ผู้อำนวยการ สนข. และประธานคณะกรรมการ กทพ. ลงมาช่วยชี้แจงด้วย” นายวิษณุ กล่าว

ครม.เคาะต่ออายุสัมปทานฯ 15 ปี แลกถอนฟ้องทุกคดี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างกทพ.และ BEM โดยความเป็นมาของเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ 2542 มาจนถึงปัจจุบัน ต้องเรียนว่าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททั้งหมด กระทรวงคมนาคมยึดตามแนวทางของสัญญาข้อ 27 กล่าวคือ เริ่มจากการนำประเด็นข้อพิพาทส่งให้คณะกรรมการเจรจาก่อน หากพ้นกำหนด 60 วัน ผลการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ และคู่สัญญาประสงค์จะไม่ขยายเวลาการเจรจาต่อไป ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนอนุญาโตตุลาการพิจารณา

ข้อพิพาททั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีทั้งหมด 17 เรื่อง กลุ่มแรกเรื่องการผิดสัญญาสร้างทางแข่งขัน 2 คดี กลุ่มสองไม่ปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางด่วนตามสัญญาเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% และกลุ่มสุดท้ายคือ คดีอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ กทพ.ได้ศึกษามานานแล้วและใช้หลักการเจรจาไปตามเงื่อนไขข้อ 27 ของสัญญา ต่อมาในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มอบหมายให้กพท.ไปเจรจากับ BEM เพื่อยุติประเด็นข้อพิพาท

โดย กทพ.ได้นำประเด็นข้อพิพาททั้ง 3 กลุ่ม รวม 17 เรื่องไปเจรจากับ BEM จนได้ข้อยุติเฉพาะประเด็นข้อพิพาทในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เหลือเพียงคดีกลุ่มแรก คือ เรื่องการสร้างทางด่วนแข่งขันจำนวน 2 คดี โดยคดีแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 2542 -2543 ได้ฟ้องร้องและศาลปกครองสุงสุดพิพากษาให้ BEM ชนะ มูลหนี้แบ่งเป็นเงินต้น 1,790 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีก 2,528 รวมหนี้ที่รัฐบาลต้องชำระ 4,318 ล้านบาท ส่วนคดีที่สองถูกฟ้องเรื่องผิดสัญญาการแข่งขัน เกิดขึ้นในช่วงปี 2544-2561 เป็นมูลหนี้เงินต้น 50,290 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีก 24,300 รวมเป็นเงินที่ต้องชำระ 74,590 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ แต่ด้วยคดีที่สองนี้มีข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายเหมือนเดียว หากต่อสู้คดีต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะแพ้คดีเช่นเดียวกัน ทั้งสองคดีมีมูลหนี้ รวมกัน 78,908 ล้านบาท ทางกระทรวงคมนาคมจึงต้องนำประเด็นนี้มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะจ่ายคืนอย่างไร

“สิ่งที่กระทรวงคมนาคมและกทพ.ดำเนินการต่อ คือ นำมูลหนี้นี้ไปคำนวณไปหาเวลา ตามมติครม.วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ที่ระบุว่าหาก กทพ.จะต้องชำระค่าเสียหายแก่ BEM มติครม.ดังกล่าว ห้าม ไม่ให้ชำระเป็นเงินสด แต่ให้ชำระเป็นระยะเวลาสัมปทานแทน เมื่อคำนวณจากวงเงิน 78,908 ล้านบาท ตีออกเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลจะต้องการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปประมาณ 19 ปี 1 เดือน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

เหตุที่ต้องเร่งเสนอ ครม. – ชี้ต่ออายุสัญญาฯจริงแค่ 14 ปีกว่า

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า จากนั้นกระทรวงคมนาคมได้มอบให้ กทพ.ไปเจรจากับ BEM เพื่อต่อรอง ขอลดระยะเวลาลงมาจนได้ข้อยุติ โดย BEM ตกลงว่าจะลดระยะเวลาขยายสัมปทานเหลือ 15 ปี 8 เดือน และยกเว้นการเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดเทศกาลต่าง ๆตามที่ ครม.อนุมัติในแต่ละปี รวมวันที่ยกเว้นเก็บค่าผ่านทางเกือบ 300 วัน จึงเหลือระยะเวลาที่จะขยายอายุสัมปทานออกไปจริงแค่ 14 ปีเศษเท่านั้น ส่วนข้อพิพาทอื่น BEM ตกลงว่าจะถอนฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 17 เรื่อง รวมทั้งแก้ไขสัญญาในเรื่องที่อาจจะเป็นข้อพิพาทต่อไปในอนาคตทั้งหมด อาทิ การสร้างทางแข่งขัน ภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

“ผลการเจรจาได้ข้อสรุป BEM ยินดีปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และรัฐบาลก็คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด โดยสิ่งที่เอกชนได้คือการขยายระยะเวลาของสัมปทานออกไปแทนการชำระด้วยเงินสด สำหรับเหตุผลที่กระทรวงคมนาคมต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากสัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ หากสัญญาสิ้นสุด รัฐบาลจะไม่สามารถขยายเวลาชำระหนี้ได้ และต้องประกวดราคาใหม่ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯฉบับใหม่” นายศักดิ์สยาม กล่าว

หลังจากประกวดราคาใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าหนี้ที่ BEM ฟ้องกทพ.จะหยุดลง รัฐบาลจะมีภาระหนี้บวกด้วยดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คาดว่าคดีจะสิ้นสุดลงใน 2578 มูลหนี้ที่รัฐบาลต้องชำระจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท เมื่อกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาตามสัญญาฯแล้ว พบว่ากทพ.เป็นฝ่ายผิดสัญญาฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ BEM จึงจำเป็นต้องยุติประเด็นข้อพิพาททั้งหมดในวันนี้

ต่อคำถามที่ว่าการขยายสัญญาสัมปทานฯให้อีก 2 ครั้ง ทุกๆ 10 ปี ตามสัญญาเดิม BEM ก็ยังมีสิทธิอยู่ ซึ่งต้องมาตกลงกันใหม่ เป็นคนละเรื่องกัน

ส่วนทางเลือกที่ว่าให้กทพ.ทำเองได้รายได้ 100% ไม่ต้องแบ่งให้กับ BEM 40% ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้อยู่ดี

“วิษณุ” แจงที่มาประเด็นข้อพิพาท

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่าอยากจะขอย้อนเล่าความไปสักหน่อย เพื่อให้เข้าใจ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มันมีประวัติความเป็นมายาวนานยิ่งกว่ารามรามเกียรติ์อีก กทพ.เริ่มมีประเด็นข้อพิพาทกับ BEM ตั้งแต่ปี 2533 พิพาทกันมาตลอด วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้นำเรื่องเข้า ครม. เพื่อแก้สัญญาสัมปทานทางด่วน 2 ฉบับ แม้ว่ามันมีแค่ 2 สัญญา แต่มันไม่ครอบคลุมเส้นทางจำนวนมาก

ฉบับแรกครอบคลุมทางด่วน สายเอ คือ เริ่มจากช่วงถนนรัชดาภิเษกถึงพระรามเก้า สายที่ 2 คือ สายบี เริ่มจากเขตพญาไทถึงบางโคล่ และสายซี เริ่มจากแจ้งวัฒนะถึงถนนรัชดาฯ ต่อมาทำสัญญาอีกฉบับเพิ่มเข้ามาในฉบับแรก แต่ทำคนละช่วงเวลากัน เรียกว่าสัญญาสัมปทานสายดี ส่วนสัญญาฉบับที่สองคือ สายบางปะอินถึงปากเกร็ด เรียกว่า “ซีพลัส” เป็นเอกเทศอีกสัญญาหนึ่ง สัญญาสองฉบับนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จริงๆก็เริ่มไม่พร้อมกันหมด แต่ที่เก่าสุดมีอายุ 30 ปี และสัญญาที่เก่าที่สุดจะสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 หรือ สัปดาห์หน้า หมายความว่า พอถึงวันนั้นทางด่วนสายเอ สายบี สายซีทั้งหมดจะต้องส่งกลับคืนให้กทพ.และดำเนินการ เก็บเงิน ดูแลรักษา คือ ให้บริการเป็นเจ้าของเองทั้งหมด ซึ่งความจริง กทพ.เป็นเจ้าของมาแต่แรกแล้ว แต่ให้เอกชนไปดำเนินการแทน ส่วนเอกชนที่ได้สัมปทานดำเนินการ คือ BEM เป็นคู่สัญญากับกทพ. ส่วนสายดีกับซีพลัส ยังไม่หมด เพราะเริ่มช้ากว่า

“สัญญาพวกนี้มีปัญหาพิพาทกันมาโดยตลอด มีประเด็นใหญ่ๆ 2-3 ประเด็น อันแรกในสัญญาเขียนไว้ว่าตลอดอายุ ห้ามรัฐคือกทพ.สร้างทางแข่งขัน เพราะหากมาสร้างทางแข่ง มันจะถูกแบ่งรายได้ไปที่รัฐ และเอกชนก็มีรายได้น้อยลง คราวนี้คำว่า “ห้าม” นั้นไม่ได้เขียนถึงกับห้ามสร้างเด็ดขาด จะสร้างก็ได้เป็นสิทธิเสรีภาพของรัฐ แต่ถ้าสร้างแล้ว เอกชนขาดทุนจะต้องชดเชยให้เขา ถ้าดูรายได้ก่อน และหลังรัฐต้องชดเชยส่วนต่างให้ ย้ำอีกทีว่าไม่ได้ห้ามสร้าง แต่ถ้าสร้างต้องชดเชยให้เอกชน สัญญาตอนนั้นเขียนไว้เมื่อสามสิมปีที่แล้ว เพื่อเป็นความเป็นธรรม แต่มาถึงวันนี้คงไม่ใช่แบบนั้นแล้ว แต่ก็เขียนมาแบบนี้แล้ว”นายวิษณุ กล่าว

ต่อมาปรากฎในความเป็นจริงว่ารัฐไปสร้างทางแข่งขันขึ้น แต่จะในสมัยรัฐบาลไหนก็ตาม มันก็ไม่เป็นความผิดของรัฐบาล เพราะไม่ได้ห้ามเด็ดขาด แต่ต้องจ่ายชดเชยให้เอกชน ประเด็นที่รัฐผิดอยู่ตรงที่ไมจ่ายชดเชย BEM แสดงหลักฐานมาตลอดว่าขาดทุน แต่รัฐก็ไม่ยอมจ่ายชดเชย ก็ต้องดำเนินคดีส่วนนี้

โดยเอกชนเสนอเรื่องนี้เข้าสู่อนุญาโตตุลาการ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นแรกเริ่มตั้งแต่ไกล่เกลี่ย หากจบก็จบ แแต่ถ้าไม่จบ ก็เข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการสืบพยานกันต่อไป เมื่ออนุญาโตฯตัดสิน ใครแพ้ ใครชนะ จบก็จบ จ่ายเงินกัน หากไม่จบ ก็ต้องไปร้องศาลปกครอง ส่วนการไกล่เกลี่ย ก็จะมีตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยจากสำนักงานคณะอนุญาโตตุลาการ ได้รับรายงานประธานคณะผู้พิจารณาครั้งนี้คือ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานทุกคดี หากจบก็จบ ถ้าไม่จบก็ไปศาล ก็ยังดำเนินการกันไปอยู่

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นพิพาทกันเรื่องส่วนแบ่งรายได้ เรื่องปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางต้องปรับตามกรอบเงินเฟ้อที่กำหนดในสัญญา แต่เมื่อถึงเวลา ก็ไม่ยอมให้ปรับราคา BEM ก็ฟ้อง และก็นำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนไกล่เกลี่ยที่อนุญาโตตุลาการเหมือนกัน หากไม่จบก็ไปศาลเหมือนกัน รวมแล้วเป็น 2 กลุ่มคดีใหญ่ๆ อาจจะเรียกว่าเป็น 3 ก็ได้ แต่โดยสรุปประมาณ 2 กลุ่มใหญ่ๆแบบนี้

“เรื่องนี้ก็ทำกันมาตลอด หากไม่ทำจบวันนี้ ก็จะทะเลาะกันต่อไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น ตอนนี้ก็มีคดีทั้งหมด 17 คดีแล้ว ปรากฎว่ามีคดีศาลปกครองตัดสินมาแล้ว 3 คดี ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้ทั้ง 3 คดี คดีแรกสุด คือ คดีที่ตัดสินตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอนนั้นเมื่อแพ้คดีแล้ว ก็ตื่นเต้นตกใจนำเรื่องเสนอเข้าครม.โดย กทพ.ต้องจ่ายประมาณ 1,700 ล้านบาท ดอกเบี้ยไปอีกจำนวนหนึ่ง รวมรัฐบาลต้องจ่ายคดีนี้ 4,300 ล้านบาท”นายวิษณุ กล่าว

“วันนั้นท่านนายกยังถามทีเล่นทีจริงว่าจะต้องจ่ายใช่หรือไม่ ถ้าใช่จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย กทพ.ก็ยิ้มแย้ม แจ่มใส บอกว่าจะเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน ครม.ก็บอกไม่ได้ ให้กทพ.ต้องจ่ายเอง ครม.ไม่ได้รู้เรื่องด้วย เพราะควรจ่ายตั้งแต่ไปสร้างทางแข่งขันกับ BEM แล้ว ก็ต้องรับผิดชอบ จากนั้นก็แพ้คดีที่สอง ตามด้วยคดีที่สาม เบ็ดเสร็จรวมเป็นเงิน 30,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังมีคดีอีกประเภทหนึ่งที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยรวมทั้งอนุญาโตฯ ไปเรียบร้อยแล้ว และกทพ.แพ้ แต่ยังไปไม่ถึงศาล อีก 2 คดี เป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท แต่ก็มีอยู่ 1 คดี ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับ ให้กทพ.ชนะ แต่ก็ไม่ได้เงิน ส่วนที่เหลืออีก 11 คดี กำลังเข้าไปอนุญาโตตุลาการ ก็คงพิพาทกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง รวมกัน 17 คดี

ดังนั้นถ้าไม่ทำเลยวันนี้มันจะยืดไปยาวนาน จากคดีเก่าก็จะมีคดีใหม่เกิดขึ้น หากรัฐไปสร้างทางด่วนแข่งจะมีปัญหาโดยฟ้องอีก เรื่องแบบนี้ กทพ. ก็กลุ้มใจมานานแล้ว เขาก็ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษามาทั้งหมด หากปล่อยไป

คดีสุดท้ายน่าจะตัดสินเสร็จภายในปี 2578 หรือ อีก 15 ปีข้างหน้า และไม่รู้ว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ทุนทรัพย์ที่พิพาท รวมดอกเบี้ยแล้วจะเพิ่มเป็น 300,000 ล้านบาท แล้วจะยังวิ่งต่อไปเรื่อยๆด้วยจนกว่าจะจ่ายครบอีก ฉะนั้นจะทำอะไรก็ต้องรีบทำ

“อันนี้จึงเป็นเหตุให้พอมีการตัดสินคดีแรกแล้ว กระทรวงคมนาคมขอครม.เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ไปเจรจากับ BEM ครม.ก็ให้ไปเจรจา โดยเอาคดีทั้งหมด 17 คดีมาคุยกัน ยกขึ้นตาชั่งและเจรจา เพราะถ้าทำทีละคดี ใครจะเจรจา ต่อให้เจรจา ก็จะมีคดีใหม่เกิดตามมาอีก ไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็ต้อง Set Zero ให้หมด กระทรวงคมนาคมก็เจรจามานานจนกระทั่งเสร็จพอดี ก็เปลี่ยนรัฐบาล รัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาก็พิจารณาใหม่อยู่ 6 เดือน ผมมั่นใจเลยว่าถ้ามันยังไม่ถึงเวลา ก็อาจจะต่อไปอีก 6 เดือน แต่พอมันจะครบแล้วรอต่อไปไม่ได้แล้ว ก็จึงต้องเสนอเข้ามาที่ครม.”

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ทำไมไม่เข้าครม.ในอาทิตย์หน้า คำตอบคือถึงตอนนั้นสัญญาก็จะหมดอายุลงแล้วใครจะทำต่อ กระทรวงคมนาคมก็มีคำตอบว่าง่ายมาก ก็จ้าง BEM ทำต่อไปก่อน แต่ระหว่างนั้นดอกเบี้ยก็เดิน หาก BEM บอกว่าไม่ทำต่อ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือว่าการเจรจาจะใช้ไม่ได้ ต้องเปิดประมูลใหม่ตามกฎหมายร่วมทุนฉบับเก่า ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าสัญญาฉบับนี้ลงนามกันมาตั้งแต่กฎหมายร่วมทุนฉบับเก่า ซึ่งไม่ได้เขียนเผื่อเรื่องอะไรแบบนี้เอาไว้ แต่เขียนไว้ว่าถ้าวันจะต้องแก้ไข อะไรให้แก้ได้ แต่พอยกเลิกกฎหมายร่วมทุนไป และออกกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ หากจะทำอะไรให้เปิดประมูลอย่างเดียว แต่ยังมีช่องในบทเฉพาะการว่ายกเว้นสัญญาเก่า

“ดังนั้นถ้ารอนิ่งๆเงียบๆต่อไปจนหมดเวลา การเจรจาจะต้องใช้กฎหมายใหม่ที่ให้เปิดประมูล แล้วจะให้ BEM เข้ามาทำเลย ก็ไม่ได้ ต้องเปิดประมูลก่อนอยู่ดี และที่สำคัญหากประเด็นข้อพิพาทยุติลงได้ทั้ง 17 คดี กทพ.และ BEM ก็ต้องไปยื่นถอนคดีพิพาททั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 วันเป็นอย่างน้อย จึงต้องรีบเสนอเข้าครม.มาตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เห็นชอบ การแก้ไขสัญญาฉบับเดิมและให้จบลงพร้อมกันภายในสิ้นเดือนนี้”

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ถาม-ตอบ กับ“วิษณุ” ยืนยันต่อสัญญาดีที่สุด

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่าพอเป็นแบบนี้มันก็จะมีคำถามเกิดขึ้นทันทีที่ประชาชนสนใจ สหภาพกทพ.สงสัย รัฐสภาก็สงสัย และรัฐมนตรีเองก็หนักใจมาหลายเดือนแล้ว แต่ก่อนจะไปถึงคำถามขอเริ่มอย่างนี้ ในปี 2561 มันมีคดีเดียว คือ คดีแรกที่ศาลตัดสินให้กทพ.แพ้ แต่หลังจากนั้นศาลก็ทยอยตัดสิน ให้กทพ.แพ้เรื่อยมา ทำให้กทพ.ตัดสินใจว่าต้องมาหารือพร้อมกัน โดยเอาคำถามที่ส่งๆเข้ามามาดูด้วย

คำถามแรกคือจะเจรจาได้หรือไม่ เพราะกฎหมายใหม่ไม่เปิดทางเอาไว้ รัฐบาลมีหนังสือไปถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คนที่ดูแลกฎหมายร่วมทุน สคร. ตอบกลับมาว่าเป็นสัญญาเก่าและดำเนินการก่อนสัญญาเก่าหมดอายุ ฉะนั้นให้แก้ไขสัญญาเก่า จะใช้กฎหมายใหม่ไม่ได้

คำถามที่ 2 และสังคมสงสัยคือกรณีแบบนี้ข้อพิพาทเก่ามันมีอยู่จริง แล้วถ้าเกิดข้อพิพาทใหม่ขึ้นจะทำอย่างไร คำตอบก็คือเอามาขึ้นตาชั่งไปเจรจาตัดสินไปพร้อมกันทั้งหมด แต่ถามว่าสัญญาเก่ายังล็อกอยู่ว่าจะสร้างทางแข่งขันไม่ได้ ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องสร้างทางใหม่จะทำอย่างไร คำตอบคือต้องไปแก้ไขสัญญาฯ ให้สามารถสร้างทางแข่งขันได้ ยุติประเด็นที่จะพิพาทต่อไป เช่น เรื่องการปรับราคาขึ้นตัดออกไป ทำให้ชัดเจนไปเลย ไม่ต้องมีสูตรยุ่งยากแบบเดิม ปัญหาพิพาทก็จะจบลง

คำถามที่ 3 คือคณะกรรมการฯไปเจรจากันอย่างไร มีบางคดีที่ยังไม่แพ้ กลับไปยอมแพ้เอกชน ดังนั้นจึงควรเจรจาเฉพาะคดีรัฐแพ้ เพราะศาลยังไม่ได้ตัดสินอีก 11 คดี ซึ่งรัฐอาจจะชนะก็ได้ หรือไม่ก็ต้องจ่ายมากกว่าเดิม คำตอบคือทุกอย่างคืออนาคต ก็ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะคิดกันมาแบบนี้ 4-5 ปีที่แล้วว่าอาจจะชนะ ก็ไม่ยอมจ่ายชดเชย คิดว่าจะชนะ แต่ก็ดันไปแพ้อีก จึงต้องตั้งต้นใหม่ทั้งหมด เคลียร์ให้จบโดนสิ้นเชิง เพราะถ้าเอาแต่คดีที่แพ้มาเจรจาแล้วอยู่ไปอีก 2 ปี แพ้อีก 3 คดี แล้วจะเจรจาอะไร จะเหลืออะไรให้เจรจา และเขาจะเจรจาหรือไม่ หากปล่อยให้สัญญาสัมปทานเก่าหมดอายุอีก กฎหมายจะทำได้หรือไม่ หลักการเจรจาจึงเป็นแบบนี้ว่าเหมาะสมกว่า สรุปผลง่ายๆ เลิกให้หมด ถอนคดีไปให้หมดใน 3 วัน 7 วัน แลกกับการขยายสัมปทาน

คำถามที่ 4 คือ บางคนทักมาอีกว่าคดีขาดอายุความ ผมก็ตกใจว่าฟ้องก็ไม่ได้อะไร เอามาเจรจาทำไม ให้ตัดไปได้ เรื่องนี้มีหนังสือถามไปอัยการสูงสุด ซึ่งตอบมาว่าไม่มีคดีใดขาดอายุความ บางอันที่ดูจะขาดอายุความ เพราะกำลังเจรจาอยู่ อาจจะขาดวันที่ไปศาล แต่กฎหมายแล้วคดีความไม่เริ่มนับในวันที่ไกล่เกลี่ยอยู่ จะเริ่มนับเมื่อไปฟ้องต่อศาลหรืออนุญาโตตุลาการ

คำถามที่ 5 ที่คนจะเป็นห่วงกทพ.คือลงบัญชีหนี้ ทางสหภาพ กทพ.ยกขบวนมาพบตนครั้งหนึ่ง บอกว่าถ้าไปแพ้คดีจะต้องลงบัญชีว่าเป็นหนี้หรือไม่ แล้วหนี้เป็นแสนล้านแปลว่าจ่ายโบนัสไม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะยาวไปอีก 20 ปี เพราะขาดทุนอยู่ กทพ.จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายโบนัส ถ้าเอางบประมาณรัฐบาล ก็จ่ายไม่ได้จ่าย

สนข.เผยต่อสัญญาฯ 14 ปี คิดเป็นมูลค่า 4.3 หมื่นล้าน

คำถามที่ 6 ถามว่าต่อสัญญาฯให้ 15 ปี ถือว่านานไปหรือไม่ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอบว่าเรื่องการคำนวณกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สนข.พิจารณาว่าระยะเวลาที่เสนอมา และต่อสัญญาฯ เพื่อชดเชยมูลค่าหนี้อย่างไร ก็ใช้เครื่องมือแบบจำลอง EBUAM เป็นโมเดลคาดการณ์ ปริมาณการจราจรทางวิศวกรรมศาสตร์ด้านขนส่งที่ใช้งานกันทั่วโลก และใช้พิจารณาปริมาณผู้โดยสารที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ ซึ่งใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ปริมาณประชากรในอนาคต รูปแบบการเดินทาง รายได้ การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ระบบขนส่งอื่นๆที่จะเกิดขึ้นด้วย จนคำนวณออกมาเป็นปริมาณการจราจร

หลังจากนั้นก็นำปริมาณการจราจรไปคำนวณหารายได้ต่อไป ซึ่งรายได้ตามสัญญาเดิมจะต้องมาแบ่งอีก 60 ต่อ 40 อันหลังเป็นของเอกชน รวมไปถึงภาระผูกพันธ์ต่าง ๆ สนข.คำนวณแล้ว หากต้องชำระคืนหนี้จนหมดจะต้องใช้เวลากี่ปี ซึ่งพอคำนวณออกมาว่า 19 ปี 1 เดือน จากนั้นกระทรวงคมนาคมได้ไปเจรจาต่อรองลงมาเหลือ 14 ปี คิดเป็นเม็ดเงินที่ประมาณ 43,000 ล้านบาท ดังนั้นระยะเวลาดังกล่าวจึงสมเหตุผลแล้ว

คำถามที่ 7 หากให้กทพ.เอาทางด่วนกลับมาทำเองก็ได้ BEM ก็กลับบ้านไป แต่มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น คงไม่ตอบว่ากทพ.จะพร้อม หรือไม่พร้อม แต่ปัญหาคืด คดีก็ไม่จบ ทั้งหนี้และดอกเบี้ยก็เดินต่อไป ซึ่งจะไม่มีทางมาเจรจากันได้อีก ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนั้น

คำถามสุดท้าย ในขณะที่กรรมการเจรจากำลังเจรจากันอยู่นั้น ทางสภาผู้แทนราษฎรก็ตั้งข้อสังเกตุว่าการพิจารณาอาจไม่โปร่งใส ซึ่งก็เป็นสิทธิที่จะสงสัย จึงทำเรื่องยื่นญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการฯ 39 คน มาตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงมติเห็นชอบกับหลักการดังกล่าว 21 คน , ไม่เห็นชอบ 12 คน , งดออกเสียง 5 คน อีก 1 คน ไม่มาประชุม สภาฯก็เห็นชอบตามนี้ ส่งกลับมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งท่านก็ได้นำเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยมาศึกษาใหม่ และจัดการให้เรียบร้อย

“ทั้งหมดทั้งมวล ก็มาถึงวันที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาใช้เวลาพิจารณา 2 ชั่วโมง โดยมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งสรุปว่าเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ โดยที่ประชุม ครม.ถามว่า จะมีการถอนฟ้องคดีทั้งหมด 17 คดี โดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายสักบาท รวมทั้งยืนยันจะไม่มีปัญหาข้อพิพาท หรือ คดีความเกิดขึ้นอีก ทั้งอดีต , ปัจจุบัน และในอนาคต แลกกับเอกชนเรื่องเดียว คือ การต่ออายุให้เขา 15 ปี ใช่หรือไม่ ตอบว่าใช่ ก็จบ นี่คือสิ่งที่ครม.เข้าใจ” นายวิษณุ กล่าว

  • ข้อเท็จจริง “ข้อพิพาททางด่วน” มรดกบาป 130,000 ล้านบาทที่ไม่มีใครกล้ารับ – “ประยุทธ์” ปลดล็อคตั้งทีมเจรจา ล่าสุดสรุปผลแล้ว
  • BEM แจงละเอียดยิบ “ค่าเบี้ยว” ทางด่วน ตอบคำถามใครได้ใครเสียกันแน่!! “รัฐ-กทพ.-ประชาชน-BEM”
  • บอร์ดกทพ. ยืดสัมปทาน 30 ปีชดเชยหนี้1.3 แสนล้าน แลกยุติข้อพิพาททางด่วนทั้งหมด พร้อมทางยกระดับชั้นที่ 2 มูลค่า 31,500 ล้าน