ThaiPublica > เกาะกระแส > BEM แจงละเอียดยิบ “ค่าเบี้ยว” ทางด่วน ตอบคำถามใครได้ใครเสียกันแน่!! “รัฐ-กทพ.-ประชาชน-BEM”

BEM แจงละเอียดยิบ “ค่าเบี้ยว” ทางด่วน ตอบคำถามใครได้ใครเสียกันแน่!! “รัฐ-กทพ.-ประชาชน-BEM”

15 สิงหาคม 2019


โครงการทางด่วนที่ BEM รับสัมปทานจาก กทพ.

ปมที่หลายฝ่ายระบุว่ารัฐเสียเปรียบเอกชน จากการเจรจาจ่ายค่าชดเชยข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ BEM ชนะคดีข้อพิพาทกรณีได้รับผลกระทบจากทางแข่งขัน กรณีที่รัฐก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต โดย กทพ.ต้องชดเชยมูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท ที่ประชาชนเหมารวมเรียกว่าค่าโง่ทางด่วน แต่ในข้อเท็จจริงเป็นผลจากรัฐโดย กทพ.ได้ทำผิดเงื่อนไขสัญญา และไม่ยอมชดเชยค่าเสียหายตามข้อตกลง จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้อง และที่สุดทาง BEM ชนะคดี

ล่าสุดทาง BEM ออกมาแจงข้อสงสัย คำถาม ปมประเด็นที่ค้างคาใจของผลการเจรจาจ่ายชดเชยค่าเบี้ยวคดีข้อพิพาททางด่วน ที่มีผู้ร่วมเจรจาทั้ง กทพ., สหภาพ กทพ., กระทรวงการคลัง, BEM และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า “ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ใช่ค่าโง่ เพราะไม่ได้เกิดจากการทำสัญญาที่ผิดพลาดหรือมีการทุจริตแต่อย่างใด สัญญาสัมปทานก็เป็นสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งเรื่องทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางเป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ รัฐอาจมีความจำเป็นและเหตุผลในการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไปรองรับเมืองที่จะขยายออกไป หรือเกรงว่าการขึ้นค่าผ่านทางจะกระทบประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทแล้ว กทพ.ไม่ได้ชดเชยตามสัญญาก็เกิดการผิดสัญญาขึ้น นำไปสู่การพิพาทในท้ายที่สุด กรณีเช่นนี้น่าจะถือเป็นค่าเบี้ยวมากกว่าค่าโง่ เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาดในเรื่องนี้”

ข้อพิพาทผลกระทบทางแข่งขัน

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทพ.ชดเชยรายได้ช่วงปี 2542-2543 ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) บริษัทลูกของ BEM เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทางแข่งขันกรณีก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท (เงินต้น 1,790 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2,528 ล้านบาท) ซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องจนจบสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดในปี 2569 นั่นหมายความว่าหากต้องต่อสู้ต่อไปจนถึงปีปัจจุบันสิ้นสุดที่ปี 2561 กทพ.จะต้องชดเชยถึง 74,590 ล้านบาท (คิดเป็นเงินต้น 50,290 ล้านบาท ดอกเบี้ย 24,300 ล้านบาท) เมื่อรวมยอดเงินที่ต้องชดเชยทั้งหมดเท่ากับ 78,908 ล้านบาท

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กทพ.เจรจายุติข้อพิพาทกับ BEM เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด

แต่เนื่องจากข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BEM มี 17 คดี เกิดจาก 2 เรื่องหลัก คือ

1. เรื่องผลกระทบจากทางแข่งขัน มีผลกระทบกับสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 78,908 ล้านบาท ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

2. เรื่องการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาเรื่องนี้จะเกิดทุกๆ 5 ปี จนจบสัมปทานทั้ง 3 สัญญา มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 56,034 ล้านบาท เมื่อรวมกับเรื่องอื่นๆ มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 รวมเท่ากับ 137,517 ล้านบาท

หาก กทพ.ต่อสู้ทุกคดีจนถึงที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะสัญญาสัมปทานยังไม่จบ มีเงินต้น-ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกมาก (ดูตารางประกอบ)

โดยกรอบการเจรจาที่ตกลงกันคือ

  • ยุติข้อพิพาททั้งหมด
  • ชดเชยโดยการขยายสัมปทานแทนการจ่ายเงิน
  • ให้ BEM/NECL ให้บริการและลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจร
  • เก็บค่าผ่านทางที่ถูกปรับแบบคงที่ทุก 10 ปี และแบ่งรายได้ให้รัฐอย่างเหมาะสม

ประเด็นเจรจา

  • มูลค่าข้อพิพาทที่ยุติ
  • การก่อสร้าง double deck และ bypass
  • การปรับค่าผ่านทางและปริมาณจราจรตามที่ กทพ.กำหนด
  • ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา
  • ระยะเวลาสัมปทานที่ขยายและส่วนแบ่งรายได้ของ กทพ.
  • เงื่อนไขอื่นๆ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 กทพ.และ BEM ได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาทโดย กทพ.จะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 30 ปี และ BEM ต้องยุติข้อพิพาททั้งหมดกว่า 1.37 แสนล้านบาท และลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (double deck) และแก้ปัญหาจุดตัดจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 31,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจร ปัจจุบันการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวว่าข้อพิพาทที่มีกับ กทพ.เป็นเรื่องเกิดมานานมากกว่า 25 ปี เกิดจากการที่ กทพ.ในอดีตทำผิดสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาได้พยายามเจรจากันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทุกเรื่องเราชนะที่อนุญาโตตุลาการแล้วแต่ กทพ.ก็ไม่ยอมรับจนเรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ดอกเบี้ยก็วิ่งไปทุกวัน อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดเพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาซึ่งทางบริษัทก็พร้อมร่วมมือเต็มที่ เราเชื่อว่าถ้าสู้คดีกันต่อเราก็มีโอกาสชนะสูงมาก สุดท้ายเราชนะก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐก็เสียหาย ประชาชนเดือดร้อน แต่ถ้ายุติได้ รัฐไม่เสียหาย ประชาชนได้ประโยชน์ เราได้รับการเยียวยาพอสมควรได้ทำธุรกิจต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย

“ผลการเจรจาครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐและ กทพ. เป็นอย่างมาก ถือว่าไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากทางด่วนที่ดีขึ้น ค่าผ่านทางก็ไม่แพง ส่วนบริษัทก็ได้รับการชดเชยและได้ดำเนินธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าการขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร BEM

นายพงษ์สฤษดิ์เปิดเผยว่า ในการเจรจา กทพ.ขอนำข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วมาเจรจาเท่านั้น โดยมูลค่าข้อพิพาททั้งหมดระหว่าง กทพ.และ BEM ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน (ณ สิ้นปี 2561) 78,908 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินต้นของมูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันจนจบสัมปทาน (ปี 2569) ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยถือว่าเรื่องอื่นๆ ที่ฟ้องร้องอยู่และจะเกิดขึ้นในอนาคตจนจบสัมปทานบริษัทยุติทั้งหมด ทั้งที่ในปัจจุบันมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เช่น คดีไม่ปรับค่าผ่านทาง ทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546 และคดีชดเชยรายได้นับจากวันเปิดใช้งานพื้นที่ส่วนแรกของทางด่วนขั้นที่ 2

นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวต่อว่า กทพ.จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดออกไป สัญญาละ 30 ปีแทนการจ่ายเงิน ส่วนบริษัทมีหน้าที่ให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนเดิมทั้ง 3 สายทาง และแก้ไขปัญหาจราจรโดยลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ double deck จากงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ก่อสร้างช่อง bypass แก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด ขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะไม่เก็บค่าผ่านทางการใช้ double deck เพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

การลงทุนปรับปรุงทางด่วน

นอกจากนี้ บริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในรายได้จากปริมาณการใช้รถที่ต้องลดลงจากนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งทางรางของรัฐบาล โดยต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ.ตามสัญญา แต่เนื่องจากการก่อสร้าง double deck ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบก่อน (ซึ่ง กทพ.เป็นผู้ทำ EIA) กทพ.จึงแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อยุติข้อพิพาท (ขยายสัญญาจนถึง ต.ค. 2578) และส่วนที่ 2 การก่อสร้าง double deck (ขยายสัญญาออกไปจนครบ 30 ปี) ซึ่งลงนามสัญญาเมื่อรายงาน EIA ผ่าน คาดจะใช้เวลาทำ EIA 2 ปี ถ้าผ่านเรียบร้อย ดำเนินการก่อสร้างอีก 4 ปี คาดว่าจะเสร็จในช่วงปี 2569-2570)

ส่วนแบ่งรายได้ กทพ.และระยะเวลาสัมปทาน

“การทำ double deck เพื่อแก้ปัญหาจราจรในช่วงเร่งด่วนที่รถติดมาก และถ้ามี bypass แยกรถวิ่งใกล้วิ่งไกลออกจากกัน จุดตัดบนทางด่วนที่ทำให้รถติดจะหายไป ที่ผ่านมา กทพ.ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่ก็นำมาแก้ปัญหานี้ได้” นายพงษ์สฤษดิ์กล่าว

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปดังภาพด้านล่างนี้

นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวต่อว่า พื้นที่ใต้ทางด่วน ที่ผ่านมา BEM ตามสัญญาต้องได้สิทธิคนแรกในการประมูล แต่ กทพ.เอาไปดำเนินการเองทั้งหมด ดังนั้นการเจรจาครั้งนี้ BEM ไม่ขอเกี่ยวข้องกับพื้นที่ใต้ทางด่วน ให้ กทพ.ดำเนินการเองทั้งหมด อย่างพื้นที่ใต้ทางด่วน ตรงธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ที่มีร้านอาหารขาย หากมีอะไรเกิดขึ้น กทพ.ต้องรับผิดชอบเอง

“โดยสรุปดีลนี้เราไม่ได้ set zero แต่ set negative เหมือนกับการให้ยืมเงินไปแล้วจ่ายคืนมาน้อยกว่าที่ยืม เราเชื่อในทางธุรกิจว่าเราถูกต้อง และการเป็นข้อพิพาทกับรัฐไม่ใช่เป้าประสงค์ BEM เป็นบริษัทคนไทย หากเจรจาแล้วได้ผลตอบแทนเหมาะสม เราไม่ได้ต้องการค้าความ จึงเป็นที่มาของการเจรจา กทพ.เชิญเราไปเจรจา ถามว่าสู้แล้วได้ประโยชน์อะไร การเจรจานี้รัฐต้องตอบสังคมให้ได้ว่ารัฐได้ประโยชน์อะไร” นายพงษ์สฤษดิ์กล่าว