ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผู้ว่าแบงก์ชาติ”แจง Sense of Urgency สำคัญ ในโลกยุค VUCA Plus ทุกนโยบายไม่มีอะไรฟรี

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ”แจง Sense of Urgency สำคัญ ในโลกยุค VUCA Plus ทุกนโยบายไม่มีอะไรฟรี

9 กุมภาพันธ์ 2020


เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดงาน The Year Ahead 2020 ประจำปี สำหรับลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูง (ultra high-net-worth) เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่จะมีนัยสำคัญสำหรับแต่ละปี โดยวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเจาะลึก งานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด forging resilience หรือการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

ในช่วง Conversation with BoT Governor “2020 Economic Outlook: Opportunities & Challenges” การสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจทั้งในด้านโอกาสและความเสี่ยง กับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

ดร.พิพัฒน์ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อ ดร.วิรไทและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้รับรางวัล ธนาคารกลางที่มีผลงานโดดเด่น ประจำปี 2563 ด้านการริเริ่มผลักดันโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน (Initiative of the Year Award) จาก Central Banking Journal (วารสารการธนาคารกลาง) ซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวารสารการธนาคารกลาง และขอให้ ดร.วิรไทกล่าวถึงรางวัลที่สำคัญนี้

ดร.วิรไทกล่าวว่า ขอขอบคุณกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรที่ได้เชิญมาให้พูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองที่สำคัญในวันนี้

เมื่อวานนี้เป็นข่าวดีหนึ่งที่หนังสือ Central Banking Journal ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมธนาคารกลางทั่วโลก มีการมอบรางวัลให้กับธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่ง ธปท.ไม่คาดคิด รางวัล Initiative of the Year Award ที่ได้ เนื่องจากเห็นว่า ธปท.มีการริเริ่มทำในหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง PromptPay การพัฒนาการชำระเงิน การยกเครื่องการสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทย การรับฟังจากสังคมจากหลายกลุ่ม การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ stakeholder engagement รวมไปถึงเรื่องความสามารถที่ ธปท.สามารถออกธนบัตรชุดใหม่ได้ถึง 5 ชนิดราคาได้ภายในปีเดียว ซึ่งธนาคารกลางอื่นออกได้ทีละชนิดราคา เช่น ออกชนิดราคา 20 บาทในปีหนึ่งและออกชนิดราคา 50 บาท ในปีต่อไป อันนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่พวกเรามีความยินดีในสิ่งที่เราทำ ได้รับการยอมรับจากธนาคารกลางทั่วโลก

Sense of Urgency สำคัญในโลก VUCA Plus

จากนั้นได้เข้าสู่การแลกเปลี่ยนมุมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.พิพัฒน์ได้ตั้งคำถามแรกว่า แค่ผ่านมา 1 เดือน ภาพเศรษฐกิจในปีนี้ต่างจากปีที่แล้วพอสมควร โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ระดับ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอถามคำถามแรกว่า กนง. เห็นอะไร กังวลอะไร ทำไมถึงนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดร.วิรไทตอบว่า จากที่คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินกล่าวไว้ในช่วงเปิดงานว่า เริ่มต้นหนึ่งเดือนแรกของปีนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากและเปลี่ยนแปลงแบบกลับหัวกลับหาง ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงกลางปีที่แล้ว จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น สต็อกที่หลายประเทศหลายอุตสาหกรรมสต็อกไว้เริ่มลดลง มีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาคึกคัก การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความชัดเจนมากขึ้น มีการทำข้อตกลง ขณะที่ในเดือนแรกงบประมาณของเราสะดุด มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

โลกในปัจจุบันมีความผันผวนสูง ซึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเราเรียกว่า VUCA ซึ่ง V คือ volatile มีความผันผวนสูงมาก U คือ uncertain มีความไม่แน่นอนสูง C คือ complex มีความเชื่อมโยงซับซ้อนสูง A คือ ambiguity มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน

สิ่งที่เราเคยคิดว่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเชื่อก็ไม่เป็นไปตามนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่าน เรียกว่าเป็นโลกของ VUCA plus ก็ได้ ไม่ใช่ VUCA ธรรมดา

ในการทำนโยบายการเงินของเราในช่วงที่ผ่านมา เราไม่ได้วางนโยบายการเงินล่วงหน้า ไม่ได้กำหนดทิศทางนโยบายการเงินว่าจะเป็นแบบไหน เราเป็นประเทศเล็กแบบเปิด เราไม่ได้เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่วางทิศทางนโยบายล่วงหน้าได้ และเราเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องตั้งรับ แต่การตั้งรับต้องเป็นนโยบายเชิงรุก proactive ด้วย มิฉะนั้นเราจะไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

หลักคิด data dependent ทำให้เราต้องประเมินสถานการณ์มองไปข้างหน้าอย่างละเอียดมาตลอดเวลา

ในการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ใช้เวลาพิจารณาข้อมูลรายละเอียดค่อนข้างมากว่า ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงมีถึง 3 เรื่องซึ่งเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย

เรื่องแรก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

เรื่องที่สอง คือ งบประมาณที่เราคาดว่า งบประมาณจะเป็นปัจจัยหลักของปีนี้ด้วยซ้ำ ในปีที่แล้วตั้งแต่การเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปีใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งกลไกภาครัฐก็จะหยุดชะงักงันเป็นเรื่องปกติกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ มีคณะรัฐมนตรีมีการทบทวนโครงการต่างๆ ดังนั้นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณในปีที่แล้วหยุดชะงักไปเลย แต่เราคาดหวังตอนแรกว่างบประมาณจะมีผลบังคับใช้ได้จริงเดือนกุมภาพันธ์ ต้องเบิกจ่ายในเดือนกันยายน ฉะนั้นปีนี้คาดว่าจะมีแรงส่งค่อนข้างแรงจากงบประมาณที่ล่าช้ามาจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

“มาถึงตอนนี้เราไม่แน่ใจว่างบประมาณจะสามารถผ่านได้เมื่อไร งบประจำไม่มีปัญหาเพราะสามารถขยายเพดาน อย่างงบเงินเดือนข้าราชการก็ทำได้ แต่งบลงทุนเฉพาะโครงการใหม่จะชะงัก และหากช้าไปนานก็จะหมดปีงบประมาณ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ทำไม่ทัน ก็เท่ากับงบลงทุนของปีนี้แทบจะใช้ได้น้อยมาก แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์แรงที่ส่งแรงต่อเศรษฐกิจไทย ก็กลับเป็นตัวถ่วงที่แรงต่อเศรษฐกิจไทย”

เรื่องที่สาม ภัยแล้ง สถานการณ์ภัยแล้งน่าเป็นห่วง ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยมีน้อย แต่ที่น่าห่วงคือ ภาคเกษตร ภาคเกษตรสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีไม่เยอะ แต่ที่สำคัญเรามีประชาชนจำนวนมากที่พึ่งพิงภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะโยงไปสู่เศรษฐกิจในต่างจังหวัด การใช้สอยของประชาชน

ปัจจุบันเราพบผลกระทบจากสงครามการค้าในปีที่แล้วที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมชะลอลง รายได้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอลงเยอะ การผลิตเพื่อการส่งออกไม่ฟื้นเต็มที่ การท่องเที่ยวก็ถูกกระทบแรงมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“ภาคเกษตรมีภัยแล้งเหมือนกันชนในเศรษฐกิจไทยน้อยลงไปเรื่อย หากเปรียบเทียบในอดีตเมื่อเรามีปัญหาในภาคอุตสาหกรรม แรงงานก็จะย้ายไปสู่ภาคเกษตร เป็นกันชนที่เราเคยมี แต่วันนี้กันชนที่เราเคยมีบางลง ในภาวะที่เราเจอความเสี่ยงลูกใหญ่ๆ มาพร้อมกัน อันนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์”

จากการที่เราได้ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ คิดว่าในสภาวะแบบนี้มี sense of urgency ที่เราต้องเร่งดำเนินการและต้องส่งสัญญานให้ชัดเจน

นโยบายการเงินที่ลดดอกเบี้ยไป 0.25% หลายคนอาจจะคิดว่าจะช่วยเศรษฐกิจได้จริงหรือมีผลมากน้อยแค่ไหน ผลก็คงไม่มากเท่าไร เพราะอย่างที่ทราบกันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้วและสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกก็มีค่อนข้างมาก

การทำนโยบายการเงินในปัจจุบัน ไม่มีเครื่องมือใดเครื่องเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหา การรักษา resilience ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ต้องมีการประสานหลายเรื่อง ฉะนั้นเราร่วมกันประสานมาตรการทางการคลัง มาตรการทางการเงิน และมาตรการสถาบันการเงิน

ธปท.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทยในเดือนธันวาคม 2562 เราคิดว่าขณะนี้เรื่องที่สำคัญมากคือ การส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เรื่องนี้ก็ต้องเร่งให้ทำเร็วขึ้นอีกในขณะนี้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการประชุมระหว่าง ธปท.กับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้มีแนวปฏิบัติทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เราได้ปรับกฎเกณฑ์กติกาหลายอย่างของ ธปท.ที่จะส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็อาจจะไม่รับแรงผลักดันหรือความสนใจจากสำนักงานใหญ่เท่าไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นไม่ได้มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งในโลกปัจจุบัน อีกทั้งเรื่อง sense of urgency เป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องโรคระบาดไวรัสโคโรนา หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ธปท.มีข้อมูลอะไรถึงดูตระหนกไป ทำไมถึงรีบทำ เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ลดดอกเบี้ยหลังจากที่เกิดโรคระบาดนี้ขึ้น วันนี้สถานการณ์ไม่ถึงจุดพีก จุดที่มีเสถียรภาพ เราต้องให้ความสำคัญกับการประเมินสถานการณ์หลายรูปแบบ ไม่มีใครตอบได้ว่าไปถึงจุดไหน กระทบแค่ไหน แต่ถ้าเราปล่อยหรือรอช้าเกินไป และเกินไปในสถานการณ์ที่มีผลกว้างไกล ถึงเวลานั้นการแก้ไขจะยิ่งทำได้ยาก ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินคิดว่า เรา take action เร็วดีกว่าไปรอให้สถานการณ์ชัดเจนแล้วค่อย take action ตามมา

การทำนโยบายการเงินไม่มีอะไรฟรี

ดร.พิพัฒน์ถามว่า ในแง่นโยบายการเงินที่บอกว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้ว ลดแล้ว คาดหวังอะไรจากการส่งผ่านของนโยบายการเงิน

ดร.วิรไทกล่าวว่า อันแรกในตลาดตราสารหนี้ตราสารการเงินส่งผ่านทันที ใครก็ตามที่มีหนี้อยู่เป็นตราสารการเงินก็จะได้ อันที่สองได้เห็นธนาคารพาณิชย์บางแห่งลดดอกเบี้ย แต่ที่สำคัญคือ การดูแลลูกหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ดร.พิพัฒน์ถามต่อว่า ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว และการลดดอกเบี้ยลงมาที่ 1% ต่ำสุดในประวัติการณ์ ถ้าสถานการณ์รุนแรงกว่าเดิม เครื่องมือที่เรามีใช้จะเพียงพอกับความเสี่ยงนี้ไหม

ดร.วิรไทตอบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะได้ยินคำว่า policy space หรือข้อจำกัดทางด้านนโยบาย เราตระหนักดีว่า เมื่อเรามีกันชนเหลืออยู่น้อย มีเครื่องมือเหลืออยู่น้อย ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมีผลกระทบที่รุนแรง เราต้องมีความสามารถในการทำนโยบายการเงิน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตได้ค่อนข้างดีใกล้เคียงกับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย 3.5-4.% ต่อเนื่องกัน 3 ปี ในภาวะแบบนั้นเราไม่อยากจะลดอัตราดอกเบี้ยนโนบาย เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

การทำนโยบายการเงินก็ไม่มีอะไรฟรี เราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไปก็เกิดผลข้างเคียง เราต้องดูแลผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงินด้วย คำนึงถึงเงินออมของประเทศในระยะยาว ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ คำนึงเสถียรภาพของระบบการเงินไม่ให้เกิดการเก็งกำไร ไม่ให้เกิดพฤติกรรมเรื่องของ speculative demand ไม่ให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์บางประเภท เช่น ที่ได้ทำมาตรการ LTV อสังหาริมทรัพย์

การรักษา policy space เป็นเรื่องสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้สอดคล้องกับเสถียรภาพ เราก็ตั้งคำถามตัวเองว่า policy space ที่เรารักษาไว้ถึงเวลาที่จะต้องใช้แล้วหรือยัง ในคณะกรรมการ

“และที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์เพราะเราเห็นว่า สถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่สมควรที่จะใช้ policy space ที่เรารักษาไว้ ถ้าถามว่าถ้าสถานการณ์แย่ลงกว่านี้ในอนาคต ผมคิดว่าเราก็ยังมีความสามารถในการใช้ policy space ที่เรามีอยู่ได้ และต้องมีการตระหนักร่วมกันว่าไม่มีเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้”

มาตรการที่จำเป็นต้องใช้ขณะนี้ ต้องเป็นมาตรการที่ตรงจุดเป็นแนวทางที่สำคัญมากกว่า เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากไวรัสโคโรนา จะกระทบแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน และการที่เราไปทำมาตรการดอกเบี้ยซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า blunt instrument เป็นมาตรการที่ผลกระจาย ไม่ได้ตรงจุดไปหาคนที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง มีผลข้างเคียงอย่างอื่นด้วย

“มาตรการที่ตรงจุดจริงๆ คือมาตรการทางการคลัง เราได้เห็นว่ารัฐบาลพยายามออกมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ข้อจำกัดคือ ทำได้แต่มาตรการภาษีเพราะสะดุดขาตัวเองเรื่องงบประมาณ ถ้าเราไม่สะดดุขาตัวเองเรื่องงบประมาณ เราจะทำมาตรการตรงจุดได้มากกว่านี้ และเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะตั้งงบประมาณกลางปีด้วยซ้ำไป ที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ในภาวะการเมืองที่เราเป็นอยู่ที่เราสะดุดขาตัวเอง เราจะมานั่งดูว่า อันนี้การคลังทำได้ดีกว่า ควรใช้มาตรการทางการคลัง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ สภาวะแบบนี้ใครช่วยทำอะไรได้ควรจะต้องช่วยกัน เพราะถ้าเราปล่อยให้ไหลลงไปมากกว่านี้ เช่น ผู้ประกอบการกลายเป็น NPL มากขึ้นหรือขาดสภาพคล่องรุนแรง คนตกงาน เมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาเข้าสู่จุดที่มีเสถียรภาพและเริ่มลดลง การท่องเที่ยวกลับมาก็จะเกิดประเด็น เพราะว่า capacity ของเรา ด้าน supply side ไม่มีทางจะฟื้นไปได้ จะกลายเป็นเหตุการณ์ระยะสั้นสร้างปัญหาอุปทานต่อเนื่องไปในระยะยาว เราต้องช่วยกันประคับประคอง”

ชี้ 5 เทรนด์กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจ

คำถามต่อเนื่องจาก ดร.พิพัฒน์คือ หมายความว่า ต้องใช้นโยบายหลายอย่างเพื่อสร้าง policy space หรือสร้างเครื่องมือในการจัดการกับภาวะที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำให้เห็นว่า มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นระยะยาวด้วย ประเด็นความท้าทายซึ่งในแถลงการณ์ของ กนง.จะเห็นทุกครั้ง ว่า มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน หลายๆ ครั้งทำให้นักลงทุนตั้งคำถามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นประเด็นระยะยาวด้วย

ดร.วิรไทกล่าวว่า นอกจากระยะสั้นที่มีความผันผวนสูง มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่จะกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจไทย กระทบกับทุกคน กระทบกับรูปแบบการทำธุรกิจ กระทบกับรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน

ทั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องสำคัญที่จะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย กระทบกับพวกเราทุกคน กระทบกับรูปแบบธุรกิจ กระทบการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน

เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกประมาณ 15 ปี เราจะเป็นประเทศไฮเปอร์เอจโซไซตี ผู้สูงอายุมาก จะมีประมาณ 20% ของประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี

ในภาวะขณะนั้นจะมีผลเยอะมากต่อโครงสร้างของแรงงานของเศรษฐกิจไทย มีผลต่อโครงสร้างการบริโภค จับจ่ายใช้สอย ขนาดของตลาดของระบบเศรษฐกิจไทย วันนี้จำนวนคนไทยในวัยทำงานมีน้อยลง และลดลงต่อเนื่อง ทุกคนในครอบครัวมีภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น แปลว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ต้องพึ่งลูกหลาน จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ใหญ่สุดของพวกเราทุกคน และในทุกวันนี้เรามีปัญหาแรงงานมาก จึงต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามา

จากงานวิจัยระบุว่าตลาดการจับจ่ายใช้สอยในวัย 50 ปีลดลง ยิ่งวัย 60 ปี ยิ่งลดลงไปอีก ดังนั้นการที่ตลาดการบริโภคเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นเครื่องยนต์ที่อาจจะไม่ได้แรงเหมือนเดิม ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความเป็นเรื่องที่น่ากลัว มันเป็นเรื่องทั้งความน่ากลัวและความท้าทาย

ถ้าเราไม่ทำอะไรก็เป็นความท้าทาย เป็นความเสี่ยง แต่ถ้าเป็นโอกาส เราเริ่มเห็นการโฆษณาผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทนผ้าอ้อมเด็ก เป็นตลาดที่ใหญ่มาก เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ การให้บริการให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประเทศอื่นกำลังตามมา เรียกได้ว่าเรามีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พวกนี้ก่อน ถ้าเราฉวยโอกาส นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง

อีกด้านหนึ่งที่เราอาจจะไม่ได้มองกันคือห่วงโซ่การผลิตที่พึ่งเศรษฐกิจนอกเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคของเรา และเราได้รับอานิสงส์ด้วย พวกนี้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุหมดเลยในอนาคต ญี่ปุ่นเราเห็นแล้ว จีนกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุจากนโยบายลูกคนเดียว และประเทศที่มีตลาดใหญ่มากที่จะมาทดแทนคือประเทศเอเชียใต้ อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีนในอนาคต ปากีสถาน บังกลาเทศ รวมไปถึงแอฟริกาที่จะเป็นตลาดใหญ่

ทำอย่างไรที่เราจะปรับทัศนคติในการทำธุรกิจของเราที่ถึงพึ่งพิงกับเอเชียตะวันออกเป็นหลักมาเป็นตลาดเอเชียใต้ นี่เป็นโอกาสที่ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงอย่างเดียว

เรื่องที่ 2 สภาวะแวดล้อมทางด้านภูมิอากาศ เรื่องโลกร้อนจะยิ่งมีผลรุนแรงมากขึ้น ไฟป่าในออสเตรเลียที่ไม่มีใครคิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ ปีที่แล้วประเทศไทยมีภาวะน้ำท่วม ภัยแล้งรุนแรง ในบริเวณเดียวกันภายในเดือนเดียวกัน เอลนีโญเมื่อก่อน 10 ปีจะมาที เดี๋ยวนี้ได้ยินบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ

สภาวะภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบมากจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยเกษตรกรมีกันชนน้อย มีหนี้เยอะ เงินออมต่ำ มีผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำแทบจะทุกพืชหลักทางการเกษตร ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงจากสภาวะภูมิอากาศได้

ผลจากการเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อน ไม่ได้กระทบภาคเกษตรกระทบต่อทุกคน ทุกธุรกิจ น้ำจะเป็นสิ่งที่หายาก น้ำสะอาดเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ทุกธุรกิจจะต้องใช้น้ำ

เรื่องสำคัญอีกด้านคือความคาดหวังของสังคมในการทำธุรกิจ resilience and sustainability ความยั่งยืนในการทำธุรกิจจะเป็นกระแสหลัก ใครที่ไม่ทำเรื่องนี้จะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ใครที่ทำก่อนจะเป็นคนที่กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม จะมีการออกเกณฑ์ใหม่มากมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เราเห็น อย่างเรื่องพลาสติกเกิดขึ้นเร็วมาก หาก 3 ปีที่แล้วเราไปซื้อของแล้วไม่มีถุงพลาสติกให้ ให้เอามาเอง วันนั้นเราคงโกรธ แต่วันนี้ใครขอถุงพลาสติกต้องมองข้างๆ ว่ามีใครมองอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัวในสภาวะที่เปลี่ยนไป เพราะความคาดหวังของสังคมจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการทำธุรกิจ

ยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังจะตามมา อย่างเรื่องการลดการใช้คาร์บอนจะเป็นโจทย์ใหญ่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้พลังงานฟอสซิลเยอะ ทิศทางโลกไปในทิศทางลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เราก็ต้องปรับตัวในเรื่องนี้ หากใครไม่ปรับก็จะเป็นเรื่องความเสี่ยง ต้องวิ่งตามกัน

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่กระทบกับวิถีชีวิตทุกคน วันนี้ถามว่าใครไปสาขาแบงก์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ โทรศัพท์มือถือเราเป็นทั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ เป็นทั้งชอปปิงมอล ซื้อของกันทางโทรศัพท์มือถือ เรื่องพวกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากใน 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราประมูล 5G แล้ว IOT (internet of things) การที่มีหุ่นยนต์มาแทนแรงงาน ทำเรื่องออโตเมชัน โรงงานสมัยใหม่ที่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน ไม่ต้องเปิดแอร์ ไม่ต้องเปิดไฟ สามารถทำงานในความมืดได้ตลอด 24 ชม. เพราะฉะนั้นผลิตภาพเพิ่มขึ้นทันที แต่มันจะมีผลต่อแรงงาน เราจะเตรียมคนอย่างไรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

คู่แข่งของเราเขาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง พวกนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะความเสี่ยง เป็นโอกาสด้วย วันนี้เอสเอ็มอีทั่วประเทศสามารถขายของผ่านอีคอมเมิร์ซได้ ไม่ได้ขายเฉพาะคนในหมู่บ้านตัวเอง ตำบลตัวเอง ไม่ต้องลงทุนเยอะในการเปิดหน้าร้าน แค่ไปคอนเนกต์กับแพลตฟอร์มอีโคโนมี หาประโยชน์จากมันได้ ธุรกิจไม่ต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง สามารถใช้คลาวด์ได้

ดังนั้นมีทั้งโอกาสและมีความท้าทาย หากเราฉวยโอกาสเหล่านี้จะทำให้ผลิตภาพเราดีขึ้น แข่งขันได้

เรื่องที่ 4 แวลูเชน (value chain) ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่เปลี่ยนแปลงการคาดหวังของลูกค้า คนกำหนดแวลูเชนที่สำคัญมากในภูมิภาคคือจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงแวลูเชนใหญ่ของโลก สินค้าบางชนิดกว่าจะออกมาเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย ข้ามพรมแดนไม่รู้กี่ประเทศ และไม่รู้กี่ครั้ง เพื่อประกอบ เพื่อส่งออกไปขายให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีที่มาทำงานแทน กิจกรรมในแวลูเชนในภาคอุตสาหกรรม แวลูเชนมีค่าลดลง แต่กิจกรรมการบริการจะมีมูลค่าสูงขึ้น การบริการตั้งแต่การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ เช่น รถยนต์ที่มีโคดดิงต่างๆ เพราะเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แวลูเชนอาจจะไม่ต่างจากการผลิตเหล็กมาประกอบเป็นรถยนต์หนึ่งคัน ลิขสิทธิ์ทางปัญญามีความสำคัญในแวลูเชนมากขึ้น ดังนั้นในโกลบอลเชนต้องเน้นกิจกรรมที่อาศัยองค์ความรู้ เราต้องดูว่าเราจะได้เปรียบอย่างไรจากโครงสร้างเวลูเชนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก

สำหรับจีน มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กระทบต่อแวลูเชนในภูมิภาคนี้ จีนสามารถผลิตได้เองเยอะมาก เขาไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าขั้นกลางจากประเทศอื่น แวลูเชนที่อยู่ในประเทศจีนยาวขึ้นๆ และเราจะเห็นว่าสินค้าที่เราเคยส่งออกไปจีนได้มาก วันนี้เขาผลิตได้เอง ใครก็ตามที่เน้นผลิตสินค้าต้นน้ำ ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากยา เคมีภัณฑ์ ที่จีนผลิตได้เอง นำเข้าจากเราลดลง

นี่คือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของแวลูเชน เพื่อจะให้เราให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ให้ความรู้ เป็นโมเดิร์นเซอร์วิสมากขึ้น บทบาทที่อาศัยความได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานมันจะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ

เรื่องที่ 5 ที่ผ่านมาเรามีระบบสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกเยอะมาก ตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008-2009 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก ใช้นโยบายการเงินอัดฉีดสภาพคล่องเงินเข้าระบบ นโยบายดอกเบี้ยติดลบก็ยังมีอยู่ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ยังทำอยู่ มีการเข้าไปซื้อตราสารโดยตรงจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตรรัฐบาล

เราเคยคาดหวังว่านโยบายการเงินประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำที่ผิดแปลกธรรมชาติแค่มาตรการชั่วคราว ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นและเหตุการณ์เชิงลบต่างๆ ทำให้นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ก็ยังคงเป็นการผิดแปลกจากธรรมชาติ ไม่ได้เข้าสู่สภาวะปกติ ธนาคารกลางอเมริกาพยายามปรับ normalization มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาตลอด แต่พอเจอสงครามการค้ากระแทกแรงในปีที่แล้วก็กลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ฉะนั้นมองมองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เงินเฟ้อกระโดดขึ้นแรง เช่น สงคราม ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ supply shock เงินเฟ้อจะกระโดดขึ้นแรง ถ้าดูแนวโน้มคิดว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งสร้างผลข้างเคียงเยอะมาก สร้างผลข้างเคียงสำหรับผู้ฝากเงิน ผู้ออมเงิน ที่คาดหวังจะเป็นเงินออมที่ปลอดภัย มีทรัพย์สินที่ปลอดภัยได้ผลตอบแทน

หลายประเทศคล้ายกับเราที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็จะได้รับผลกระทบ ภาคการธนาคารเองก็จะได้รับผลกระทบ เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่กู้สั้นๆ และปล่อยกู้ยาว กินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวหรือ yield curve แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยในโลกต่ำมาก สภาพคล่องในโลกสูงมาก yield curve ก็ต่ำ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวแทบไม่ต่างกัน

อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยก็ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แค่ 1.3% รัฐบาลไทยไม่เคยกู้เงินได้ถูกแบบนี้มาก่อน และกู้ถูกว่ารัฐบาลอเมริกา แม้อันดับความน่าเชื่อถือเราต่ำกว่า ก็เป็นโอกาสที่ใครอยู่ฝั่งผู้กู้ก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม แต่ถ้าเราไม่ระวังก็จะมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน

ธนาคารกลางต้องวิตกเล็กน้อย มองให้ไกลว่ามีความเสี่ยงอะไร

ขณะนี้หนี้ทั่วโลก หนี้ภาครัฐบวกหนี้เอกชน หนี้ธุรกิจบวกหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจีดีพี เราไม่เคยอยู่ในภาวะแบบนี้มาก่อน

เพราะไม่มีแรงจูงใจจากฝั่งการออมมาก และในภาวะที่ดอกเบี้ยเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า search for yield ไปหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องต้องระวังเพราะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร underpricing of risk เช่น เราเห็นสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล หรือภาคเอกชนมาก ไม่มีการตั้งคำถามหรอกว่า เขาเอาเงินเราไปทำอะไรถึงได้อัตราผลตอบแทนสูงแบบนั้น และมีปัญหาที่เกิดขึ้นมีการโกง มีการลงทุนในสิ่งที่ไม่ควรลงทุน

ย้อนกลับไปสัก 2-3 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ภาคเอกชน ตอนนั้นทุกคนบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ซื้อหุ้นประเภท 6 เดือน หรือ 1 ปี เกิดอะไรขึ้นก็แค่หุ้นกู้ระยะสั้น ถอนการลงทุนได้ หรือไม่ก็มีการต่ออายุหรือ roll over และให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากตั้งเยอะก็ไป แต่ไม่มีใครไปดูว่าทั้งบริษัทอาจจะกู้ 90% และเป็นหุ้นกู้แบบนี้หมดเลย ถึงเวลาต่ออายุไม่ได้ก็มีปัญหา นี่คือปรากฏการณ์ underpricing of risk การประเมินความเสี่ยงที่ไม่ถูกต้อง

เราเห็นผลข้างเคียงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แบงก์ชาติต้องออกมาตรการ LTV loan to value หรือวงเงินกู้ต่อราคาบ้านที่จะซื้อ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้คือ แบงก์แข่งขันกันสูง ประกอบกับ NPL ในสินเชื่อบ้านค่อนข้างต่ำ คนโดยธรรมชาติถ้าซื้อบ้านอยู่เองจะไม่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อรักษาบ้านไว้เป็นทรัพย์สิน แต่เมื่อแบงก์แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อ LTV ก็เพิ่มสูงขึ้นไปที่ 120% ก็มีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้น เรียกว่าสินเชื่อเงินทอน

สินเชื่อเงินทอนหมายถึง เช่น บ้านราคาขาย 3 ล้านบาทแบงก์ปล่อยให้ 110% ของราคาบ้านคือ 3,300,000 บาท สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 3 ปีแรกดอกเบี้ยถูกมากราว 3.5% คนไปซื้อบ้านก็ต่อรองกับผู้ประกอบการอีกว่า ราคา 3 ล้านบาท ให้ลดลงเหลือ 2.7 ล้านบาท ได้เงินมา 3 แสนบาท ฉะนั้นซื้อบ้าน 3 ล้านได้เงิน 3.3 ล้านในอัตราดอกเบี้ยถูก ได้เงินทอนมารวม 6 แสน จะเอาไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ นี่คือ สินเชื่อเงินทอน

“สิ่งที่น่าตกใจที่แบงก์ชาติเจอ คือ สงสัยว่าทำไม NPL บ้านถึงเพิ่มขึ้นรวดเร็วและต่อเนื่องต่างจากเทรนด์แบบเดิม เพราะว่ามีคนขอกู้ 3 สัญญาพร้อมกัน 4 สัญญาพร้อมกัน ภายในปีเดียวกัน แบงก์ตรวจไม่ได้เพราะข้อมูลช้าไปหนึ่งเดือน และจริงๆ ก็มีผู้ทำธุรกิจแบบนี้ ซึ่งผมเจอกับตัวเอง ได้รับโทรศัพท์ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง มีโครงการรับจัดสินเชื่อให้พิเศษ เป็นประเด็นที่ต้องออกมาตรการ LTV”

สำหรับคนซื้อบ้านจริง มาตรการเราไม่มีผลกระทบ สินเชื่อของคนซื้อบ้านหลังแรกยังขยายตัวได้ดีมากในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าใครมากู้ด้วยเงินของตัวเองในหลังที่สองหลังที่สาม ไม่เป็นไร แต่หากกู้สัญญาที่สองใน 3 ปี ก็กำหนดให้มีเงินของตัวเอง มีเงินดาวน์ ไม่ใช่มากู้จนได้เงินทอน และถ้าเกิดปัญหาขึ้นและปล่อยไว้จะมีผล เพราะประชาชนทุกคนจะมอง underpricing of risk มองแต่ในแง่ดี บ้านอย่างไรก็ขายดี ทุกคนซื้อบ้านไม่มีใครคิดว่าบ้านราคาตก ต่างจากซื้อรถที่ราคาตก ตอนนี้ซื้อมาก่อน 3 หลัง ได้เงินทอนมาก่อน เอาไปทำอะไรก็ได้

ในโลกความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอดไป ราคาบ้านลดลงได้ และถ้าปล่อยให้ฟองสบู่แตกกระทบกับทุกคน ทุกคนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนซื้อบ้านในรอบหลัง เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความระมัดระวัง

หน้าที่ของธนาคารกลางคือ รักษาเสถียรภาพ คำว่าเสถียรภาพ ถ้ายังมีสถียรภาพอยู่จะไม่มีใครให้ความสำคัญ แต่ถ้าเกิดวิกฤติ ทุกคนจะกลับมาว่า 3 ปีที่แล้ว ทำไมไม่ทำอะไร

ทำให้เราต้องมองไกล เป็นลักษณะนิสัยของธนาคารธนาคารกลางคือ ต้องวิตกเล็กน้อย มองให้ไกลว่ามีความเสี่ยงอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลัวจนเกินเหตุ ถ้าสถานการณ์ที่จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเราก็พร้อมที่จะทำ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและมีความผันผวนสูง

ดร.พิพัฒน์ถามว่า ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอ ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอแล้ว ยังมีกังวลและจะมีมาตรการอะไรอีกหรือไม่

ดร.วิรไทกล่าวว่า ก็มีความกังวลบ้าง เสถียรภาพระบบการเงินเป็นสิ่งที่เรากังวล แต่เราต้องชั่งน้ำหนัก ในการทำนโยบายของเราไม่มีอะไรฟรี ทุกเรื่องมีผลข้างเคียง มีต้นทุน เราชั่งน้ำหนักในกรอบนโยบายของเรา 3 เรื่อง
อย่างแรกคือเป้าหมายเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อกลับขึ้นมาสูงด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ก็โชคดีที่เงินเฟ้อของเราอยู่ในระดับต่ำ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยี ช่วยทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่ค่อยเป็นแรงกดดันในการทำนโยบาย อย่างที่สองคือศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย การขยายตัวควรเป็นไปตามศักยภาพที่ควรจะเป็นหรือไม่ อย่างที่สามคือเสถียรภาพของระบบการเงิน

แต่การทำนโยบายต้องผสมมาตรการหลายอย่าง อย่างน้อย 3 เรื่องที่เราต้องทำ อย่างแรก คือ นโยบายดอกเบี้ย นโยบายที่เรียกว่า macro prudential เป็นนโยบายที่ให้มีผลต่อการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน อย่างเช่น LTV เรื่องอื่นๆ ที่เราทำ ไม่ใช่ LTV อย่างเดียวที่เราทำ เรากังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง เรื่อง personal loan ที่เราออกเกณฑ์ใหม่ วงเงินบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่รู้สึกว่ามีการแข่งขันและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก และไม่มีใครกำกับดูแลมาก่อน

มาตรการที่สาม เรียกว่า Micro Prudential เป็นมาตรการกำกับรายสถาบันการเงิน เพื่อดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบ หากเราหย่อนมาตรฐานมากเกินไป อาจจะมีสถาบันการเงินบางแห่งเริ่มทำ เมื่อเริ่มทำรายอื่นก็จะเข้ามาแข่งขัน และจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของระบบซึ่งอาจจะสร้างผลในระยะยาว แต่ผมคิดว่า ที่ ดร.พิพัฒน์ถามก่อนหน้านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คือ บางทีเราจะใส่ใจเรื่องระยะสั้นๆ เปิดหน้าหนังสือพิมพ์มาก็มีแต่เรื่องระยะสั้นๆ แต่การเปลี่ยนแปลงในโลกที่เกิดรอบตัวเรา จะมีผลกว้างไกลกับระบบเศรษฐกิจมากและวิถีการทำธุรกิจของทุกคนกระทบมาก อย่างน้อย 5 เรื่องที่พูดถึง

นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และความเห็นของเราไม่ใช่ระหว่างคนรวยคนจน ในภาคธุรกิจก็มีความเหลื่อมล้ำสูง ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ธุรกิจที่จะต้องปรับให้เท่าทันเทคโนโลยี พวกนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราไม่แก้ตรงนี้ ก็จะมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญมาก หากกลุ่มนี้ขยายตัวไม่ได้ ลูกจ้างเขาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะถูกกระทบ ค่าแรงก็ไม่มีทางที่จะปรับขึ้น หนี้ครัวเรือนก็จะตามมา ดังนั้นจะโยงกันไปหมด ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหาสำคัญ

และปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ productivity ผลิตภาพของเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคนั้น ภาคบริการแม้จะมีสัดสวนในจีดีพีสูงขึ้นแต่ยังเป็นภาคบริการแบบดั้งเดิม traditional services การท่องเที่ยว ขนส่งโลจิสติกส์ ที่ยังไม่เป็นการขนส่งสมัยใหม่ แม้มีบ้างที่เป็นแพลตฟอร์ม แต่เราต้องคิดถึงบริการสมัยใหม่ coding เรื่องที่เกี่ยวกับ digital ecosystem การบริหารจัดการข้อมูลสมัยใหม่ พวกนี้จะช่วยเพิ่ม productivity ให้กับประเทศ

ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับผลิตภาพ เทรนด์ 5 เรื่องที่พูดถึงจะกลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยกันขับเคลื่อน เรื่องการยกระดับผลิตภาพเพื่อระบบเศรษฐกิจไทย

ดูแลค่าเงินต้องแก้ปัญหาโครงสร้าง

ดร.พิพัฒน์ตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับค่าเงิน มีเสียงเกี่ยวกับค่าเงินแข็งค่าแต่ช่วงนี้อ่อนตัวมาแล้ว

ดร.วิรไทกล่าวว่า เรื่องค่าเงินเราก็ไม่สบายใจ จะเห็นว่าค่าเงินบาทมีการปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และอาจจะไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความอ่อนไหวอยู่มาก แม้กระทั่งในช่วงต้นปี เราเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับภูมิภาค และเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดตั้งแต่ต้นปี มองย้อนกลับไปต้นปีที่แล้ว อินโดนีเซีย ค่าเงินแข็งค่ากว่าเราไปแล้ว ค่าเงินเม็กซิโกที่เป็นคู่แข่งของเราก็กลับไปแข็งค่ากว่าเรา

แต่เราคิดว่าค่าเงินที่อ่อนค่าลงบ้างก็ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานในขณะนี้ เพราะเรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก จากไวรัสโคโรนา จากงบประมาณ

เวลาที่เราพูดถึงว่าอะไรเป็นตัวกำหนดปัจจัยค่าเงิน ก็จะมี 2-3 เรื่องด้วยกัน ค่าเงินเปลี่ยนแปลงก็ต้องดูว่ามีคนอยากจะเอาดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับคนที่อยากจะเอาบาทไปแลกเป็นดอลลาร์ ความสมดุลของเงินที่ไหลเข้าไหลออกเป็นเงินตราต่างประเทศ ในบางช่วงยอมรับว่าอาจจะมีคนที่อยากจะมาเก็งกำไรในค่าเงินบาท เพราะมองว่าเราเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี หนี้ต่างประเทศเราอยู่ระดับต่ำมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเรามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก ก็มีเงินมาพักอยู่บ้าง ช่วงต้นปีที่แล้วเราเห็น เราก็ได้ออกมาตรการหลายอย่างช่วงกลางปี

ปีที่แล้วทั้งปีเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย หุ้นกู้เอกชน พันธบัตรแบงก์ชาติ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเงินไหลออกสุทธิประมาณ 4 พันล้านดอลาร์ ไม่ได้เอาเข้ามา ตัวที่เราเกินดุลมากคือ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แม้การส่งออกจะหดตัว การนำเข้าก็หดตัวมากเช่นกัน การท่องเที่ยวยังขยายตัว รายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างดี และการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงทำให้รายจ่ายน้ำมันลดลงไปด้วย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

การลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปีที่แล้ว ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ปีที่แล้วเป็นปีเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงการใหญ่ก็ถูกชะลอไปหมด การลงทุนที่จะนำเข้าสินค้าทุนก็ชะลอไปด้วย ทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้เกิดความไม่สมดุลของเงินตราต่างประเทศที่เข้ามากับเงินตราต่างประเทศที่ออกไป ทำให้คนอยากจะเอาเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นบาทมากกวาที่จะเอาบาทมาแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ

ไม่ใช่บอกว่าแบงก์ชาติไม่ได้เข้าไปดูแล ถ้าดูจากเงินสำรองระหว่างประเทศ จะเห็นว่าเราเข้าไปดูแลค่อนข้างมาก จนบางประเทศจะมาจองกฐินเราว่าเราเป็นคนปรับค่าเงิน จัดการค่าเงินจนสร้างความได้เปรียบทางการค้า เพราะเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เรายังส่งออกได้ดีกว่าการนำเข้า อันนี้เราก็ต้องระมัดระวังเพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายทุกอย่างต้องชั่งน้ำหนักหมด ถ้าเราไปแทรกแซงมากเกินไป นอกจากประเทศอื่นจะมามองว่าเราบิดเบือนค่าเงิน ก็ยิ่งทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราสูงมากขึ้นไปอีก คนก็ยิ่งมองว่าเราปลอดภัย ในช่วงที่มีความผันผวนสูง จึงเป็นแรงจูงใจ

ในสิ่งที่เราทำ เราต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเวลาที่มีแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่อเนื่องมานาน ทำให้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

อันแรกคือ การลงทุนของเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเราได้ประสานกับรัฐบาลมาต่อเนื่อง จะเห็นว่ารัฐบาลมีแพกเกจหลายอย่างที่จะส่งเสริมการลงทุน ทั้งการลดหย่อนภาษีที่ได้มากขึ้น และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลก็มีการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากรัฐวิสาหกิจ

อันที่สองเราต้องเปิดเสรีมากขึ้น เพื่อให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้ ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เขามีกลไกการรีไซเคิลเงินตราต่างประเทศที่มีการเกินดุลออกไปนอกประเทศ และช่องทางการลงทุนเป็นช่องทางที่สำคัญ บางประเทศอย่างไต้หวัน มีนักลงทุนสถาบันที่เอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ ทำตัวเป็นตัวกลางที่ไปลงทุนต่างประเทศ ประกันชีวิตของไต้หวันไปลงทุนต่างประเทศมากกว่า 50% ของเบี้ยประกันภัยรับ ของไทยเกณฑ์เดิมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เพิ่มขึ้นเปิดเสรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยายเพดานขึ้นได้ถึง 30%

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข.ก็มีนโยบายที่จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะในภาวะที่ม่ีความผันผวนสูง การบริหารความเสี่ยง การมีโอกาสในการลงทุนในหลากหลายตลาดจะช่วยบริหารความเสี่ยงโดยปริยาย ปีที่แล้วหุ้นไทยไม่ perform เลย ได้ผลตอบแทนต่ำมาก ขณะที่หุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทน 10-20% ถ้าใครกระจายการลงทุนไปต่างประเทศได้ก็จะช่วย และช่วยในภาพมหภาคด้วย

อีกอันหนึ่งที่แบงก์ชาติทำมาก คือ เราจะต้องเปิดเสรีมากขึ้น แนวคิดแบบดั้งเดิม เวลาที่พูดถึงกฎเกณฑ์กติกา การแลกเปลี่ยนเงินเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาแต่โบราณ ในสมัยโบราณ ประเทศอย่างเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศน้อย เราก็อยากจะให้ใครไปค้าขายอะไรได้กำไรก็นำกลับมาประเทศไทย และมาแลกเป็นเงินบาท ธนาคารกลางเป็นคนเก็บรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ให้ วันนี้เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างมากแล้ว เรียกว่ามากเกินพอที่จะดูแลเสถียรภาพ ก็ไม่มีความจำเป็น คนไทยไปทำมาหากิน ทำธุรกิจที่ไหนก็ตาม จะเก็บเงินตราต่างประเทศไว้ที่ไหน ไว้นอกประเทศก็ยังได้ เอากลับประเทศไทยก็เก็บไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นเงินบาท ก็จะเห็นว่าเราได้ผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 มีการผ่อนคลายเรื่องใหญ่ร่วมกับกระทรวงการคลัง ผู้ส่งออกไทยเมื่อก่อนจะต้องนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทย ปีที่แล้วได้ขยายการจำกัดวงเงินจาก 50,000 ดอลลาร์ต่อใบขนเป็น 200,000 ดอลลาร์ต่อใบขน ซึ่งอาจจะมองว่าน้อย แต่การขนแต่ละครั้งใบขนมีจำนวนมาก ซึ่ง 200,000 ดอลลาร์ต่อใบขนครอบคลุม 48% ของการส่งออกทั้งหมดทั้งปี ที่สามารถเอาเงินไปไว้ต่างประเทศได้

“รัฐมนตรีคลังได้ลงนามแล้วขยายจาก 200,000 ดอลลาร์เป็น 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 1 ล้านดอลลาร์ครอบคลุม 80% ของการส่งออกทั้งปีของเรา ผู้ประกอบการก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบนำเงินเข้ามา ที่แบงก์ชาติเองก็ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขยายเพดานเพิ่มเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ที่ให้ไปจัดสรรให้ บลจ. บริษัทหลักทรัพย์ ที่จะช่วยให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้ ซึ่งเรียกว่ามี room อีกเยอะมากที่จะทำได้ และหากเห็นว่ามีคนไปลงทุนเยอะ เราก็พร้อมที่จะขยายและยกเลิกกฎเกณฑ์ กติกาหลายอย่าง การรายงานการขออนุญาต อีกด้านหนึ่งคนไทยสามารถไปลงทุนต่างประเทศโดยตรงเองได้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางประมาณ 200,000 ดอลลาร์ต่อปี”

ดร.วิรไทกล่าวว่า นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราต้องทำเรื่องของการปรับโครงสร้าง ทางหนึ่งคือ แก้ปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ซึ่งภาวะแบบนี้ดอกเบี้ยต่ำมาก ค่าเงินเอื้อ ฉะนั้นใครมีศักยภาพที่จะลงทุน ยกระดับผลิตภาพเป็นโอกาสสำคัญ

ทางที่สอง ต้องมีกลไกการรีไซเคิลการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเราให้ออกไปนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราทำตลาดก็รับรู้ มองว่าประเทศไทยอย่าไปคาดหวังว่าค่าเงินจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว และเมื่อก่อนที่มองว่าเราเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เมื่อก่อนราคาทองคำขึ้น ค่าบาทก็แข็งด้วย วันนี้ก็เริ่มฉีกออกจากกัน ไม่ได้มองว่าเงินบาทจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่จะมาพักเงิน และเราพร้อมใช้มาตรการเพิ่มขึ้น ถ้าคิดว่ามีลักษณะการเก็งกำไรที่ไม่เหมาะสมและกระทบต่อเศรษฐกิจไทย