ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “เก้าปีก้าวหน้า” ปิดทองหลังพระฯ เพิ่มรายได้ 9 พื้นที่ต้นแบบ 2,308 ล้านบาท -“สืบสานแนวพระราชดำริ” ไขปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม

“เก้าปีก้าวหน้า” ปิดทองหลังพระฯ เพิ่มรายได้ 9 พื้นที่ต้นแบบ 2,308 ล้านบาท -“สืบสานแนวพระราชดำริ” ไขปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม

4 มีนาคม 2019


หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงานปีที่ 9 “เก้าปีก้าวหน้า” พร้อมจัดเวที เสวนา “ประเทศไทยตามแนวพระราชดำริ” ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้แก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“เก้าปีก้าวหน้า” สร้างรายได้ 9 พื้นที่ต้นแบบเพิ่ม 2,308 ล้านบาท

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันฯ ว่า นับจากการก่อตั้งปิดทองหลังพระฯ ในปี 2553 และเริ่มดำเนินการพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดน่านเป็นแห่งแรก ในปัจจุบันพื้นที่ต้นแบบได้ขยายไปยังทุกภาค ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี และสามจังหวัดชายแดนใต้

การประเมินผลการทำงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านแหล่งน้ำ มีประชาชนได้รับน้ำ 79,022 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 275,107 ไร่, ด้านอาชีพ มีประชาชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ 4,536 ครัวเรือน โดยในช่วงเวลาเก้าปี ปิดทองหลังพระฯ ใช้งบประมาณด้านระบบน้ำและส่งเสริมอาชีพรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดรายได้ทางตรง 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน และเท่ากับเฉลี่ยครัวเรือนละ 508,818 บาท

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

นอกจากนี้ ปิดทองหลังพระฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในปัจจุบันทุกพื้นที่เกิดกองทุน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์รวม 70 กลุ่ม มีเงินทุนหมุนเวียน ทรัพย์สินรวมมูลค่า 15.78 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลจากการส่งเสริมความรู้ ทำให้เกิดอาชีพทางการเกษตรใหม่ๆ และประชาชนจำนวนมากสามารถต่อยอด พัฒนาการทำเกษตร ไปเป็นพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงได้ เช่น ทุเรียนคุณภาพและแพะพันธุ์พระราชทานในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผักปลอดภัยในจังหวัดกาฬสินธุ์ การแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ภูธารา” ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น ขณะที่มีพื้นที่พัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมแล้ว เช่น เพชรบุรีและอุทัยธานี

“จุดเด่นที่สำคัญในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงต้นๆ คือ ตอนเริ่มต้นเราทำงานใกล้ชิดกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและผล ผลิต แต่ปีที่ผ่านมาเกิดกระแสการร่วมงานกับเอกชนที่ชัดเจน มีภาคธุรกิจแสดงความสนใจเข้ามาร่วมกับปิดทองหลังพระฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าสอดคล้องกับแนวพระราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด เป็นอย่างยิ่ง”

สำหรับการดำเนินงานในช่วงปี 2561 นั้น พบว่าครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 การดำเนินการของปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ทั้ง 7 พื้นที่ 9 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 113.7 ล้านบาท

พื้นที่นำร่องปิดทองหลังพระ: ผลผลิตมะนาวบ้านยอด จ.น่าน, การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างมีคุณภาพ จ.ปัตตานี, การทำไหลสตอรว์เบอรี่ จ.อุทัยธานี, การส่งเสริมด้านวิถีชีวิตและการท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี และการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตกล้วย จ.อุดรธานี

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวถึงแนวทางในอนาคตว่า นอกจากการเพิ่มเติมความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่ต้นแบบต่างๆ นี้แล้ว จะเพิ่มบทบาทในการนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาชีวิตประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความมั่นคง เช่น ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความรุนแรง และจังหวัดชายแดนเหนือที่เป็นแหล่งผ่านยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ กำลังพิจารณาแผนการจัดตั้งศูนย์จัดการและส่งเสริมองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริอีกด้วย

“ปิดทองฯ มีคนนิดเดียว ดังนั้นปิดทองหลังพระทำอย่างเดียว กระตุกต่อมคิดให้คนคิด แล้วมาบูรณาการร่วมกัน ระบบราชการ บริษัทห้างร้านใหญ่ๆ จะทำงานเป็นแท่ง แต่สิ่งที่ปิดทองทำ เรามองเป็นแนวนอน ให้บูรณาการโดยการทำ ไม่ใช่พูด แต่ทำ ต้องเรียนรู้จากปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน เราต้องเข้าไปทุกหลังคาเรือน ว่า 70-80% ปัญหาคืออะไร เริ่มจากการเปลี่ยนที่ทัศนคติ ต้องลงไปข้างล่างทำจากล่างขึ้นบน แล้วเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด เราต้องกัดไม่ปล่อย” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว

(เลื่อนเพื่อดู)

ทางออกนโยบายเศรษกิจในโลกผันผวนสูง – แก้เล็ก ตอบโจทย์ใหญ่

ดร.วิรไท เริ่มต้นด้วยการแนะทางออกให้กับสารพันปัญหาของโลกที่มีความผันผวนสูง เพราะหากมองจากปัญหาที่รุมล้อมมากมายอาจหาทาง ออกไม่เจอ แต่เมื่อมองจากการทำงานของปิดทองฯ จะเห็นได้ว่ามีทางออกของปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าปัญหาใหญ่แค่ไหนก็สามารถนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาเป็นทางออกของปัญหาได้

“เวลาเราพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายคนจะไปนึกถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ เรื่องการพัฒนาชนบท แต่ในงานที่ผมรับผิดชอบ เรื่องการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นหลักสำคัญที่จะใช้ตอบโจทย์ความท้าทายของระบบเศรษฐ กิจไทยได้ในหลากมิติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค แต่จริงๆ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นหลักสำคัญของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค”

เมื่อพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี 3 ประเด็นที่เป็นหลักสำคัญที่จะตอบปัญหาในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาคของไทย คือ ความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมาปรับใช้กับการทำงานในการวางนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ซึ่งท่ามกลางโลกที่ VUCA คือ ความผันผวนสูง (volatility) ความไม่แน่นอนสูง (uncertainty) ความสลับซับซ้อนมากขึ้น (complexity) และผลที่เกิดขึ้นมันจะไม่ชัดเจนเหมือนเดิม ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคุ้นชิน คือ ความคลุมเครือ (ambiguity) การสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยมีหลักง่ายๆ คือ สร้างกันชน ตั้งแต่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลหนี้ต่างประเทศไม่ให้มากเกินควร

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

และอีกด้านคือ การกำจัดจุดเปราะบางในประเทศ เช่น เรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้ที่มีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าที่ควรจะเป็นทำให้เกิดการเก็งกำไร เกิด demand เทียมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นจุดเปราะบางหากจะสร้างภูมิคุ้มกันต้องกำจัด ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยให้คนไทยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับการออมที่เหมาะสม หรือการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามีปัญหามากมายในระบบเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญ แต่ถ้ายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแกนกลางในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ก็จะชี้ให้เห็นว่าเรามีทางออก แล้วในทางออกก็นำไปสู่เรื่องความยั่งยืนได้

ดร.วิรไทกล่าวต่อถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะเข้ามาจัดการปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ปัญหาเกือบทุกปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เป็นปัญหาระดับมหภาค แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ โดยมีเป้าหมายจะทำเล็กๆ ให้เกิดผล แล้วไปตอบปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศ อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญมาก

“เราจะเห็นว่าหลักการทรงงานไม่มีทางลัด การพัฒนาต้องต่อเนื่อง อาจจะใช้คำว่ากัดไม่ปล่อย เพราะว่าเป็นเรื่องกี่ยวกับชีวิตคน เวลาเราพูดถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน มีหลากหลายปัญหา เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านการแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยกลไกเชิงโครง สร้าง ที่มีผลต่อพฤติการณ์ของคน หรือของบริษัทต่างๆ ก็จะทำให้เกิดการปรับตัวและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ไม่มีทางลัด”

พม. ปลูกความคิดแนวพระราชดำริ เตรียมพร้อมรับ “สังคมสูงวัย”

ดร.ปรเมธีกล่าวถึงปัญหาสังคมประการใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ คือ เรื่องของสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2564 จะมีผู้สูงวัยอยู่ที่ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มใหญ่มักขาดความมั่นคงในชีวิต มีการออมไม่เพียงพอที่จะดูแลตนเอง อาจไม่ทันเตรียมตัว หรืออยากเตรียมตัวแต่ไม่มีความเข้าใจ เป็นปัญหาที่ท้าทายที่จะสร้างความคุ้มกันให้กับคนสูงอายุ

ขณะเดียวกัน ประชากรเด็กกลับมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ และน่าเป็นห่วงคือ ประชากรเด็กที่เกิดมากกว่าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องเตรียมการในอนาคต ว่าเราจะเตรียมคนให้มีคุณภาพได้มากแค่ไหน ประชากรน้อยแต่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น เพราะการจะก้าวหน้าประชากรต้องมีคุณภาพ

“ในส่วนคนที่อยู่ในช่วงชีวิตของการทำงาน ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องของโลกที่เป็น technology disruption มีการคุยกันเยอะว่าจะมีอาชีพอะไรหายไป งานจะเป็นอย่างไร ก็เป็นความเสี่ยงที่คนเริ่มไม่แน่ใจว่ามีสักเท่าไรที่พูดว่าพร้อม ความมั่นคงที่จะเผชิญอะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งในด้านทักษะและการออม อันนี้ก็เป็นเรื่องของโจทย์ที่ท้าทาย ตลอดช่วงชีวิตของคนที่จะหาความมั่นคงอย่างไร”

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เรื่องของสังคมที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำ 3-4 ปี สถิติก็บอกว่าเหลื่อมล้ำน้อยลง ดีขึ้นบ้าง แต่ที่เราตั้งเป้าในอนาคตก็ยังอีกไกล และอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะได้รับผลกระทบจากสังคมคือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลด้วย เพราะเวลานี้ที่มีการหาเสียง มีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนน้อย

“ยังไม่ค่อยมีใครมาหาเสียงว่า อยากทำให้คนอยู่แบบพึ่งตนเองได้ ส่วนใหญ่จะเป็นว่า ได้เงินในกระเป๋าเท่าไร หลังจากเลือกตั้งไปแล้ว ก็น่าเป็นห่วงว่าเราจะไปอยู่ในสังคมที่ยั่งยืนยังไง ในส่วนของคนเองก็ไม่รู้ว่าเรียกร้องเรื่องนี้หรือไม่ ก็ต้องดูว่าคนไปเลือกตั้งตัดสินจากอะไรกัน อันนี้ก็เป็นสภาพสังคมที่ท้าทายอยู่มากกับโจทย์ ที่เราจะไปอยู่ในสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร”

ทั้งนี้ ดร.ปรเมธีระบุว่า พม. เองพยายามเข้าไปจับกับทุกกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา เช่น สร้างโรงเรียนผู้สูงอายุในตำบลต่างๆ สร้างคุณค่าในตัวเองให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในเด็กเองมีการตั้งสภาเด็กอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศเช่นกัน เด็กก็มีกิจกรรมดีเจทีม เป็นผู้นำให้ความรู้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนในกลุ่มของคนที่ขาดโอกาส  เช่น คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ให้มาอยู่ในสถานดูแลคนไร้ที่พึ่งก่อน พยายามปรับสร้างชีวิตในนิคมสร้างคนเอง เตรียมความพร้อมให้เขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง ซึ่งในทุกๆ ส่วนมีการสอดแทรกหลักการทรงงาน เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ฯลฯ ลงไป

“กลไกที่จะสร้างตรงนี้ขึ้นมาเป็นพลังของสังคม กำลังอยู่ในกระบวนการคิดว่าจะช่วยอย่างไร เพราะเรื่องนี้ก็มีผลกับสังคมในด้านต่างๆ แนวพระราชดำริเป็นทางออกที่สำคัญมาก และปัญหาสังคมที่พูดถึงนี้ใหญ่มากต้องอาศัยหลายๆ ส่วนเข้ามาร่วม กระทรวงก็ได้พันธมิตร หรือแนวร่วม หรือคนที่อยากจะทำประโยชน์แก่สังคมเข้ามาช่วย พยายามขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม ธุรกิจที่สามารถทำกำไรและช่วยเหลือสังคมได้ ก็อยู่ในกระบวนการที่คิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเครือข่ายที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนเข้ามามีบทบาทช่วยกัน ก็จะลดช่องว่างความแตกต่าง แล้วก็รับมือปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้”

ปลดล็อก ปัญหาสิ่งแวดล้อม เริ่มจาก “พื้นที่”

ดร.อานนท์กล่าวถึงมติด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในอดีต โดยไล่ลำดับตั้งแต่สิ่งแวดล้อมบทพื้นที่สูงอย่างป่าไม้ ที่ในปัจจุบันมีการทำลายป่าลดลงและเข้าสู่โหมดที่มีการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวมากกว่าการทำลาย แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องของการปลูกที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ ทำให้พันธุ์ไม้ต่างถิ่นเข้ามาสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ส่วนพื้นราบมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งประสบปัญหาการใช้สารเคมีปริมาณมาก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแสดงชัดเจนว่า พื้นที่ที่ทำการเกษตรมากๆ มีอัตราการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเป็นจำนวนสูง ขณะที่ในเขตเมือง หรือเขตพัฒนาพิเศษ เช่น อีอีซี การวางผังเมืองยังขาดการให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องของคนเท่าที่ควร
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA

  • เรื่องอากาศในปีที่ผ่านมาประเด็น PM2.5 กลายเป็นประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นเรื่องนี้ก็นำไปสู่เรื่องของการตระหนกเกินไป ส่วนอากาศในชนบท ยังคงประสบปัญหาเดิมคือ hotspot ที่มักเกิดขึ้นในฤดูแล้ง เป็นปัญหาหนักในช่วงมีนาคม-เมษายน ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง จ.เชียงราย ที่เดิมมีหลักพัน ลดลงเหลือหลักสิบ แต่การแก้ปัญหานี้จะมองภาพของรัฐอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องแก้ในระดับชุมชน คือเอาทางเลือกเข้าไปให้ชุมชน

    “PM2.5 จริงๆ เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่เห็นเป็นหมอกควันคลุ้งเป็น PM ที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากจะใหญ่กว่า 10 ไมครอนด้วย PM ขนาดใหญ่เราสามารถสกัดได้ด้วยฝน หรือเอาน้ำมาฉีด แต่ PM2.5 นี่ไม่ได้นะ 2.5 เกิดขึ้นมาต้องไปดูที่ต้นทางแล้ว พอเข้ามาสู่บรรยากาศแล้วต้องอาศัยกระบวนการตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องนี้ยังมีค่อนข้างน้อย เราเคยมีความพยายามที่จะศึกษาในเรื่องนี้ แต่ว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวด้านกิจการความมั่นคง จากเครื่องมือที่จะใช้ในการศึกษา แต่ผมคิดว่ามีความจำเป็นแล้วที่เราจะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้”

  • เรื่องของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ตอนนี้ประสบปัญหาใหญ่เรื่องของคุณภาพน้ำ เรื่องตะกอน เรื่องของความเค็ม เรื่องของสารอินทรีย์ที่นำไปสู่ปริมาณของออกซิเจนลดลง ก็คือน้ำเน่าเสีย และเรื่องของน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากแหล่งต่างๆ หรือแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และทะเลที่ประเด็นใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ขยะในทะเล ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะมันก็ส่งผลกระทบกับประเทศเองในหลายๆ ด้าน แล้วก็จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่มีความยั่งยืน

    “มีแหล่งน้ำที่เกี่ยวข้องกับปิดทองฯ คือแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ตอนนี้หลักสำคัญสุดคือว่า เราพยายามสร้างแหล่งน้ำให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ แต่ว่าการขุดบ่อไม่ได้ทำกันง่ายๆ หลายที่ขุดไปแล้วเก็บน้ำไม่อยู่ เทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำอย่างไรให้ต้นทุนการขุดไม่สูง และสามารถใช้งานได้จริงอย่างยั่งยืน ผมคิดว่ายังต้องการความรู้อะไรอีกมาก”

ดร.อานนท์กล่าวต่อไปถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาแนวพระราชดำริมาใช้ ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นดูเฉพาะสิ่งแวดล้อมไม่ได้ และไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นมิติเชิงพื้นที่ และเป็นปัญหาที่ผูกโยงถึงสังคม ซึ่งในด้านสิ่งแวดล้อมระดับจุลภาคความขัดแย้งเกิดขึ้นมาก แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความขัดแย้งกับนโยบาย top-down ที่ชุมชนอาจยังมีความไม่เข้าใจ หรือนโยบายไม่อาจสร้างความไว้ใจให้ชุมชนได้, ความขัดแย้งกับชุมชนข้างเคียง และความขัดแย้งที่เกิดภายในชุมชนเอง ที่ต้องมีการใช้ทรัพยากรร่วม

โดย ดร.อานนท์ สรุปว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความคุ้มกัน เนื่องจากประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือคิดว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้สร้างกำแพงขึ้นมาปฏิเสธที่จะรับความเปลี่ยนแปลง

ทางออกของปัญหาคือ การให้ความรู้ที่เป็นจริงและมีการตรวจสอบเป็นเรื่องที่สำคัญประการต่อมาคือ ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ว่าปล่อยงอมืองอเท้า แต่ต้องถามผู้นำผู้ที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นด้วยว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมา ชุมชนสามารถที่จะเข้าไปกำหนดได้ และความเอื้ออาทรและความเข้าใจกันว่า ไม่มีใครที่จะสามารถได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่จะมีการแบ่งปันประโยชน์กันอย่างไร 

“เรื่องความสำเร็จของปิดทองคือ การทำให้ภายในชุมชนสามารถเดินไปด้วยกันได้ เพราะหากเดินไปด้วยกันไม่ได้ ก็ไม่สามารถนำไปสู่เรื่องนั้นได้ ส่วนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ งบประมาณ เงินทุน เรื่องกฎระเบียบกติกาต่างๆ มันต้องเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ถ้าเกิดเราทำเรื่องนี้ได้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นนี้ได้ เราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไปได้มาก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมันเกิดขึ้นจากพื้นที่ ก็ต้องไปแก้ที่พื้นที่ ไปแก้ที่ปลายเหตุ ไปกำจัด บำบัด แก้ไข นั้นสำเร็จยาก”