ThaiPublica > เกาะกระแส > เราควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์กราดยิง ถอดบทเรียนสหรัฐฯ-นิวซีแลนด์

เราควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์กราดยิง ถอดบทเรียนสหรัฐฯ-นิวซีแลนด์

9 กุมภาพันธ์ 2020


วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุการกราดยิงประชาชน ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มิเนอร์ 21 จังหวัดนครราชสีมา ที่มาภาพ : TPBS

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุการกราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าเทอร์มิเนอร์ 21 จังหวัดนครราชสีมา มีประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่และผู้ก่อเหตุทั้งสิ้น 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 57 ราย ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 25 ราย , พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 32 ราย เฉพาะผู้ที่บาดเจ็บสาหัสต้องได้รับการผ่าตัดมี 12 ราย ต้องผ่าตัดสมอง 2 ราย ตับแตก 1 ราย แขนขาหัก 3 ราย กระสุนถูกที่ลำไส้ใหญ่อีก 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา นายทหารสังกัดกองสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2 ใช้อาวุธสงคราม ปืนเอชเค 33 กราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าเทอร์มิเนอร์ 21 จังหวัดนครราชสีมา

จากเหตการณ์ดังกล่าว “ไทยพับลิก้า” ถอดบทเรียนเราควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์กราดยิง กรณี”สหรัฐฯ-นิวซีแลนด์”

เหตุการณ์การกราดยิงเดิมที เป็นปัญหาเฉพาะตัวในสหรัฐอเมริกา โดยเหตุการณ์การกราดยิงจะเกิดขึ้นทุก 12.5 วัน

สหรัฐฯซึ่งมีพลเมืองเพียง 5% ของจำนวนประชากรทั้งโลก แต่ 31% ของเหตุการณ์การกราดยิงทั่วโลกเกิดขึ้นในสหรัฐฯ

เหตุการณ์การกราดยิงที่ทำให้ผู้เสียชีวิต 4 คนขึ้นไปเกิดขึ้นทุกๆ 12.5 วัน แม้ตัวแปรหลายตัวเกี่ยวข้องกับการกราดยิง แต่สิ่งที่เหมือนกันของแต่ละเหตุการณ์ก็คือ มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวนมาก

งานวิจัยหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญเหล่านี้เป็นการกระทำที่ซับซ้อนและสร้างความสูญเสีย ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งเกี่ยวข้องกับการพฤติกรรมการเลียนแบบ รวมทั้งการรายงานข่าวของสื่ออย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ที่มีส่วนทำให้เกิดการเลียนแบบ แม้มีหลากหลายวิธีในการทำงานที่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอภาพได้

National Center for Biotechnology Information แห่งสหรัฐฯ เผยแพร่บทความเรื่อง Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation พูดถึงบทบาทของสื่อในการมีส่วนส่งเสริมการเลียนแบบ ดังที่งานวิจัยใช้คำว่า Contagion Effect หรือ Copycat

Contagion Effect ของการกราดยิง หรือ การเลียนแบบ แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมนี้สามารถติดต่อ ลอกเลียนกันไปทั่ว จากงานวิจัยพบว่าเมื่อเกิดการกราดยิงขึ้น ก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอีก 12.5 วันโดยเฉลี่ย และการกราดยิงในโรงเรียนจะเกิดขึ้นในอีก 31.6 วัน

บทความระบุว่า ความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่สื่อ แต่สื่อเป็นสิ่งสำคัญในการกระจายพฤติกรรมเหล่านี้ การปรับเปลี่ยนการรายงานข่าวเกี่ยวการกราดยิงอาจจะทำได้ยากเนื่องจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ดึงผู้ชมได้มาก และมองว่าข่าวนี้ขายได้(sensationalism) นอกจากนี้สื่อโซเชียลและสื่อแพลตฟอร์มใหม่ที่กำลังเติบโต ก็มีส่วนทำให้การปรับเปลี่ยนการรายงานข่าวยากขึ้น อีกทั้งผู้ใช้สื่อที่เป็นบุคคลทั่วไปก็ได้สามารถกระจายเหตุการณ์ได้มากกว่าองค์กรสื่อ

งานวิจัยพบสื่อมีส่วนสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ

งานวิจัยหลายชิ้น พบว่าผู้ก่อเหตุได้รับอิทธิพลและแรงจูงใจจากการรายงานข่าวของสื่อที่เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุรายก่อนหน้า และการได้รับความสนใจจากสื่อคือเป้าหมายหลักของผู้ก่อเหตุ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ครอบคลุมเหตุการณ์กราดยิง 31 เหตุการณ์นับตั้งแต่ปี 1966 พบว่า 87% ของผู้ก่อเหตุต้องการที่ได้รับความสนใจเป็นที่รู้จักและดัง ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นพบว่า ผู้ก่อเหตุหลายคนได้รับแรงจูงใจจากผู้ก่อเหตุรายก่อนหน้า และยกเป็นแบบอย่าง “ไอดอล” จากการที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับประวัติ รายละเอียดของคนร้ายและหน้าตา

ในปี 2015 นักวิจัยพบว่า พฤติกรรมการกราดยิงมีการส่งต่อ โดยมีความน่าจะเป็นในการเกิดกราดยิงตามมาอีกใน 13 วัน และสำหรับการกราดยิงในโรงเรียนมีโอกาสที่จะเกิดอีก .22 ครั้ง ซึ่งเป็นผลจากการรายงานข่าวอย่างละเอียดของสื่อ

การแสดงความรำลึกถึงผู้ที่จากไปจากเหตุการณ์กราดยิงที่ Sandy Hook Elementary School
ที่มาภาพ: https://www.leeabbamonte.com/north-america/christmas-in-sandy-hook.html

จากการสำรวจการรายงานข่าวการกราดยิงของสื่อพบว่าให้ความสนใจกับตัวคนร้ายอย่างมาก โดยมีการ นำเสนอภาพคนร้ายมากกว่าเหยื่อผู้เสียชีวิตถึง 16 เท่า หรือนำเสนอภาพคนร้ายกับเหยื่อในอัตรา 16:1 ภาพ จากการวิเคราะห์เนื้อหาและภาพจำนวน 4,934 ภาพซึ่งเป็นภาพข่าวบนหน้าหนึ่ง 3,821 ภาพจากการนำเสนอการกราดยิงในโรงเรียน(Virginia Tech, Sandy Hook Elementary School, Umpqua Community College )ของสื่อภายในเวลา 9 วัน ที่วัดจากการเปลี่ยนภาพหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว 3 วันและเปรียบเทียบการนำเสนอภาพคนร้ายกับผู้ตกเป็นเหยื่อ

และจากการสำรวจหลังสุด หลังการกราดยิงใน Umpqua Community College ปี 2015 สื่อนำเสนอภาพคนร้าย 101 ภาพ เทียบกับ 59 ภาพของผู้สียชีวิต 9 ราย

อีกทั้งภาพคนร้ายจะมีขนาดใหญ่ หรือขนาดกลาง ส่วนภาพเหยื่อมีขนาดเล็กหรือเป็นเพียงรูปหน้า(mug shot size)เท่านั้น นอกจากนี้การรายงานข่าวที่ต่อเนื่อง 3 วันหลังเกิดเหตุ ประมาณ 90% ของสื่อที่สำรวจยังมีภาพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บนหน้าหนึ่ง

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเท็กซัสสเตท พบว่า เนื้อหาของนิวยอร์ก ไทมส์ ที่นำเสนอเหตุการณ์กราดยิง 91 ครั้งในช่วงปี 2000-2012 มีเนื้อหาเกี่ยวคนร้ายมากกว่าผู้ตกเหยื่อ

งานวิจัยยังบ่งชี้ว่าการรายงานข่าวถี่และเข้มข้นต่อการกราดยิงโดยเฉพาะตัวผู้ก่อเหตุ ทำให้เกิดการส่งต่อพฤติกรรมและเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่คิดจะก่อเหตุรายต่อไป

งานวิจัยระบุว่า แม้พื้นฐานของการรายงานข่าวคือ การรายงานข้อเท็จจริง แต่ต้องรักษาความสมดุลของการรายงานข่าวข้อมูลให้กับสาธารณะกับผลทางลบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นที่น่ากลัว

ภาพที่สื่อนำเสนอนี้รวมทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ ทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยบนออนไลน์ที่อยู่ยงมานาน เช่น บน DeviantArt,Tumblr,เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ซึ่งมีหลายฟอรั่มที่สาวกของผู้ก่อเหตุถกเถียงเรื่องกลวิธี มีการแชร์บทความ และอภิปรายตัวผู้ก่อเหตุราวกับว่าเป็นนักกีฬาคนโปรด

นายปีเตอร์ แลงแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาผู้ก่อเหตุให้ความเห็นว่า ฟอรั่มบนออนไลน์เหล่านี้คือแหล่งเพาะผู้ก่อเหตุรายใหม่ การนำเสนอข่าวที่ซ้ำแล้วซ้ำอีกของสื่อต่อพฤติกรรมรุนแรง ทำให้ผู้ที่อาจจะก่อเหตุเมื่อได้เห็นข่าวก็อารมณ์หลุดนำไปสู่การก่อเหตุ

“เราพบว่า พฤติกรรมกำลังเพิ่มขึ้น เพราะปรากฎการณ์แบบนี้กำลังหลั่งไหลเข้ามา และเมื่ออารมณ์หลุด ก็จะทำให้รายต่อไปก้าวข้ามเส้น”

เจนนิเฟอร์ จอห์นสตัน ที่ทำการศึกษา Contagion Effect บอกว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักว้าเหว่ และมองหาความสัมพันธ์แบบ parasocial หรือความเชื่อมโยงกับคนอื่นๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน รวมทั้งผู้ก่อเหตุรายอื่นและการที่สื่อรายงานอย่างละเอียด นอกเหนือจากชื่อผู้ก่อเหตุ ก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แบบ parasocial ง่ายขึ้นจากการที่รู้จักผู้ก่อเหตุรายก่อนหรือคนอื่นๆ ผ่านการรายงานอย่างละเอียดของสื่อเกี่ยวกับชีวิตของคนร้าย เห็นหน้าคนร้าย

งานวิจัยเหล่านี้นับว่าเป็นความท้าทายคุณค่าความเป็นสื่อ เพราะผลการวิจัยบอกว่า ต้องรายงานเหตุการณ์โดยไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก และหลีกเลี่ยงการรายงานที่จะกระทบต่อความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นคนต่อต้านคนเก่ง แต่หลักการของสื่อคือ ข้อเท็จจริง ดรามา แสดงให้เห็นถึงการกระทำและตัวตนที่เป็นพื้นฐานของเรื่อง

NO NAME NO PHOTO NO NOTORIETY

ในสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2018 คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยของโรงเรียนที่มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงโรงเรียน Marjory Stoneman Douglas High School ได้ออกรายงานแนะนำแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนปลอดภัย โดยแนะนำให้นำหลัก No Notoriety มาใช้

No Notoriety เป็นแคมเปญที่ริเริ่มโดยครอบครัวทอมและคาเรน เทเวสที่สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์การกราดยิงในโรงภาพยนตร์ปี 2012 โดยขอให้สื่อไม่ระบุชื่อ หรือนำเสนอภาพของคนร้าย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนร้ายฮึกเหิมมากขึ้น

เว็บไซต์ NoNotorietyระบุว่า การเป็นที่รู้จัก ความดังและความอับอายขายหน้าเป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุกราดยิงและพฤติกรรมการก่อเหตุร้ายเลียนแบบ ดังนั้นแคมเปญนี้จึงมีเป้าหมายที่จะลดความเศร้าโศกเสียใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเรียกร้องให้สื่อรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่พยายามหรือกระทำการรุนแรงอันเป็นอันตรายต่อคนหมู่มาก เพื่อลดความรุนแรงของบุคคลที่อยากจะดังและเป็นที่สนใจของสื่อ

ที่มาภาพ: https://nonotoriety.com/

สื่อได้มีการปรับเปลี่ยนมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นผลจากการงานวิจัยที่นำเสนอว่า การเสนอข่าวของสื่อมีผลต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายเลียนแบบ

บทความเรื่อง Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation ยังให้คำแนะนำสื่อในการลดโอกาสที่เกิดเหตุการณ์การกราดยิง

องค์การอนามัยโลกได้ให้หลักการแก่สื่อต่างๆในการรายงานการฆ่าตัวตายของคน โดยอ้างอิงรายงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมฆ่าตัวตายเลียนแบบมาตลอด 50 ปี โดยแนะนำว่าไม่ควรนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายเลียนแบบในลักษณะ sensational หลีกเลี่ยงการใช้พาดหัวตัวโต ไม่ควรรายงานขั้นตอนการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพหรือวีดีโอ และต้องระวังเป็นพิเศษกับกรณีดารา คนมีชื่อเสียง

แนวทางนำเสนอข่าวนี้นำมาใช้ได้กับการรายงานข่าวการกราดยิง FBI หน่วยงานสืบสวนของสหรัฐฯได้ได้ร่วมกับ Advanced Law Enforcement Rapid Response Training team รณรงค์แคมเปญ “Don’t Name Them” เพื่อป้องกันไม่ให้การนำเสนอข่าวของสื่อก่อให้เกิดการเลียนแบบ ด้วยการไม่ระบุชื่อคนร้าย ลดการประโคมข่าว และไม่รายงานข้อความหรือคำพูดหรือวีดีโอของคนร้าย และหลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่ออร์ลันโดปี 2016 สำนักงาน FBI ก็ได้ยึดแนวนี้มาตลอด

การนำหลักการแนะนำของ WHO และ Advanced Law Enforcement Rapid Response Training team มาใช้จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการกราดยิงในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 แนวทาง ที่บทความเสนอแนะ

  • แนวทางแรก การรายงานการกระทำของคนร้ายในทางลบไม่มีผลบวกต่อคนร้าย แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมนั้นน่ารังเกียจ ซึ่งช่วยให้ลดความรู้สึกของคนร้ายที่ว่าการกระทำดังกล่าวน่ายกย่อง
  • แนวทางที่สอง หลีกเลี่ยงการรายงานอย่างละเอียดถึงแรงจูงใจของคนร้ายที่นำมาสู่การกระทำการรุนแรง โดยทั่วไปแล้วมีความเป็นไปได้ที่คนจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่นที่เห็นว่ามีความใกล้เคียงกับตัวเอง เมื่อสื่อรายงานละเอียดก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้คนที่อาจจะก่อเหตุต่อไปมากขึ้น
  • แนวทางที่สาม ลดระยะเวลาการนำเสนอข่าวหลังจากมีการกราดยิงเกิดขึ้น เพราะการนำเสนอที่ต่อเนื่องจะถูกมองว่า เป็นรางวัลที่ผู้ก่อเหตุสมควรได้รับ ยังมีการกล่าวถึงอยู่
  • แนวทางที่ 4 จำกัดการนำเสนอแบบไลฟ์สดทันทีที่เกิดเหตุการณ์แม้จะต้องการข้อมูลข่าวสารมากแค่ไหน แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่สด เพราะอาจจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับเหตุการณ์ และการรายงานข่าวในภายหลัง ซึ่งนอกจากจะลดความกระตือรือร้นในการที่จะเลียนแบบแล้วยังลดความสนใจต่อเหตุการณ์ลง

ที่สำคัญควรรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์มากกว่าที่จะพยายามประโคมข่าวหรือรายงานแบบ sensational หรือสร้างแบบจำลองเหตุการณ์ในระบบดิจิทัล และควรลดการกระตุ้นคนดูด้วยการไม่ควรใช้คำว่า breaking news story และควรรายงานแบบตรงไปตรงมา ตลอดจนหลีกเลี่ยงการให้ขยายรายละเอียดของคนร้ายก่อนก่อเหตุ ระหว่างก่อเหตุหรือหลังก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอินโฟกราฟิก หรือแบบอื่น ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ยิ่งมีข้อมูลน้อยยิ่งทำให้การเลียนแบบลดลง

Christchurch Call หลักปฏิบัติจากนิวซีแลนด์

ที่มาภาพ: https://www.rnz.co.nz/news/on-the-inside/385547/compassionate-pm-restoring-old-time-notion-of-public-service

แม้สื่อทั่วไปไม่ได้นำเสนอชื่อคนร้ายและไม่ได้แพร่ภาพคนร้าย แต่ยังมีช่องทางอื่นที่ข้อมูลรายละเอียดมีการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างและสร้าง Contagion effect ได้ โดยงานวิจัยที่นำเสนอต่อ arXiv.org แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลปี 2015 และได้มีการทบทวนในปี 2018 โดยใช้ฐานข้อมูลของ USA Today พบว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุกราดยิงโรงเรียนซ้ำสองภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์แรกนั้นเกี่ยวข้องกับจำนวนทวิตเตอร์ที่ทวิตเหตุการณ์แรก

“หากมีเหตุกราดยิงแล้วมีการทวิตคำว่า “กราดยิง” มากกว่า 10 ทวิตต่อล้านทวิต ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่สองภายใน 7 วันเพิ่มขึ้นกว่า 50%”

ดังนั้นการไม่รายงานชื่อของคนร้ายจากสื่อกระแสหลักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้ หากคนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียยังคงรายงานเหตุการณ์

ด้วยเหตุนี้หลังจากเหตุการณ์การกราดยิงครั้งล่าสุดในโลกเกิดขึ้นที่นิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 ที่มีมือปืนสัญชาติออสเตรเลียบุกเข้าไปกราดยิงในมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเวลา 17 นาที มีผู้เสียชีวิต 51 คน ผู้บาดเจ็บ 50 คน ซึ่ง มือปืนได้บันทึกวิดีโอเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด และถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กมีการเข้าชมมากกว่า 4,000 วิวรวมทั้งมีการชมผ่านเว็บไซต์ก่อนที่จะถูกถอดออกไป แต่ภายหลังผู้ก่อเหตุ ได้ถูกควบคุมตัวและถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม

การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวบนระบบออนไลน์มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของเหยื่อ และการร่วมกันรักษาความปลอดภัยและของคนในโลกทุกคน

วันที่ 15 พฤษภาคม 2019 นางจาซินดา อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและผู้นำแห่งรัฐ พร้อมกับรัฐบาลและผู้นำจากภาคธุรกิจเทคโนโลยี ได้ร่วมกันประกาศหลักการ Christchurch Call

Christchurch Call เป็นคำมั่นจากรัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีที่จะกำจัดการก่อการร้ายและแนวคิดที่รุนแรงบนออนไลน์ สร้างการวางใจว่า ระบบอินเทอร์เน็ตแบบเสรี เปิดกว้างที่มีความปลอดภัย จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับสังคม บนพื้นฐานการให้ความเคารพต่อการแสดงออก อย่างไรก็ตามไม่มีใครที่มีสิทธิสร้างและแชร์การก่อการร้ายและเนื้อหาหรือแนวคิดที่รุนแรงบนออนไลน์

ระบบอินเทอร์เน็ตที่เสรี และเปิดกว้าง รวมทั้งมีความปลอดภัย เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยง ความเท่าเทียมในสังคมและการเติบโตของเศรษฐกิจ

Christchurch Call เป็นก้าวแรกของการดำเนินการที่จัดการกับประเด็นเหล่านี้ด้วยความร่วมมือของสหภาพยุโรปผ่านความริเริ่ม EU Internet Forum กลุ่มประเทศ G20 และ G7 รวมทั้ง Global Internet Forum to Counter Terrorism (GIFCT), Global Counterterrorism Forum, Tech Against Terrorism และ Aqaba Process ที่ก่อตั้งโดยราชอาณาจักรจอร์แดน

เหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ช ตอกย้ำให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและกระชับความร่วมมือจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม ผู้ให้บริการออนไลน์ เช่น บริษัทโซเชียลมีเดีย เพื่อกำจัดการก่อการร้ายและเนื้อหาที่รุนแรงบนออนไลน์

หลักการไครสต์เชิร์ช ประกอบด้วยข้อตกลงร่วมกันอย่างสมัครใจของรัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์ ในการที่จัดการกับการก่อการร้ายและเนื้อหาที่รุนแรงบนออนไลน์ และเพื่อป้องกันการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด ดังที่เกิดขึ้นแล้วที่ไครสต์เชิร์ช

การดำเนินการเรื่องนี้ต้องมีความสม่ำเสมอและสอดคล้องกับหลักการของการมีอินเทอร์เน็ตเสรี เปิดกว้างและปลอดภัย ยืนหยัดในหลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก และจัดให้สมรรถนะของอินเทอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าเทียม

แนวทางปฏิบัติของรัฐบาล

มุ่งต่อต้านผู้ที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายและความรุนแรง ด้วยการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและสร้างความเท่าเทียมของสังคมเพื่อที่จะเป็นแรงต้านทานการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรง ผ่านการศึกษา การสร้างความรู้ด้านสื่อเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายที่บิดเบือนและหัวรุนแรง และการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม

ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อห้ามการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้าย และแนวคิดหัวรุนแรง ในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก

ส่งเสริมสื่อให้มีมาตรฐานจริยธรรม เมื่อรายงานเหตุการณ์การก่อการร้ายออนไลน์ หลีกเลี่ยงการขยายผลของการก่อการร้ายและเนื้อหาที่มีความรุนแรง

สนับสนุนกรอบการปฏิบัติ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้การรายงานการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายไม่กระตุ้นให้มีการการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรง โดยปราศจากอคติต่อการรายงานข่าวการก่อการร้ายและแนวคิดที่รุนแรงอย่างรับผิดชอบ

พิจารณามาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการใช้บริการออนไลน์ในการเผยแพร่เนื้อหาการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรง รวมทั้งการร่วมกันดำเนินการ เช่น

  • กิจกรรมสร้างความตระหนักและเสริมสร้างขีดความสามารถ เน้นไปที่ผู้ให้บริการออนไลน์ขนาดเล็ก
  • การพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมหรือกรอบความสมัครใจ
  • มาตรการกำกับดูแลหรือนโยบายที่สอดคล้องกับอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและปลอดภัยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แนวทางปฏิบัติของผู้ให้บริการออนไลน์

โดยมีมาตรการที่โปร่งใสและเจาะจงในการป้องกันการอับโหลดเนื้อหาการก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงที่สุดโต่ง และป้องกันการเผยแพร่บนสื่อโซเชียลมีเดียหรือบริการแชร์ข้อมูลที่คล้ายกัน รวมทั้งต้องการปลดออกในทันทีและถาวร โดยปราศจากอคติต่อการบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดการอุทธรณ์ของผู้ใช้ และสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน มาตรการความร่วมมือเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เหล่านี้อาจรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี การขยายหรือการใช้ข้อมูลร่วมกัน และการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพและกระบวนการนำข้อมูลลงจากระบบ

ให้ความโปร่งใสมากขึ้นในการกำหนดมาตรฐานชุมชนหรือข้อกำหนดในการให้บริการ ซึ่งครอบคลุม

  • สรุปและเผยแพร่ผลที่ตามมาจากการแชร์เนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงที่รุนแรง
  • ชี้แจงนโยบายและวางขั้นตอนสำหรับการตรวจจับและลบเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรง
  • บังคับใช้มาตรฐานชุมชนหรือข้อกำหนดในการให้บริการ ให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน โดย

  • การจัดลำดับความสำคัญในการกลั่นกรองเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง
  • จัดการปิดบัญชีเมื่อเห็นว่าเหมาะสม
  • จัดให้มีระบบร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการลบเนื้อหาของพวกเขาหรือการตัดสินใจที่จะปฏิเสธการอัปโหลดเนื้อหาของพวกเขา
  • ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพและทันทีเพื่อลดความเสี่ยงเฉพาะที่เนื้อหาการก่อการร้ายและหัวรุนแรงหัวรุนแรงเผยแพร่ผ่านการถ่ายทอดสด รวมการแยกแยะเนื้อหาที่ที่ต้องตรวจสอบแบบเรียลไทม์

    จัดทำรายงานต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส ในวิธีที่สามารถวัดได้และสนับสนุนโดยวิธีการที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณและลักษณะของเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงที่ถูกตรวจจับและลบออก

    ตรวจสอบการทำงานของอัลกอริทึมและกระบวนการอื่น ๆ ที่อาจผลักดันผู้ใช้ไปสู่ หรือและขยายเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงที่รุนแรงเพื่อทำความเข้าใจจุดแทรกแซงที่เป็นไปได้และเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้อัลกอริทึมและกระบวนการอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนเส้นทางผู้ใช้จากเนื้อหาดังกล่าวหรือการส่งเสริมความน่าเชื่อถือ หรือทางเลือกในเชิงบวกซึ่งอาจรวมถึงการสร้างกลไกที่เหมาะสมสำหรับการรายงาน การออกแบบในกระบวนการที่มีผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มและไม่กระทบต่อความลับทางการค้าหรือประสิทธิภาพของการปฏิบัติของผู้ให้บริการผ่านการเปิดเผยที่ไม่จำเป็น

    ทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามระหว่างอุตสาหกรรมมีการประสานงานและมีประสิทธิภาพเช่นการลงทุนและขยาย GIFCT และการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญ

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2019/09/zealand-delays-christchurch-mosque-shooting-trial-190912093236778.html

    แนวทางสำหรับรัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์ร่วมกัน รัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกัน โดย

    ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมความพยายามของชุมชนในการต่อต้านความคิดรุนแรงในทุกรูปแบบรวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมทางเลือกในเชิงบวกและการต่อต้านการส่งข้อความ

    พัฒนาการแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการแบ่งปันข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับผลกระทบของอัลกอริทึมและกระบวนการอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนเส้นทางผู้ใช้จากเนื้อหาก่อการร้ายและหัวรุนแรงรุนแรง

    เร่งการวิจัยและพัฒนาโซลูชันเพื่อป้องกันการอัพโหลดและตรวจจับและลบเนื้อหาผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงและแนวคิดรุนแรงในโลกออนไลน์ทันทีและแบ่งปันวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ผ่านช่องทางที่เปิดกว้าง ใช้ความเชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษานักวิจัยและภาคประชาสังคม

    สนับสนุนการวิจัยและความพยายามทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายและเนื้อหาที่รุนแรงสุดโต่งบนออนไลน์รวมถึงผลกระทบทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์

    สร้างความมั่นใจในความร่วมมือที่เหมาะสมกับและระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อจุดประสงค์ในการสืบสวนและดำเนินคดีกับกิจกรรมออนไลน์ที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจจับและ / หรือลบเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

    สนับสนุนแพลตฟอร์มขนาดเล็ก เมื่อพวกเขาสร้างขีดความสามารถในการลบเนื้อหาของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง รวมถึงการแบ่งปันโซลูชันและฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเช่น ฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันของ GIFCT

    ร่วมมือและสนับสนุนประเทศพันธมิตรในการพัฒนาและการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงบนออนไลน์ รวมถึงการประสานงานด้านปฏิบัติการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เชื่อถือได้ตามการปกป้องข้อมูลและกฎความเป็นส่วนตัว

    พัฒนากระบวนการที่ช่วยให้รัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและประสานงานกับการเผยแพร่เนื้อหาของผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มหัวรุนแรงที่รุนแรงหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย โดยอาจต้องมีการพัฒนาวิธีปฏิบัติช่วงวิกฤตร่วมกันและกระบวนการแบ่งปันข้อมูลในลักษณะที่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

    การเคารพและสำหรับรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมในการก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมทางธุรกิจและการจัดการกับผลกระทบดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้น

    ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนงานในประเด็นและข้อผูกพันของหลักการไครสต์เชิร์ชด้วยการ

    • เสนอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อผูกพันของหลักการไครสต์เชิร์ชในลักษณะที่สอดคล้องกับอินเทอร์เน็ตที่เสรีเปิดกว้างและปลอดภัยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
    • การทำงานร่วมกับรัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์เพื่อเพิ่มความโปร่งใส
    • ในกรณีที่จำเป็น ต้องสนับสนุนผู้ใช้ผ่านกระบวนการอุทธรณ์และการร้องเรียนของบริษัท

    ข้อแนะนำการรายงานข่าวการกราดยิงในที่สาธารณะ

    เว็บไซต์ reportingonmassshootings มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อต่อเหตุการณ์ที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มเล็กกราดยิงที่ไปผู้คนในที่สาธารณะ แต่ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะแนะนำในเรื่องของความรุนแรงจากกลุ่มอิทธิพล หรือ การ ฆ่าตัวตาย

    เว็บไซต์ยังมีข้อควรรู้ 3 ข้อได้แก่

      1) งานวิจัยพบว่าแนวทางที่สื่อรายงานข่าวการกราดยิงในที่สาธารณะนั้นสามารถนำไปสู่การพฤติกรรมการเลียนแบบได้ การรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้

      2) ผู้ที่มีอาการทางจิตส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ผู้ที่สร้างความรุนแรง ขณะที่ผู้ก่อเหตุที่ยิงกราดในที่สาธารณะนั้นมักจะไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตมาก่อน

      3) การรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบสามารถสร้างการเรียนรู้ของสังคมและลดความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

    Reportingonmassshootings ระบุว่า การรายงานของสื่อในทางลบอาจจะมีผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบจากคนที่มองว่าผู้ก่อเหตุเป็นไอดอล รวมทั้งตอกย้ำความเจ็บปวดให้กับผู้รอดชีวิต ครอบครัวและชุมชน และยังเพิ่มอคติและบาดแผลทางใจกับผู้รอดชีวิต และทำให้คนที่อาการป่วยทางจิตไม่ยอมรับความช่วยเหลือ

    ขณะที่การรายงานข่าวเชิงบวก จะเป็นการให้ความรู้แก่คน ช่วยให้สังเกตและตอบสนองถูกทางต่อคนที่อาจจะกระทำการรุนแรง เป็นการปลอบขวัญผู้รอดชีวิต ครอบครัวและชุมชนรวมทั้งครอบครัวผู้ก่อเหตุ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่สาธารณะเกี่ยวกับสัญญาเตือนจากความกดดันหรือพฤติกรรมที่จะก่ออันตราย สนับสนุนให้คนหาความช่วยเหลือเพื่อตัวเองหรือคนอื่นที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมทำการรุนแรง

    ข้อมูลทั่วไปสำหรับการรายงานข่าว

    • การรายงานข่าวความรุนแรง ไม่ว่าในที่สาธารณะหรือภายในบ้าน รวมทั้งการฆ่าตัวตาย อาจมีอิทธิพลและส่งผลต่อผู้อื่น
    • รายงานเกี่ยวกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและวิธีการที่ชุมชนและประเทศสามารถช่วยกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและป้องกันการกราดยิงในอนาคต
    • จำไว้เสมอว่าครอบครัวรวมถึงครอบครัวผู้ก่อเหตุ ได้รับผลกระทบและกระทบกระเทือนอย่างลึกซึ้งจากเหตุการณ์ และเมื่อทำการสัมภาษณ์ต้องใช้ความละเอียดอ่อน
    • หลีกเลี่ยงการรายงานที่เพิ่มความเข้าใจผิดและอคติต่อความเจ็บป่วยทางจิต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและการป้องกัน การวินิจฉัยสุขภาพจิตไม่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับความรุนแรง
    • อย่าทำให้เป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเพราะอาจกระตุ้นให้คนที่อาจแสวงหาความโด่งดัง (เช่นอย่าพูดว่า “เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่”)
    • หลีกเลี่ยงการตีตราชุมชนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น หรือผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อเหตุ
    • รายงานเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุให้น้อยที่สุด เพราะอาจเป็นแรงจูงใจให้กับคนอื่น
    • ใช้ภาพถ่ายของผู้ก่อเหตุให้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรายงานหลังเหตุการณ์ ยกเว้นกรณีที่ตำรวจยังคงมองหาผู้ก่อเหตุหรือเหยื่อรายอื่น
    • หลีกเลี่ยงการใส่รูปถ่ายของผู้ก่อเหตุพร้อมกับเหยื่อ

    ​สิ่งที่ไม่ควรรายงาน

    • ว่าอาการทางจิตประสาท ทำให้ก่อเหตุ
    • ว่าเหตุเกิดเพราะเพียงปัญหาเดียว
    • โดยพูดชื่อผู้ก่อเหตุบ่อยครั้ง
    • โดยนำเสนอผู้ก่อเหตุเหมือนฮีโร่ น่าสนใจ เป็นเหยื่อ หรือ ผู้ชอกช้ำ
    • โดยใส่ถ้อยคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เรียกผู้ก่อเหตุว่า “บ้า” “คลั่ง”
    • การคาดเดา หรือ ให้แหล่งข่าวคาดเดา เกี่ยวกับสภาพทางจิตของผู้ก่อเหตุ
    • ภาพสยดสยองจากการก่อเหตุ
    • การคาดเดา แรงจูงใจต่อการใช้กฎหมาย ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
    • โดยใช้ภาพผู้ก่อเหตุ ขณะถืออาวุธ หรือ แต่งตัวคล้ายทหาร

    สิ่งที่ควรรายงาน

    • ย้ำว่าผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตส่วนใหญ่ ไม่นิยมความรุนแรง
    • อธิบายว่ามีหลายปัจจัยที่นำมาสู่การก่อเหตุ
    • โดยนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ และอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายและอันตราย
    • โดยใส่ถ้อยคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุกระทำหรือแสดงออก
    • ปรึกษาขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตใจ
    • อธิบายว่าการก่อความรุนแรงมีความซับซ้อนและมักจะมาจากหลายแรงขับ
    • ในการเลือกภาพมานำเสนอต้องมีความละเอียดอ่อนและระมัดระวัง
    • พูดถึงและเล่าเรื่องของเหยื่อ
    • เมื่อใช้ภาพของผู้ก่อเหตุ ให้ตัดมาเฉพาะใบหน้า และตัดอาวุธ ชุดเครื่องแบบ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อาจดลใจให้เกิดการเลียนแบบ

    สัญญาณเตือนของการกราดยิงในที่สาธารณะ

    • พฤติกรรมวนเวียนเฝ้าดูที่เกิดเหตุ
    • การพูดหรือเขียนขู่อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับแผนที่จะทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น
    • แสดงความนิยมชมชอบหรือเปรียบเทียบตนกับผู้ก่อเหตุความรุนแรงรายอื่นๆ
    • ค้นหาข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับอาวุธ และหลงไหลในการเก็บสะสมปืนและอาวุธ
    • แสดงออกถึงจินตนาการหรือความคิดเกี่ยวกับการกราดยิงและพฤติกรรมความรุนแรง

    การรายงานเรื่องจดหมายหรือคำประกาสของผู้ก่อเหตุ

    • ตั้งคำถามว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อเรื่องราวหรือไม่อย่างไร
    • ควรจะกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ต่อเมื่อมีข้อมูลสำคัญต่อเรื่องราวของข่าว
    • ควรใช้ภาพวาดหรือภาพกราฟิคให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะภาพที่แสดงความชื่นชมความรุนแรง

    บริการสาธารณะ

    • ควรใส่ข้อมูลศูนย์บริการที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับความเครียดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าสามารถติดได้ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์อะไร