ศาลฎีกา ยกคำร้อง “รพ.กรุงเทพ” ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา-สั่งคืนสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพแก่สมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในคดีที่นายธัญญวรรตร์ วงศ์รัตน์ กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย กรณีจำเลยยกเลิกสัญญาโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (Life Privilege Club) หรือ ยกเลิกสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพของโจทก์ โดยอ้างว่าการทำธุรกิจดังกล่าวเข้าข่ายสัญญาประกันภัย ซึ่งจำเลยไม่มีใบอนุญาต เป็นเหตุให้จำเลยบอกเลิกสัญญาฯ นายธัญญวรรตร์ วงศ์รัตน์ กับพวกรวม 5 คน จึงไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง
ต่อมา ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษา “โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัยตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลง และเงื่อนไขของสัญญา ฯ โดยเปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่โจทก์ต่อไป” จำเลยจึงใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ พิพากษา “ยืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง” วันที่ 22 ตุลาคม 2561 จำเลยได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
ล่าสุดในวันนี้ศาลฎีกามีคำสั่ง “ไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลย พร้อมคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย ค่าธรรมเนียมอื่นๆในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ” ภายหลังศาลฎีกา แผนกคดีผู้บริโภค ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ว่า สัญญาโครงการไลฟ์ พริวิลเลจ คลับ ระหว่างโจทก์กับจำเลย ถือเป็นสัญญาประกันวินาศภัย และจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่
ประเด็นนี้ศาลฎีกา เห็นว่า “ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรค 2 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง 2558 ข้อ 13 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บรโภค 2552 มาตรา 52” ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้อง
อ่านเพิ่มเติมในซีรีส์ คดีผู้บริโภค…กรณีตัวอย่าง “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”