ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีปรับจีดีพีปี’63 เหลือ 1.5% – บล.ภัทรลดมาอยู่ที่ 1.4%

วิจัยกรุงศรีปรับจีดีพีปี’63 เหลือ 1.5% – บล.ภัทรลดมาอยู่ที่ 1.4%

20 กุมภาพันธ์ 2020


วิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจปี 2020 ลงมาที่ 1.5% จาก 2.5% ใน Monthly Economic Bulletin

ในคาดการณ์เดิมช่วงปลายปี 2019 วิจัยกรุงศรีได้ประเมินว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ได้แก่ การผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2020 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม 2 ปัจจัยนี้กลับกลายเป็นปัจจัยถ่วง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภัยแล้งรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ทั้ง 3 ปัจจัยจะมีผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง จาก 2.5% เป็น 1.5%

การผ่านร่างกฎหมายงบประมาณล่าช้ากว่าที่คาด

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาทซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 กลับล่าช้ากว่า 4 เดือนและมีแนวโน้มล่าช้าออกไปอีก โดยรัฐบาลคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งล่ากว่าเดิมถึง 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ วิจัยกรุงศรีได้ทบทวนปรับลดประมาณการการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ลง 150 พันล้านบาท เพราะความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณไม่เพียงทำให้ต้องเลื่อนการลงทุนออกไป แต่ยังมีผลต่อการที่จะลงทุนเพิ่มของเอกชนให้ชะลอออกไปรวมทั้งกระทบความเชื่อมั่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะซ้ำเติมกิจกรรมทางการเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว

กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณน้อยกว่าปีงบประมาณก่อน โดยเฉพาะงบลงทุน การเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลง 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนเพียง 921.7 พันล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงถึง 67.7% มีจำนวน 34.1 พันล้านบาท

รัฐบาลคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในช่วงกลางเดือนหรือสิ้นเดือนมีนาคมนี้ วิจัยกรุงศรีมีมุมมองว่า ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ แม้มีทางออกในการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายเพดานวงเงินการใช้งบประมาณจาก 50% เป็น 75% จะเอื้อต่อช่วยให้การบริหารประเทศไปจนถึงเดือนมิถุนายนและผลความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ shutdown แต่ก็ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าไปราวสองไตรมาสของปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีจำนวน 600 พันล้านบาท

ฉะนั้นจึงมีผลต่อโครงการเมกะโปรเจ็กให้เลื่อนออกไป วิจัยกรุงศรีจึงปรับลดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ลง 150 พันล้านบาท

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19จะกระทบเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี ซึ่งจะทำให้จีดีพีลดลง 0.4% เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่อ่อนตัวลง 0.23% การขาดตอนของห่วงโซ่การผลิต 0.16% และผลกระทบด้านรายได้ โดยผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจะหนักสุดในไตรมาสแรกของปี แต่การขาดตอนของห่วงโซ่การผลิตจะมีผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสสอง

ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30.8% และ 13.1% ในสองไตรมาสแรกของปีตามลำดับ และทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงราว 4-5%

การส่งออกของไทยการส่งออกคาดว่าจะลดลง 0.8% จากประมาณการเดิม แต่ก็มีบางภาคธุรกิจที่ได้รับผลดีจากการที่จีนระงับการผลิตชั่ว คราว ได้แก่ ภาคการค้า กลุ่มเครื่องจักร โลหะ ส่วนภาคเคมี สันทนาการและสิ่งทอได้รับผลกระทบมากจากการผลิตที่ขาดตอนในจีน เพราะภาคธุรกิจนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเศรษฐกิจจีน

วิกฤติภัยแล้งจะมีผลต่อจีดีพี 0.3%

ภาวะภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นและคาดว่าจะแล้งไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เพราะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ภาคกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะแหล่งน้ำใช้มีปริมาณลดลงไปจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งผลกระทบจะไม่จำกัดเพียงภาคเกษตรเท่านั้น แต่จะกระทบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ

ภาวะภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นจากฤดูร้อนที่กินเวลานานกว่าเดิม ฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและระดับน้ำในแหล่งน้ำที่ลดลงถึงขั้นวิกฤติ

ไทยมีความเสี่ยงจะประสบภาวะภัยแล้งในปี 2563 จากสัญญาณชัดเจน ได้แก่
1) ค่าดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเล โดยค่าดัชนี ONI เข้าสู่ระดับ Weak El Niño Niño ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงมิถุนายน 2562 หมายความว่า ปริมาณฝนที่เกิดขึ้นจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้แนวโน้มฝนตกในประเทศไทยมีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 10%

2) ฝนทิ้งช่วง แม้ไทยประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562แต่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2562 ทำให้ประเทศไทยมีระยะเวลากักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนสั้นลง

3) ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 5-10% ประมาณ 1,298 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ระดับ 1,251 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดภัยแล้งปี 2559 ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง

4) ปริมาณฝนตกส่วนใหญ่เป็นการตกนอกพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้า/เขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2558 และ

5) ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ลดลงโดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง มีปริมาณน้ำลดต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตุเรื่องของการสร้างเขื่อนที่มากขึ้นของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศอยู่ที่ 44,281 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 62% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 39,752 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของปริมาณความจุอ่างฯ แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ ปริมาณน้ำใช้ได้จริงอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤตที่ระดับ 29% ในปี 2562 ใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ระดับ 23%

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ภัยแล้งปี 2563 จะส่งผลกระทบต่อ ผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ซึ่งประเมินมูลค่าความเสียหายข้าวเปลือกคาดไว้ที่ 21,600 ล้านบาท และมันสำปะหลังที่ 2,500 ล้านบาท รวมเป็น 24,100 ล้านบาท อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ

ธปท.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งมีนาคมนี้ หวั่นเครื่องยนต์ดับ

จากมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและปัจจัยลบยังคงกดดันการเติบโตเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 02.5%ในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอย และยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้มาตรการเสริมซึ่งเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบหรือการใช้นโยบายการเงินแบบเจาะจงเป้าหมาย(Targeted Monetary Policy) โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก เพื่อเสริมประสิทธิภาพของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน

บล. ภัทรปรับลดคาดการณ์การเติบโต GDP ปีนี้เหลือ 1.4%

บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยปี 2563 ลงเหลือ 1.4% (จากเดิมที่คาดไว้ 2.2%) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แม้การระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจอาจหดตัวได้ในไตรมาสแรกของปี แต่น่าจะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว และคาดว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายนโยบายทั้งการคลังและการเงินเพิ่มเติมและยังคงมองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 BPS ภายในกลางปีนี้

บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปี 2563 ลงจาก 2.2% เหลือ 1.4% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และคาดว่าเศรษฐกิจน่าค่อยๆฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังปี และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2564 ขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.5% จากฐานที่ต่ำ

บล.ภัทรคาดว่า การระบาดของไวรัสดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงแต่ชั่วคราวต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน คือ

    1) ผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
    2) การผลิตในจีนที่หยุดชะงักอาจส่งผลกระทบชั่วคราวต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในประเทศ
    3) หากการระบาดในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการบริโภคภายในประเทศได้

นอกจากนี้ บล.ภัทรยังคาดว่าปัจจัยลบจากการระบาดของไวรัส ตลอดจนความล่าช้าของงบประมาณและปัญหาภัยแล้งน่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากปัจจัยลบเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ และอาจไม่มีภาคเศรษฐกิจอื่นมาช่วยรองรับผลกระทบ ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบจากส่งออกที่หดตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่า การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกที่หดตัวในปีก่อน ในขณะที่ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี บล.ภัทร คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยยังคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 BPS ภายในกลางปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและการเบิกจ่ายงบประมาณยังคงประสบปัญหา ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่คาด