ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 2 ปี มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นแน่ แต่เงินเฟ้อลดการลงทุนยังไม่ขยับ

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 2 ปี มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นแน่ แต่เงินเฟ้อลดการลงทุนยังไม่ขยับ

24 พฤษภาคม 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3 ของปี 2560 ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 2 ปี นับตั้งแต่การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้าย/a>เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558< โดยให้เหตุผลว่านโยบายการเงินควรผ่อนปรนต่อไป แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากด้านต่างประเทศอยู่ และ ธปท. พร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ชี้บริโภคฟื้นตัวกว่าคาด แต่ไม่พอดึงเงินเฟ้อเพิ่ม

ในรายละเอียด ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมามีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นหลัก สอดคล้องกับการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่เป็นแรงหนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคของเอกชนยังปรับตัวดีขึ้นบ้างตามรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นที่ทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม การเติบโตของปัจจัยด้านอุปสงค์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกษตรกรบางส่วนยังต้องชำระหนี้บางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีก่อนหน้านี้ และยังต้องติดตามต่อไป

ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานต่อเงินเฟ้อมีส่วนกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามการผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ หรือผลของฐานราคาสินเกษตรที่สูงในปีก่อนหน้าที่เผชิญภาวะภัยแล้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางแห่งยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ รวมไปถึงการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น จนทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคช้าและน้อยกว่าในอดีต และต้องการอุปสงค์หรือการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อดึงให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โดยรวมเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงกว่าคาดในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-4% ต่อปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางทยอยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลังของปี

ลงทุนฟื้นไม่ทั่วถึง – เหตุโครงสร้างเปลี่ยน เน้นสินทรัพย์จับต้องไม่ได้

นายจาตุรงค์กล่าวถึงการลงทุนของเอกชนที่ยังหดตัวว่า กนง. ยังจับตามองอยู่และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2560 จะเป็นผลมาจากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างเป็นหลัก แต่ในภาพรวมยังถือว่าโตต่ำและไม่ทั่วถึงกว่าช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ที่การลงทุนของเอกชนเติบโตในระดับมากกว่า 10% ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่การลงทุนของไทยจะเน้นไปยังอุตสาหกรรมเดิมที่อาจจะมีกำลังการผลิตเหลืออยู่และไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้มากนัก อีกปัจจัยหนึ่งอาจจะเกิดจากมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น สิทธิบัตร การลงทุนเพิ่มทักษะแรงงาน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รวมอยู่ในการคำนวณจีดีพี โดยส่วนนี้ ธปท. กำลังศึกษาว่าโครงสร้างการลงทุนของไทยมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน กนง. ยังแสดงความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี  โดยเฉพาะส่วนที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันหรือไม่มีแผนธุรกิจที่ดี อาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่าปกติ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความสามารถคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น เป็นไปตามวัฏจักรของการชำระหนี้ที่จะดีขึ้นตามหลังภาวะเศรษฐกิจประมาณ 2 ไตรมาส

อย่างไรก็ดี ภาวะการเงินยังไทยยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจยังสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เติบโตได้ 2.8% ในไตรมาสแรกของปี 2560 และหากรวมตลาดทุนจะเติบโตได้ถึง 4.8% ทั้งนี้ ในแง่ของเสถียรภาพการเงินที่อาจจะมีความเสี่ยงในบางจุด เช่น การชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีที่แย่ลง หรือพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาเป็นเวลานานและนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดการเงินที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แจงความเสี่ยงต่างประเทศประเมินยาก – ชี้ยุโรปผ่อนคลายลง

นายจาตุรงค์กล่าวต่อไปถึงความเสี่ยงจากต่างประเทศว่าต้องระมัดระวังและจับตาดูผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา, การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาการเมืองและภาวะการเงินในยุโรปที่ก่อนหน้านี้ กนง. มีความกังวล ปัจจุบัน กนง. ได้ลดความกังวลลงไป หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าความเสี่ยงจากต่างประเทศลดลงหรือเพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางอันสูงขึ้น เช่น ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ บางอันต่ำลลง เช่น การเมืองและภาวะการเงินของยุโรป สิ่งที่ กนง. ปฏิบัติคือติดตามการเปลี่ยนแปลงเป็นจุดๆ ก่อนจะประเมินผลกระทบในภาพรวมว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงใด

ส่วนการปรับลดระดับเครดิตเรทติ้งของประเทศจีนของมูดีส์ บริษัทจัดอันดับเครดิตเรทติ้งของประเทศต่างๆ จาก A1 เป็น Aa3 และลดการคาดการณ์ (Outlook) จากมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นด้านลบ (Negative) เนื่องจากกังวลถึงระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการชะตัวของเศรษฐกิจ นายจาตุรงค์กล่าวว่า ธปท. ได้ประเมินการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไว้แล้วในสมมติฐาน โดยในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 6.5% ก่อนจะชะลอตัวลดเป็น 6.2% ในปีถัดไป

สภาพัฒน์ห่วงการลงทุนไม่โต รอส่งออกช่วยดัน

เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงการลงทุนของภาคเอกชนว่า การลงทุนของเอกชนยังคงหดตัวที่ -1.1% โดยการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลง 4.5% ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรลดลง 0.3% โดยเป็นผลจากอัตรากำลังการผลิตของเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำที่ 63% รวมไปถึงการจ้างงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ถูกปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ ในช่วงการเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวมาก ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งให้เอกชนเริ่มเพิ่มกำลังการผลิต จำนวนชั่วโมงการทำงาน และการจ้างงาน

“การลงทุนของเอกชนมีความสัมพันธ์กับการส่งออกค่อนข้างมาก ถ้าการส่งออกฟื้นตัวจะสามารถดึงการลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ยังหดตัวและล่าช้าไปอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเพราะกำลังการผลิตที่เหลือ คิดว่าถ้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 70% การลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นได้ช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางเทคนิคในทางการจัดทำบัญชีประชาชาติ ที่ไตรมาสแรกของปี 2559 มีมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะถูกดึงออกมาลงไว้ในการลงทุนของเอกชน ทำให้ปีที่ผ่านมาการลงทุนเติบโตไปถึง 2.4% มีฐานที่สูงกว่าปกติ หากหักตัวนั้นออกไปการลงทุนของไตรมาสแรกจะหดตัวเพียง 0.1% เท่านั้น หรือจะเป็นเรื่องการออกไปลงทุนนอกประเทศของเอกชนไทย ซึ่งไม่ถูกรวมอยู่ในจีดีพีแต่อยู่ในจีเอ็นพี ซึ่งจะออกช่วงสิ้นปี หรือการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เป็นเอกชน ประเด็นเหล่านี้อาจจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกที” ดร.ปรเมธีกล่าว

ทีเอ็มบีคาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายยาวถึงกลางปีหน้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง. จะคงดอกเบี้ยยาวตลอดปี 2017 เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปีนี้  และดอกเบี้ยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงกลางปีหน้าตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวกว่า 3.2% ซึ่งมาจากการเติบโตของการบริโภคสินค้าคงทนเป็นหลัก โดยมีแรงหนุนสำคัญจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยายตัวตามราคาน้ำมัน ในไตรมาสแรกรายได้ภาคเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 21% อีกทั้งภาระหนี้ของผู้ซื้อรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกก็เริ่มทยอยหมดลงในปีนี้ นอกจากนี้ การส่งออกในไตรมาสแรกก็ขยายตัวได้กว่า 4.9% โดยขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวกว่า 1.1% จากที่หดตัวต่อเนื่องกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2013

ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้ โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญ โดยการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.7% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ IMF ประเมินว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ในปี 2017 เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2016 อีกทั้งการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากงบเพิ่มเติมกลางปีและเมกะโปรเจกต์อีกราว 4 แสนล้านบาทที่จะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบในปีนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ BOI แล้วในปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าปีนี้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 1.7% ดังนั้น การคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจึงยังจำเป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปีนี้ ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยไตรมาสแรกเฉลี่ยเพียง 1.25% ซึ่งยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท. ที่ 2.5% โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดเงินเฟ้อจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.7%

บาทแข็งค่าหลังมติ กนง. คงดอกเบี้ย ชี้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุม กนง. ว่า กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นับเป็นการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ครั้งที่ 16 ติดต่อกัน ค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ใกล้ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากการประชุม กนง. โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับซื้อขายในประเทศในช่วงเช้า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.6% นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นหลังจากดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลักในภูมิภาค

กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังน้อยกว่าคาด แม้มีแนวโน้มว่าอาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตัวเลขล่าสุดแสดงว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับลงต่อเนื่องมาที่ 0.38% ในเดือนเมษายน เทียบกับระดับเป้าหมายในช่วง 1-4%

กนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 โดยในวันนี้ กนง. กล่าวย้ำว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้  การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำทำให้เชื่อว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตลอดปีนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นในปี 2561 อย่างไรก็ดี กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ยังไม่เห็นความจำเป็นที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของไทยต้องเป็นผู้นำของประเทศเกิดใหม่ในเอเชียในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ตลอดปี 2017

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรปดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

โดยเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดน้อยลง ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีน้อย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเงินบาทที่ยังทรงตัวในระดับแข็งค่า ทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า อีไอซีจึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 1.5% ตลอดปี 2017(ดูเพิ่มเติม)