ThaiPublica > เกาะกระแส > เหนือความคาดหมาย กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ชี้เศรษฐกิจชะลอต่ำกว่าศักยภาพ

เหนือความคาดหมาย กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ชี้เศรษฐกิจชะลอต่ำกว่าศักยภาพ

7 สิงหาคม 2019


กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 1.75% ชี้เศรษฐกิจชะลอลงกว่าที่คาดและจะต่ำกว่าระดับศักยภาพ ระบุนโยบายการเงินเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ระยะสั้น แต่ไม่สามารถปรับโครงสร้างศักยภาพการเติบโตระยะยาวได้ ชี้ยังห่วงเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ต้องชั่งน้ำหนักเป้าหมายนโยบาย คือ การเติบโต เงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน ก่อนตัดสินใจ ปัดตอบนโยบายการคลังไม่เพียงพอ ชี้ขึ้นอยู่กับข้อมูล แต่ล่าสุดเห็นภาพความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมชัดเจน

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่1.75% ต่อปี

ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัว และเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่วนกรรมการ 2 เสียงเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีความจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมในเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงินที่เน้นย้ำมาตลอดถึงความกังวล และเป็นเหตุผลของการคงดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา นายทิตนันทิ์กล่าวว่า “กรรมการทุกท่านยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ในการประชุมในกรอบเป้าหมาย ด้านหนึ่งคือเสถียรภาพระบบการเงิน ด้านหนึ่งคือการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขึ้นอยู่กับว่ากรรมการชั่งน้ำหนักอย่างไร ขอเน้นว่ากรรมการยังกังวลอยู่ แต่การชั่งน้ำหนักอาจจะแตกต่างกัน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า แล้วกรรมการ 2 คนให้น้ำหนักกับประเด็นไหน มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ชะลอตัว หรือกำลังรอความชัดเจนของข้อมูลอะไรอยู่จึงตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบาย นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ก็มองใน 2 ประเด็น คือ เรื่องของการเติบโตชั่งน้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ที่ออกเสียงให้คงดอกเบี้ยอาจจะเพราะประโยชน์ที่ได้จากการลดดอกเบี้ยแล้วไปช่วยการเติบโตมีน้อยกว่าผลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากในระบบการเงิน รวมไปถึงอยากเก็บพื้นที่นโยบายเอาไว้ใช้ในช่วงที่จำเป็นมากกว่านี้

นายทิตนันทิ์ยังกล่าวถึงกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินครั้งนี้อีกว่า ดอกเบี้ยคงมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ระดับหนึ่ง แต่การใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือทางด้านอุปสงค์ นโยบายการเงินสามารถช่วยเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือว่าการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจกับการที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ เรื่อง ถ้าอยากจะให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากขึ้นและยั่งยืน อาจจะจำเป็นต้องเน้นด้านการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ นโยบายการเงินอาจจะมองได้ว่าเป็นการช่วยซื้อเวลาได้บ้างในระยะสั้น แต่ไม่สามารถทำให้ศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเติบโตได้

“ส่วนเรื่องนโยบายการคลังหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตามข่าวทั่วไปก็คงมี แต่ยังไม่มีความชัดเจน ฉะนั้นเป็นอะไรที่ กนง.คงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีรายละเอียดอย่างไรต่อไป ในการประชุมที่ผ่านมาก็คุยกันเรื่องพวกนี้แต่มีความไม่แน่นอนว่าอย่างไรเท่าไหร่ คือการดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงทั้งหมดรวมไปถึงนโยบายการคลังด้วย แต่ต้องยอมรับว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจมีการชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่บอกว่าการดำเนินนโยบายแบบขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือ data dependent และเมื่อข้อมูลมากขึ้น เห็นภาพความเสี่ยงชัดเจนขึ้น ชั่งน้ำหนักได้ดีขึ้น ก็มีการพิจารณานโยบายที่เหมาะสม”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายการคลังเราคาดว่าจะไม่เพียงพอหรือไม่จึงต้องลดดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ต้องติดตามเพราะว่านโยบายการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน ตัวของพระราชบัญญัติงบประมาณกำลังดำเนินการ เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องรอรัฐบาลดำเนินการอยู่

ชี้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ – ความเสี่ยงเศรษฐกิจพุ่ง

ในรายละเอียดเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“ในรายละเอียดการประชุมครั้งนี้เมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจเทียบกับการประชุมครั้งที่แล้วที่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ชัดเจนว่าชะลอตัวลง รวมไปถึงเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอีกด้วย ส่วนการส่งออกครั้งที่แล้วประเมินไว้ว่าไม่เติบโตแล้ว แต่เดือนล่าสุดออกมาก็ต่ำกว่าที่คาดเอาไว้อีก รวมไปถึงการนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลงสะท้อนภาพว่าภาคการส่งออกอาจจะต้องทบทวนตัวเลขใหม่ ส่วนความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าจะลามมาเป็นสงครามค่าเงิน กนง.ได้ใส่ไว้ในประมาณการครั้งที่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาปัญหาดูขยายตัวมากขึ้น มีหลายคู่ขัดแย้งมากขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ประเด็นเรื่องเบรกซิตอีก มองไปข้างหน้าก็เห็นว่าเสี่ยงมากขึ้น”

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเร็ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง.ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต กนง.เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

มองไปข้างหน้า กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

การลดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งนี้เป็นการลดดอกเบี้ยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ทั้งนี้ตลาดคาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ย หลังจากการการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2561 วันที่ 19 ธันวาคม 2561 กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปีโดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และในรอบ 3 ปีครึ่งภายหลังจากคงดอกเบี้ยไว้ครั้งล่าสุด

แบงก์ชาติเปิดประตูดอกเบี้ยขาลง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมุมมองว่า การลดดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ แบงก์ชาติเปิดประตูดอกเบี้ยขาลง และกระโจนเข้าสู่สงครามค่าเงินในภูมิภาค โดยกล่าวว่า รอบนี้ที่กนง.ลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เหลือ 1.50% นับว่าเหนือความคาดหมายที่ลดเร็วกว่าคาดการณ์ ก่อนหน้านี้มองว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยและน่าจะลดปลายปี แต่รอบนี้ลดเร็วกว่าที่คาด และไม่ได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้า เดิมทีก่อนแบงก์ชาติจะทำอะไรมักจะเห็นเสียงแตกของกนง. เช่น จากมติ 7-0 ที่คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบก่อนหน้า น่าจะออกผลด้วยมติ 6-1 หรือ 5-2 ก่อน แต่กลับมีการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เลย โดยให้เหตุผลว่ามาจากความเสี่ยงที่มากขึ้น และจากเศรษฐกิจที่ชะลอ

สำหรับเหตุผลของการลดดอกเบี้ยมี 3 เหตุผลหลักๆ จากที่ได้วิเคราะห์ไว้ว่า แบงก์ชาติมีความอดทนสูง 3 ด้าน วันนี้ แบงก์ชาติน่าจะมีความอดทนน้อยลงใน 3 ด้าน หรือไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ได้แก่

1) ไม่ทนต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาด ตัวเลขล่าสุดเดือนมิถุนายนที่การรายงานเศรษฐกิจรายเดือนออกไป สะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจชะลอจากภาคการส่งออกและกำลังลามมาสู่ภาคในประเทศ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะโตต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า เราคิดว่าจะโตสัก 2.5% แต่จะต่ำแค่ไหนก็ต้องมาจับตาดู ที่น่ามองต่อไปคือเราคิดว่าเศรษฐกิจที่ชะลอในครึ่งแรก เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ น่าจะไปฟื้นครึ่งหลัง แต่หลังจากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังมีการขึ้นภาษีจากปธน.ทรัมป์ต่อจีนในสินค้านำเข้า 3 แสนล้าน ขึ้นมาอีก 10% น่าจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจในอนาคตไม่ดี ตรงนี้น่าจะเป็นจุดพลิกผันที่ว่าแบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วกับเศรษฐกิจที่จะชะลอ การส่งออกคาดว่าจะย่ำแย่ต่อเนื่องแล้วก็ลามมาสู่เศรษฐกิจในประเทศไทย

2) แบงก์ชาติไม่ทนต่อเงินเฟ้อต่ำ เพราะเงินเฟ้อเดือนล่าสุดหลุดกรอบล่างที่ 1% อีกแล้ว และก็มองต่อไปข้างหน้าราคาพลังงานที่ลดลง แล้วก็ลามมาสู่อุปสงค์ในประเทศที่ดูเหมือนชะลอ กำลังซื้อเองอาจจะไม่ค่อยมีมากนัก อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่แบงก์ชาติอาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ แต่ผมไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่าประเด็นแรก

น่าจับตาประเด็นที่ 3 ที่แบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วสำหรับบาทที่แข็งค่า วันนี้ ค่าบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคและออกข่าวต่างประเทศหลายวันว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาบาทแข็งจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง แม้ว่าส่งออกจะย่ำแย่แต่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญก็คือ เมื่อจีนชะลอแต่เราไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนหรือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือภาคการส่งออกมากนัก ทำให้บาทเองเป็นที่พักของนักลงทุนต่างชาติ บาทแข็งแรงแล้วกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก ย้อนกลับมาเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอและเงินเฟ้อต่ำได้ เพราะฉะนั้นมองต่อไป เศรษฐกิจวันนี้อยู่ในช่วงของการชะลอ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 5-2 วันนี้หวังผล กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้ขยับดีขึ้น

“ผมเชื่อว่าวันนี้เป็นการประกาศสมครามค่าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเองต้องกระโจนเข้ามาหลังจากที่วันนี้เองแบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติอินเดียก็ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของไทยก็ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเป็นการเข้ามาพร้อมกันทีเดียวในภูมิภาคนี้เพื่อเปิดศึกสงคราม ที่สำคัญคือ เพื่อดึงให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ชะลอมากไปกว่านี้”

“แต่วันนี้ต้องมองต่อ แบงก์ชาติเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยไปเดือนธันวาคม แล้วกลับมาลดเหลือ 1.5% อยากถาม คำถามแบงก์ชาติ 2 ข้อ หนึ่ง แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ลดต่อในปีนี้หรือปีหน้า สอง สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพ เศรษฐกิจเรื่องของหนี้ครัวเรือนสูง คนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัว แบงก์ชาติยังห่วงอยู่ไหม ผมว่า 2 คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องตีให้แตกและมองต่อ” ดร.อมรเทพกล่าว

“คำถามแรก แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ผมเชื่อว่าลดครับ เมื่อเปิดประตูดอกเบี้ยขาลงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะลดต่อ และเชื่อว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีไตรมาส2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ถ้าออกมาแย่ เป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือรอจีดีพีไตรมาส3 ที่จะรายงานในเดือนพ.ย.แล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย”

คำถามสอง สิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงยังห่วงอยู่ไหม ดร.อมรเทพกล่าวว่า ห่วง ใน statement เชื่อว่าความกังวลของแบงก์ชาติยังมีอยู่ สำหรับเรื่องดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วจะกระทบกับหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน แล้วที่สำคัญ ห่วงเรื่อง policy space ว่าถ้าเกิดวิกฤตในอนาคตแบงก์ชาติจะไม่เหลือเครื่องมือใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองต้องจับตาดูว่าแบงก์ชาติอาจจะใช้เครื่องมืออื่น นอกจากดอกเบี้ย เพื่อประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ออกมาตรการ LTV ไปแล้ว อาจจะดูเรื่อง DSR เกณฑ์วัดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้า เป็นปัจจัยที่น่าติดตามกันต่อไป

โดยสรุป มองไปข้างหน้า การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงเหมือนการที่แบงก์ชาติไม่ขอทนต่อไปแล้วสำหรับสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน ที่ไทยเป็นเหยื่อของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ และจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่การลดดอกเบี้ยนี้ คงมีผลไม่มากที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตจนพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะธปท. คงห่วงเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินอยู่ และยังไม่หย่อนเกณฑ์ในการกำกับธนาคารพาณิชย์ ผมจึงหวังว่า ทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น และกระจายตัวไปสู่ระดับ SME และฐานรากของประเทศ