ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ชวนมอง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มากกว่าความเหลื่อมล้ำ

“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ชวนมอง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มากกว่าความเหลื่อมล้ำ

7 กุมภาพันธ์ 2020


ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ชวนมอง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มากกว่าความเหลื่อมล้ำ ชูโครงการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว คือ ทางออก

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ครั้งที่ 42 ภายใต้แนวคิด “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต” โดยในช่วงเช้า ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สู่สังคมเสมอหน้า คิดไกล คิด Green” รายละเอียดมีดังนี้

จากความเหลื่อมล้ำที่ลดลง กำลังก้าวเข้าสู่ความยากจนสุดขั้ว

ประเด็นความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิตด้านจุลภาคนั้น มีหลายเรื่องที่มีความสำคัญมากและสอดคล้องกับปณิธานของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งท่านอธิการบดีได้กล่าวให้เราฟังก่อนหน้านี้ แต่ในปาฐกถาในวันนี้ ขอเน้นที่ด้านมหภาคในบางประเด็น โดยจะนำเสนอตัวแปรใหม่ที่มีผลพวงต่อเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่เป็นโอกาสให้เปลี่ยนไปสู่เกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยออกจากจุดบอดปัจจุบันสู่การเติบโอย่างยั่งยืน รัฐไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน ขนานไปกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจของโลกจะต้องก้าวเดินต่อไป และเพื่อหยุดแนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิตในมิติใหม่ๆ พร้อมๆ กับสร้างสังคมที่น่าอยู่ไปด้วย

แต่ก่อนอื่นจะขอสรุปสถานการณ์มหภาคบางประการของความเหลื่อมล้ำ ด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้านวัฒนธรรมแทบจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก วัฒนธรรมกับความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นความเหลื่อมล้ำที่แอบแฝง เรามักจะมองไม่เห็น เอาง่ายๆ ว่าในสังคมบ้านเรายังมีวิธีคิดแบบนี้ ยกตัวอย่าง ผู้ชายใหญ่กว่าผู้หญิง เมืองใหญ่กว่าชนบท เป็นคนไทยใหญ่กว่า และดีกว่าไม่ใช่คนไทย ใกล้ศูนย์กลางใหญ่กว่าห่างออกไป ตัวอย่างก็คือเป็นผู้ชายเชื้อชาติไทยอยู่ กทม.ดีกว่าเป็นสาวอีก้อบนดอย

ในด้านรายได้ของครัวเรือนดีขึ้น แต่กำลังแย่ลงอีก เมื่อดูค่าจีนีด้านรายได้ของไทย ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้พุ่งขึ้นมากจากช่วงปี 1970-1992 และหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 แนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยลดน้อยลง หลังรัฐประหาร 2557 ได้ผงกหัวเพิ่มขึ้นอีก เห็นได้จากจีนีด้านรายจ่ายในปี 2015 และเข้าใจว่าจีนีหลังจากนั้นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับด้านทรัพย์สิน ข้อมูลล่าสุดจากเครดิตสวิสชี้ว่าไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เราไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งที่อาจจะเป็นประเทศแถบแอฟริกาใต้ แต่เรายังอยู่ในระดับหนึ่งในสามที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด

ส่วนทางด้านการเมือง มีแนวโน้มไม่ดี เลวลง เมื่อดูดัชนีนิติรัฐ โดย World Justice Report ของปี 2011, 2014 และ 2016 จะพบว่าดัชนีต่างๆ มีแนวโน้มแย่ลง โดยเฉพาะการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ระเบียบและความสงบ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในบ้านเราได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าความเหลื่อมล้ำไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เป็นเหตุของความขัดแย้ง และทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ

เรามีข้อมูลเกี่ยวสภาพสาเหตุและความเหลื่อมล้ำในมิติด้านเศรษฐกิจต่างๆ และข้อเสนอทางออกมากกว่าเดิม เพราะมีผลงานวิจัยและงานเขียนมากขึ้น และในภาวะการเมืองที่เปิดขึ้น ภาคประชาชนได้ผลักดันให้พรรคการเมืองใส่ใจคิดนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ มีทั้งการลดการผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งเสริมระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ อย่างถ้วนหน้าตามแนวสังคมสมัยใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหารในปี 2557 ยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมีความกังขาถึงสมรรถนะของนโยบายหลายอย่าง เช่น พบว่านโยบายหลายด้าน ยังมีลักษณะเป็นประชานิยม มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนฐานะยากจน เพื่อหวังผลทางการเมือง มีต้นทุนสูง ไม่มีความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีนโยบายหรือโครงการ อาจจะยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องความเหลือมล้ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดแล้วพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะความยากจนสุดขั้ว หรือ chronic poverty อีกครั้งหนึ่ง ด้วยสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการวิจัยรายละเอียดในระดับจุลภาค เพื่อปรับปรุงนโยบายและมาตรการด้านสวัสดิการเฉพาะต่อไป ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเป้าหมายของงานสัมมนานี้และขอแสดงความชื่นชม

เรื่องสวัสดิการสังคม เราเห็นด้วยกันมากขึ้นว่าการสาธารณสุขและสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้าดี เป็นเรื่องจำเป็น และควรปรับเป็นขั้นๆ ตามความสามารถของเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าต้องปรับระบบภาษี เช่น คณะวิจัยที่ จุฬาฯ, มธ., สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ของกระทรวงการคลังที่เสนอให้ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาลและเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ พ.ร.บ.ภาษีมรดกและ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นักวิชาการและเทคโนแครตของกระทรวงการคลัง พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงต่อไป

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านสังคม วัฒนธรรม ความยุติธรรม ก็มีการอภิปรายกันมากขึ้น และศูนย์ความเหลื่อมล้ำของธรรมศาสตร์ก็เป็นสถาบันหนึ่งที่สร้างความสนใจในเรื่องเหล่านี้ ในด้านทรัพย์สินและครัวเรือน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเหลื่อมล้ำได้มากขึ้นแทนที่จะลดลง แต่ทางด้านการเมืองเราพบว่ายังเลวลง ประเด็นของวันนี้จะเป็นผลกระทบของตัวแปรใหม่ต่อความเหลื่อมล้ำ ตามด้วยการวิเคราะห์จากจุดอับของเศรษฐกิจไทยสู่เกมเศรษฐกิจใหม่ และแนวทางสู่สังคมเสมอหน้าด้วยการคิดไกล คิดกรีน

“ภาวะโลกร้อน” ตัวแปรใหม่ เร่งเหลื่อมล้ำ

หลายคนคิดว่าโลกร้อนและผลกระทบของความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องไกลตัว ที่ออสเตรเลียมีคนบอกว่ามันเป็นอะไรซึ่งไกลตัวมากเหลือเกิน มันอาจจะเกิดชาติหน้าหรืออีก 100 ปีข้างหน้า เราก็คิดแบบนี้จนมันสายไปเมื่อปัญหาโลกร้อนมันจ่อถึงตัวเราแล้ว เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ชี้ว่าผลกระทบของโลกร้อนกำลังเข้ามาใกล้ตัวอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น ไต้ฝุ่นที่แคริบเบียน ทำให้ชั้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าที่คิด ทำให้ยุโรปน้ำท่วม และเกิดคลื่นความร้อนฉับพลัน ไฟป่ายืดเยื้อในออสเตรเลียในบริเวณกว้างเท่ากับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย ล่าสุดเมื่อสองวันที่ผ่านมา ฝนที่กระหน่ำอย่างหนักท่วมเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ เกาะใต้ถูกตัดขาดต้องส่งเฮลิคอปเตอร์ไปช่วยนักท่องเที่ยว

ประเด็นภูมิอากาศแปรปรวนได้มาเยือนอุษาคเนย์ของเราแล้วด้วย ผลวิจัยช่วยแรกๆ คาดว่าผลกระทบของโลกร้อนจะร้ายแรงในบริเวณประเทศหนาวแถบขั้วโลก แต่รายงานของ IPCC 2014 โดยสหประชาชาติบอกว่าผลกระทบจะร้ายแรงแถบบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร และใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้เห็นบทพิสูจน์อย่างที่เคยบอกไป และรายงานของ IPCC 2019 ยืนยันว่าเขตร้อนคือแถบประเทศเราจะโดนผลกระทบมากที่สุด

เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลายอย่าง จำนวนไซโคลนที่พัดฟาดชายฝั่งเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในปี 2017 และ 2018 จาการ์ตาเจอน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดที่เคยเห็นมา ในเมืองไทยภาวะอากาศร้อนผิดปกติ น้ำท่วม และภาวะแล้งจัดก็เพิ่มขึ้น องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐอย่าง German Watch คำนวณ Global Climate Risk Index คือความเสียหายทางกายภาพ คนตายและความสูญเสียคิดเป็นเงินจากภาวะอากาศแปรปรวนสูงตั้งแต่ปี 1998 พบว่าแถบแคริบเบียนเท่านั้นที่แย่กว่าอุษาคเนย์

แต่ย่านเรานี้เผชิญภัยธรรมชาติที่มากับลมไต้ฝุ่นและลมมรสุมเป็นประจำ คนส่วนมากจึงไม่ได้คิดว่ามันผิดปกติแต่อย่างใด ผืนดินร้อนขึ้น มหาสมุทรร้อนขึ้น กระแสลมและกระแสน้ำที่ทำให้เกิดลมมรสุมไต้ฝุ่นและผลกระทบของเอลนีโญ-ลานีญา กำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ

ผลที่ตามมามีความซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ แต่สรุปได้ง่ายๆ ว่าความผันแปรระหว่างปีฝนชุกและปีแล้งเอาแน่ไม่ได้ขึ้นทุกที แล้งเกิดบ่อยขึ้น ฝนที่เคยตกบ่อยทิ้งช่วงนานขึ้น แต่พอฝนมาจริงๆ ก็มามากเกินจนท่วมฉับพลัน นึกย้อนกลับไปปีที่แล้ว ขณะที่กำลังเผชิญภัยแล้งจัด พายุโพดุลก็มากะทันหัน ฝนตกกระหน่ำจนทำให้โดยรอบเป็นทะเลสาบในชั่วพริบตา ชั่วข้ามคืนชาวบ้านที่ขอนแก่นหนีน้ำไปที่หลังคา แต่วันนี้เราอาจจะลืมไปแล้ว เพราะมายุ่งกับเรื่อง PM 2.5 จนลืมไปแล้วว่าชาวบ้านยังแก้ปัญหาของตัวเองไม่จบ ปีนี้เรากำลังเจอภัยแล้งเป็นปีที่สองติดต่อกัน

นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ การพบอากาศแปรปรวนมากขึ้นๆ อย่างไม่คาดฝัน นักวิทยาศาสตร์จะพูดถึงผลกระทบทางด้านกายภาพของโลกร้อน แต่เรื่องสำคัญกว่าคือเรื่องผลกระทบด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับการเมือง ตรงนี้มีประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเราจะมองไม่เห็น แม้ว่ามันจะสำคัญมาก ผลกระทบของโลกร้อนต่อสังคม ไม่ใช่ลักษณะใหม่ แปลก พิเศษ แต่โลกร้อนทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น ฉะนั้นจึงยากที่จะแยกผลกระทบของโลกร้อนกับสาเหตุอื่นๆ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียยังไม่ยอมรับเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน

ในเรื่องนี้มีตัวอย่างจากประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่เกิดก่อนเราและรุนแรงมาก ตัวอย่างหนึ่งคือที่ซูดานในทศวรรษ 1990 ฝนแล้งเกิดจากภาวะโลกร้อนเป็นเหตุให้ชุมชนเกษตรขัดแย้งเรื่องที่ดินกับชุมชนเลี้ยงสัตว์ ขยายเป็นความขัดแย้งด้านชนชาติ ปะทุขึ้นมาจนกลายเป็นสงครามการเมือง รวมไปถึงการอพยพลี้ภัยสงครามในซีเรีย ถ้ายังจำได้ ปี 2011-2012 ฝนแล้งติดต่อกันทำให้คนอพยพเข้าเมืองใหญ่ จุดประกายเป็นสงครามการเมืองที่ยืดเยื้อในที่สุดกระตุ้นให้ชาวซีเรียอพยพเข้ายุโรปจนเป็นวิกฤติการอพยพเข้ายุโรป และเร็วๆ นี้ที่กัวเตมาลา ภัยแล้งทำให้ชาวบ้านตั้งกองคาราวานมุ่งหน้าเข้าสู่เม็กซิโก เพื่อเข้าสหรัฐอเมริกา สร้างความวุ่นวายให้ชายแดนตอนใต้ของสหรัฐฯ จนทรัมป์ต้องการจะสร้างกำแพงกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามา

ตัวอย่างเหล่านี้มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ สภาวะแวดล้อมอากาศแปรปรวน ทำให้การทำมาหากินของคนจำนวนมากไม่ได้ผล ความขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองขัดแย้งขึ้น นำไปสู่การอพยพโยกย้ายของผู้คนไปตายเอาดาบหน้า

เราอาจจะคาดการณ์แบบเดียวกันในขอบเขตที่เล็กและเข้มข้นน้อยกว่า ในบ้านเรา เมื่อฝนแล้งซ้ำๆกันทุกปี หรือภูมิอากาศแปรปรวนครั้งเดียว เกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ก็ขาดทุนกันจนล้มละลาย ถอดใจ อพยพไปที่อื่น แนวโน้มชาวบ้านอพยพสู่เมืองใหญ่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเมืองใหญ่มีโอกาสหารายได้ความก้าวหน้า และการศึกษาและสาธารณสุขดีกว่าชนบท

ในสมัย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สภาพเศรษฐกิจชนบทเผชิญภาวะซบเซามาก นอกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐลดการอุดหนุนราคาพืชผล ยิ่งผนวกกับผลพวงของภาวะโลกร้อน ทำให้เกษตรกรรายเล็กหลายรายล้มละลาย แนวโน้มอพยพสู่เมืองใหญ่จะเพิ่มขึ้น ความไม่เพียงพอทางด้านสาธารณูปโภคและมลพิษของเมืองที่แย่อยู่แล้วจนนำไปสู่ภาวะวิกฤติ

รายงาน IPCC 6 บอกว่า ความเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วเพิ่มระดับความร้อนในเมืองและบริเวณโดยรอบที่เรียกว่า heat island effect การเพิ่มขึ้นนี้จะทำให้สภาวะภูมิอากาศโดยรวมมีความผันแปรมากขึ้นและสร้างมลภาวะให้แก่บริเวณใกล้เคียงที่อยู่ใต้ลมด้วย สิ่งที่ IPCC 6 ชี้ให้เห็นคือที่ กทม.และเมืองใหญ่อื่นๆ กำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น มลภาวะจากฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ที่เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายหลายอย่าง และปัญหาสุขภาพ ความชะงักงันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเข้มข้นขึ้น ไม่ใช่ลดลง

เมืองมีอาคารสูงสมัยใหม่มากมายในประเทศร้อนแถบเรา อาคารสูงเรานี้เป็น urban heat island ที่เพิ่มความร้อนได้มากกว่า 10 องศา เมื่อมีการใช้งานเต็มที่เวลากลางวัน เพราะทุกแห่งใช้เครื่องปรับอากาศที่ปั๊มไอเสียและความร้อนออกมา รถติดเป็นแถวยาวก็ส่งความร้อนออกมา ถนนยางมะตอย และตึกตอนกรีตทั่วไป ก็ดูดซับความร้อนและสะท้อนออกมา ภูเขาและหุบเขาคอนโดสองข้างปิดกั้น และเก็บความร้อนไว้ที่ถนน และอาคารส่วนมากไม่ได้ผลิตแบบอาคารเขียว เพื่อลดความร้อน ประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทน เหล่านี้ล้วนส่งผลเพิ่มความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านสุขภาพ

เมื่อคนเมืองรู้สึกร้อน ก็เปิดแอร์มากขึ้น เป็นวงจรอุบาทว์ที่เพิ่มความร้อนภายนอกอาคาร ทำให้เมืองร้อนขึ้นๆ คนที่ไม่มีรถติดแอร์ ไม่มีห้องแอร์ คนทำงานรายได้น้อย และผู้สูงอายุสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิด stroke เพราะความร้อนที่เป็นปัญหาสุขภาพอีกเรื่อง สรุปก็คือเราค้องคิดว่าจะทำให้เมืองน่าอยู่ได้อย่างไรสำหรับทุกคน มีตัวอย่างมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่แข่งขันกันเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนในระดับที่ดีมาก หลายเรื่องก็ง่ายเหมือนปลูกต้นไม้ และต้องคิดด้วยว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปอย่างไรอย่างไรด้วย จึงนำมาสู่หัวข้อสองที่สอง จากจุดอับเศรษฐกิจไทยสู่เกมเศรษฐกิจใหม่

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่จุดอับ

ในบริบทของตัวแปรใหม่ของปัญหาโลกร้อนและผลกระทบที่จะตามมา สิ่งเรากำลังเผชิญ คือ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่จุดอับอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วง 6-10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาจตั้งใจดี แต่เดินเกมบริหารเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไม่ไปไหน ดังที่กล่าวข้างต้น ไม่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงในด้านใดๆ ไม่ว่าวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ดูเหมือนว่าจำนวนคนยากไร้และความเหลือมล้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องพูดถึงว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องคิดหนักในการเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจไม่ให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่หนักอยู่แล้ว เลวลงไปอีก

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เห็นได้ในประเด็นปัญหาใหญ่ 5 เรื่องเป็นอย่างน้อย

1) นับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง การลงทุนของเอกชนในประเทศไทยไม่ได้กระเตื้องขึ้น หรือ กลับไปขยายตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีเงินทุนกองอยู่มากมายในธนาคารและกระเป๋าของมหาเศรษฐี และเรายังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ 6-7% ของจีดีพี ในขณะที่หนี้สาธารณะยังต่ำอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ซึ่งอาจจะเพิ่มได้ถึง 60% การลงทุนภาครัฐชะงักมาหลายปี ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ได้ เพราะเพื่อนบ้านน่าสนใจมากกว่า กล้าทำสิ่งใหม่ๆมากกว่า การเมืองมีเสถียรภาพมากกว่า เศรษฐกิจไทยจึงเติบโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านส่วนมากโดยตลอด

นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นผลของเศรษฐกิจโลกซบเซาบวกกับสงครามการค้า แต่จริงๆ แล้วต้องหันมาดูเนื้อในของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่เข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เนื้อในที่ไม่ได้พัฒนาภาคเกษตรให้ยั่งยืน ผนวกกับที่การเกิดขึ้นของสินค้าเทคโนโลยีง่ายๆ ของเราถึงจุดจบ เผชิญคอขวดด้านเทคโนโลยีและขาดคนงานทักษะสูง นโยบายหลายอย่างส่งเสริมกลุ่มทุน หรือ ธุรกิจขนาดใหญ่ แบบผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด นโยบายให้ความสำคัญน้อยกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด

การบริโภคซบเซามาก จนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ ครัวเรือนกว่าครึ่งพบปัญหารายได้เพิ่มในอัตราที่ลดลง และหลายครอบครัวรายได้จริงลดลง ธนาคารโลกแสดงข้อมูลการสำรวจในหลายประเทศและชี้ว่าคนไทยเพียง 30% ที่คิดว่าการครองชีพดีขึ้นในปี 2018 เป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดในอาเซียน รวมทั้งจีน

2) กูรูเศรษฐกิจอาจจะตั้งใจดี แต่ยังคิดแบบเดิมๆ คิดแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น แถบปราจีนบุรี ใช้ทุนต่างประเทศเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศต่ำมาก บางอุตสาหกรรมไม่มีเลย นำเข้าทั้งสิ้นและอาจจะต้องนำเข้าแรงงานทักษะสูง โครงการแบบนี้อาจจะทำลายแหล่งอาชีพเดิมๆ เช่น เกษตรกรรม ประมงแบบเดิม นำพื้นที่ไปสร้างโรงงานไฮเทค โครงการขนาดใหญ่ที่รัฐกำลังสนับสนุนเหล่านี้ บางโครงการอาจจะใช้ได้ แต่จำนวนมากมีปัญหา หากทำได้ ส่วนที่ทำได้ก็จะช่วยเพิ่มจีดีพี แต่เป็นการเพิ่มจีดีพีในกระเป๋าเศรษฐีไทยและต่างชาติเพียงหยิบมือหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเหลื่อมล้ำในส่วนอื่นๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้เกษตรกรที่เคยมีฐานะดีพอควร กลายเป็นคนจนติดหนี้สินจำนวนมาก

3) ระดับความยากจนที่เคยดีขึ้นกำลังจะแย่ลงอีก การเสื่อมสลายของภาคเกษตรในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเมืองจะแออัดมากขึ้น รายงาน Thailand Economic Monitor 2019 ของธนาคารโลกบอกว่า หลังปี 2015 สัดส่วนคนจนที่วัดจากทางการไทยหรือจากเกณฑ์ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน ตามเกณฑ์ของนานาชาติในระดับรายได้เดียวกัน พบว่าเพิ่มขึ้นระหว่าง 2015-2017

เมื่อดูรายภาคสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นทุกภาค ยกเว้น กทม. เมื่อลงไปดูคนจนรายตำบล 5,424 ตำบล ใช้ข้อมูลความยากจนของทางการไทยในปี 2015 พบข้อมูลว่าตำบลที่มีสัดส่วนคนจนสูงอยู่แถบอีสาน ภาคกลางติดเมียนมา ภาคเหนือติดลาว ธนาคารโลกอธิบายว่าที่เหนือมีปัญหาฝนแล้ง และที่อีสานที่ทำเกษตรจะต้องพึ่งพารายได้จากการไปทำงานให้ที่อื่น เพราะในพื้นที่ ไม่มีแหล่งทำมาหากินพอเพียง

สำหรับ กทม.สัดส่วนคนจนไม่สูงเทียบกับจังหวัดอื่น แต่แง่ของจำนวน ความหนาแน่นมากกว่าที่อื่นๆ ภูเก็ตก็เช่นเดียวกัน การกระจุกตัวของคนในเมืองที่ถือว่าร่ำรวยของ กทม.และภูเก็ต บ่งบอกว่าสองเมืองดึงดูดให้คนที่มีปัญหาการทำมาหากินเข้ามาทำงานสูงกว่าที่อื่นๆ นั่นเอง ข้อมูลเหล่านี้บอกว่าความยากจนของภาคเกษตรที่อยู่ห่างไกล ยังเป็นปัญหาสำคัญ ส่วนเมืองรวยๆก็ดึงดูดให้คนจนเข้ามาทำงาน และกลายเป็นคนจนเมืองแทน ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับรายงานการอพยพในปี 2018 ที่บอกว่าเหนือและอีสานยังเป็นแหล่งของผู้อพยพเข้าเมืองกรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายหลัก

4) ขณะนี้การเมืองไทยอยู่ในภาวะรวบศูนย์อำนาจสูงมาก ซึ่งมีผลทั้งบวกและลบ แง่บวก ในระยะสั้นและปานกลางอาจจะมองว่าทำให้เกิดความสงบ การประท้วงบนถนนยุติลง แต่หากเรามองเข้าไปในเนื้อในของเศรษฐกิจสังคมไทยจากภายนอกและวิเคราะห์พัฒนาการเมืองไทยช่วง 10-14 ปี ตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 และโดยเฉพาะช่วง 6 ปีหลัง ได้เกิดหลายอย่างที่ลดทอนสมรรถนะและศักยภาพของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ผลพวงด้านลบนี้ในท้ายที่สุดอาจจะมากกว่าผลประโยชน์ที่ควรได้รับ และที่กำลังจะพูดถึงนั้นมีอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การชะงักงันของระบบรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งส่งผลลดทอนศักยภาพความริเริ่มของคน และสถาบันท้องถิ่น ทั้งในด้านการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและธุรกิจ การจัดการสวัสดิการสังคมในพื้นที่ และความริเริ่มอื่นๆ เป็นเหตุให้ประชาชนคับข้องใจที่เสียประโยชน์จากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

เรื่องที่สอง คือ การสร้างความกระจุกตัวของความมั่งคั่งในบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่เพียงแค่หยิบมือหนึ่ง ตามมาด้วยการดำเนินนโยบายที่เกื้อหนุนธุรกิจไม่กี่รายเหล่านี้ที่สะสมความมั่งคั่งมหาศาล จากนิตรสาร Forbes ระหว่างปะ 2549-2561 พบว่ามูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 40 รายในไทยเพิ่มขึ้น 8 เท่าในเวลา 12 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพียง 2-4% ต่อปี และในปีสุดท้ายที่มีตัวเลขในปี 2561 มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 40 รายคิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศไทย

5) กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก อ้อย น้ำตาล พลังงานฟอสซิล และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจทั้งในเมือง กทม.และเมืองใหญ่อื่นๆ และในระดับท้องถิ่น การผูกขาด หรือ กลุ่มผูกขาดในอุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้า ยานยนต์และขนส่งแบบเดิมๆ เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจสู่พลังงานสะอาด

ชูโครงการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว คือ ทางออก

ประเด็นสุดท้าย สู่สังคมเสมอหน้า คิดไกล คิดกรีน ความตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ส่งผลเปลี่ยนการตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกันของสังคมต่างๆ ในโลกอย่างรวดเร็ว แผนการลงทุนและยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจเดิมๆ หลายอย่างจะล้าสมัยและเกมเศรษฐกิจใหม่จะมีโอกาสขึ้น

ขอให้ดูสองตัวอย่าง ผู้ว่าการ ธนาคารกลางของอังกฤษ ได้เตือนในเดือนธันวาคมของปีที่แล้วว่าธนาคารที่ยังลงทุนในเศรษฐกิจพลังงานฟอสซิลสุ่มเสี่ยงมากที่จะมีแต่ทรัพย์สินไร้ค่าในมือ และเมื่อสองวันก่อน Tesla ที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโตโยต้า

หากมองตัวแปรใหม่เป็นโอกาสไม่ใช่วิกฤติจะเห็นช่องทางคิดเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ คือ ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องปรับการใช้ การผลิต พลังงานไฟฟ้า การใช้ที่ดิน การสร้างเมือง และสาธารณูปโภคเมืองแบบเดิมๆ รวมทั้งปรับการผลิตอุตสาหกรรมด้วย นี่เป็นอะไรที่ SDG Report 2019 ได้สรุปไว้ว่าทุกประเทศต้องวิธีทำให้เมืองใหญ่ร้อนน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง ลดมลพิษ ลดโลกร้อน จึงเป็นหน้าที่สังคมและรัฐบาลที่จะต้องทำหลายอย่าง โดยเฉพาะสนับสนุนนักลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะขนาดเล็กกลางใหญ่ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจให้ใช้แหล่งเงินทุนที่สะสมมากมายในประเทศลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติอย่างเหลือเฟือ การสร้างเมืองน่าอยู่ การสร้างอาคารเขียว ขับรถเขียว ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รถเมล์ไฟฟ้า หรือจักรยานยนต์พลังงานของตนเอง เหล่านี้มีช่องทางการลงทุนมากมาย หากมีการวางแผนที่ดี ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน

ประเด็นถัดมา รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนทำผังเมืองน่าอยู่ การสร้างสาธารณูปโภคในกรอบเมืองสีเขียวที่โยงกับเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง ระบบการคมนาคมขนส่ง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกันแบบบูรณาการ อย่างเช่นที่เกิดในจีน เกิดขึ้นในยุโรปแล้วแทบทุกแห่ง และในบังกลาเทศก็กำลังทำเรื่องนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของจีน สิ่งเหล่านี้ต้องการความเข้าใจสภาพธรรมชาติของพื้นที่และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติของพื้นถิ่น

ในประเทศไทยมีการสร้างถนนกั้นทางน้ำทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม เป็นเรื่องที่เราต้องคิดด้วย ข้อเสนอเหล่านี้หมายความด้วยว่าเราต้องปรับ สนับสนุนการปกครองระดับภูมิภาค และท้องถิ่น โดยตัวแทนต้องมาจากการเลือกตั้ง และส่งเสริมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตามกลุ่มพื้นที่ที่จะได้ประโยชน์จากขนาด การมีทรัพยากรที่เอื้อกันในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แน่นอนว่าเราอาจจะมีปัญหาคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขต่อไป รัฐบาลกลางก็มีอยู่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นคอร์รัปชันแล้ว เราไม่ควรมีรัฐบาลท้องถิ่น เราต้องเป็นนักสู้ในเรื่องนี้ด้วย

สรุปแล้วผลของการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจสีเขียวหลากหลายประเภท จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สามารถทำได้ใน 1-5 ปี สร้างงาน ลดปัญหาโลกร้อน สร้างสังคมน่าอยู่ ลดความขัดแย้ง ดึงเงินลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมด้วย เมื่อเห็นว่าเข้ามาทำประโยชน์อย่างยั่งยืน คุ้มค่า ข้อเสนอเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่ลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ต้องคิดไกลไปข้างหน้า เพื่อให้สังคมเราสร้างเกมเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ด้วยการคิดไกล คิดกรีน เป็นยุทธศาตร์ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

โลกกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เป็นจุดหักเห ที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นโอกาสที่ทำให้สังคมมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการบ้านให้น่าอยู่ และไม่ต้องเหลื่อมล้ำตลอดชีวิต แต่เนื่องจากเป็นเกมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงจึงดูน่าสะพรึงกลัว เพราะการเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับการเปลี่ยงแปลงที่เกิดขึ้นได้ อาจจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป