ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน Credit Suisse เผยนโยบายรัฐตอบสนองโควิด ขยายช่องว่างคนรวย-คนจน

รายงาน Credit Suisse เผยนโยบายรัฐตอบสนองโควิด ขยายช่องว่างคนรวย-คนจน

5 กรกฎาคม 2021


สถาบันวิจัยแห่ง Credit Suisse ได้เผยแพร่ “รายงานความมั่งคั่งทั่วโลกปี 2021” (The Global Wealth Report 2021) แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2020 รายงานระบุว่า “ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 ”

รายงานยอมรับว่า ช่องว่างทางความมั่งคั่งขยายมากขึ้น ท่ามกลางผลกระทบทางสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2020 โดยมีสาเหตุมาจาก “การตอบสนองด้านนโยบาย” จากรัฐบาลและธนาคารกลางต่อการระบาดใหญ่

รายงานความมั่งคั่งระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐน้อยที่สุด ช่วยให้สินทรัพย์ของพวกเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ

คนรวยและคนจนมีโชคชะตาที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากผู้ที่มีรายได้ต่ำอยู่แล้วประสบกับการสูญเสียงานและรายได้ที่ลดลงเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งอาจจะไม่ได้เกิดจากการระบาดหรือผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่กลับเป็นผลจากการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก”

โดยการดำเนินการเพื่อชดเชยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนำไปสู่ช่องว่างทางความมั่งคั่งที่กว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016

รายงานสรุปผลกระทบของนโยบายเหล่านี้ว่า “การสร้างความมั่งคั่งในปี 2020 เป็นภูมิคุ้มกันให้กับปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ จากการดำเนินการของรัฐบาลและธนาคารกลางเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19”

รายงานยังระบุอีกว่า ผลกระทบเชิงลบต่อ GDP และราคาหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปี 2020 ถูกชดเชยจากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางและ “การดำเนินการอย่างรวดเร็ว” ของรัฐบาลที่ช่วยให้ตลาดการเงินกลับมามีความเชื่อมั่นและพลิกตลาดตราสารทุนกลับจากการขาดทุนภายในเดือนมิถุนายน

ขณะที่ผู้เขียนและบรรณาธิการพยายามที่จะไม่กล่าวถึงนัยของข้อมูลในรายงานต่อปัญหาทางชนชั้นโดยตรง แต่ก็สะท้อนถึงความกังวลที่จะระบุออกมาอย่างโจ่งแจ้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาระบุว่า “ความมั่งคั่งโดยรวมของผู้ที่อยู่บนยอดพีระมิดแห่งความมั่งคั่งและการเพิ่มขึ้นของเศรษฐีและนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra-high net worth) คาดว่าจะเพิ่มความไม่เท่าเทียมของความมั่งคั่ง”

ในขณะเดียวกัน ก็บอกเป็นนัยเกี่ยวกับความมั่งคั่งของคนรวยที่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์ของชนชั้นแรงงานจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่กระทบต่องานนับสิบล้านตำแหน่งและทำให้คนนับล้านตกอยู่ในความยากจน การเร่ร่อน และความหิวโหย โดยได้เขียนไว้ว่า “มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับความมั่งคั่งครัวเรือน กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แบบไม่เคยมีมาก่อน”

รายงานอ้างว่าการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นและราคาทรัพย์สินของคนรวย “ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด” และระบุอีกว่า “การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มความมั่งคั่งในครัวเรือนทั่วโลก ซึ่งความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 28.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในระหว่างปี”

ผู้เขียนรายงานจากสถาบันวิจัย Credit Suisse ไม่ได้กล่าวถึงการที่ธนาคารกลางได้อัดฉีดเงินสดเข้าไปในตลาดการเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งเงินสดนั้นไปสู่ “ความมั่งคั่งในครัวเรือน” ของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาซื้อสินทรัพย์ในอัตรา 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน

รายงานได้นิยามมูลค่าสุทธิหรือความมั่งคั่งในครัวเรือนว่าคือ “มูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินบวกกับสินทรัพย์จริง (ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก) ที่ครัวเรือนเป็นเจ้าของ หักลบด้วยหนี้สิน ซึ่งสอดคล้องกับงบดุลที่ครัวเรือนอาจจัดทำขึ้นพร้อมแสดงรายการที่เป็นเจ้าของและแสดงมูลค่าสุทธิหากขายออกไป”

ผลกระทบของการระบาดที่มีต่อความมั่งคั่งในครัวเรือน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนจน และส่งผลเลวร้ายที่สุดในประเทศที่รัฐบาลล้มเหลวในการชดเชยค่าแรงที่สูญเสียไประหว่างที่ระบบเศรษฐกิจถูกบังคับให้ปิด

ในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น สหราชอาณาจักร ผลประโยชน์ฉุกเฉิน อย่างเช่น มาตรการพักงาน ช่วยลดอัตราการเลิกจ้างงานหรือรายได้ธุรกิจที่ลดลง แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนฉุกเฉินนั้นได้ ซึ่งทำให้ต้องถอนเงินออมหรือรับภาระหนี้ที่สูงขึ้น

รายงานยังอธิบายว่า ผลกระทบดังกล่าวรุนแรงมากโดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อย คนหนุ่มสาว และผู้หญิง ที่ทำงานในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น การค้าปลีกและการบริการ

ช่องว่างทางความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เนื่องจากคนรวยได้ประโยชน์จากราคาหุ้นและราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดที่ถือครองหุ้นขนาดใหญ่และอสังหาริมทรัพย์แทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ราคาหุ้นที่ร่วงลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ฟื้นตัวในช่วงหลายเดือนต่อมา ทำให้เพิ่มความมั่งคั่งของผู้ชาย คนวัยกลางคน และคนรวย

เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในตลาดส่วนใหญ่ยังได้รับประโยชน์จากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.6% ในปี 2020 ถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในรอบสามปี จากรายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วโลกของ Knight Frank ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของราคาใน 56 ประเทศ

Anthony Shorrocks นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) และหนึ่งในผู้เขียนรายงานของ Credit Suisse กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกในช่วงการระบาด

เขากล่าวอีกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในวงกว้างที่ประสบปัญหาร้ายแรงและต้องการการแทรกแซงของรัฐบาล กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับความมั่งคั่งในครัวเรือนที่ยังคงต่อเนื่องราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้ง 2 ด้านนี้แทบไม่เชื่อมโยงกันเลย”

สถิติสำคัญที่รายงานโดย Credit Suisse ได้แก่ จำนวนเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านรายเป็น 56.1 ล้านรายซึ่งถือครองทรัพย์สินรวมกัน 45.8% ของความมั่งคั่งทั่วโลก โดยหนึ่งในสามของเศรษฐีใหม่เหล่านี้ (1.7 ล้านราย) อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2020 เป็นปีแรกที่ผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละหนึ่งของโลกเป็น “เศรษฐีเงินล้าน (ดอลลาร์)”

เศรษฐีเงินล้าน (ดอลลาร์) ทะลุ 1% ของประชากรทั่วโลก

เศรษฐีเงินล้านมีสัดส่วนมากกว่า 1% ของประชากรโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากตัวเลขแสดงให้เห็นว่ามี 56.1 ล้านรายที่มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

การวัดระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วแสดงให้เห็นในสถิติเกี่ยวกับการเติบโตของจำนวนและทรัพย์สินส่วนบุคคลของ UHNWI หรือบุคคลที่มีมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิสูงกว่า 50 ล้านดอลลาร์ ในรายงานระบุว่าปี 2020 มีจำนวน 215,030 รายทั่วโลก เพิ่มขึ้น 41,410 รายหรือคิดเป็น 23.9% จากปี 2019 เป็นอัตราการเติบโตประจำปีที่เร็วที่สุดในรอบ 17 ปี ทำให้จำนวนมหาเศรษฐีรวมเป็น 215,030 รายซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา

ในกลุ่ม UHNWI ยังแบ่งกลุ่มย่อยเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ได้จำนวน 68,010 ราย และที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์จำนวน 5,332 ราย

เมื่อพิจารณาจากควอไทล์ของความมั่งคั่งต่ำสุด รายงานระบุโดยไม่มีความคิดเห็นว่า “เราประเมินว่า 2.9 พันล้านคนหรือคิดเป็น 55% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก มีความมั่งคั่งต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020”

จากการวิเคราะห์กลุ่มชนชั้นกลางรายได้สูง รายงานระบุว่า ผู้ที่มีความมั่งคั่งระหว่าง 100,000 ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ “เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในศตวรรษนี้ จาก 208 ล้านรายเป็น 583 ล้านราย โดยปัจจุบันกลุ่มนี้มีทรัพย์สินสุทธิรวม 163.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 39.1% ของความมั่งคั่งทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนเกือบสี่เท่าของประชากรผู้ใหญ่”

เมื่อรวมกลุ่มนี้กับผู้ที่อยู่ในควอไทล์อันดับต้นๆ ซึ่งมีความมั่งคั่งมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ก็คิดเป็น 12.2% ของประชากรโลก และเป็น 84.9% ของความมั่งคั่งทั้งหมดของโลก หรือประมาณ 355.5 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานนี้ยังมีสถิติการกระจายการสะสมความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมภายในระบบทุนนิยมโลก เช่น ขณะที่รายงานระบุว่าความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่เฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% แต่กลับมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าแอฟริกา อินเดีย และลาตินอเมริกา ประสบปัญหาความมั่งคั่งเฉลี่ยลดลง -2.1%, -6.1% และ -11.4% ตามลำดับ และภาระหนี้ของภูมิภาคเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2020

การสะสมความมั่งคั่งและการเพิ่มขึ้นของบุคคลร่ำรวยที่มากที่สุดเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกามีเศรษฐีใหม่ 39% จากจำนวนทั้งหมด 5.2 ล้านรายทั่วโลกในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านรายจากทั้งประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 22 ล้านราย ตามมาด้วยเยอรมนีที่มีเศรษฐีเพิ่มอีก 633,000 ราย

ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับประเทศที่เกิดเศรษฐีใหม่มากที่สุด ซึ่งมีเศรษฐีเพิ่ม 258,000 ราย ดังนั้นปัจจุบันประเทศนี้มีบุคคล 2.5 ล้านรายที่มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 1 ล้านเหรียญ

Credit Suisse เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกและเป็นบริษัทให้บริการทางการเงิน ตั้งอยู่ในเมืองซูริก และมีสำนักงานอยู่ในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญทั่วโลก เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการบริการ “การจัดการความมั่งคั่ง” และตอบสนองความต้องการของนายทุน รายงานประจำปีฉบับที่ 12 นี้จัดทำขึ้นเพื่อให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์แก่ลูกค้า

ความมั่งคั่งทั่วโลกปี 2020 เพิ่ม 7.4%

รายงานความมั่งคั่งทั่วโลกครั้งที่ 12 ของ Credit Suisse ระบุว่า ความมั่งคั่งทั่วโลกโดยรวมเติบโตขึ้น 7.4% และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 6% แตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 79,952 ดอลลาร์สหรัฐ

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 จากรายงานคาดการณ์ว่ามีการสูญเสีย 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 4.4% จากทรัพย์สินในครัวเรือนทั่วโลก ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2020 และพลิกกลับมาภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งราคาหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแตะจุดสูงสุดในสิ้นปี

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงได้รับประโยชน์ จากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นในอัตราที่ไม่เห็นมานานหลายปี ทำให้ทรัพย์สินครัวเรือนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 28.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในระหว่างปี

ในสิ้นปี 2020 ความมั่งคั่งโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 28.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ 418.3 ล้านล้าน โดยความมั่งคั่งทั่วโลกเติบโตขึ้นคิดเป็น 7.4% และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 6% อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐคิดเป็น 3.3% ของการเติบโต หากอัตราแลกเปลี่ยนเท่าในปี 2019 ความมั่งคั่งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 4.1% และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้น 2.7%

จากการแบ่งภูมิภาคแสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่งทั้งหมดเพิ่มขึ้น 12.4 ล้านล้านดอลลาร์ในอเมริกาเหนือ และ 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ในยุโรป โดยทั้งสองภูมิภาคนี้คิดเป็นส่วนสำคัญของความมั่งคั่งที่เพิ่มในปี 2020 ส่วนในจีนเพิ่มอีก 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีนและอินเดีย) อีก 4.7 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ความมั่งคั่งในอินเดียและลาตินอเมริกาต่างก็ลดลงในปี 2020 ซึ่งความมั่งคั่งรวมในอินเดียลดลง 594 พันล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 4.4% มีสาเหตุมาจากการอ่อนค่าลงของอัตราการแลกเปลี่ยน โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การลดลงจะเป็น 2.1% ลาตินอเมริกาดูเหมือนจะเป็นภูมิภาคที่มีผลประกอบการแย่ที่สุด เพราะความมั่งคั่งรวมลดลง 11.4% หรือ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้หนี้รวมเพิ่มขึ้น 7.5% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหากครัวเรือนยังไม่จำกัดค่าใช้จ่าย ซึ่งหนี้รวมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในจีนและยุโรป แต่ลดลงในแอฟริกาและในลาตินอเมริกา แม้จะคิดเผื่อการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนแล้วก็ตาม

ผลประโยชน์จากการออมโดยไม่ได้วางแผนและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ทำให้เป็นปีที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศ

เอเชียแปซิฟิกรวยกว่าที่อื่น

ในปี 2020 เอเชียแปซิฟิกมีผู้ใหญ่ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth: UHNW) ซึ่งเป็นผู้มีสินทรัพย์สุทธิเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 26.7% ของประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษทั่วโลก ถือเป็นอันดับสองรองจากอเมริกาเหนือ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 42,000 ราย จนอาจมียอดรวมเกือบ 99,000 รายในปี 2025

นอกจากนี้มีเศรษฐี 15.6 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 71% เป็น 26.7 ล้านรายในปี 2025

เอเชียแปซิฟิกถือเป็นแรงหนุนที่ใหญ่ที่สุดของความมั่งคั่งครัวเรือน โดยมีความมั่งคั่งของครัวเรือนรวมในช่วงสิ้นปี 2020 อยู่ที่ 162,994 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 39% ของความมั่งคั่งครัวเรือนทั่วโลกที่เท่ากับ 418,342 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2020 ความมั่งคั่งของครัวเรือนในเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้น 8,346 พันล้านดอลลาร์ โดยสินทรัพย์ทางการเงินคิดเป็นส่วนใหญ่ของความมั่งคั่งทั้งหมด เช่นเดียวกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน ปี 2020 สินทรัพย์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้น 6,482 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงินเพิ่มขึ้น 3,679 พันล้านดอลลาร์

จีนแผ่นดินใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ในปี 2020 จีนมีจำนวนเศรษฐี 5.3 ล้านราย ซึ่งคิดเป็น 9.4% ของเศรษฐีทั่วโลก เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 92.7% เป็น 10.2 ล้านรายในปี 2025

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ 28,130 ราย เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2019 จำนวน 9,830 ราย โดยภายในปี 2025 คาดว่าจะมีบุคคลที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษเพิ่มอีก 23,790 ราย

โดยความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ในปี 2020 อยู่ที่ 67,771 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2019 อยู่ 5.4% เติบโตที่อัตราเฉลี่ยต่อปี 14.9% ในช่วงปี 2000 ถึง 2020 เทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีทั่วโลกที่ 4.8%

ในปี 2020 จีนมีส่วนแบ่ง 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทั้งหมด 28.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินทรัพย์ทางการเงินคิดเป็น 44.2% ของสินทรัพย์รวม เทียบกับ 36.4% ในปี 2000 และสินทรัพย์ทางการเงินต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนเพิ่มขึ้น 16.5% โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2000

GDP ที่แท้จริงของจีนในปี 2020 สูงขึ้นกว่า 2.3% ในปี 2019 และคาดว่าการเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ 8.4% และ 5.6% ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ

เขตบริหารพิเศษฮ่องกงรวยน้อยลง

ในปี 2020 เขตบริหารพิเศษฮ่องกงมีจำนวนเศรษฐีลดลงมากเป็นอันดับสี่ของโลก โดยอยู่ที่ประมาณ 520,000 ราย ณ สิ้นปี เทียบจากสิ้นปี 2019 ที่มีจำนวน 560,000 ราย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากค่าเงินอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 คาดว่าประชากรเศรษฐีในฮ่องกงจะเพิ่มขึ้นเป็น 831,000 ราย

โดยความหนาแน่นของเศรษฐีในฮ่องกงเป็นอันดับที่สี่ของโลก อยู่ที่ 8.3% เพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2015 และ 2.3% ในปี 2000

นอกจากนี้มีผู้ใหญ่ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ 2,801 ราย โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,442 ราย ในปี 2025

ซึ่งความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ในฮ่องกงคือ 503,340 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับสามรองจากสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา

ในประเทศและตลาด 20 อันดับแรกที่มีความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่สูงสุด ฮ่องกงถือเป็นประเทศเดียวที่มีความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี

อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงยังคงเป็นที่สามในแง่ของความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ในปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 173,770 เหรียญสหรัฐ รองจากออสเตรเลียและเบลเยียม

ระดับความมั่งคั่งทั่วโลกในปี 2020

ผลกระทบด้านความมั่งคั่งจากการระบาดของโควิด-19 มีความแตกต่างกันในกลุ่มย่อยของประชากร เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ประการ องค์ประกอบหลักทรัพย์และผลกระทบของรายได้

ความมั่งคั่งของผู้ที่มีทรัพย์สินสูง เช่น บุคคลวัยกลางคนตอนปลาย ผู้ชาย และกลุ่มผู้มั่งคั่งโดยทั่วไป มีแนวโน้มดีขึ้น และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในตลาดส่วนใหญ่ได้กำไรจากการลงทุนเนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น

ในช่วงของการระบาดผลกระทบของรายได้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในประเทศที่มีรายได้สูง การสูญเสียแรงงานหรือรายได้ของธุรกิจลดลง เนื่องจากผลประโยชน์ฉุกเฉินและนโยบายการจ้างงาน ส่วนในประเทศที่ขาดการสนับสนุน กลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และคนหนุ่มสาวได้รับผลกระทบอย่างมาก

โดยแรงงานหญิงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นตัวแทนที่สูงในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด เช่น ร้านอาหาร โรงแรม บริการส่วนบุคคล และการค้าปลีก โดยการมีส่วนร่วมของแรงงานลดลงในช่วงปี 2020 ทั้งแรงงานชายและหญิง แต่มีขนาดการลดลงที่ใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่

การกระจายความมั่งคั่งในปี 2020

ในปี 2020 ความแตกต่างด้านความมั่งคั่งระหว่างผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น จำนวนเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านรายเป็น 56.1 ล้านราย ทำให้ปัจจุบันผู้ใหญ่ต้องมีเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่ออยู่ในกลุ่ม 1% แรกของโลก

ในปีก่อนหน้าการที่จะอยู่ในกลุ่ม 1% แรกได้ ต้องมีความมั่งคั่ง 988,103 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นในปี 2020 จึงเป็นครั้งแรกที่มากกว่า 1% ของผู้ใหญ่ทั่วโลกเป็นเศรษฐีเงินด้วยเงินล้านดอลลาร์ และกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษก็เติบโตเร็วยิ่งขึ้นไปอีก มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 24% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2003

ตั้งแต่ปี 2000 ผู้ที่มีความมั่งคั่งในช่วง 10,000– 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า จาก 507 ล้านรายในปี 2000 เป็น 1.7 พันล้านรายในช่วงกลางปี 2020 สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน และการขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา

แนวโน้มความมั่งคั่งปี 2020–2025

ความมั่งคั่งทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 39% ในอีกห้าปีข้างหน้า โดยจะแตะ 583 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025 ซึ่งประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมีส่วนในการเติบโตอยู่ 42% แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียง 33% ของความมั่งคั่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คาดว่าความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้น 31% มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหากไม่มีการปรับอัตราเงินเฟ้อ จำนวนเศรษฐีจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงห้าปีข้างหน้าถึง 84 ล้านราย ในขณะที่จำนวนนักลงทุนรายใหญ่พิเศษควรสูงถึง 344,000 ราย

Nannette Hechler-Fayd’herbe หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน การจัดการความมั่งคั่งระหว่างประเทศและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และการวิจัยระดับโลกของ Credit Suisse กล่าวว่า

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการของรัฐบาลและธนาคารกลางในโครงการโอนรายได้ เพื่อสนับสนุนบุคคลและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด และจากการลดอัตราดอกเบี้ย ประสบความสำเร็จในการป้องกันไม่เกิดวิกฤติระดับโลก แต่ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การแทรกแซงเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง หนี้สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ GDP ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ทั่วโลกหรือมากกว่านั้นในหลายประเทศ การจ่ายเงินจำนวนมากจากภาครัฐไปยังครัวเรือนนั้นหมายความว่ารายได้ครัวเรือนค่อนข้างมีเสถียรภาพและอาจเพิ่มขึ้นในบางประเทศ ควบคู่กับการจำกัดการใช้จ่าย การออมในครัวเรือนทำให้สินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นและหนี้ลดลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจส่งผลกระทบอย่างมาก เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมราคาหุ้นและราคาที่อยู่อาศัยเฟื่องฟู ซึ่งมีผลโดยตรงในการประเมินมูลค่าของความมั่งคั่งของครัวเรือน”