ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ พอใจผลงาน 4 ปี ชี้ทำดีสุดแล้วเมินเสียงวิจารณ์ – มติ ครม. ตั้งสนง.แก้ความเหลื่อมล้ำ- เพิ่มของขวัญปีใหม่จาก 8 หน่วยงาน

นายกฯ พอใจผลงาน 4 ปี ชี้ทำดีสุดแล้วเมินเสียงวิจารณ์ – มติ ครม. ตั้งสนง.แก้ความเหลื่อมล้ำ- เพิ่มของขวัญปีใหม่จาก 8 หน่วยงาน

18 ธันวาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

สั่ง ฉัตรชัย ลง พท. ช่วยน้ำท่วมใต้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. หารือถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยหน่วยงานแรกที่ต้องลงไปช่วยเหลือประชาชน คือ ทหาร ตำรวจ ซึ่งตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และได้มอบหมายให้ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในสัปดาห์หน้า

สำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานอย่างยั่งยืน หลายส่วนมีงบประมาณลงไปแล้ว และบางส่วนอยู่ในขั้นตอนการทำอีไอเอรับฟังความคิดเห็นประชาชน จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระดับหนึ่ง ส่วนมาตรการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบภาคการเกษตร ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณบางส่วนลงไปดูแล และให้เร่งสำรวจพื้นที่เสียหาย ขอให้ทุกคนติดตามการพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนการเดินทาง เพราะอาจจะมีผลกระทบไปถึงช่วงปีใหม่ ถ้าหากฝนยังตกในบางพื้นที่อยู่เช่นนี้

เตือนตัวเองทุกวัน “ระวังคำพูด”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายกฯ พยายามเตือนตัวเองให้ระมัดระวังในเรื่องการพูดในช่วงนี้ ว่า เตือนตัวเอง เพราะหลายคนบอกว่าตนขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง และทุกคนก็ต้องเตือนตัวเองในการออกสื่อ หรือการให้สัมภาษณ์อยู่แล้ว รวมถึงนักการเมืองทุกคนต้องช่วยกัน อย่าให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างบรรยากาศเดิมๆ ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ถ้าทุกคนทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ มันก็เป็นสิ่งที่ดีกับประเทศชาติไม่ใช่หรือ

“ผมไม่ต้องการให้นำคำพูดของผมไปบิดเบือน พูดอะไรก็เป็นประเด็นไปเสียทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและต่อนายกฯ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องพรรคการเมืองใดๆ ในขณะนี้ทั้งสิ้น ไม่อยากให้มีผลในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลนี้จำเป็นต้องรักษากฎระเบียบเหล่านี้อยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ 4 รมว. ลาออกเรื่อง กม.- ย้อนนักการเมืองดูตัวเอง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่พรรคการเมืองโจมตี 4 รัฐมนตรี ไม่ลาออกผิดเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ และไร้มารยาททางการเมือง จะกระทบการทำงานของนายกฯ และรัฐบาลหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องของกฎหมาย ตนไม่แก้ตัวให้ใคร ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าควรจะต้องทำตัวอย่างไร นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน ต้องดูตัวเองด้วย ผิดกฎหมายเรื่องอะไรบ้างหรือไม่ ไม่ใช่เป็นนักการเมืองแล้วพูดได้ทุกอย่างมันคงไม่ใช่

“ท่านบอกว่าผมเป็นนักการเมือง ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ยอมรับตรงนี้ แต่ผมก็ต้องระมัดระวังในการพูด ผมไม่อยากให้ประชาชนไปหลงเชื่อการหาเสียงต่างๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงจะต้องมีหลักการคิดที่ถูกต้อง ประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันเสมอไป ”

“ขอความสื่อมวลชนช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผมก็จะระมัดระวังตัวให้มากที่สุด เพราะผมไม่ได้ลงไปเลือกตั้งอะไรกับเขา ฉะนั้นต้องรักษาระบบการบริหารราชการแผ่นดินในขณะที่เป็นรัฐบาลให้เรียบร้อยที่สุด บอกแล้วหลายอย่างจะต้องรักษาสถานการณ์ไว้ให้ได้ เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งและพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกในห้วงเวลาต่อไป ก็สุดแล้วจะทรงโปรดเกล้าฯ ในเวลาใด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยังไม่รู้ที่อยู่ “เจ๊แดง” – ชี้ไม่ผิดไม่ต้องกลัว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสข่าวการตรวจสอบทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อต 2 ที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจมีส่วนเกี่ยวข้องและหลบหนีไปต่างประเทศแล้ว ว่า หลังจากที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ก็กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ และเท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบตัว แต่ตนก็ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน ซึ่งตนคิดว่ายังคงหลบอยู่ในประเทศไทย

“ถามว่าทำไมต้องหลบ เมื่อยังไม่มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปกลัว ถ้าคิดว่าตัวเองทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายก็สู้คดีไปทุกอย่างก็จบ ต้องมีความมั่นใจตรงนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พอใจผลงาน 4 ปี ชี้ทำดีสุดแล้ว-เมินเสียงวิจารณ์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงนโยบายรัฐบาลที่ทำลงไปในช่วง 4 ปี ว่า ก็ต้องพอใจ เพราะตนเป็นคนกำหนดนโยบายลงไป ต่อไปก็เป็นการลงไปดู การแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แล้วก็ไปถึงขั้นผู้ปฏิบัติ ก็ย่อมจะมีปัญหาอยู่บ้างในการที่เราทำหลายๆ อย่างออกไป ซึ่งเมื่อมีการสรุปงานเรียบร้อยแล้วจะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป

“ที่ผ่านมาก็ทยอยพูดไปตามลำดับ บางอย่างไม่เข้าใจ บางอย่างไม่ได้ฟัง บางอย่างก็ถูกบิดเบือนไป ก็จะได้สรุปให้ทราบชัดเจนโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ตนได้ย้ำเตือนการให้ข่าวและการให้ข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงาน ซึ่งจำเป็นต้องให้ข้อมูลในเชิงที่เกิดประโยชน์ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจนว่ารัฐบาลทำอะไรเพื่อใคร รวมถึงพิจารณาถึงผลกระทบของกฎหมายนั้นๆ ว่าได้มีการเตรียมการแก้ปัญหาไว้อย่างไร เพราะถ้ามาพูดทีละขั้นทีละตอนบางครั้งไม่เข้าใจและถูกนำไปบิดเบือนว่าไปเอื้อประโยชน์ให้คนนั้นคนนี้ จำเป็นจะต้องอธิบายให้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นหลักการสำคัญในการประชาสัมพันธ์

“ในส่วนของคนที่ออกมาพูดจา ด้อยค่าของรัฐบาล สังคมก็ต้องไปพิจารณาเอาเองว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด วันนี้หลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องของข่าวจริงและข่าวปลอม รวมทั้งข่าวในโซเชียลต่างๆ สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถควบคุมได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของกฎหมายที่จะว่ากันไปตามขั้นตอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เผยเริ่มปฏิรูปตำรวจแล้ว ทำผิดไม่เว้นลงโทษสถานหนัก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ ว่า หลายอย่างได้มีการปฏิรูปไปบ้างแล้ว มีการดำเนินการในการแต่งตั้ง การปรับโครงสร้างภายใน ในส่วนที่เป็นกฎหมาย หรือมาตรการที่มีทั้งหมด การปฏิรูปวันนี้ก็ทำตามกำหนดเวลาของรัฐธรรมนูญไปแล้ว วันนี้ก็อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะออกมาเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่สมบูรณ์ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงปัญหา สิ่งสำคัญเราแก้ที่เจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ที่ประชาชนและส่วนอื่นด้วย

“ขอความร่วมมือเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในทุกมิติ เพราะตำรวจเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม ต้องแก้ทั้งผู้ปฏิบัติตัวผิดกฎหมาย แก้ทั้งเจ้าหน้าที่ ต้องมีวิธีการที่ละมุนละม่อม ด้วยการสร้างความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ใดที่ละเว้นปล่อยปละละเลย ก็มีความผิดอยู่แล้ว ในส่วนของประชาชน ภาคเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือใครที่ทำความผิดแล้วต้องการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ ก็ต้องไปแก้ไขตรงนี้ ทุกคนถ้าทำความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องถูกลงโทษสถานหนัก จะได้ไม่สร้างภาระซึ่งกันและกัน ยังไงเราต้องอยู่ร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำกรณีมีการตั้งข้อสังเกตคดีเสี่ยโจ้ ปัตตานี ผู้ต้องโทษจำคุกคดีปลอมแปลงดวงตราประทับไม้ เพื่อนำเข้าไม้มาในราชอาณาจักรเมื่อปี 2557 และผู้ต้องหาอีกหลายคดีโดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับน้ำมันเถื่อน โดยได้เข้ามอบตัวแล้ว แต่กลับไม่ถูกดำเนินการทางคดีที่ศาลพิพากษา พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เรื่องนี้ตนได้กำชับให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการให้เกิดความยุติธรรม ไม่มีคำว่าสองมาตรฐาน หลายอย่างไม่ง่าย เป็นกลไกทางกฎหมาย บางเรื่องมันผิด ก็ผิดหลายคดี บางคดีศาลตัดสินไป บางคดียังไม่ได้ตัดสิน ก็นำเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี ก็ดำเนินการกันไป

มติ ครม. มีดังนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ตั้งสำนักงานความเหลื่อมล้ำ – “แม่ทัพ” ประสานงานทุกกระทรวง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ได้แก่

1) คณะกรรมการนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กนล.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 15 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกฯแต่งตั้งไม่เกิน 3 คน โดยมีเลขาธิการ สศช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีรองเลขาธิการ สศช. มีผู้แทนสำนักงบประมาณ มีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 22-24 คน ทั้งนี้ กนล. จะมีหน้าที่และอำนาจกำหนดกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ วางแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติ ทุกระดับ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงาน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี กำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ออกประกาศ และคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบ

2. คณะกรรมการบริหารการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กบล.) ประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการ สศช. เป็นรองประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 4 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมบัญชีกลาาง และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้งไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ โดยมีรองเลขาธิการ สศช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ได้รับมอบหมายและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 10-12 คน ทั้งนี้ กบล. มีหน้าที่และอำนาจกำหนดกรอบตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ และแผนปฏิบัติการในการบูรณาการพิจารณากลั่นกรองแผนงานและงบประมาณ กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน เสนอแนะต่อ กนล. ในการกำหนด จัดทำ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและมาตรการต่างๆ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานบูรณการลดความเหลื่อมล้ำภายใต้สภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานปฏิบัติการตามกรอบนโยบายและเป็นกลไกแก้ไขขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและกรอบความยั่งยืน SDGs เพื่อต่อสู้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในเชิงรุก เช่น จัดทำข้อเสนอแนะตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านที่ 4 เรื่องความเหลื่อมล้ำ การศึกษาวิจัยดัชนีความเหลื่อมล้ำและความยากจน เพื่อใช้เป็นเป้าหมายของการดำเนินงาน จัดทำรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำและยากจนแยกออกมาจากรายงานภาวะสังคมที่เดิมสภาพัฒน์จัดทำทุกไตรมาส เพื่อเป็นการประเมินการทำงานของหน่วยงานต่างๆ จัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและยากจน รวมรวบตัวอย่างการทำงานในระดับพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจากปราชญ์ชาวบ้านหรือภาคีเครือข่ายต่างๆ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยข้อง และรับเรื่องร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากสาธารณชน โดยเบื้องต้นจะนำหน่วยงานที่เดิมทำงานด้านนี้ในสภาพัฒน์แยกออกมา พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง

“ช่วงที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายด้านความเหลื่อมล้ำจะกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ อยู่แล้ว แต่ขาดศูนย์กลางการดูแลความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยวิธีการทำงานจะเปลี่ยนไป เนื่องจากสำนักงานนี้จะเน้นการประเมินผลมากขึ้น ร่วมกับสำนักงบประมาณ จากเดิมที่พอถึงเวลาจัดทำงบประมาณประจำปี ทุกหน่วยงานก็จะเสนอโครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการด้านความเหลื่อมล้ำ เข้ามาที่สำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณก็จะคัดเลือกจากความพร้อมของโครงการ แต่ในอนาคตสำนักงานนี้จะช่วยคัดเลือกจากความคุ้มค่าและความสำคัญของแต่ละเรื่องที่ควรทำ ว่าอะไรขาดอะไรเกิน จากการวิจัยศึกษาต่างๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันเราทำโครงการสวัสดิการด้วยงบปีละ 500,000 ล้าน เช่น พวกบัตรทอง ประกันสังคม เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุผู้พิการเด็กเล็ก กยศ. และก็มีอยู่ในกระทรวงต่างๆ เช่น การขุดบ่อของเกษตรกร พัฒนาชนบทอีก 300,000 ล้านบาท ก็จะประเมินกัน ส่วนเรื่องที่ว่าการจัดตั้งสำนักงานและคณะกรรมการไม่ได้เกี่ยวกับกระแสข่าวเรื่องความเหลื่อมล้ำก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลได้เตรียมการจัดตั้งมาสักระยะหนึ่งตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 4 เรื่องความเหลื่อมล้ำ” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ไฟเขียว ร่างกฎหมายไซเบอร์ 2 ฉบับ

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายไซเบอร์ที่มีความสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Law) และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data protect act)

โดยร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยระหว่างนี้คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะปฏิบัติหน้าที่แทนสำนักงานฯ ไปก่อน

ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่จะเริ่มนำกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้ก่อน ได้แก่ หน่วยงานด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ด้านสาธารณสุข ด้านโทรคมนาคม ด้านการบริการภาครัฐ ด้านความมั่นคง และด้านอื่นๆ ที่จะมีการประกาศเพิ่มเติมในอนาคต” นายพิเชฐกล่าว

โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระดับภัยคุกคามไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับเฝ้าระวัง 2) ระดับร้ายแรง และ 3) ระดับวิกฤติ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายไซเบอร์ของสากล โดยจะมีการรับมือต่อภัยคุกคามตั้งแต่การขอความร่วมมือไปจนถึงการขอคำสั่งศาลเพื่อตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์

“เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งระบบของโรงพยาบาล หรือระบบธนาคาร ซึ่งเป็นระบบที่เก็บข้อมูลของประชาชนไว้เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการก่อการร้ายทางไซเบอร์ โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีกลไกเฝ้าระวัง ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยง ทั้งรายหน่วยงานและในระดับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการหารือกับภาคประชาสังคม เอกชน ราชการ และหน่วยงานของต่างประเทศ เช่น US-ASEAN Business Council แล้ว”

นายพิเชฐกล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 จะมีการจัด Cyber War Game ซึ่งเป็นการซ้อมรับมือต่อภัยทางไซเบอร์ และเนื่องจากในปีหน้าไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน จึงมีแนวคิดที่จะจัดการซ้อมรับมือในระดับอาเซียน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อบันทึกข้อมูลที่ถูกนำไปใช้ โดยระหว่างนี้ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อน

รวมถึงมีการกำหนดให้แยกบุคคล 3 ระดับ ได้แก่ 1) เจ้าของข้อมูล (data ower) 2) ผู้จัดเก็บข้อมูล (data controller) และ 3) ผู้นำข้อมูลไปประมวลผล (data processor) โดยหน่วยงานที่จะเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลต้องให้รายละเอียดการเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลกับเจ้าของข้อมูล โดยต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่เก็บข้อมูลเกินกว่าที่จำเป็น และเปิดช่องให้เจ้าของขอมูลสามารถขอถอนข้อมูลได้

“นอกจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังมี ร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับที่เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่ ร่าว พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่าง พ.ร.บ.สำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สำหรับเอกชนในการกำกับดูแลทางดิจิทัลร่วมกัน คล้ายกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะพัฒนาไทยไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล” นายพิเชฐกล่าว

หนุนใช้บัตรเดบิต คืน VAT 5% รับตรุษจีน – 9,242 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ของการใช้จ่ายสินค้าที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านบัตรเดบิต (ไม่รวมบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย) แต่ไม่เกินรายละ 1,000 บาทต่อคน (หรือสำหรับการใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน) สำหรับการใช้จ่ายในช่วง 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยการชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำผ่านระบบพร้อมเพย์จากการลงทะเบียนผ่านหมายเลขบัตรประชาชนก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้ งบประมาณของโครงการ กระทรวงการคลังจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงินรวม 9,240 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 9.24 ล้านคน คำนวณจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 40% แรกที่ประมาณ 26.4 ล้านคน และคาดว่าคนกลุ่มนี้จะออกมาใช้มาตรการดังกล่าวประมาณ 35% จากสถิติการดำเนินโครงการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช้อปช่วยชาติในช่วงปลายปี 2560

ขยายระยะเวลาลดหย่อนบริจาคการศึกษาอีก 1 ปี

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 2561 โดยให้ขยายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้น มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่ให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อยอื่นๆ แล้ว

2) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่ให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

3) การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินข้างต้น จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

4) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เพิ่มโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยอีก 5,795 ตัน

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง การจัดสรรโควตานมผงขาดมันเนย และเห็นชอบในการอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2561 เพิ่มเติมปริมาณ 5,795.82 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 8/2561 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โดยผู้ที่จะได้รับการจัดสรรจะต้องเป็นผู้ประกอบการรายเดิมและมีรายงานการนำเข้าโควตานมผงขาดมันเนยที่ได้รับเกินร้อยละ 70 ขึ้นไปตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต แบ่งเป็น กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) จำนวน 4,605 ตัน และกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) จำนวน 1,190.82 ตัน โดยเดิมประเทศได้รับโควต้าจากองค์การการค้าโลกและความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย ทั้งสิ้น 58,011.58 ตัน แบ่งเป็นขององค์การการค้าโลก 55,000 ตันและความตกลงการค้าเสรีฯ 3,011.58 ตัน

สำหรับผลกระทบแบ่งเป็น ด้านเศรษฐกิจการผลิตและการตลาดในภาคธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและอาหารของต่างประเทศที่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องการขยายฐานการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพที่เหมาะสม แต่ติดขัดในเรื่องการวางแผนการผลิตล่วงหน้า เพราะความไม่แน่นอนของ การนำเข้านมผงขาดมันเนยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต หากสามารถเปิดตลาดการนำเข้านมผงขาดมันเนยได้พอเพียงตามความต้องการ และชัดเจนจะทำให้สามารถกำหนดแผนธุรกิจล่วงหน้าได้ตลอดทั้งปี และจะมีนโยบายมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจในภาพรวม

ด้านเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยไม่ให้กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกร (ต้องเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีรายงานการนำเข้าโควตานมผงขาดมันเนยที่ได้รับจัดสรรเกินร้อยละ 70 ขึ้นไป) และยังมีแผนการผลิตและแผนการรับซื้อน้ำนมโคร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการแปรรูปนมทั้งระบบ โดยจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

สุดท้ายด้านผู้บริโภคผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากนมหลายชนิดในราคาต่ำ การดำเนินการทางธุรกิจด้านนี้ไม่หยุดชะงักและไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศที่มีราคาสูงเข้ามาแทนที่

ขยายมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอีก 1 ปี หลังเหลือกว่า 55,000 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการขยายระยะเวลาและรายละเอียดการดำเนินงานโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท และโครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปีจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เป็นสิ้นสุด 18 ธันวาคม 2562 พร้อมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมมีเพียงธุรกิจเกษตรกรแปรรูป ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว (หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์) ผู้ประกอบการใหม่หรือมีนวัตกรรม (หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่นๆ) โดยให้เพิ่มกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกด้วย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยปรับจากเดิมคิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก และในปีที่ 4-7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารฯ กำหนด เป็นกรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.875 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.875 หรือเท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) ขณะที่ปีที่ 4-7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารฯ กำหนด และกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -3.875 ต่อปี (เท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี) ขณะที่ปีที่ 4-7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารฯ กำหนด

“สำหรับรายละเอียดโครงการแรกมีผู้ได้รับการอนุมัติ 7,890 ราย วงเงินรวม 12,864 ล้านบาท ขณะที่โครงการที่ 2 มีผู้ได้รับอนุมัติไป 347 ราย วงเงินรวม 1,646.11 ล้านบาท ทำให้ทั้ง 2 โครงการเหลือวงเงินอีกประมาณ 55,000 ล้านบาท จึงมาขอปรับปรุงแนวทางการให้สินเชื่อเพิ่มเติมในวันนี้ เช่น ขยายกลุ่มกิจการไปที่การค้าปลีกค้าส่งที่มักจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีของประเทศมากกว่า เป็นต้น” นายพุทธิพงษ์กล่าว

อนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการบางประการ เช่น 1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยต้องดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEs – คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท ทำให้หน่วยรถม้าเติมทุนและพนักงานประจำหน่วยรถม้าเติมทุนซึ่งทำหน้าที่แสวงหาตลาดเป้าหมายและอำนวยความสะดวกในการขอสินเชื่อ มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ 2) สินเชื่อในวงเงิน 15 ล้านบาทต่อราย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร (Transform) ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ส่วนใหญ่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับยังมีผู้ประกอบการ SMEs ให้ความสนใจ โดยปรับให้เป็น 50 ล้านบาทโดยขอขยายวงเงินสูงสุดต่อรายรวมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 โครงการข้างต้นสูงสุดไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท

ค้ำประกันเงินกู้เอสเอ็มอีแบงก์ 21,000 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหุ้นกู้วงเงินรวมไม่เกิน 21,000 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อรองรับการดำเนินงานของ ธพว. ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลอื่นๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงของ ธพว.

อนุมัติโครงการห้องเรียนกีฬา 600 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการห้องเรียนกีฬา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหานักกีฬาใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและต่อยอดให้กีฬากลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และมีความยั่งยืน โดยนำรูปแบบโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้มาขยายผลสู่ “โครงการห้องเรียนกีฬา” และเพื่อให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับการกีฬา และสามารถประกอบอาชีพเกี่ยวกับการกีฬาได้

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 12-18 ปี ที่มีความถนัดและความสามารถพิเศษทางการกีฬา (ฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือบาสเกตบอล) จำนวน 1,764 คน โรงเรียนละไม่เกิน 80 คน โดยนักเรียนจะสำเร็จการศึกษาในปีงบประมาณ 2565 เข้ามาศึกษาในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 9 โรงเรียน 8 จังหวัด

อนุมัติเพิ่มของขวัญปีใหม่ 8 จากหน่วยงาน

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตราการกระตุ้นเศษฐกิจช่วงปีใหม่ ผ่านบริการช่องทางของแต่ละกระทรวงเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 ให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการบูรณาการหน่วยงานเคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการตรวจยีนแพ้ยา 10,000 คน โครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สธ.

ด้านกระทรวงแรงงาน ได้มีการขยายสิทธิลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 11,500,000 คน เพิ่มอัตราค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหายเป็น 10 ปีและเพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 40,000 บาท พร้อมจัดทำบริการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทาง YouTube กว่า 174 เรื่อง โดยจัดให้มีวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้หรือฝึกอบรมออนไลน์ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสมัครเข้ารับการพัฒนาทักษะ 4.0 จำนวน 286 หลักสูตร

สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งมอบโครงการชลประทานขนาดเล็กจำนวน 6 โครงการปรับปรุงโครงการชลประทานและก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 51,600 คน 17,500 ครัวเรือน จัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรจุดจำหน่ายของหน่วยงานต่างๆ และในตลาดออนไลน์เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงเปิดสถานที่ราชการ ปรับภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว และเปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปศุสัตว์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย พร้อมเปิดจุดให้บริการผ่านจุดบริการต่างๆกว่า 160 จุดในพื้นที่ 76 จังหวัดอีกด้วย

ตั้ง “พ.ต.อ. บุญส่ง” นั่ง ผอ.กองสลากฯ – รับโอน “ไก่อู” นั่งอธิบดีกรมประชาฯ

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ประชุม ครม. อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการบริหารระดับสูงหลายตำแหน่งดังนี้

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอนายณรงค์ บุญโญ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นต้นไป
  • กระทรวงพาณิชย์เสนอ 3 ราย ดังนี้ 1. นายสาโรจน์ สุวัตถิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2. น.ส.สุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน และ 3. นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นต้นไป
  • กระทรวงพลังงานเสนอ 3 ราย ได้แก่ 1. นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 2. นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยธุรกิจน้ำมัน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และ 3. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นอกจากนี้
  • กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เสนอ 2 ราย ได้แก่ 1. น.ส.วิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ 2. นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ ครม. อนุมัติแต่งตั้งตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอโอนนายโชติ ราชู ตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือนสามัญ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ลาออกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นต้นไป
  • คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน อนุมัติรับโอน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ข้าราชการทหารผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก กระทรวงกลาโหม มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์