ThaiPublica > เกาะกระแส > “บรรยง พงษ์พานิช” วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก แนะรัฐทำสิ่งที่จำเป็น ปล่อยตลาดทำงาน

“บรรยง พงษ์พานิช” วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก แนะรัฐทำสิ่งที่จำเป็น ปล่อยตลาดทำงาน

29 พฤศจิกายน 2018


นายบรรยง พงษ์พานิช ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดกิจกรรม “ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศไทย” มีคณะผู้บริหารร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก” ว่า

ติดกับดักการเติบโตร่วม 10 ปี

นายบรรยงกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนซึ่งมีรายได้ประชากรต่อหัว 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ออกมาบอกประชาชนว่าให้อดทน แต่ประเทศไทยที่มีรายได้ประชากรต่อหัว 6,600 ดอลลาร์สหรัฐ กลับมีการออกมากบอกว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดี สบายใจ เพราะเศรษฐกิจไทยจะโตในอัตรา 4% เป็นครั้งแรก หลังจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3% มาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจเติบโตแค่ 3.3% ซึ่งชะลอตัวลงมาจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 อย่างมีนัย อีกทั้งรายละเอียดของการเติบโตเศรษฐกิจก็ยังมีข้อกังขา

นายบรรยงกล่าวต่อว่า สรุปประเทศไทยในทางเศรษฐกิจ ติดกับดับมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เศรษฐกิจก็ไม่ได้ขยายตัวดี เศรษฐกิจเติบโตเพียง 4-5% เท่านั้นเอง ถ้าเทียบกับที่เคยเติบโต 7% โดยเฉลี่ย มา 40 ปี ในช่วงปี 2500-2540 ซึ่งยุคนั้นมีการเรียกประเทศไทยว่า มหัศจรรย์ของเอเชีย หรือ Miracle of Asia

“ถามว่าที่เราเติบโตเฉลี่ยมา 3-4% มาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี มีการอัดฉีดเงินทุกด้าน ยังโตมาได้แค่ 4% อะไรคือปัญหา”

10 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะในประเทศอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาด้วยกันเกือบทั้งโลก ยกเว้นประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้น ถ้าไปในอัตรานี้ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านไทย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราการเติบโตเกือบ 6% จะโตล้ำหน้าไทยไปชั่วชีวิตของเยาวชนรุ่นนี้

ถามว่าปัญหาคืออะไร ประเทศไทยมีปัญหาเยอะแยะมากมายเกือบทุกด้าน ที่ทำให้ประเทศเราขึ้นชื่อว่าเป็น “sick man of Asia คนป่วยของเอเชีย” ในการวิเคราะห์ทั่วไปจะเห็นปัญหาหนึ่ง คือ แก่ก่อนรวย คือการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่จะสร้างเสริมเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ปัญหาคือคนไทยมีอายุสูงพ้นวัยทำงาน ขณะที่ตัวประเทศไทยเพิ่งพัฒนามาได้ครึ่งเดียว คือ 6,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ตามเป้าหมายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมี 12,500 ดอลาร์ ประเทศไทยจะเอาทรัพยากรที่ไหนที่จะมาทำให้เติบโตต่อไปได้ ในเมื่อทรัพยากรมนุษย์ขาดแคลน การส่งเสริมให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี กว่าจะเพิ่มขึ้นได้

ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำสุดในโลก 1.4 ต่อผู้หญิง 1 คน ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มยุโรป สวีเดนยังสูง 1.7 แต่ประเทศไทยต้องอยู่กับปัญหานี้ ซึ่งยังแก้ไม่ได้ ต้องรับคนเข้ามาในประเทศ แต่คนที่ต้องการจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีคุณภาพที่จะเพิ่มผลิตภาพได้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำเกือบทั้งนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายที่จะชักจูงโน้มน้าวให้คนที่มีทักษะสูงเข้ามา เพราะคนที่มีทักษะสูงในประเทศกีดกันไว้ผ่านนโยบายต่างๆ โดยที่ไม่รู้ตัว

ปัญหาต่อไปคือ ด้านการศึกษา เป็นสิ่งที่พูดกันมา เป็นสิ่งที่รู้และยอมรับกันทั่วว่า การศึกษาล้มเหลว ไม่สามารถยกระดับบุคคลากรของประเทศให้ขึ้นมามีคุณภาพพอที่จะเพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศขึ้นมาได้ ส่วนการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มวันนี้จะเห็นผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

คอร์รัปชัน อุปสรรคใหญ่ฝังรากลึก

นายบรรยงกล่าวต่อในด้านอุปสรรค อุปสรรคใหญ่ของไทยคือคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคม ระบาดไปทั่ว นอกจากจะเอาทรัพยากรไปแล้ว ยังทำให้นโยบายบิดเบือน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในทางวิชาการบอกว่า ถ้าคนโกงไป 1 ล้านบาทจะส่งผลลบต่อระบบทั้งระบบ 10 เท่า ไม่ใช่แค่ตัวเงินที่เอาไป แต่ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน ตัวอย่าง สมมติให้พ่อค้าสามารถไปซื้อการผูกขาดมาได้ ไม่ว่าจะจ่ายเงินไป 1 พันล้านบาท 2 พันล้านบาท 3 พันล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่เขาได้กลับมาเป็นแสนล้านบาทจากการผูกขาด ซึ่งแสนล้านบาทเอาไปจากไหน ไปจากผู้บริโภคทั้งหลาย จากศักยภาพการแข่งขัน ทำให้ทุกอย่างบิดเบือนไปหมด

เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปซึ่งพูดกันมานานตั้งแต่ปี 2557 จะปฏิรูปไปไหน มีทิศทางอะไร รูปแบบเป็นอย่างไร ก็ชวนมองไปว่า เวลาพัฒนาไปแล้ว อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรจะมีความสุขไปด้วย เพราะการกระจุกตัวไม่มาก มีทั้งความมั่งคั่งและการกระจายที่ทั่วถึง ก็พบว่ามีเงื่อนไข 3 อย่าง

หากไปดูดัชนีหรือตัววัด 3 อย่าง ประเทศที่อยู่อันดับต้นของดัชนี ด้านแรก ความร่ำรวย ที่วัดจาก GDP per capita พบว่า 20 ประเทศแรกที่มีความร่ำรวยที่สุดในโลก สอง ความเป็นประชาธิบไตย ซึ่งดัชนีที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุด democracy index ที่จัดทำโดย Economic Intelligent Unit (EIU) พบว่าประเทศ 20 ประเทศที่มีประชาธิปไตยสูง มีการพัฒนามายาวนาน (ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าเลือกตั้ง)

“ประเทศไทยก่อนที่จะมีปฏิวัติอยู่ที่อันดับ 60 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยเต็มใบหรือ full democracy ปัจจุบันนี้อยู่อันดับ 102 แต่หากไม่มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อันดับของไทยคงไปอยู่เหนือเกาหลีเหนือนิดเดียว การพัฒนาประชาธิปไตยมีองค์ประกอบอื่นเยอะแยะ ไม่ใช่มีแค่การเลือกตั้ง ต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีหลักนิติธรรม (rule of law) เป็นต้น”

ดัชนีตัวที่ 3 คือ Corruption Perception Index ดัชนีชี้วัดความโปร่งใส

“ที่ผมยก 3 ดัชนีนี้ขึ้นมา เพราะมีคำถามง่ายๆ ว่า ประเทศเหล่านี้ที่ร่ำรวย เคารพสิทธิมนุษยชน ถึงเลิกโกง หรือเพราะเคารพสิทธิมนุษยชน แล้วไม่โกง ประเทศถึงรวย ซึ่งค่อนข้างชัด ว่าไม่ใช่รวยแล้วถึงเลิกโกง ไม่ใช่ว่ารวยแล้วถึงเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่พัฒนาต่อเนื่องยาวนาน เพราะมีกลไกที่ทำให้เกิดความโปร่งใสทำให้พัฒนาไปได้”

ไทยจะเดินแนวไหน

ทีนี้ เวลาพูดอย่างนี้ แล้วคำถามต่อมาคือ จะทำอะไร อะไรคือธีม อะไรคือแนวที่ไทยควรไป

ในด้านเศรษฐกิจเป้าหมายมี 3 ข้อ คือ มั่งคั่ง แบ่งปันและยั่งยืน โดย มั่งคั่ง คือ รายได้ต่อหัว ไม่ใช่กระจุกเฉพาะกลุ่ม ต้องแบ่งปันมีการกระจายที่ดี เรื่องความมั่งคั่งประเทศไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่การกระจายยังน้อย

ประเทศไทยติดอันดับที่การกระจายความมั่งคั่งแย่ อยู่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย คนรัสเซีย 1% แรกถือทรัพย์สินรวม 74% คนอินเดีย 1% แรกถือทรัพย์สินรวม 58.8% คนไทย 1% แรกหรือประมาณ 600,000 คน ถือทรัพย์สิน 58.0% และจะแซงอินเดียได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประเทศอื่นไม่ถึง 50% สหรัฐอเมริกา 42%

นอกจากนี้ จากการวัดทุกมุมประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก แนวทางที่ทำมาในการกระจายความมั่งคั่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งมาตรการที่พยายามจะเสริมเข้าไป เช่น นโนยายประชานิยม ที่จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หรือการพยายามเก็บภาษีจากผู้มีรายได้มากให้ได้มากขึ้น โดยภาษีที่ออกมาคือภาษีมรดก ซึ่งมีผลมา 3 ปีแล้ว เก็บได้ประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนภาษีที่ดิน มีทั้งวิธีเลี่ยงวิธีใช้ดุลยพินิจมากมาย ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวที่บอกว่าจะเดินอย่างไร

ด้านความยั่งยืนหมายถึง ต้องมีการพัฒนาเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ในระยะสั้นเศรษฐกิจเสถียรมาก แต่ความยั่งยืนจะหยุดอยู่กับที่ จะอย่างยั่งยืนไปตลอดหรือไม่

รัฐต้องทำในสิ่งจำเป็น ปล่อยกลไกตลาดทำงาน

นายบรรยงกล่าวต่อว่า “จากประสบการณ์ 40 ปีในการทำงานหลายเรื่อง ธีมอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีใครพูดถึง ผมคิดว่าธีมที่เหมาะสมที่สุดของไทยคือนีโอลิเบอรัล (เสรีนิยมใหม่) ความเป็นรัฐสวัสดิการ”

รัฐสวัสดิการ ส่วนใหญ่ยังสับสนระหว่าง welfare กับสังคมนิยม ประเทศที่ประสบผลสำเร็จมากในเรื่องรัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในยุโรปเหนือ จะพบว่าใช้ระบบตลาดเต็มที่ แต่มีกระบวนการที่จะย้ายทรัพยากรจากภาคส่วนที่ไม่จำเป็นมาสู่ภาคส่วนที่จำเป็น รวมทั้งย้ายจากภาคส่วนที่มั่งคั่งไปสู่ภาคส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ

welfare ของประเทศยุโรปเหนือไม่เกี่ยวกับความมั่งคั่งหรือไม่มั่งคั่ง เช่น สวัสดิการด้านการมีบุตร คนรวยคนจนได้รับทุกคน รวมทั้งการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่าง สวีเดนโรงพยาบาลรัฐมีสัดส่วนเพียง 14% เท่านั้นอีก 86% เป็นโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนก็เหมือนกัน คือไม่ใช่โรงเรียนรัฐ เป็นประเทศรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล แต่ให้ตลาดทำงาน รัฐให้คูปองไป ประชาชนไปเลือกใช้บริการเอง ให้ตลาดทำหน้าที่ทั้งการกำหนดราคาและการแข่งขัน นี่คือ welfare ในความหมายของเสรีนิยมใหม่ ไม่ใช่สังคมนิยมที่เป็นระบบที่รัฐทำทุกอย่าง แต่เมืองไทยยังไม่มีเส้นแบ่งชัดระหว่างสวัสดิการกับสังคมนิยม

แนวคิดของเสรีนิยมใหม่จริงๆ คือ รัฐทำแต่สิ่งที่จำเป็น รัฐปล่อยให้ตลาดทำงานให้ได้มากที่สุด รัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกรณีที่ตลาดล้มเหลว หรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

รัฐจะมีบทบาทต่อเมื่อเกิด market failure หรือ เกิด externalities ซึ่งตัวอย่างของ market failure คือ หน้าที่ของรัฐคือการวางกลไก วางโครงสร้างการตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่โดยสมบูรณ์ แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ที่ตลาดทำงานไม่ได้ เช่น กรณีที่ต้องมีการพัฒนาในพื้นที่ที่เอกชนยังไม่ทำ ตรงนี้รัฐต้องเข้าไปเกี่ยว วิธีการเข้าไปเกี่ยวมีหลายวิธี แต่วิธีการที่เลวร้ายสุดคือรัฐลงไปทำเอง

market failure ที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ เมื่อไรก็ตามที่มีการเกิดผูกขาด มีการแข่งขันน้อยราย รัฐจะต้องทำลายการผูกขาดนั้นถ้าทำได้ หรือในกรณีที่การผูกขาดนั้นไม่สามารถที่จะทำลายได้ เพราะเป็น national monopoly รัฐต้องเข้าไปควบคุมไม่ให้ใครก็ตาม ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนเอาพลัง monopoly นั้นไปเอารัดเอาเปรียบตลาดแล้วทำให้เกิดการบิดเบือน และรัฐจะต้องไม่สร้างการผูกขาดเสียเอง เช่น เปิดประมูล duty free แบบ single operator เป็นต้น

ในประเทศไทยชัดเจนมาก รัฐบาลเราใหญ่เกินไปทั้งขนาด บทบาท อำนาจ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การลดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ ผ่านหน่วยงานของรัฐ ผ่านกฎหมายที่รัฐถืออยู่ และผ่านรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน

“หลักง่ายๆ คือ ลดให้มากที่สุด เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่คงไม่เกิดขึ้น เพราะการปฏิรูปทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย หรือ การทำ regulatory guillotine เป็นความพยายามที่จะลดกฎหมาย กฎระเบียบ”

นายบรรยงกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีกฎหมาย 7 แสนฉบับ ซึ่งแยกเป็นของท้องถิ่น 5 แสนฉบับ ขณะนี้มีความพยายามที่จะจัดการยกเลิกกฎหมายเหลือ 1 แสนฉบับ แต่ต้องใช้เวลา เพราะกฎหมายทั่วไป การแก้ไขต้องใช้เวลาฉบับละ 2 ปี ถ้าจะแก้ทั้งหมดใช้เวลานาน เป็นหมื่นปี ดังนั้นควรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และหน่วยงานของรัฐควรแยกเอาไปทำ ขณะนี้มีหน่วยงานที่บางแห่งเริ่มทำแล้ว เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว และกำลังจะทำกับกฎหมายด้านสถาบันการเงิน

ส่วนกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันมีความสำคัญมาก จากการทำงานกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ก่อตั้งมาแล้ว 7 ปี ก็เห็นความคืบหน้าในหลายจุด แต่การขจัดคอร์รัปชันในทันทีเป็นไปไม่ได้ เพราะมีจำนวนมหาศาล มีคนพูดว่า คอร์รัปชันเป็นหนึ่งในสายเลือดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่อนาคตต้องกำจัดให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีอนาคตที่รุ่งโรจน์ไปได้