แม้ว่าจะทราบถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างจังหวัดแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ด้วยแต่ละคนย่อมมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และอาชีพที่แตกต่างกันไป ซึ่งความยากง่ายหรือความเสี่ยงของอาชีพต่างๆ เหล่านั้นส่วนหนึ่งสะท้อนจากรายได้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำคือ ในระดับอาชีพเดียวกันแล้วยังปรากฏความเหลื่อมล้ำทางรายได้อีกหรือไม่ และรุนแรงเพียงใด
- ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม (1): ธปท.ชี้ 24 ปี รายได้ดีขึ้น แต่ทรัพย์สินแย่ลง
- ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม (2): ยิ่งห่างไกล “เมืองใหญ่” ยิ่ง “ยากจน”
href=”https://thaipublica.org/2019/12/bot-report-inequality02/”>
ในรายงานศึกษาตอนที่ 2 ส่วนหนึ่ง เขียนโดยนางสาวพรชนก เทพขาม เศรษฐกร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตอนที่ 3 ของชุดรายงาน “ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามศึกษาประเด็นต่างๆ เหล่านี้ภายใต้หัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำมิติอาชีพของไทย: กรณีศึกษาในอาชีพเกษตร” เขียนโดยนายณัฏฐภัทร์ กิ่งเนตร เศรษฐกร ธนาคารแห่งประเทศไทย และนางสาวณัฐนรี มณีจักร นักศึกษาฝึกงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ในรายงานตอนที่ 2 ส่วนหนึ่งได้ศึกษาเพิ่มเติมว่าในระดับพื้นที่หรือจังหวัดที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อรายได้ที่แตกต่างกันของ “อาชีพ” เดียวกันหรือไม่ โดยการศึกษาเมื่อควบคุมปัจจัยรายบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และเพศ รวมถึงค่าครองชีพระหว่างกรุงเทพฯ และภาคต่างๆ แล้วพบว่าปัจจัยเชิงพื้นที่อธิบายโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำงานที่ไม่เท่าเทียมได้ค่อนข้างมาก โดยคนทำงานในอาชีพเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายกันในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีโอกาสในการสร้างรายได้หรือผลตอบแทนแตกต่างกันค่อนข้างมากและมีนัยสำคัญ
อาทิ ผู้ประกอบอาชีพผู้จำหน่ายสินค้าในกรุงเทพฯ มีรายได้สูงกว่าผู้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณลักษณะเดียวกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง 7,461 บาทต่อคนต่อเดือน ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการสร้างรายได้นี้พบมากในอาชีพเกษตรกรระหว่างพื้นที่ภาคกลางกับภาคอื่นๆ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในงานศึกษาหนึ่งยังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากรุงเทพฯ ยังมีความหลากหลายด้านอาชีพมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มจังหวัดภาคกลางและหัวเมืองในภูมิภาค ส่วนกลุ่มจังหวัดที่อยู่ชายขอบ อาทิ แม่ฮ่องสอน มีความหลากหลายด้านอาชีพน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ในรายงานตอนที่ 3 พยายามจะศึกษาเจาะลึกลงไปยังอาชีพเกษตรกร โดยชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในกลุ่มอาชีพเดียวกัน มีความรุนแรงมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างกลุ่มอาชีพ และด้วยข้อกำจัดทางทรัพยากรที่มีทำให้ภาครัฐไม่อาจช่วยเหลือทุกกลุ่มอาชีพพร้อมกันได้ อาชีพเกษตรกรจึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน โดยอิงจาก 3 มิติ ได้แก่ ขนาดของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และจำนวนครัวเรือนในแต่ละอาชีพ โดยอาชีพเกษตรกรมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และเป็นอาชีพของครัวเรือนส่วนใหญ่ของครัวไทย
“ครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60% มีรายได้สุทธิต่อเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพ นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะที่หัวหน้าครัวเรือนมีอายุมากและการศึกษาน้อยซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการยกระดับรายได้ โดยเห็นได้จากผู้หารายได้หลักของครัวเรือนเกษตรกรมีอายุอยู่ในช่วง 40 ถึง 60 ปี ขณะที่ระดับการศึกษาของครัวเรือนเกษตรกรจะไม่เกินระดับชั้นประถมศึกษา” รายงานระบุ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในอาชีพเกษตรกร ในการศึกษาเชิงปริมาณพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเหลื่อมล้ำของปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2558 แตกต่างกันไม่มากนัก กล่าวคือ ปัจจัยทางด้านการเงินทั้งสินทรัพย์ทางการเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนในอาชีพนี้ ขนาดที่ดินทำกินที่เป็นของตนเองมีอิทธิพลรองลงมา ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ที่ดินคือปัจจัยการผลิตที่สำคัญและการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตร
สำหรับด้านปัจจัยด้านการศึกษา ยังคงมีความสำคัญและมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2560 ส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนในอาชีพนี้เช่นกัน แม้จะไม่มากแต่ก็สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจดิจิทัลที่นำอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำธุรกรรมด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น
จากผลของปัจจัยเหล่านี้สรุปได้ว่า สินทรัพย์ทางการเงินที่มีและการใช้สินเชื่อที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อขยายการผลิตที่ไม่เท่ากัน การไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ประกอบกับโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ตและการศึกษาที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร
6 ปัจจัยความเหลื่อมล้ำรายได้เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้สามารถอธิบายต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกถึงกว่า 70% ที่มีความสำคัญ แต่ไม่สามารถอธิบายได้จากแบบจำลองได้ ทางคณะผู้ศึกษาจึงลงพื้นที่สำรวจสอบถามเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งเพื่อสอบทานกับผลการวิเคราะห์ที่ได้จากแบบจำลองนี้กับสภาพความเป็นจริงว่าสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งค้นหาปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยพบว่ามีอีก 6 ปัจจัยที่สามารถอธิบายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของเกษตรกร ได้แก่
- ปัจจัยด้านแหล่งชลประทาน: เกษตรกับน้ำเป็นของคู่กัน ใครใกล้แหล่งน้ำย่อมได้เปรียบ เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการเพาะปลูกและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานแล้ว พบว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ครัวเรือนที่เข้าถึงแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะมาจากการขุดบ่อเก็บน้ำหรือขุดเจาะน้ำบาดาล มีโอกาสในการเพาะปลูกได้ตลอดปีและมีพืชผลที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องสภาวะตลาด ณ เวลานั้น ได้มากกว่าครัวเรือนที่ต้องรอน้ำจากธรรมชาติที่มีความเสี่ยงจากภาวะอากาศที่แปรปรวนที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น
- ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้ง: ปัญหาทางภูมิศาสตร์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสาคัญที่ส่งผลต่อลักษณะการเพาะปลูกของเกษตรกร ในบางพื้นที่สามารถปลูกพืชที่ตลาดต้องการเป็นพิเศษได้ หรือปลูกพืชได้หลากหลายชนิดเพราะสภาพดินและภูมิประเทศเอื้ออำนวย เช่น 1) เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าพันธุ์โรบัสต้า และปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่ทว่าพันธุ์ดังกล่าวสามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่ที่สูงจากน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตรขึ้นไปถึงจะให้ผลผลิตดี ดังนั้นส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกในแถบภาคเหนือ 2) การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังการทำนาตามนโยบายสนับสนุนของทางการที่ปลูกได้เฉพาะบริเวณที่ดินไม่อุ้มน้ำเกินไป และ 3) การปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากสภาพดินเหมาะสม
- ปัจจัยด้านทัศนคติและการปรับตัว: โลกปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป ใครก้าวไวย่อมได้ก่อน จากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมของครัวเรือนเกษตรกรที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจะคอยติดตามข่าวสาร สภาวะตลาด และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีราคาสินค้าเกษตรตัวใดไม่ดี ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก เช่น ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ เทียบกับบางรายยังคงมีความเชื่อที่ว่าใส่ปุ๋ยมากไว้ก่อนจะเป็นผลดีต่อการผลิตทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง เพราะข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังเป็นผลเสียต่อสภาพดินในระยะยาว
- ปัจจัยด้านพันธุ์พืช: พืชต่างกันให้ผลตอบแทนต่างกันขึ้นกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าราคาพืชแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันตามสภาพตลาดของพืชชนิดนั้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น ในช่วงมีนาคมถึงเมษายนของปี 2562 เราจะเห็นได้ว่าความต้องการทุเรียนจากจีนมีมาก ทำให้ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้น เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจึงสามารถสร้างรายได้มากขึ้นเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับในอดีตและพืชชนิดอื่นๆ ในขณะที่ราคายางพาราตกต่ำจากผลกระทบของความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง โดยเฉพาะจากจีน อันเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หรือแม้แต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอันเนื่องจากมีอุปทานส่วนเกินภายในประเทศ และต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากประเทศผู้ผลิตข้าวในตลาดโลก ดังนั้น การเพาะปลูกพืชที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดจะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้
- ปัจจัยด้านทักษะและประสบการณ์: สั่งสมความเชี่ยวชาญ นำความรู้มาพัฒนาต่อยอด เกษตรกรบางรายมีความชำนาญในการเพาะปลูกพืชบางชนิดเป็นพิเศษ จากการที่ลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานาน หรือได้เรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกใหม่ๆ จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน แล้วนำมาใช้จนในที่สุดทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและโดดเด่นกว่าทั่วไป เช่น การตัดแต่งลำไยฝาชีหงายของเกษตรกรในภาคเหนือ ซึ่งทำให้ลำไยมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น ในขณะที่ยังคงความอร่อยไว้ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิต ทำให้ขายได้ในราคาสูงขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงสูตรในการให้ปุ๋ยให้เหมาะกับสภาพดิน หรือที่เรียกกันว่าการใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต
- ปัจจัยด้านการใช้เทคโนโลยี: เพิ่มโอกาสใหม่ทางการค้าด้วยโลกออนไลน์ เกษตรกรบางรายประสบความสำเร็จในการประยุกต์นำแพลตฟอร์มในโลกอินเทอร์เน็ตมาช่วยเพิ่มโอกาสช่องทางขายผลผลิตให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการโฆษณาขายข้าวหอมมะลิ หรือพนักงานออฟฟิศที่ผันตัวเองเป็นเกษตรกรสวนมะนาว ที่ จ.กำแพงเพชร โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการส่งขายผลผลิตมะนาวทั่วประเทศ