ThaiPublica > เกาะกระแส > World Economic Forum แจงความเสี่ยงโลกปี 2563 เป็นครั้งแรกที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมแซงหน้าทุกความเสี่ยง

World Economic Forum แจงความเสี่ยงโลกปี 2563 เป็นครั้งแรกที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมแซงหน้าทุกความเสี่ยง

27 มกราคม 2020


เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2563 หรือ Global Risks Report 2020 ซึ่งเป็นรายงานที่ออกมาต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว โดยในปีนี้สภาเศรษฐกิจโลกระบุว่าแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ประชากรศาสตร์ และเทคโนโลยี กำลังก่อร่างสมดุลของอำนาจในโลกใหม่ และนำไปสู่ความวุ่นวายทางด้านรัฐภูมิศาสตร์ของโลก อะไรที่เคยถูกมองว่าเป็นโครงสร้างของโลกที่ส่งเสริมเกื้อกูลกันหรือเป็นพันธมิตรกันและข้อตกลงในรูปแบบพหุภาคีที่เคยเป็นมา นอกจากไม่ได้คงอยู่อีกต่อไปแล้ว มันกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงด้วย ผลที่ตามมาคือลัทธิชาตินิยมที่มุ่งเน้นวาระของชาติตนเองและการถอนตัวออกจากการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ

“เหนือไปกว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับความขัดแย้ง ถ้าหากผู้มีส่วนได้เสียยังมุ่งเน้นที่ความได้เปรียบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เฉพาะหน้า และล้มเหลวที่จะสร้างหรือปรับกลไกด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในห้วงเวลาอันวุ่นวายแบบนี้ โอกาสที่จะได้ทำอะไรที่สำคัญอาจจะขาดหายไปด้วย” รายงานระบุ

ขณะที่ความเสี่ยงของโลกที่ต้องจับตาในปีนี้มีอยู่ 4 ประการ ประการแรก คือ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความสามัคคีของสังคม รายงานได้เตือนถึงแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกจากโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคที่เปราะบางและความไม่เท่าเทียมทางการเงิน แรงกดดันนี้จริงๆ ได้รุนแรงมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว และเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะติดหล่มมาอย่างต่อเนื่อง

“จากเดิมที่นโยบายอย่างการลดการกีดกันทางการค้า นโยบายทางการคลังที่ระมัดระวัง และการลงทุนระหว่างประเทศถูกมองว่าเป็นพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันกำลังฉีกขาดไปเมื่อผู้นำสำคัญของโลกมุ่งดำเนินนโยบายแบบชาตินิยมมากขึ้น ช่องว่างสำหรับนโยบายการเงินและการคลังเองก็เหลือน้อยลงมากกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 สร้างความไม่แน่นอนว่านโยบายเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญคือความท้าทายเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปตลอดปีนี้”

นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงเป็นความเสี่ยงสูงสุดในปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มืดมนมากขึ้น ความไม่พอใจของประชาชนกับรัฐบาลที่ไม่สามารถสนับสนุนการเติบโตหรือความก้าวหน้า รวมไปถึงความไม่เชื่อใจรัฐบาลที่จะจัดการปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้นำไปสู่การประท้วงทั่วโลก และยิ่งลดความสามารถของรัฐบาลที่จะดำนเนินการใดๆ ต่อไป และเมื่อขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศอาจจะมีความเสี่ยงที่จะขาดทรัพยากรทางการเงิน พื้นที่นโยบายการคลัง และการสนับสนุนของสังคมที่จำเป็นสำหรับการเผชิญหน้าความเสี่ยงอื่นๆ

ประการที่ 2 คือ ความเสี่ยงทางด้านการคุกคามของภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้โจมตีอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นกว่าที่หลายคนคาดการณ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่โลกร้อนมากขึ้นที่สุด ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าเดิม และในปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วไปทั่วโลก และล่าสุดมีการประเมินว่าโลกจะร้อนขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ นั่นคือครึ่งหนึ่งของตัวเลขที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้โลกต้องเจอกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง

“เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จัดทำรายงานความเสี่ยงโลกที่ผลสำรวจระบุว่าความกังวลทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่สูงกว่าความเสี่ยงด้านอื่นๆ ในระยะยาว โดย 3 จาก 5 อันดับแรกของความเสี่ยงสำคัญในปีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยมีความล้มเหลวที่จะจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถูกจัดอันดับให้เป็นความเสี่ยงอันดับแรก ยิ่งไปกว่านั้นความกังวลนี้ถูกสะท้อนในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งจัดอันดับให้ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว”

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพตามมาเป็นความเสี่ยงอันดับที่สองในแง่ของผลกระทบระยะยาว อัตราการสูญพันธุ์ได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าจากค่าเฉลี่ยในระยะเวลากว่า 10 ล้านปีที่ผ่านมา และมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไปจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของแหล่งอาหารของโลกและระบบสาธารณสุขไปจนถึงความปั่นป่วนในสายการผลิตทั้งโลก

ประการที่ 3 คือ ผลกระทบของความไม่เท่าเทียมทางด้านดิจิทัล แม้ว่าปัจจุบันมีคนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอยู่บนโลกออนไลน์แล้วและประเมินกันว่าคนประมาณ 1 ล้านคนจะเข้าถึงโลกออนไลน์เป็นครั้งแรกในทุกๆ วัน และ 2 ใน 3 ของประชากรโลกมีมือถือ และนำไปสู่ประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง และการขาดหลักธรรมาภิบาลทางด้านเทคโนโลยีของโลกและปัญหาความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโลก ปัญหาความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจจะยังคงคุกคามไม่ให้ศักยภาพทางเทคโนโลยีในรุ่นต่อๆ ไปถูกใช้ได้อย่างเต็มที่

ประการสุดท้าย คือ ระบบสาธารณสุขที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันใหม่ๆ ระบบสาธารณสุขทั่วโลกตกอยู่ใต้ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถตอบโจทย์โลกสมัยใหม่ได้อีกต่อไป ความเสี่ยงใหม่ๆ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ประชากรศาสตร์ และเทคโนโลยี กำลังเอาชนะประโยชน์ของระบบสาธารณสุขที่สนับสนุนสังคมโลกในศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขเก่าๆ กลับขึ้นมาเป็นปัญหาอีกครั้ง ประกอบกับที่ความเสี่ยงใหม่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ ในอดีตอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

“โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคทางจิตต่างๆ กำลังเข้ามาทดแทนโรคติดเชื้อต่างๆ ในฐานะสาเหตุการตายหลักของโลก ขณะที่ชีวิตที่ยืดยาวขึ้นและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากโรคเรื้อรังที่ตามมาสร้างแรงกดดันที่รุนแรงต่อระบบสาธาณสุขทั่วโลก อีกด้านหนึ่งสำหรับโรคติดเชื้อและโรคระบาดเองก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากลัทธิต่อต้านการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและภาวะดื้อยาที่กำลังรุนแรงขึ้นและทำให้การกำจัดเชื้อโรคที่รุนแรงเหล่านี้อย่างถาวรเป็นไปได้ยากขึ้นอย่างมาก”