ThaiPublica > เกาะกระแส > การบินไทยขาดทุนครึ่งปีแรก 28,029 ล้านบาท – มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมารวมกัน

การบินไทยขาดทุนครึ่งปีแรก 28,029 ล้านบาท – มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมารวมกัน

14 สิงหาคม 2020


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานงบการเงินประจำไตรมาสแรกและสองของปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET โดยรวมขาดทุนรวมไปกว่า 28,029 ล้านบาท มากกว่าผลขาดทุนของปี 2562 และ 2561 รวมกันที่ขาดทุนรวม 23,667 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมากทั้งนี้ บริษัทฯ จึงได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง รวมทั้งมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด

“โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท (15.8%) บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรกรวม 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท

สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรงอีกทั้ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยบริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มงวดและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด

“ในไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%”

สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8% เนื่องจากบริษัทฯ หยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษการให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน

สรุปในไตรมาสที่สอง บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1% แต่ในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหารและพนักงานร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2563 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท (67.4%) ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่สองรวม 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท (22.2%)