ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
ชิมก่อนปรุง : Taste before seasoning
- Stakeholder Capitalism เป็นแนวคิดใหม่ที่ Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum เสนอขึ้นมาเพื่อสร้างทุนนิยมในรูปแบบใหม่ด้วยความยั่งยืน
- หัวใจของ Stakeholder Capitalism คือ การให้ความสำคัญกับความกินดีอยู่ดีของผู้คนและความสมดุลของโลก (People and Planet)
- โมเดลการสร้างทุนนิยมที่ยั่งยืน คือ การตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholder ทั้งสี่กลุ่มด้วยวัตถุประสงค์ 4P (Profit Purpose Prosperity และ Peace)
อภิมหาวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามมากมายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรอบร้อยปีที่ผ่านมา… ชัยชนะของทุนนิยมต่อสังคมนิยมช่วงปลายทศวรรษที่ 80 นำไปสู่การเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มสูบ ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากพลังโลกาภิวัตน์ทำให้เศรษฐกิจระบบตลาดมีความมั่งคงแข็งแกร่ง
การตั้งคำถามต่อการพัฒนาที่เน้นตัวเลขของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงฝ่ายเดียวนำไปสู่ ชุดความคิดใหม่ๆ ต่อการพัฒนา ไล่ตั้งแต่แนวคิดเรื่อง sustainable development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดมาถึงปี 2015 ที่องค์การสหประชาชาติมุ่งเป้าหมายการพัฒนาไปที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดใหม่เหล่านี้ล้วนมีจุดยึดโยงคล้ายๆ กัน คือ การพัฒนาประเทศไม่ได้ตีกรอบแค่เรื่องการเจริญเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจ… การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่เหล่า policy maker และรัฐบาลทั้งหลายต้องพยายามทำให้ได้
Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum (WEF) หนึ่งใน think tank สำคัญของโลก ได้ออกมาเสนอแนวคิดเรื่อง stakeholder capitalism โดยเขาและ Peter Vanham ได้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ Stakeholder Capitalism: A Global Economy that works for progress, people, and planet

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ การชี้ให้เห็น “ทางเลือก” ที่อาจนำไปสู่ “ทางรอด” ของทุนนิยมในอนาคต แน่นอนว่าหลายเรื่องดูเหมือนพวกเราจะรู้แล้ว คุ้นเคยกับคำพูดสวยหรูแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน
Professor Klaus อธิบายถึงพัฒนาการแนวคิดเรื่อง stakeholder capitalism ว่า…
หลักใหญ่ใจความของ stakeholder capitalism เน้นที่การพัฒนาร่วมกันระหว่างเอกชน เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้างแรงงาน ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่ Professor Klaus เรียกนี้ คือ tripartite system ซึ่งบริษัท ลูกจ้างและรัฐ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างต้องคำนึงถึงเป้าหมายของกันและกัน

…หากเราอ่านแนวคิดดังกล่าวดูจะค่อนไปทางรัฐสวัสดิการที่รัฐมีหน้าที่จัดหาสวัสดิการที่มีคุณภาพทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุขและความมั่งคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน
ฟังดูแล้วไปทางนามธรรมเสียมากกว่ารูปธรรม… แต่เอาเข้าจริงฐานคิดนี้ปรากฏอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตอนเหนือและยุโรปตะวันตกอย่างเยอรมนีและกลุ่มเบเนลักซ์
อย่างไรก็ตาม stakeholder capitalism ถูกกลบด้วยกระแสแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐอเมริกา นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน “Milton Friedman” เสนอว่า shareholder capitalism ต่างหากที่จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากกว่า stakeholder capitalism
…อ่านบทความของ Professor Klaus แล้วดูเหมือนเขาจะเหน็บแนม Friedman อยู่ไม่น้อย เพราะในมุมของฝั่ง stakeholder capitalism นั้นเห็นว่าการมุ่งแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวในการพัฒนานั้นไม่ใช่คำตอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน
Professor Klaus อ้างถึงคำพูดของ Professor Friedman ที่ว่า shareholder primacy หรือผู้ถือหุ้นต่างหากที่ต้องมาก่อน
เมื่อกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 หลังจากที่ รายงานเรื่อง Our Common Future หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brundtland report เผยแพร่ออกมาทำให้ นักเศรษฐศาสตร์เริ่มหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่มุ่งเน้นสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

stakeholder capitalism ที่ Professor Klaus นำเสนอนั้นเน้นไปที่การสร้างสมดุลของการพัฒนาระหว่างผู้คน (people) และโลก (planet)
ในแง่ของผู้คนนั้น เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ เรื่องการกินดี อยู่ดี การมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือที่เรียกว่า well-being… ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเรื่อง well-being economy ถูกนำมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ นิวซีแลนด์ สกอตแลนด์ และไอซ์แลนด์ ที่หยิบเรื่องนี้มาประเด็นหลักในการพัฒนา
การกินดี อยู่ดี ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการมีอาหารการกินที่ดี สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและความคิด ระบบการศึกษาที่เปิดกว้างต่อการพัฒนา รวมถึงการแพทย์สาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ต้องเข้าถึงง่าย
เขียนมาถึงตรงนี้… ดูเหมือนจะ “โลกสวย” และวิ่งเล่นในทุ่งดอกลาเวนเดอร์
แม้ว่านักคิดสายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะถูกค่อนแคะเรื่องนี้เสมอ แต่เอาเข้าจริงเป้าหมายหลักของการพัฒนา หาใช่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่โตแบบพรวดพราด แต่ไร้คุณภาพ เพราะการเติบโตที่รวดเร็วแต่เต็มไปด้วยการทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา”
นอกจากเรื่อง people แล้ว Professor Klaus ได้ให้ความเห็นว่าโลกที่สมดุล เขาใช้คำว่า planet health หรือสุขภาพของโลกนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนบนโลกใบนี้ต้องช่วยกัน
ในหนังสือเรื่อง Stakeholder Capitalism เสนอให้เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียใน 4 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาล (government) ภาคประชาสังคม (civil society) บริษัทธุรกิจเอกชน (companies) และชุมชนระหว่างประเทศ (international communities)
Professor Klaus เสนอโมเดลให้ทั้งสี่กลุ่มนี้ต่างฝ่ายต่างต้องตอบสนองกันและกันภายใต้วัตถุประสงค์ที่ตนเองต้องการซึ่งเขาเรียกวัตถุประสงค์ทั้งสี่ด้านนี้ว่า 4P ประกอบด้วย profit, purpose, prosperity และ peace (ดูแผนภาพ)

โมเดลการพัฒนา stakeholder capitalism เริ่มต้นจาก ธุรกิจที่ยังคงต้องการกำไรในการขับเคลื่อนสร้างธุรกิจให้เจริญเติบโต โดย Professor Klaus ชี้ให้เห็นว่า บริษัทเอกชนควรคิดถึงการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองในระยะยาวว่าสินค้าหรือบริการที่ตัวเองผลิตออกมานั้นมีคุณค่ากับสังคมโลกนี้อย่างไร (long term value creation)
ภาคประชาสังคมมีวัตถุประสงค์เฉพาะด้านต่างๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางการศึกษา ความเสมอภาคทางเพศสภาพ การสาธารณสุขที่ทั่วถึง ความโปร่งใสในการใช้จ่ายงประมาณแผ่นดิน เป็นต้น ภาคประขาสังคมจึงเป็นอีกหนึ่งผู้มีส่วนได้เสียสำคัญที่มาขับเคลื่อน stakeholder capitalism
ภาครัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่แค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน การมีกฎกติกาในสังคมที่ชัดเจนและรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด
…เอาเข้าจริง สิ่งเหล่านี้ ไม่รู้ว่าเราจะขอมากเกินไปจากรัฐหรือไม่ แต่ภารกิจเหล่านี้เป็นภารกิจพื้นฐานที่รัฐถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้
ท้ายที่สุด ชุมชนระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพ การที่โลกปราศจากซึ่งสงครามและการก่อการร้ายเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กับความกระหายและละโมบในอำนาจของเหล่าผู้นำหลงยุค ที่มุ่งจะครอบครองโลกโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว เรื่อง stakeholder capitalism ที่ Professor Klaus และ Peter Vanham เสนอนั้นมีรากฐานความคิดที่ชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70… ทั้งนี้ เส้นสายลายแทงของความคิดเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งสร้างความสมดุลของการพัฒนาครอบคลุมทั้งด้านผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม
stakeholder capitalism อาจดูไกลจนเหมือนเราหลุดลอยไปในโลกพระศรีอาริย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิดนี้สามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำไปสู่ทางรอดของโลกทุนนิยมในปัจจุบันที่แย่งชิง สูบใช้ แข่งขันกันจนไม่ลืมหูลืมตา