ThaiPublica > เกาะกระแส > WEF ชี้ความสามารถในการแข่งขันไทยขึ้น 2 อันดับ จาก 40 เป็น 38 – แต่หลายด้านคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค

WEF ชี้ความสามารถในการแข่งขันไทยขึ้น 2 อันดับ จาก 40 เป็น 38 – แต่หลายด้านคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค

17 ตุลาคม 2018


รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index: GCI 4.0) เปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 140 ประเทศทั่วโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลสำรวจในปีนี้ ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยทาง WEF ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์และวิธีการคำนวณดัชนีความสามารถในการแข่งขันใหม่ สะท้อนภาพยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ The Fourth Industry Revolution ให้มากขึ้น สำหรับปีนี้ประเทศที่ได้อันดับ 1-10 คือ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สวีเดน และเดนมาร์ก ตามลำดับ

ในรายละเอียดของการจัดทำดัชนี คณะฯ เป็นผู้เก็บข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมตามเกณฑ์สัดส่วนที่เทียบเคียงกับภาพเศรษฐกิจจริงของประเทศที่กำหนดโดย WEF ก่อนจะนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยในปีนี้มีตัวชี้วัด 98 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้านที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศด้วยน้ำหนักที่เท่ากันทุกด้าน แตกต่างจากเดิมที่จะให้น้ำหนักแต่ละด้านตามระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจ

การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ปรากฏใน GCI 4.0 ประกอบไปด้วย 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว

  • ด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutions)
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
  • ด้านการประยุกต์ใช้ ICT (ICT Adoption)
  • ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability)
  • ด้านสุขภาพ (Health)
  • ด้านการศึกษาและทักษะ (Education and Skills)
  • ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market)
  • ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market)
  • ด้านระบบการเงิน (Financial System)
  • ด้านขนาดของตลาด (Market Size)
  • ด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism)
  • ด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability)

“อนึ่ง ตัวชี้วัดในปีนี้ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีมากกว่า 100 ตัวชี้วัด และเป็นตัวชี้วัดเก่าเพียง 34 ตัวชี้วัด ขณะที่ทีเหลือ 64 ตัวเป็นของใหม่ซึ่งจะเน้นการวัดอุตสาหกรรม 4.0 ของ WEF และไม่สามารถเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ หน้าได้ สำหรับปี 2560 WEF ได้แปลงผลคะแนนโดยเทียบกับตัวชี้วัดใหม่เพื่อให้เปรียบเทียบความก้าวหน้าได้ นอกจากนี้ แนวทางการเก็บข้อมูลก็ได้เปลี่ยนไป โดยในปีนี้ตัวชี้วัด 44 ตัวมาจากการสำรวจแบบสอบถาม หรือ Executive Opinion Survey (EOS) ซึ่งทั่วโลกได้ส่งแบบสอบถามไป 12,274 ชุดจาก 140 ประเทศ และมีค่ากลางของการตอบกลับประเทศละ 83 ชุด โดยประเทศไทยเก็บแบบสอบถามกลับมาได้ 95 ชุด และอีก 54 ตัวชี้วัดมาจากข้อมูลทุติยภูมิที่น่าเชื่อถือต่างๆ เช่น จากธนาคารโลกหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้หลายตัวชี้วัดอาจจะใช้ข้อมูลที่ไม่ได้ใหม่ที่สุดในปี 2561 โดยดัชนีปีนี้ยังถ่วงน้ำหนักคะแนน 2 ปี คือ 2560-2561 เช่นเดิม ด้วยสัดส่วน 47.4 ต่อ 52.6″ รศ. ดร.พสุ กล่าว

รศ. ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ด้วยเกณฑ์และวิธีในการคำนวณใหม่ของ WEF ที่ได้ออกแบบให้สะท้อนภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ด้วยคะแนน 67.5 ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 และมีคะแนน 66.3 แสดงให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์และวิธีการคำนวณโดยใช้เกณฑ์ 4.0 แล้ว ประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านระบบการเงิน (financial system) ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และได้รับคะแนน 84.19 (จาก 100) โดยในด้านระบบการเงินนั้นมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเงินทุน การให้สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งระบบในการลดและกระจายความเสี่ยงต่างๆ ทางด้านการเงิน ตัวอย่างปัจจัยต่างๆ ภายใต้ด้านการเงิน ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อที่มีให้กับภาคเอกชน หรือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือความพร้อมทางด้านการเงินในการสนับสนุนต่อ startups หรือเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านขนาดของตลาด (market size) ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และได้รับคะแนน 74.88 (จาก 100) โดยในด้านขนาดของตลาด จะสะท้อนให้เห็นขนาดของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเข้าถึง โดยเป็นผลรวมของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออก

คะแนนต่ำต้องปรับด้านการแข่งขันภายในประเทศ-ด้านการศึกษาและทักษะ

สำหรับด้านที่ประเทศไทยยังจะต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้มากขึ้นนั้น ประกอบไปด้วย ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (product market) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 โดยในด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ โดยการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของบริษัทต่างๆ และกฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อนและไม่ปิดกั้นต่อการแข่งขัน ย่อมจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ด้านการศึกษาและทักษะ (education skills) ของประเทศไทย ก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 66 ของโลก ด้วยคะแนน 62.99

จากรายงานยังระบุอีกว่า ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แม้ว่าคะแนนโดยรวมจะอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่หากแยกรายประเภทของดัชนีพบว่าประเทศไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคถึง 7 ประเภท หรือประมาณ 60% ของประเภทดัชนีชี้วัด ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ 

  • ด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutions)
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
  • ด้านการประยุกต์ใช้ ICT (ICT Adoption)
  • ด้านการศึกษาและทักษะ (Education and Skills)
  • ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market)
  • ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market)
  • ด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability)

ขณะที่อีก 5 ด้านที่เหลือประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและการเงิน ได้แก่ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) ด้านสุขภาพ (Health) ด้านระบบการเงิน (Financial System) ด้านขนาดของตลาด (Market Size) ด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism)

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 (ยกเว้นเมียนมาที่ไม่มีข้อมูล) จำนวน 12 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยอย่างสูงนั้น ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ โดยเป็นรองประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และจีน ซึ่งถือเป็นอันดับที่คงที่ติดต่อกันมาหลายปี ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์และวิธีการวัด แบบใด นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี และอีกด้านอาจจะสะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาให้เท่าทันกับโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย WEF หรือดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI 4.0) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเฝ้ารอและจับตาดู เพราะนอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

ผลการศึกษาทางด้านวิชาการยังพบความสัมพันธ์ในเชิงบวก ระหว่างระดับความสามารถในการแข่งขัน และระดับรายได้ของประชากรในแต่ละประเทศ ทุกประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของ GCI 4.0 ในปี 2018 เป็นประเทศที่มีระดับรายได้ของประชากรในระดับที่สูง (ระดับรายได้ของประชากรวัดจาก Gross National Income per Capita) สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 40 อันดับแรกของโลกตามแนวทาง GCI4.0 มีเพียงประเทศมาเลเซีย (อันดับที่ 25) จีน (อันดับที่ 28) และประเทศไทย (อันดับที่ 38) เท่านั้นที่ไม่ได้มีรายได้ต่อประชากรในระดับที่สูง

รายงานในปีนี้ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีดังกล่าวกับระดับรายได้ของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ พบว่ายิ่งประเทศมีคะแนนดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูง มักจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (Gross Natioanl Income per Capita) สูงขึ้นด้วยเช่นกัน และในกรณีของประเทศไทยพบว่า ที่ประเทศในระดับรายได้เดียวกัน ถือว่าเป็นประเทศที่มีคะแนนความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่หากวัดจากรายได้ต่อเดือนของประชาชน (Monthly Median Income) จะพบว่ารายได้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากที่คะแนนความสามารถในการแข่งขันผ่านจุด 50-60 คะแนนขึ้นไป และสุดท้ายในระดับการเติบโตพบว่า ความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจะนำไปสู่ระดับการเติบโตของจีดีพีตั้งแต่ 0.3-0.5% ต่อปี ขณะที่ในมิติอื่นๆ นอกจากรายได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความสุข และสิ่งแวดล้อม พบว่าระดับการแข่งขันที่สูงขึ้นสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำที่ลดลง ความสุขที่มากขึ้น และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

แกนตั้งคือรายได้ประชาชาติต่อหัว แกนนอนคือดัชนี GCI 4.0

อ่านรายงานฉบับเต็ม