ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” พร้อมรับศึกซักฟอก ขอสู้ด้วยข้อเท็จจริง – มติ ครม.เห็นชอบ ควบรวม CAT-TOT ชื่อใหม่ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ”

“บิ๊กตู่” พร้อมรับศึกซักฟอก ขอสู้ด้วยข้อเท็จจริง – มติ ครม.เห็นชอบ ควบรวม CAT-TOT ชื่อใหม่ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ”

15 มกราคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

พร้อมรับศึกซักฟอก – เชื่อเจตนารมณ์บริสุทธิ์ สู้ด้วยข้อเท็จจริง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเตรียมพร้อมในการอธิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าเรื่องการเตรียมความพร้อม ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ตนได้เตรียมการมาโดยตลอด ซึ่งตนจะอธิบายในข้อเท็จจริง และไม่สามารถพูดอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงได้ ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการของกฎหมาย เพราะรัฐบาลทำงานมาด้วยกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการยื่นญัตติมาก็ต้องฟังอีกทีว่ายื่นมาในเรื่องใดบ้าง อย่างไร ซึ่งทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้ว ทุกคนมีโอกาสพูดในทุกเรื่อง บางครั้งบางวาระบางกรณีพูดนอกกรอบไปก็เป็นสิทธิของท่าน เป็นเรื่องของสภา

“ผมก็พร้อมจะชี้แจงนั่นแหละยังไงก็ต้องการเตรียมการ แต่จะให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะเล่นงานอะไรผมบ้าง เขาไม่ได้บอกผม แต่ผมก็อาศัยเจตนารมณ์บริสุทธิ์ของผมในการทำงานมาชี้แจงในข้อเท็จจริง อธิบายอย่างอื่นคงไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันไม่ต้องการความรุนแรง – สั่งฝ่ายมั่นคงจับตาทุกกิจกรรม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีกิจกรรม “เดินเชียร์” และ “วิ่งไล่” จะกลายเป็นชนวนเพิ่มความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่หรือไม่ ว่า เรื่องของเดินเชียร์ฯ-วิ่งไล่ฯ ตนเห็นสื่อถามมาก็ไม่รู้ว่าคิดอย่างไร ถามมาเช่นนี้แต่ก็มีการประโคมข่าวกันทุกวัน ทั้งสองฝ่าย ตนก็ให้ฝ่ายความมั่นคงไปดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งตนนั้นไม่อยากให้ประชาชนถูกแยกเป็นสองฝ่าย หรือหลายคนหลายพรรคก็ไปแยกคนชนชั้นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มา หรือแยกตามเจเนอเรชัน เป็นคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ตนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมืองเลย

“มันต้องหาทางร่วมมือกันสิ เดี๋ยวฝ่ายความมั่นคงจะทบทวนเรื่องนี้อีกที ไม่ว่าจะเชียร์ หรือไล่ อะไรก็แล้วแต่ ว่าอะไรที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นอย่างเช่นที่เคยเกิดมาในอดีต ผมก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ใครอยากให้เกิดล่ะ เรื่องไล่เรื่องเชียร์ก็ว่ากันไปผมขอตอบแค่นี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

วอน ปชช.ช่วยกัน ลดฝุ่นเริ่มที่ตัวเอง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้ทำงานที่บ้านแก้ปัญหาฝุ่น ว่า วันนี้ปัญหาฝุ่นนั้นตนได้พูดไปแล้ว ว่าต้องดูสาเหตุปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วรัฐบาลทำอะไรได้บ้าง แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกกลุ่มทุกประเภทต้องร่วมมือกัน เพราะทุกคนต่างรู้ปัญหา ไม่ว่าการขับรถที่มีควันดำหรือไม่ดำ ทุกก็รู้ว่ารถตนเองเป็นอย่างไร ทุกคนก็ช่วยกันแก้สิ หากมาจากการเผาก็ต้องไปลดการเผาของตนเองให้ได้

“ส่วนรถขนส่งมวลชน ผมได้ย้ำไปแล้ว ต่อไปนี้การตั้งด่านตรวจจุดสกัดก็ต้องตั้งให้มากขึ้น รถคันไหนที่มีปัญหาที่ก็ไม่ให้วิ่งจนกว่าจะแก้ปัญหาได้ นี่กำลังมีมาตรการว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเขาได้บ้าง เช่น การเปลี่ยนไส้กรอง อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็กำลังหามาตรการอยู่ เช่น เอานักเรียนอาชีวะมาช่วยกันดูเครื่องยนต์ ผมเห็นว่าหลายคนก็มีความเดือดร้อนเขาถึงต้องใช้รถแบบนี้ก็ต้องไปแก้ปัญหาให้เขาอีก ทุกคนก็ต้องช่วยกันเพราะปัญหามาจากหลายส่วนด้วยกัน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหานั้นมาจากการจราจรกว่า 70% โรงงานอุตสาหกรรมอีก 17% และอื่นๆ อีก 15% โดยประมาณ ทุกอย่างตัวเลขทั้งหมดแล้ว ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ในการกำกับดูแลทั้งในส่วนของขนส่งมวลชน การออกมาตรการสำหรับรถบรรทุก ลดควันดำ เดินหน้ามาตรการเปลี่ยนการใช้รถเดินหน้าไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นไปตามขั้นตอน ไม่สามารถสั่งการได้ทีเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกันเช่นนี้ทีละขั้นทีละตอนไป ซึ่งตนอยากให้ช่วยกันอธิบาย ไม่อย่างนั้นก็ตีกันไปมาแก้ปัญหากันไม่ได้

“ท้ายที่สุดมาตรการที่รัฐบาลทำได้เต็มที่คือมาตรการทางกฎหมาย ห้ามรถวิ่ง ห้ามรถบรรทุกเข้าเมือง มันเดือดร้อนไหมล่ะ ฉะนั้นอะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกันก่อนเถอะ วันนี้เราได้เริ่มโครงการที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมก็ได้สั่งการให้เอาไปใช่ที่อื่นด้วย มีแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก รวมไปถึงเรื่องมาตรการป้องกันของคนแต่ละกลุ่มว่าต้องทำอย่างไรเพราะแต่ละคนมีภูมิต้านทานต่างกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขอบคุณชาวใต้รอบรับ – ชี้ ครม.สัญจรฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ประชาชนชายแดนใต้แสดงความดีใจ รอต้อนรับนายกฯ ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 20 -21 มกราคมนี้ ว่า ขอบคุณทุกคนที่รอต้อนรับการทำงานของ ครม. ตนขอให้ช่วยกันทำงานด้วย โดยช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งตนเองก็ได้กล่าวกับ ครม.ว่า เราต้องช่วยกันไปขับเคลื่อน ลงไปเยือนภาคใต้อีกครั้ง ที่ผ่านมานั้นตนไม่ยากให้เกิดปัญหา หรือเกิดความสิ้นเปลืองของฝ่ายความมั่นคง ที่นอกจากต้องดูแลประชาชนแล้วต้องมาดูแล ครม.อีก แต่จำเป็นก็ต้องไป ให้รบกวนคนให้น้อยที่สุด

“สิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นคือ เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายขึ้นในจังหวัดต่างๆ นั้นด้วย ทุกครั้งที่ไปจังหวัดไหนก็ตาม ไปประชุมนอกสถานที่ที่ใดก็ตาม การใช้จ่ายทางเศรษฐกิจก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม ในส่วนของภาคใต้นั้นมีการเตรียมงานของหน่วยงานต่างๆ ลงไปจำนวนมาก ต้องการให้เป็นดินแดนแห่งความสงบสุข เจริญรุ่งเรือง ข้อสำคัญคือเกิดการพัฒนา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

วอนเห็นใจรัฐอุ้มทุกเรื่องไม่ได้ ชี้ต้องเคารพกติกา WTO

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสภาเกษตรฯ ขอรัฐบาลช่วยส่งเสริมอาชีพอื่นๆ แทนการปลูกยางพารา ว่า รัฐบาลดำเนินการไปเยอะแล้ว ขอความกรุณาฟัง จำ แล้วชี้แจงกันด้วย รัฐบาลมีมาตรการทั้งการลดพื้นที่ปลูกยาง ส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นแซมในสวนยาง การตัดต้นยางที่อายุเกินไปเป็นวัสดุชีวมวล ทำมาทั้งหมดแล้ว ซึ่งหลายคนทำแล้วก็สำเร็จ

“การปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืนอีกต่อไป ต้องปลูกพืชเสริม พืชที่เป็นความต้องการของตลาด อะไรที่มากเกินไปบางทีก็ทำให้ราคาตก เพราะปริมาณสำรองเยอะ วันนี้ทุกคนเป็นห่วงเรื่องการเกษตร หลายประเทศก็อยากปลูกกันเองโดยไม่ต้องซื้อประเทศอื่น จึงเป็นปัญหาสำหรับไทยมากเหมือนกันในเรื่องของยาง”

“ซึ่งการตลาดนั้นสำคัญ ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องการตลาดด้วย ว่าจะทำอย่างไรถึงไม่มีปัญหา รัฐบาลเข้าไปอุ้มมากๆ ไม่ไหวบางอย่างก็ผิดกติกาของ WTO ขอให้เข้าใจด้วย บางอันทำได้บางอันทำไม่ได้หากผิดกติกา ผิดพันธสัญญาเพราะกระทบอย่างอื่นไปด้วย เรื่องการกีดกันทางการค้าต่างๆ อีกมากมาย ไม่ใช่เราอยู่คนเดียว เรากำหนดกติกาเองได้เมื่อไร ทุกคนเชื่อมโยงกันหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มั่นใจ ตร.จับมือปล้นร้านทองลพบุรีได้ ขออย่ากดดันเจ้าหน้าที่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุได้รับรายงานจากตำรวจ คาดว่า 1-2 วัน มีความคืบหน้าจับกุมคนร้ายก่อเหตุชิงทองในห้าง จ.ลพบุรี ว่า เรื่องนี้ต้องถามตำรวจ ส่วนรัฐบาลเร่งรัดอยู่แล้ว ตนก็เร่งไปทางตำรวจ แต่การเร่งบางทีก็เป็นการกดดันเจ้าหน้าที่เหมือนกัน ตนต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความโปร่งใส

“เดี๋ยวกลายเป็นไม่ได้คนทำความผิดจริงๆ มา ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ทุกอย่างมันก็เป็นเหมือนคดีอื่นๆ เมื่อเป็นคดีอุกฉกรรจ์สังคมก็สนใจ ก็เร่งรัดอยู่แล้ว แต่การเผยแพร่ข่าวทุกวันไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น อย่าลืมว่าผู้ร้ายก็ดูทีวีเหมือนกัน จะให้บอกหรือว่าได้ตัวแล้ว สงสัยคนโน้นคนนี้เขาก็หนีหมด ปิดล้อมตรงไหนอย่างไรจะกลายเป็นช่วยผู้ร้าย ผมย้ำไปแล้วว่าอย่าให้ข่าวพวกนี้โดยเด็ดขาด”

ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าตำรวจสามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ เพราะส่วนใหญ่ก็สามารถจับได้หมด

ไม่ขอเอี่ยวปมขัดแย้ง “ผบ.ตร.-บิ๊กโจ๊ก” เตือนรักษาภาพลักษณ์หน่วยงาน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตนได้ย้ำเตือนไปแล้วว่าให้รักษาองค์กรของท่านด้วย แต่ตอนนี้อยู่ที่คน ซึ่งตนก็รับฟังการชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาที่เขารับผิดชอบโดยตรง รวมถึงให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้องเรียน โดยมีคณะกรรมการในการตรวจสอบ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้

“ไม่อยากให้ออกมาพูดในเชิงเสียหาย ใช่หรือไม่ใช่บางทีประชาชนก็เข้ามาตัดสินไปด้วย มันก็เสียทั้งหมด ฉะนั้นต้องดูพฤติกรรมของแต่ละคนที่ออกมาร้องเรียนด้วยว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร เท่าที่ทราบเขาก็มีปัญหาอยู่พอสมควร ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตัดสินผิดถูกอะไรตอนนี้เลย” 

ทั้งนี้ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนมีหน้าที่สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานนั้นไปดำเนินการ แต่ไม่มีหน้าที่ต้องมานั่งเคลียร์ให้กับใคร

“เรื่องในตำรวจเขาก็มีคณะกรรมการ ก็ประชุมไปเดี๋ยวก็มีคณะกรรมการตรวจสอบวินัยเขาก็ชี้แจงไป ว่าคนนี้เป็นอย่างไร พฤติกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีการทำผิดอะไรบ้างหรือไม่ แล้วการออกมาร้องเรียนนั้นทำผิดวินัยหรือไม่ แม้กระทั่งการเอาเทปมาออกนั้นผิดหรือเปล่า สามารถบันทึกเสียงได้ไหม ใครเป็นคนเอาไปออก เขาสอบสวนทั้งหมด เขาก็ตั้งกรรมการสอบกันอยู่ ไม่เช่นนั้นก็วุ่นไปหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

มติ ครม.มีดังนี้

ควบรวม CAT-TOT ชื่อใหม่ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ”

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้มีการควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้เป็นบริษัทตั้งใหม่ในชื่อ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.)” หรือ NT  โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด โดยให้ดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่ได้รับอนุมัติจาก ครม.

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินงานและการลงทุนที่ซ้ำซ้อน รวมถึงมีแนวโน้มที่ประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้น ของทั้งสองหน่วยงาน โดย ครม.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการตั้งบริษัท 2 แห่งขึ้นมา ที่การดำเนินงานแยกออกจากกัน ได้แก่ บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (บริษัท NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (บริษัท NGDC) และให้บริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม เข้าไปถือหุ้น รวมถึงโอนพนักงานเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ปรากฏว่าเป็นแนวทางที่ถูกต่อต้านจากพนักงาน และสหภาพแรงงานของทั้งบริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม

สำหรับแนวทางใหม่ที่เสนอและ ครม.อนุมัติในครั้งนี้คือให้ควบรวมทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจเข้าด้วยกันและตั้งเป็นบริษัทใหม่ เป็นแนวทางที่ผ่านการหารือกับทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร พนักงานและสหภาพแรงงานของทั้ง 2 บริษัท จึงเชื่อว่าจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ระบุให้ความมั่นใจว่าหลังจากการควบรวมแล้วจะไม่มีการลดจำนวนพนักงานของบริษัทใหม่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบให้ยกเลิก มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีผลให้ยุบเลิก บริษัท NBN และบริษัท NGDC  โดยให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานที่บริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้กลับเข้าทำงานใน บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ในระดับเดิม และได้สิทธิประโยชน์เท่าที่ได้อยู่เดิมในวันที่ลาออกไปอยู่บริษัท NBN และบริษัท NGDC และให้นับอายุงานต่อเนื่อง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงดีอีเอสพิจารณานำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นการกำหนดให้บริษัท NT เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการทำภารกิจดังกล่าว พร้อมให้อำนาจบริษัท NT เข้าร่วมประมวลคลื่นความถี่ที่รัฐเปิดประมูลได้

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ มากำหนดขอบเขตสภาพการจ้าง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนความสามารถจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐ (G2G) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

“ครม.มอบหมายให้ดีอีเอส กำกับดูแลและดำเนินการข้างต้นให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ดำเนินการควบรวมบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ครม.อนุมัติ และรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบทุกเดือน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ไฟเขียวให้ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ” ร่วมประมูลคลื่นความถี่

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ตามเงื่อนไขประกาศของ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2568 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที จะหมดอายุ และจะไม่มีคลื่นความถี่อื่นๆ รองรับการให้บริการของทั้งสองบริษัท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและภาพลักษณ์ของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมของรัฐ รวมทั้งยังส่งผลต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ “my” ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านเลขหมาย ในปัจจุบัน ดังนั้น ทั้ง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที จึงมีความจำเป็นในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ที่สำนักงาน กสทช.จะนำออกประมูล

โดยในเบื้องต้นให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม และคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที พิจารณาการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่และอนุมัติงบประมาณให้เป็นไปตามเงื่อนไข หากเป็นผู้ชนะการประมูลสามารถเบิกค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกิดจากการประมูลต่างๆ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาจำกัดตามเงื่อนไขทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า การลงทุนเบื้องต้น สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่ต้องชำระภายในเวลาที่กำหนด และการลงทุนในระยะต่อไปให้รัฐวิสาหกิจนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจะดำเนินการ

สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในส่วนที่เหลือนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่ต้องชำระภายในกำหนด และการลงทุนในโครงการตามภาระผูกพันในระยะต่อไป ให้รัฐวิสาหกิจนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการต่อไป

ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบ 63 ให้ได้ 1 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอโดย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2-3 แล้ว และได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 (เมษายน-มิถุนายน) ในวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 54% ของงบประมาณในภาพรวม

ทั้งนี้ ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่จะมีการเบิกจ่ายนั้นจะมาจากงบประมาณประจำ 7.7 แสนล้านบาท และงบประมาณการลงทุน 2.3 แสนล้านบาทโดยในส่วนของงบลงทุนได้ประสานกับหน่วยงานราชการต่างๆให้มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและผูกพันงบประมาณไว้ให้พร้อมและเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ประกาศใช้ก็จะทำให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันที โดยมาตรการในการเบิกจ่ายงบประมาณมีรายละเอียดดังนี้

  • งบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคให้หน่วยงานรับงบประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วันนับตั้งแต่ในวันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร
  • รายงานการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่เป็นรายจ่ายการลงทุนรายการใหม่ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะงานเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้างราคากลางและรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบฯ พิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้วหากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบประมาณเห็นชอบให้แจ้งสำนักงบประมาณทราบและดำเนินการต่อไปได้
  • ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2563 โดยเฉพาะรายการปีเดียว สำหรับการผูกพันงบใหม่ให้ดำเนินการภายในเดือน พฤษภาคม 2563

“ส่วนของไตรมาสแรกยังไม่มีการใช้งบลงทุน เป็นการใช้เฉพาะงบรายจ่ายประจำ แต่ในไตรมาสที่ 2 นี้จะเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป โดยสำนักงบประมาณได้ตั้งเป้าหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 อยู่ที่ 100% เต็มทั้งในส่วนของงบประมาณประจำและงบประมาณเพื่อการลงทุน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยให้เพิ่มประเภทใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 2 ประเภท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ได้แก่

  • ใบจองเป็นตัวกลางด้านตราสารทุนโดยเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในตลาดทุนไทย มีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 5 ล้านบาท
  • ใบอนุญาตประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือใบ PF (private fund) มีค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1 ล้านบาท สำหรับผู้บริหารกองทุนส่วนตัว และปรับปรุงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับใบอนุญาต เช่น เพิ่มเติมคุณสมบัติของใบอนุญาต และกำหนดค่าธรรมเนียมการพิจารณาขอรับใบอนุญาต 30,000 บาทต่อใบอนุญาต

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิต และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ โดยปรับปรุงลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตสำหรับสินค้าเครื่องดื่ม สินค้าสุรา และสินค้ายาสูบ เพื่อให้การบริหารจัดการแสตมป์สรรพสามิตเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในด้านการตรวจสอบและการปราบปราม รวมทั้งเพื่อให้มีความยืดหยุ่น มีความเหมาะสม และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เห็นชอบคงภาษีเงินได้ มูลนิธิ-สมาคม ที่ 2%

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้คงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม ในอัตรา 2% ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ให้เป็นมาตรการถาวรที่ต่อเนื่อง โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งการดำเนินดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานเพื่อการกุศลสาธารณะให้มีความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และเป็นการสนับสนุนให้การช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า ที่ผ่านมามูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งมีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หา แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ต่อมาได้ลดอัตราภาษีสำหรับรายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมดังกล่าว เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินเหลือร้อยละ 2

ต่อมาได้มีการออกกฎหมายใหม่ เพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ต้องกลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่า เพื่อให้มูลนิธิหรือสมาคมเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวในอัตราเดิม อันเป็นมาตรการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี  2535 จึงเสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบ

รายงานสถานการณ์ SMEs ชี้เป็นฟันเฟืองหลักของประเทศ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความว่า ในปัจจุบันมีกลุ่มเอสเอ็มอี มากกว่า 3 ล้านรายที่ขึ้นทะเบียน โดยเป็นเอสเอ็มอี ในภาคการค้ามากที่สุดร้อยละ 42 และในภาคบริการร้อยละ 40 โดยเป็นผู้ประกอบด้วยธุรกิจขนาดย่อมถึงร้อยละ 99.5 มีมูลค่า 7 ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 43 ของจีดีพีของ ประเทศไทย

“เห็นได้ว่าเอสเอ็มอีเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งเติบโตขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งนอกจากมีอัตราส่วนต่อจีดีพีที่สูงแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีมูลค่าส่งออกที่ 2.376 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.74 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ ซึ่งตลาดสำคัญคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมีมูลค่าการนำเข้าที่ 2.980 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.51 ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้หน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อไป” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

เร่งขุดบ่อบาดาลรับภัยแล้ง 1,053 บ่อ

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบสถานการณ์น้ำแล้งระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม 2563 จังหวัดที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มี 18 จังหวัด 89 อำเภอ 507 ตำบล ได้แก่ จังหวัด เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี

โดยข้อสั่งการจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 มีดังนี้

  • มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจประกอบด้วย กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
  • สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือ เช่น การจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง ขุดบ่อบาดาลในพื้นที่ขาดแคลนน้ำดิบ สูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบผลิตน้ำประปา และกำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาแก้มลิงชั่วคราวให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร
  • สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยขอความร่วมจากเกษตรกรไม่ให้ปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งประสานกรมฝนหลวงจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด
  • เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และมอบให้หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดมาตรการรองรับกรณีการพังทลายของตลิ่ง
  • รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ

“รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งงบประมาณที่อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ก่อน 3,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณของหลายกระทรวงและในส่วนที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ทำให้การรับมือภัยแล้งปี 2563 มีโครงการที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 3,378 โครงการ มีการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,053 แห่ง การจัดการแหล่งน้ำผิวดิน การซ่อมแซมระบบประปา กระทรวงเกษตรได้เร่งดำเนินการเรื่องการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทั้งเล็ก กลางใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ 421 โครงการ และเตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง 25 ลุ่มน้ำ” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

เห็นชอบราคาอ้อย 750 บาทต่อตันอ้อย

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 97.91 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 66.01 บาท/ตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 45 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เท่ากับ 321.43 บาท/ตันอ้อย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเป็นการประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นเพื่อให้โรงงานน้ำตาลชำระเงินค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยไปก่อน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจและสร้างรายได้ ซึ่งยังไม่ใช่ราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะได้รับจริง โดยที่ผ่านมา ครม.ได้เคยมีมติกำหนดราคาและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2554/2555

เปิดการค้าเสรีแบบสมบูรณ์ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการบริหารการนำเข้าหอมใหญ่และมันฝรั่งตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย (The Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZEP) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2548 ครอบคลุมธุรกิจทั้งในประเด็นการค้าสินค้า มาตรการปกป้องพิเศษ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม บริการและการลงทุน แต่ในส่วนของสินค้าเกษตรบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหวจะใช้โควตาภาษีเพื่อลดผลกระทบกับเกษตรกร ซึ่งอัตราภาษีจะลดลงเรื่อยๆ เพื่อปรับเข้าสู่การเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่จำกัดปริมาณนำเข้าและอัตราภาษีเป็นศูนย์

ในปี 2563 สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง หัวพันธุ์มันฝรั่ง มีกำหนดเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ และเพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว ครม.เห็นชอบแนวทางการบริหารการนำเข้าสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง และหัวพันธุ์มันฝรั่ง ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรกรนำเสนอ มีสาระสำคัญ คือ

  1. ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรนั้นๆ (เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่/หอมหัวใหญ่/มันฝรั่ง/หัวพันธุ์มันฝรั่ง) ไว้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี ตามแบบคำขอขึ้นทะเบียนที่กำหนด
  2. ผู้นำเข้าต้องขอหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามความตกลงการค้าเสรี
  3. ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตและแปรรูปในกิจการตนเอง และห้ามจำหน่ายจ่ายโอน
  4. ให้นำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านอาหารและยา

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีของสินค้าทั้งสี่ชนิดนี้ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อประเทศไทยมากนัก ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพการผลิตของเกษตรกร ทั้งการพัฒนาเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหัวพันธุ์มันฝรั่ง และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการผลิตผ่านโครงการ Smart Farmers

คาดการณ์ประชากร 20 ปีข้างหน้า – ผู้สูงอายุเพิ่ม 8 ล้านคน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญของรายงานฯ สรุปได้ดังนี้

  • การคาดประมาณประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน
  • ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด -14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (ร้อยละ 16.9) ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน (ร้อยละ 12.8) ในปี 2583
  • ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด
  • ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน (ร้อยละ 65) ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน (ร้อยละ 56) ในปี 2583
  • อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน

โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาค ในปี 2583 กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนี้ ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด ร้อยละ 5.3 ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ในส่วนของรัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

เห็นชอบความตกลงด้านกลาโหม ส่งทหารไทยอบรมที่รัสเซีย

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม (กห.) จัดทำความตกลง เลขที่ 173/3/764-1 ว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทยเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทหารของกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (ร่างความตกลงฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งกำลังพลของไทยไปเข้ารับการฝึกศึกษาในหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะเสนอรายชื่อหลักสูตรที่ต้องการส่งกำลังพลเข้ารับการศึกษาให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียพิจารณาภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี โดยจะแจ้งรายชื่อหลักสูตรที่สามารถสนับสนุนที่นั่งศึกษาได้ให้ฝ่ายไทยทราบภายในวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เพื่อเข้ารับการศึกษาหลักสูตรเตรียมความพร้อมและภาษารัสเซีย ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นระยะเวลา 10 เดือน

ทั้งนี้ การฝึกอบอรมของกำลังพลในสถาบันการศึกษา แบ่งออกเป็น

  1. แบบคิดค่าใช้จ่าย เป็นค่าใช้จ่ายการฝึกศึกษาและค่าใช้จ่ายประจำรับผิดชอบโดยฝ่ายไทย
  2. แบบพิเศษตามตกลงกัน เป็นค่าใช้จ่ายฝึกศึกษารับผิดชอบโดยรัสเซีย ยกเว้นค่าชั่วโมงบิน และค่าเครื่องช่วยฝึกบินจำลองระหว่างการฝึกบินของกำลังพลของภาคีผู้ส่ง สำหรับค่าใช้จ่ายประจำรับผิดชอบโดยฝ่ายไทย
  3. แบบให้เปล่า เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกศึกษาและค่าใช้จ่ายประจำรับผิดชอบโดยฝ่ายรัสเซีย ยกเว้นค่าชั่วโมงการฝึกบินและค่าเครื่องช่วยฝึกบินจำลองระหว่างการฝึกบินของกำลังพลของไทย

“ฝ่ายรัสเซียได้แจ้งว่านายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้อนุมัติให้ไทยอยู่ในกลุ่มมิตรประเทศที่สามารถได้รับทุนการศึกษาแบบให้เปล่า โดยเฉพาะหลักสูตรนักเรียนนายร้อยสหพันธรัฐรัสเซีย สำหรับหลักสูตรอื่นจะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1) เนื้อหาของความตกลง 2) ข้อกำหนดในการฝึกอบรม 3) การสมัครเข้ารับการฝึกอบรมและรายชื่อผู้สมัคร 4) การลงนามในผนวกแนบท้ายความตกลง 5) การคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม 6) หนังสือเดินทางตรวจลงตราและการลงทะเบียน 7) การสนับสนุนผู้เข้ารับการฝึกอบรม 8) ประกาศนียบัตรรับรองการฝึกอบรม 9) ความรับผิดชอบของผู้เข้ารับการฝึกบอรม 10) การปฏิบัติตามข้อบังคับด้านการรักษาความปลอดภัย 11) การยุติข้อพิพาท และ 12) การมีผลใช้บังคับของความตกลง”

ไฟเขียวก่อหนี้ผูกพัน 3 กระทรวง วงเงิน 15,992 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ การก่อหนี้ผูกพัน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากการก่อหนี้ผูกพันในงบประมาณ หากหน่วยงานใดมีการก่อหนี้ผูกพันในรอบปีมากกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องรายงาน ครม. และต้องให้ ครม.มีมติอนุมัติก่อนถึงจะนำไปของบฯ ได้

โดยกระทรวงมหาดไทย ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงินจำนวน 21,333 ล้านบาท สำหรับ 5 หน่วยงานภายใน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เช่น 1. โครงการจัดหาวิทยุสื่อสาร ประมาณ 4,900 ล้านบาท 2. โครงการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ให้ประชาชน จำนวน 1,099 ล้านบาท 3. โครงการจัดหาอากาศยานปีกหมุน โดยความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 1,800 ล้านบาท 4. การก่อสร้าง ปรับปรุง ขยายการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1,100 ล้านบาท และ 5. แบ่งเป็นงบฯ ของ กทม. 6 โครงการ จำนวน 12,252 ล้านบาท

สำหรับกระทรวงยุติธรรม ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 5,729 ล้านบาท โดยจะนำไปก่อสร้างเรือนจำกลาง แบ่งเป็น โครงการก่อสร้างเรือนจำกลาง จ.ลำปาง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และ จ.อุตรดิตถ์

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 4,065 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา โดยเป็นงบฯ เฉพาะในปี 64 ได้แก่ 1. โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จำนวน 1,422 ล้านบาท 2. โครงการบรรเทาอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราช อันเนื่องมากจากพระราชดำริ จำนวน 2,200 ล้านบาท 3. โครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ตอนล่าง จำนวน 1,412 ล้านบาท 4. โครงการปรับปรุงคลองยมน่าน จำนวน 1,519 ล้านบาท และ 5. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 1,200 ล้านบาท

เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือฯ ส่งแรงงานป้อนญี่ปุ่น

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ โดยร่างบันทึกดังกล่าวเป็นการลงนามระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีแผนกำหนดสถานะของการพำนักอาศัยรูปแบบใหม่ให้แก่คนงานต่างชาติ ที่มีทักษะเฉพาะให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่ ที่จะรับคนงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และพยายามดึงดูดกำลังแรงงานต่างชาติ ให้เข้าสู่ประเทศตามเป้าหมาย คือ 345,000 คน ภายในปี 2568 เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง ภาคการบริการ และการบริการผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ มาตราการดังกล่าวจะมีการรับรองการพำนักของแรงงานต่างชาติ ให้เป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ที่ได้รับการรับรองว่ามีทักษะที่ต้องมีระดับการมีความรู้หรือประสบการณ์ในสาขาเฉพาะ เป็นระดับงานที่ไม่มีความซับซ้อน หรือไม่ต้องใช้ทักษะที่สูงมาก ซึ่งสถานะนี้จะรับรองให้บุคคลที่เข้าไปฝึกปฏิบัติงาน 3 ปี และสามารถอยู่ต่อในประเทศได้อีก 2 ปี แต่ไม่สามารถนำครอบครัวมาอยู่ด้วยได้
  2. แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ที่เป็นแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตประเภทแรงงานที่ต้องผ่านการทดสอบในทักษะที่ 1 ก่อน เป็นแรงงานที่อาศัยความชำนาญ ประสบการณ์ และการบริหารจัดการขั้นสูง ซึ่งผู้ที่ได้วีซ่าประเภทนี้สามารถพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ถาวร และสามารถนำครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้

“ร่างบันทึกความร่วมมือนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ผ่านทางการจัดส่งเสริมการรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจากประเทศไทย ไปยังประเทศญี่ปุ่นให้เป็นไปด้วยความสะดวกและราบรื่น ทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาการส่งและการรับแรงงาน รวมถึงปัญหาการพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” นางสาวไตรศุลีกล่าว

เปิดอบรมเกษตรครบวงจร หวังดึงลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพเกษตรกร เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพเกษตร ได้มีโอกาสกลับไปอยู่กับครอบครัว และใช้ความรู้เทคโนโลยีพัฒนาด้านการเกษตรต่อไป ซึ่งสหกรณ์การเกษตรจะเป็นคนรับผิดชอบและรวมกลุ่มทั้งหมด และที่สำคัญจะให้ความรู้เป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตพืช ประมงปศุสัตว์ จะให้ความรู้ครบวงจรในด้านการเกษตร คนที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ www.cpd.go.th โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 นี้

ทั้งนี้เนื่องจาก ขณะนี้ภาคการเกษตรของไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยเฉลี่ยอายุเกษตรกรไทยอยู่ที่ 85 ปี ประชากรภาคเกษตรมีทั้งสิ้น 24.5 ล้านคน และคนรุ่นใหม่นิยมออกไปทำงานในเมืองใหญ่ ไม่สนใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้แรงงานภาคเกษตรเริ่มขาดแคลน ในขณะที่รัฐบาลต้องการยกระดับเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกโดยที่จะให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นครัวโลกจึงจำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องสร้างแรงจูงใจให้หันกลับมาทำการเกษตร พร้อมกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร

20-21 ม.ค.นี้ ครม.สัญจรเยือนกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามตรวจราชการในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นไปเพื่อการส่งเสริมการศึกษา การค้า การลงทุน การค้าชายแดน การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ การวางระบบการป้องกันสาธารณภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเชิงวัฒนธรรม สังคมพหุวัฒนธรรม การพัฒนาสินค้าเกษตรยางพารา และการพัฒนาตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจร รวมถึงการรักษาความสงบความปลอดภัยของประชาชน

โดยวันจันทร์ ที่ 20 มกราคม นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ จะเดินทางเข้าสักการะเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก พร้อมพบปะประชาชนสมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน จากนั้นนายกฯ จะพบปะประชาชนที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จากนั้นเดินทางไปที่วัดประชุมชลธารา อ.สุไหงปาดี และกราบนมัสการเจ้าคณะ จ.นราธิวาส และพบปะชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ก่อนจะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจ.นราธิวาส และร่วมพูดคุยกับผู้นำศาสนา และประชาชนชาวไทยมุสลิม

จากนั้นในวันอังคารที่ 21 มกราาคม นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ก่อนจากนั้นจะเข้าสู่การประชุมครม. ก่อนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและเดินทางกลับ

เปิดตัว แอป AirCIM รายงานฝุ่นควันเรียลไทม์ นำร่องเชียงใหม่ที่แรก

นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ ผอ.กองนวัตกรรม สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เปิดตัวระบบบริหารจัดการปัญหาฝุ่นควันและแอปพลิเคชัน AirCMI โดย สำนักงาน ป.ย.ป.ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมอนามัย และกรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกันเสนอผลการดำเนินงานโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน และแอปพลิเคชัน AirCMI นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นควันอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

ด้านนายภักดี จิรัญดร ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบุว่า การวัดค่าฝุ่นละอองและหมอกควันในอากาศผ่านเครื่องวัดแบบ personal use นั้นไม่สามารถบ่งบอกค่าฝุ่นควันที่เหมาะสมได้ จึงได้ดำเนินการจัดทำเครื่องมือที่มีความแม่นยำและเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้ฝ่านแอปพลิเคชัน และหากไม่ต้องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก็สามารถรับข้อมูลได้ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตและเริ่มติดตั้งใด้ในปีนี้

“แอปพลิเคชันดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ จ.เชียงใหม่ในการบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศในการติดตามสถานการณ์ที่เป็นชุดข้อมูลเดียวกัน มีความเป็นปัจจุบัน และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในทุกที่ รวดเร็ว รวมทั้งมีระบบสารสนเทศที่สามารถวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากนี้จะมีการขยายโครงการนำร่องไปในพื้นที่ จ.หนองคาย จ.สงขลา และ กทม.ต่อไป” นายภักดีกล่าว

ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งขยายการผลิตและติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพทางอากาศที่เป็นผลผลิตมาจากฝีมือคนไทย เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะต้องมีเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ตั้ง “ณรงค์ ทรงอารมณ์” นั่งผอ.สำนักพุทธฯ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง และคณะกรรมการในหลายหน่วยงานดังนี้

  • สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่งตั้ง นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
  • กระทรวงสาธารณสุขขอเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมแทนกรรมการเดิมที่ลาออก ดังนี้ 1. นางศรีวณิก หัสดิน เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2. นายอัศม์เดช วานิชชินชัย เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3. นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ และผู้แทนกระทรวงการคลัง 4. นายเกียรติภูมิ วงศ์วจิต ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 5. นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ และ 6. พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ
  • กระทรวงมรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ จำนวน 12 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้ 1. นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2. นายวิจารย์ สิมาฉายา ดำรงตำแหน่งด้านสิ่งแวดล้อม 3. นายศศิน เฉลิมลาภ ดำรงตำแหน่งด้านทรัพยากรธรณี 4. นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ดำรงตำแหน่งด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล 5. นางอรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ ดำรงตำแหน่งด้านเศรษฐศาสตร์ 6. นายอิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ดำรงตำแหน่งด้านนิติศาสตร์ 7. นายนิวัติ ธัญญะชาติ ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งกลุ่มจังหวัดที่ 1)ขณะที่ 8. นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งทะเลกลุ่มจังหวัดที่ 2) 9. นายมนูญ คุ้มรัก ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งทะเลกลุ่มจังหวัดที่ 3) 10. นายสุไลมาน ดาราโอะ ดำรงตำแหน่งด้านการประมง (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งทะเลกลุ่มจังหวัดที่ 4) 11. นายธนู แนบเนียร ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งทะเลกลุ่มจังหวัดที่ 5) และ 12. นายบรรจง นฤพรเมธี ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ (ผู้แทนชุมชนชายฝั่งทะเลกลุ่มจังหวัดที่ 6)

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 14 มกราคม 2563 เพิ่มเติม