ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม” ไม่วิ่ง-ไม่เดิน-จะนอน วอน 2 ฝ่าย ยุติกิจกรรมการเมือง – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน

“บิ๊กป้อม” ไม่วิ่ง-ไม่เดิน-จะนอน วอน 2 ฝ่าย ยุติกิจกรรมการเมือง – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน

7 มกราคม 2020


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“บิ๊กป้อม” ไม่วิ่ง-ไม่เดิน-จะนอน วอน 2 ฝ่าย ยุติกิจกรรมเคลื่อนไหวการเมือง – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 64 รายจ่าย 3.3 ล้านล้าน ขาดดุล 5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการตอบคำถามสื่อมวลชน โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “วันนี้ก็ได้พูดหลายเรื่องไปบ้างแล้ว ผมมีภารกิจต่อเนื่อง ขอมอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถาม ขอว่าอย่าซักมาก ส่วนประเด็นการประชุมให้ฟังจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”

“ไม่วิ่ง – ไม่เดิน – จะนอน” วอน 2 ฝ่าย ยุติกิจกรรมการเมือง

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงกรณีที่ประชาชน 2 กลุ่ม เตรียมจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการ “วิ่ง ไล่ ลุง” และการ “เดิน เชียร์ ลุง” ว่า ตนเองคงไม่ออกไปร่วมทั้ง 2 กิจกรรม เพราะสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่ขอให้ฟังนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ยุติทั้ง 2 กิจกรรม และในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เชื่อว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอยู่แล้ว

“เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมได้บอกแล้วว่าไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อให้วิ่งเฉยๆ แต่ถ้าวิ่งไม่เฉยก็ถือว่าผิดข้อตกลง เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาระบุแล้วว่าอนุญาตให้วิ่งได้ แต่อย่าสร้างความปั่นป่วน อย่าทำให้ผิดกฎหมาย”

เมื่อถามว่าวันนี้ได้ฟิตร่างกายเตรียมพร้อมไปวิ่งแล้วหรือยัง พล.อ. ประวิตร กล่าวเสียงดังว่า “ก็บอกไปแล้วว่าวิ่งไม่ไหว” เมื่อถามย้ำว่าแล้วจะไปเดินเชียร์ลุงหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มๆ ว่า ”เดินไม่ไหวจะเอาอะไรอีกล่ะ วันนี้ไม่วิ่ง ไม่เดิน จะนอน”

เมื่อถามว่าจะกลายเป็นชนวนสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เป็นชนวนไม่มีแน่นอนเรื่องของชนวนความแตกแยกต่างๆ ยุติหมดแล้ว เราต้องร่วมมือกันเพื่อพาประเทศเดินไปข้างหน้า ดังนั้นจะต้องไม่มีเรื่องของความแตกแยกเกิดขึ้นอีก

เมื่อถามต่อไปว่า ทำไมบางจังหวัดจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าว พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า เป็นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลในแต่ละพื้นที่นั้นๆ

เมื่อถามว่าได้มีการประเมินจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือยังว่าในวันที่ 21 มกราคม ที่จะมีการตัดสินคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเกิดความวุ่นวายอะไรขึ้นหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า จะมีความวุ่นวายได้อย่างไร ตนยังไม่เห็นมีสัญญาณอะไรบ่งชี้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลจะมาถามตนได้อย่างไร ทุกอย่างว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายตัดสินว่าผิดก็ถือว่าผิด ถ้ากฎหมายว่าถูกก็ถือว่าถูก

“ในส่วนเรื่องของ พล.อ. ประยุทธ์ คงต้องรอให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้ตอบเอง เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องของที่ดินต่างๆ ผมไม่รู้เรื่อง” พล.อ. ประวิตร กล่าว

ปัด “หญิงหน่อย” ซบ พปชร.

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า “ต้องไปถามคุณหญิงสุดารัตน์”

ต่อคำถามที่มีกระแสข่าวว่าจะมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น พล.อ. ประวิตร ย้อนถามว่า “ใครเป็นคนบอก สื่อพูดกันไปเอง เขาจะมาได้อย่างไร เขาไม่มาหรอก”     

เมื่อถามว่า ไม่มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ตนจะไปรู้ได้อย่างไร ต้องไปถามคุณหญิงสุดารัตน์ก่อน

เมื่อถามว่า มีการไปทาบทามหรือจีบคุณหญิงสุดารัตน์หรือไม่ พล.อ. ประวิตร หัวเราะก่อนกล่าวว่า ไม่มี จะไปทาบทามทำไม

เมื่อถามว่าสนใจถึงคุณสมบัติของคุณหญิงสุดารัตน์หรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า คิดว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ประเทศชาติสงบ ใครจะอยู่อย่างไรก็ได้ แต่ประเทศชาติต้องเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ให้มีความก้าวหน้าในประเทศชาติของเรา ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และให้มีความสามัคคีกันก็พอแล้ว ใครจะอยู่ที่ไหนก็ได้เหมือนกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีอะไรน่าห่วงที่สุด พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งน่าห่วงที่สุด ส่วนสถานการณ์การเมืองตนไม่ทราบ เพราะเป็นนักการเมืองใหม่เอี่ยม

ขุดบ่อบาดาลกว่า 500 แห่ง รับมือภัยแล้ง

พล.อ. ประวิตร กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมหาน้ำใต้ดินและน้ำบนดินไว้แล้ว โดยเฉพาะน้ำใต้ดินได้ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 500 กว่าบ่อ เพื่อรองรับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นและช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

“เริ่มขุดเจาะน้ำบาลทันทีที่ได้รับงบประมาณ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้พรุ่งนี้ (8 มกราคม 2563) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร กระทรวงมหาดไทย และกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมกันนี้” พล.อ. ประวิตร กล่าว

ยังไม่คุย “บิ๊กโจ๊ก” หลังโดนถล่มยิง

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงเหตุคนร้ายยิงถล่มรถของบิ๊กโจ๊ก พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำนายกรัฐมนตรี อดีต ผบช.สตม. ว่า เป็นเรื่องของตำรวจ ให้ตำรวจติดตามไป ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากเรื่องอะไร

เมื่อถามว่าได้รับรายงานเพิ่มเติมแล้วบ้างหรือไม่ พล.อ. ประวิตร ตอบว่า ยังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติม เพราะประชุม ครม.ต้องให้ตำรวจสืบหาข้อเท็จจริงก่อน ตนยังไม่ได้คุยอะไรกับ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ เลย และไม่รู้ว่าต้องมาคุยกับตนเรื่องอะไร เพราะตนไม่ใช่เจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่าเท่าที่ดูมีงานอะไรที่ทำให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ สุ่มเสี่ยงถูกลอบยิง พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถาม พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ดูเอง

ดอนเผย “มะกัน” ส่งซิกซ์ ก่อนโจมตีอิหร่าน

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ว่า สิ่งที่ประเทศไทยเตรียมการติดตามสถานการณ์ คือ ให้เหล่าทัพ และกระทรวงการต่างประเทศประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไรจะส่งผลอะไรถึงประเทศไทยบ้าง เราต้องเตรียมการไว้ทุกเรื่อง เช่น สถานทูตและบ้านพักทูต เราจะให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานทูตสหรัฐฯ อิสราเอล อิหร่าน ส่วนการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมการในเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการใช้พลังงาน ถือว่าเราเตรียมการในทุกเรื่อง

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากให้รัฐบาลส่งสัญญาณให้ประเทศในอาเซียนส่งสัญญาณให้สหรัฐอเมริกาประนีประนอมหรือพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ว่า อันที่จริงก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯ ได้ประสานมายังไทยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ว่าเขามีเหตุว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และก็มีการติดต่อกับอาเซียนอยู่แล้ว โดยแจ้งก่อนล่วงหน้า 1 วันเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ช่องว่างที่จะไปยับยั้งอะไรกันในวันนั้นๆ เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่เกิดซ้ำ หรือว่าไม่บานปลายไป

“ส่วนท่าทีของไทยก็มีคำกล่าวออกไปแล้ว และเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย ไม่มีการยั่วยุ อยากให้ช่วยกันลดความตึงเครียด เพื่อให้ความสงบสุขและสันติภาพไม่ถูกรบกวน โดยตอนนี้คนไทยที่อยู่ในอิหร่านมีประมาณ 300 คน ซึ่งเรามีการแจ้งเตือนไปแล้ว” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวต่อไปถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญผู้นำอาเซียนเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือสมัยพิเศษในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นคำเชิญก่อนเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ว่า หลายๆ ประเทศทราบว่าได้มีการตอบรับไปแล้ว ยังคงเป็นแค่คำเชิญอยู่ ส่วนไทยในหลักการตกลงแล้ว เพียงแต่ยังติดในเงื่อนเวลาเท่านั้นเอง เบื้องต้นอาจเป็นเดือนมีนาคม แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นช่วงไหน

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เห็นชอบงบฯปี 64 รายจ่าย 3.3 ล้านล้าน ขาดดุล 5 แสนล้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 523,000 ล้านบาท และทำให้มีวงเงินรวมเพิ่มขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านบาท จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.1 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

รายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 115,685.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 โดยรายจ่ายลงทุน อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 37,194.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากสัดส่วนวงเงินงบประมาณ ร้อยละ 21 เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และมีรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ วงเงิน 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 9,829.6 ล้านบาท

สำหรับประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2564 อยู่ที่ 2.77 ล้านล้านบาท งบประมาณขาดดุล อยู่ที่ 523,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 54,000 ล้านบาท และมีสมมติฐานทางเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.1-4.1 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

เคาะจ่ายงบฯ กองทุนหมู่บ้านแห่งละ 2 แสน

นายนที ขลิบทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบวงเงิน 14,491 ล้านบาท  โดยเป็นการดึงเงินจากโครงการต่างๆ ของ สทบ.ที่เคยได้รับการอนุมัติ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือมีผลการทำงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานมาดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน

ทั้งนี้ สทบ.จะพิจารณาจ่ายงบประมาณของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ แห่งละ 2 แสนบาท เพื่อให้กองทุนนำไปใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนแรกมีวงเงิน 2,407.7 ล้านบาท จาก 3 โครงการ คือ ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 2 วงเงิน 22.8 ล้านบาท  ซึ่ง ครม.อนุมัติไว้ตั้งแต่ 29 ก.ย. 2552   2. โครงการหมูบ้านจัดตั้งใหม่ 934 ล้านบาท ครม.อนุมัติไว้เมื่อ 25 มิถุนายน 2556 และ 3. โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) 1,450 ล้านบาท  จากงบประมาณประจำปี 2556

ส่วนที่สองวงเงิน 12,083 ล้านบาท จากงบประมาณดำเนินโครงการอื่นที่ยังดำเนินการอยู่ของ สทบ. 6 โครงการ ทั้งนี้ สทบ.จะต้องทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณปี 2564 ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนมืองระยะที่ 3 จำนวนเงิน 9,107 ล้านบาท 2. โครงการพัฒนาเมือง 1,671 ล้านบาท 3. โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวหางประชารัฐ 475 ล้านบาท 4. โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความแข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จำนวนเงิน 1,922 ล้านบาท 5. โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ จำนวนเงิน  1,041 ล้านบาท 6. โครงการประชารัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร 1,066 ล้านบาท

“โครงการใหม่นี้จะมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพ ทั้งการผลิต การแปรรูป และการบริการของประชาชน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน การส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน”

เห็นชอบมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัวและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบทางลบเป็นวงกว้างต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภาคการส่งออกไทย นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises — SMEs)

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน รัฐบาลจึงยกระดับให้การส่งเสริมความสามารถของ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ วางยุทธศาสตร์การช่วยเหลือ SMEs อย่างชัดเจนและครบวงจร ครอบคลุมการสนับสนุน SMEs ตั้งแต่การให้ความรู้ การยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยี การขยายตลาด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน โดยพัฒนาในทุกมิติคู่ขนานกันไป มีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่ม SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
    • โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินค้ำประกัน โดยสามารถค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans — NPLs) ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
    • โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (ซอฟต์โลนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) โดยธนาคารออมสิน มีวงเงินโครงการเหลืออยู่ 15,000 ล้านบาท จากเดิมทั้งหมด 20,000 ล้านบาท ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 0.1 ต่อปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ร้อยละ 4 ต่อปีระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อให้รวมถึงธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนและธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รวมถึงเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียวได้
    • โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity โดยธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระ การจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (minimum loan rate — MLR) ลบร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.375 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
  • กลุ่ม SMEs ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที โครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 จะขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
  • กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
    • โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้ สสว.ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วด้วย
    • โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. วงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วสามารถเข้าโครงการได้ และขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 1 ปี
    • ครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
    • โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อ อีก 10,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียม ค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
    • โครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย.จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย
    • โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกัน ต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (risk based pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็น NPLs และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจโดยสมาคมธนาคารไทยโดยความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะกำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยแบ่งเป็น

1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ pre-emptive สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPLs โดยให้การลดดอกเบี้ย หรือการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่เป็น troubled debt restructuring และไม่ติดเครดิตบูโรและยังจัดชั้นเป็นลูกหนี้ชั้นปกติ

2) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPLs ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ชั้นปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือนหรืองวดติดต่อกัน โดยไม่ต้องรอให้ถึง 12 เดือน

3) มาตราการสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อใหม่เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยให้สามารถจัดชั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ได้

4) มาตรการเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ โดยให้สถาบันการเงินไม่ต้องกันสำรองวงเงินส่วนนี้

5) ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อเป็นรายเดือน

6) ให้เปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตเป็น term loan ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้โดยไม่ต้องยกเลิกบัตร แต่วงเงินรวมต้องเท่าเดิม

นอกจากนี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ

2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอน หรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสาร เพื่อชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

3) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ)

4) ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

5) ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

  • คลังจัดมาตรการ “ต่อเติมเสริมทุน SMEs” วงเงินรวมกว่า 3 แสนล้าน
  • ประกาศภัยแล้งเป็นวาะแห่งชาติ – ตั้งวอร์รูมรับมือวิกฤติ

     

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบกรอบโครงสร้างขององค์กรภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและองค์ประกอบ กำหนดโครงสร้างตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ ดังนี้

    • ระดับ 1 ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ของระดับภาค โดยมีแนวทางปฏิบัติให้ติดตาม เฝ้าระวัง สภาพอากาศสถานการณ์น้ำในลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ, บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, วิเคราะห์สถานการณ์น้ำทั้งด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน

    โดยมีผู้อำนวยการคือเลขาธิการ สทนช. รองผู้อำนวยการคือรองเลขาธิการ สทนช. แบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ คณะทำงานอำนวยการ, คณะทำงานคาดการณ์, คณะทำงานบริหารจัดการน้ำ, คณะทำงานแจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์

    • ระดับ 2 ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 ของระดับภาคและ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง โดยมีแนวปฏิบัติติดตามเฝ้าระวังเพื่อประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง, ประเมินการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, อำนวยการร่วมกับ กอปภ.ก., ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการน้ำผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด, จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง, ประมวลผลข้อมูลเพื่อนำเสนอไปสู่การตัดสินใจยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจหรือการประกาศเข้าสู่ภาวะปกติ

    โดยมีผู้อำนวยการคือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองผู้อำนวยการคือเลขาธิการ สทนช. แบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำนวยการในภาวะวิกฤติ, กลุ่มคาดการณ์ในภาวะวิกฤติ, กลุ่มบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ กลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ

    • ระดับ 3 ภาวะวิกฤติ (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ) และคาดว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 ของระดับภาค และ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง โดยมีแนวปฏิบัติคือติดตามเฝ้าระวังเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา, บัญชาการร่วมกับ บกปภ.ช., หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินตัดสินใจร่วมกันเพื่อเสนอผู้บัญชาการสั่งการในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ, การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ และจัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ

    จัด “งบกลาง” 3,000 ล้าน หนุนแก้ภัยแล้ง

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ไปพลางก่อน สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 จำนวน 3,079.47 ล้านบาท ในพื้นที่รวม 57 จังหวัด

    ทั้งนี้เพื่อดำเนินการการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในด้านน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ทั้งในเขตพื้นที่บริการของการประปานครหลวง (กปน.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวน 4 โครงการวงเงิน 32 ล้านบาท โดยจะดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ประกอบด้วย สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี สถานีสูบจ่ายน้ำบางเขน และสถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง

    ในเขตพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขต รวม 61 สาขา 31 จังหวัด ครอบคลุมโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงจำนวน 224 แห่ง มีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำจำนวน 223 โครงการ วงเงิน 1,812 ล้านบาท โดย กปภ.ใช้งบประมาณของตนเองจำนวน 173 โครงการ วงเงิน 653 ล้านบาท และขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม 50 โครงการ วงเงิน 1,159 ล้านบาท

    ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงและขาดแคลนน้ำครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 43 จังหวัด 42,452 หมู่บ้าน โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำจำนวน 3,151 โครงการ วงเงิน 4,185.42 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,160 โครงการ วงเงิน 2,265 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 1,991 โครงการ วงเงินรวม 1,920.42 ล้านบาท ประกอบด้วย การขุดเจาะน้ำบาดาล 1,100 โครงการ วงเงิน 1,300.53 ล้านบาท การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ วงเงิน 145.26 ล้านบาท การซ่อมแซมระบบประปา 645 โครงการ วงเงิน 450.85 ล้านบาท และในส่วนของโรงพยาบาลได้มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ มีแผนดำเนินการ ได้แก่ การขุดเจาะบ่อบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 880,000 บาท และซ่อมแซมระบบประปา 4 โครงการ วงเงิน 22.89 ล้านบาท

    ส่วนด้านการเกษตรในเขตพื้นที่ชลประทาน ได้มีมาตรการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยมีการปรับแผนจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลาง โดยกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและมอบให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนต่อไป

    นอกจากนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกองทัพบกได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือ และอุปกรณ์รวม 4,129 เครื่อง แบ่งเป็น รถบรรทุกน้ำและผลิตน้ำ 1,517 เครื่อง เครื่องจักรและเครื่องขุด 175 เครื่อง และเครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ 2,500 เครื่อง โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับไปดำเนินการวางแผนใช้เครื่องมือดังกล่าวต่อไป

    แจงความคืบหน้าประกันราคายางพารา-ปาล์ม

    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.ครม.รับทราบผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 1 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งวดที่ 1 (วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562) โครงการฯตั้งกรอบวงเงินไว้ที่ 24,000 ล้านบาท จากจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 จำนวน 1.4 ล้านราย ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 1.14 ล้านราย ผ่านการรับรอง 1.08 ล้านราย

    จากข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2563 การยางแห่งประเทศไทยรายงานว่า ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างแล้ว 1,062,539 ราย เป็นเงิน 6,342 ล้านบาท ระหว่างนี้กำลังเร่งรัดดำเนินการโอนเงินแก่เกษตรกรบ

    ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ แต่ยังไม่ได้รับการจ่ายเงินประกันรายได้ งวดที่ 1 เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับรองสิทธิเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินประกันรายได้ และเป็นการป้องกันการทุจริต ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจรับรองสิทธิ การดำเนินงานของการยางแห่งประเทศไทยจะจัดพิมพ์รายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางจากระบบ ติดประกาศ ณ ที่ทำการหมู่บ้านหรือจุดชุมชนหมู่บ้าน คณะทำงานโครงการระดับตำบลพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางและระบุผลรับรองหรือไม่รับรอง

    “รายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการรับรองจะถูกส่งไปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กรณีไม่ผ่านการรับรอง เกษตรกรสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล และกรณีที่ไม่ผ่านการรับรองจากคณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ”

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า เมื่องบประมาณปี2563 ผ่านกระบวนการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทุกส่วนราชการเร่งใช้ยางพาราให้บรรลุตามเป้าหมายแผนการใช้ยางพารา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ประสานงานและติดตามงาน

    นอกจากนี้ ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา รายละเอียดดังนี้

    1. มาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 0.16 ล้านตันแรก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับซื้อปาล์มน้ำมันดิบเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ครบตามเป้าหมายและนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562
    2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562-2563 โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่จ่ายแก่เกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ กิโลกรัมละ 4 บาท (คุณภาพน้ำมัน 18 เปอร์เซ็นต์) ผลการดำเนินการจ่ายเงินสำหรับงวดที่ 1-2 (1 ตุลาคม 2562 – 15 พฤศจิกายน 2562) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3.24 แสนครัวเรือน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ รวมวงเงินชดเชยที่จ่ายให้แก่เกษตรกร 2.267 พันล้านบาท สำหรับงวดที่ 3 (ธันวาคม 2562) ไม่มีการจ่ายเงินสำหรับประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาอ้างอิงที่กิโลกรัมละ 4.36 บาท สูงกว่าราคาประกัน
    3. การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยกระทรวงพลังงาน
      • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีสถานีบริการจำหน่ายรวม 2,819 แห่ง
      • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 มีสถานีบริการจำหน่ายรวม 521 แห่ง
    4. เห็นชอบแก้ไขการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มนอกโควตา องค์การการค้าโลก (WTO) จากเดิมกำหนดให้ขึ้นทะเบียนครั้งเดียวโดยไม่กำหนดวันหมดอายุ เป็นกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี เพื่อให้สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะปัจจุบันของผู้นำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    5. กำหนดด่านนำเข้าและนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม เพื่อป้องกันการนำเข้าผิดกฎหมาย
      • ด่านนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม 3 ด่าน คือ ด่านศุลกากรมาบตาพุด สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
      • ด่านนำผ่านสินค้าฯ ด่านต้นทาง คือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ด่านปลายทาง คือ 1) ด่านศุลกากรจันทบุรี เป็นด่านปลายทางไปยังกัมพูชา 2) ด่านศุลกากรหนองคาย เป็นด่านปลายทางไปยังลาว 3) ด่านศุลกากรแม่สอด เป็นด่านปลายทางไปยังเมียนมา โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังจะต้องออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

    เห็นชอบหลักสูตรเตรียมอาชีวะระดับ ม.ต้น

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่….) พ.ศ. …. โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถจัดการศึกษาสายอาชีวศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา เพิ่มเติมจากเดิมที่บัญญัติให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ มีเพียง 3 หลักสูตร คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และปริญญาตรีสายเทคโนโลยี เพื่อเป็นทางเลือกแก่เด็กและเยาวชนในการศึกษาต่อจากระดับประถมศึกษาตามความสนใจและความถนัดของตน

    นอกจากนี้ยัง แก้ไขอำนาจของสภาสถาบันให้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา จากเดิมที่มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและประกาศนียบัตรวิชาชีพเท่านั้น

    อนึ่ง ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษาในสถานอาชีวศึกษา จำนวน 10 แห่ง เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน จังหวัดลำพูน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จังหวัดสมุทราปราการ วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ลาดขวาง จังหวัดฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร และวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น รวม 3 รุ่น มีนักเรียนทั้งสิ้น 692 คน โดยนักเรียนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2563 จำนวน 186 คน

    กำหนดประเภทเรือสนับสนุนประมง ป้องกันประมงผิด กม.

    นางสางไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง กำหนดประเภทเรือและขนาดเรือ และลักษณะของสิ่งที่จะบรรทุกสำหรับเรือสนับสนุนการประมง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการกองเรือไทยที่เกี่ยวข้องกับการประมงและเป็นมาตรการสนับสนุนการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย

    ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะทำให้กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้นำเรือสนับสนุนการประมง ไปใช้ในการทำประมงผิดกฎหมาย โดยกำหนดให้เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือกลเดินทะเลที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่กำหนดประเภทการใช้เรือว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น น้ำมันเพื่อการประมง น้ำจืด น้ำจืดเพื่อการประมง และผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็น “เรือสนับสนุนการประมง”

    โดยกำหนดยกเว้นให้เรือบรรทุกน้ำมันเตา ซึ่งมีการระบุในใบอนุญาตใช้เรือว่าเป็นเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเป็นการเฉพาะ เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งมีการทำสัญญาโดยตรงกับบริษัทน้ำมันในไทยให้เป็นผู้จัดส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันระหว่างคลังน้ำมันในไทย หรือขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันระหวางคลังน้ำมันในไทยกับต่างประเทศ ในช่วงที่สัญญาระหว่างบริษัทน้ำมันกับเรือบรรทุกฯ มีผลบังคับใช้ และเรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็น “เรือสนับสนุนการประมง”

    “เป็นการป้องกันไม่ให้เรือที่เจ้าของเรือแจ้งว่าจมหาย สูญหาย จ่าย หรือโอนให้ผู้อื่นโดยไม่แสดงหลักฐาน หรือไม่สามารถติดตามได้ว่าเรืออยู่ที่ใด กลับเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลกองเรือประมงได้อีกอันเป็นมาตรการสนับสนุนการป้องกันการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นผลดีต่อการทำประมงในภาพรวม”

    “โรคปอดอักเสบ” ไทยเอาอยู่ – ปชช.อย่าตื่นตระหนก

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ การเฝ้าระวัง ควบคุมโรคปอดอักเสบรุนแรงจากเชื้อไวรัส ที่เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก รัฐบาลถือว่าควบคุมอยู่ โดยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งทางการจีนได้รายงาน พบผู้ป่วยในประเทศจีน 59 ราย มีอาการรุนแรง 7 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยที่ประเทศฮ่องกง 2 ราย และสิงคโปร์ 1 ราย

    ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกันควบคุมของไทย ได้แก่ 1. ประเมินสถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นจากจีน และประเทศที่มีผู้เดินทางมาจากจีน 2. ยกระดับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้มงวด มีการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น โดยเริ่มตรวจเช็คคัดกรอง เริ่มตั้งแต่สนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่มีเที่ยวบินมาจากอู่ฮั่น นอกจากนี้ยังมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วย

    “ขอให้ประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการติดเชื้อของโรคดังกล่าว ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที สำหรับผู้ที่เดินทางมาประเทศไทย ได้ตรวจพบผู้ต้องสงสัย 4 ราย แต่ไม่พบโรคดังกล่าวจากประเทศจีน เป็นเพียงไข้หวัด ติดเชื้อแบคทีเรียธรรมดา” นางสาวไตรศุลีกล่าว

    ตั้ง “บวรศักดิ์” นั่งบอร์ด คกก.ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ โดยมีนายสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการ นายพีระพงศ์ ทีฆสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ นายรัฐชาติ มงคลนาวิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ นางปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์

    เปิดทำเนียบรับเด็ก ๆ 11 มกราคมนี้

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ทำเนียบรัฐบาลเตรียมจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “เด็กไทย มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 ระหว่างเวลา 08.00-15.00 น. ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานในพิธีเปิดงานและมอบของขวัญให้แก่เด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมชมตึกไทยคู่ฟ้า ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี และตึกภักดีบดินทร์

    นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมเรียนรู้ควบคู่การเล่นเกมส์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสัตว์ ไดโนเสาร์ การสร้างจิตสำนึกส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการนำขยะ ขวด กระป๋อง ที่สามารถขายได้มาแลกสิ่งของ การระบายสีถุงผ้าลดโลกร้อน การทดลองทำเป็นห้องแล็บให้เด็กทำการทดลองและทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ กิจกรรมส่งเสริมให้เด็กรู้จักการออม การประกวดคัดลายมืออาลักษณ์ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องราอิสริยาภรณ์ กิจกรรมถ่ายภาพร่วมกับรถจักยานยนต์นำขบวน การจัดแสดงรถโบราณของเจษฎาเทคนิคมิวเชียม รวมทั้งยังเปิดตึกนารีสโมสรจำลองห้องรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกฝึกทดลองอ่านข่าว พร้อมรับแจกของขวัญ/ของที่ระลึก อาหารและเครื่องดื่มอีกมากมาย จึงขอเชิญชวนเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตามวัน และเวลาดังกล่าว

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 7 มกราคม 2562เพิ่มเติม