ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เผยประชุมแก้ปมฝุ่นพิษพรุ่งนี้ – สั่งตรวจรถควันดำ เจอหยุดวิ่งทันที – มติ ครม.ต่ออายุโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ 6 เดือน

“บิ๊กตู่” เผยประชุมแก้ปมฝุ่นพิษพรุ่งนี้ – สั่งตรวจรถควันดำ เจอหยุดวิ่งทันที – มติ ครม.ต่ออายุโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ 6 เดือน

15 มกราคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaipublica.go.th/

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เข้าร่วมประชุม

ประชุมแก้ปมฝุ่นพิษพรุ่งนี้ – สั่งตรวจรถควันดำ เจอหยุดวิ่งทันที

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร ว่า ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า “ฝุ่นละออง” มีขนาดไหนบ้าง วันนี้ PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก สามารถเข้าไปในร่างกาย และเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่ยังมี PM10 คือฝุ่นละอองจากฝุ่นควันต่างๆ วันนี้จึงได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีไปประชุมหามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา ว่าจะแก้ไขให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยจะมีการประชุมหารือเพื่อบูรณาการหามาตรการที่เหมาะสม ไม่เกิดผลกระทบ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในวันพรุ่งนี้

“จริงๆ แล้วเรื่องของ PM2.5 ผมดูในข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งเมื่อสักครู่ผมได้เปิดกูเกิลดู ของสหราชอาณาจักรก็มีฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เกินมาตรฐาน 40 กว่าเมือง เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนของไทยนั้นอยู่ที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจริงๆ ตั้งไว้ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของต่างประเทศก็ต่ำกว่าของเราหน่อย ก็พยายามแก้อยู่เหมือนกัน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุสำคัญคือ การเผาไหม้ของรถยนต์ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด วันนี้ได้สั่งการไปแล้วยังกรุงเทพฯ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมากในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งมวลชน ขนส่งสินค้า ต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพราะมีผลกระทบกับด้านเศรษฐกิจด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการสาธารณสุข ความปลอดภัยของประชาชน

ซึ่งตนได้ให้รถทั้งหมดปรับมาใช้น้ำมันดีเซล B20 ไปแล้ว ซึ่งต้องมีผลกระทบบ้างแต่ก็ต้องน้อยที่สุด ซึ่งจะห้ามใช้รถทั้งหมดเลยก็คงมีปัญหา จึงขอความร่วมมืรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเติมน้ำมันดีเซล B20 วันนี้กระทรวงพลังงานผลิตไบโอดีเซลมามากพอสมควรที่จะรองรับตรงนี้ได้ ซึ่งจะลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ไปได้พอสมควร และกำชับหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเรื่องฝุ่นจากการอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการเผาขยะ จากการกระทำอื่นๆ ที่จะเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองได้

“วันนี้ที่ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจาย ไม่ไปที่อื่นก็เพราะความกดอากาศกดทับลงมา นี่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ ฉะนั้นไม่อยากให้ใครพูดจนกระทั่งเสียหายไปทั้งหมด ไม่ใช่ว่าดีอยู่แล้ว มันไม่ดีมาอย่างนี้ทุกปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้เป็นระยะตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนว่าฝุ่น PM2.5 มาจากไหน อยากให้ทุกคนร่วมมือมากกว่าติติงกันไปมา หาว่ารัฐบาลไม่แก้ไข รัฐบาลพยายามหามาตรการที่เหมาะสมไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญ สงสัยอะไรก็หาในกูเกิล อย่าเป็นเครื่องมือของใครในการเคลื่อนไหวเลย”

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมสะพานรัษฎาภิเศก และ street art ริมแม่น้ำวัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และ creative tourism ของรัฐบาล ณ สะพานรัษฎาภิเศก

“ในเรื่องการลดการก่อสร้างได้ขอความร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างให้หาวิธีก่อสร้างที่ลดปริมาณฝุ่นละออง ก็ได้รับความร่วมมือพอสมควร อีกกรณีที่ต้องห้าม คือ รถที่มีควันดำ ซึ่งต้องมีการตรวจต่างๆ ทุกคนต้องระมัดระวัง หยุดวิ่งทันที ไม่ว่าจะรถชนิดใดก็ตาม ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ เพราะหากอยากได้แต่ไม่ร่วมมือก็แก้ไขอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น”

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นั้นไม่สามารถใช้หน้ากากอนามัยปกติป้องกันได้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ใช้อะไรเลยหากไม่มีจริงๆ สำหรับคนที่ยังมีศักยภาพในการซื้อใช้ได้ก็ขอให้ช่วยกัน ส่วนภาครัฐก็พยายามจะแจกจ่ายให้มากขึ้น ซึ่งทุกมาตรการต้องแก้ไขแบบนี้ จะให้ปิดโรงเรียนเลยก็มีผลกระทบต่อเด็กนักเรียน แต่หากเสี่ยงมากๆ ก็ต้องปิด เพราะเป็นมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว

สำหรับปัญหาฝุ่นละอองอื่นๆ เช่น เรื่องของควัน ฝุ่นจากการก่อสร้าง จากการเผา ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่เกินกว่า PM2.5 นั้นยังสามารถป้องกันได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการลดผลกระทบทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ในส่วนของการฉีดน้ำก็พอจะช่วยให้ฝุ่นละอองตกมาที่พื้นได้

ย้อนถาม “คนอยากเลือกตั้ง” ขีดเส้นตาย บีบรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งได้หรือ?

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมเคลื่อนไหวขีดเส้นตายวันที่ 19 มกราคมนี้ ให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนว่า ที่เขาบอก “ขีดเส้นตาย” นั้นสามารถทำกับรัฐบาลได้หรือ ทั้งนี้ตนยังยืนยันว่าทุกอย่างอยู่ในกำหนดการเดิม คือ เลือกตั้งภายใน 150 วัน คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่รัฐบาลก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อน

“ผมไม่ได้หมายความว่าจะจัดเมื่อไร อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะกำหนดมาจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้บ้านเมืองเรามีสเถียรภาพ สามารถดำเนินการเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ เราต้องทำไปด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราต้องให้เวลาในการเตรียมการก่อน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และช่วงเวลาระหว่างพิธี รวมไปถึงกิจกรรมที่ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันจัดถวายในนามของรัฐบาลและประชาชนของประเทศ”

ต่อคำถามวลีของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวทุกครั้งที่ขึ้นปราศรัยหาเสียง “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ” ว่า ก็ไปถาม คุณหญิงสุดารัตน์ ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำได้ ไม่ได้อย่างไรนั้น ตนไม่ทราบเช่นกัน

สำหรับกระแสวิจารณ์ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เป็น “การหาเสียง” พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้ว วันนี้การประชุมทุกครั้งที่มาก็เพื่อ รับฟังความคิดเห็น ขับเคลื่อน ถามข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเมื่อวานตนได้รับเรื่องร้องเรียนมา 4-5 เรื่อง แสดงว่าที่นี่มีปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เรื่องหนี้นอกระบบต่างๆ ซึ่งประชาชนยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรไปแล้ว วันนี้ก็สั่งให้มีการชี้แจงไปแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า การลงพื้นที่พบปะกับประชาชน เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ทำ แต่รัฐบาลนี้ไม่ได้ไปพบเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นใครจะไปหรือใครจะมาก็เป็นเรื่องของเขาซึ่งตนได้สอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีการเกณฑ์มาต้อนรับและมานั่งฟังตนเองหรือไม่ และได้รับคำยืนยันว่า ทุกคนมาด้วยความเต็มใจ ไม่ได้เกณฑ์หรือไปจ้างวานใครมา เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ทั้งหมดตนเองจะเป็นคนพิจารณาว่าจะทำเรื่องใดก่อนหรือหลัง หากเรื่องใดที่ทำแล้วยังอยู่ในกฎหมายก็จะเร่งดำเนินการให้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการสร้างความเข้าใจให้กับทุกคน

“การมาในแต่ละครั้ง ไม่ใช่มาประชุมแล้วจบแค่ตรงนี้ ทุกส่วนราชการต่างส่งเจ้าหน้าที่มาลงพื้นที่ทั้ง 85 แห่ง  ในกลุ่มภาคเหนือตอนบนฯ ทั้ง 4 จังหวัด โดยพบว่า สิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสินค้าการเกษตร รายได้น้อย ซึ่งมีการแก้ไขปัญหา 3 ระยะ ได้แก่ เร่งด่วน ด้วยมาตรการอุดหนุนเงิน ตามด้วยมาตรการสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่ยังคงเป็นไปตามแผนแม่บท”

ลงพื้นที่เชียงใหม่-ลำปาง ชู “แม่แจ่มโมเดล” แก้รุกป่า – ลดหมอกควัน

โดย ครม.สัญจรครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2562 ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง มีภารกิจที่น่าสนใจ เช่น ในช่วงสาย นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมความสำเร็จโครงการ “แม่แจ่มโมเดล และแม่แจ่มโมเดล (พลัส)” ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืนด้วยกลไกประชารัฐ โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ทั้งนี้ มีประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ลัวะ ปกาเกอะญอ ม้ง กว่า 6,000 คน มารอให้การต้อนรับ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ผู้แทนชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และมอบเอกสารโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินพื้นที่ลุ่มนา 1 และ 2 ให้ชุมชนภายใต้นโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านต่อเรือ ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านกองแขกเหนือ ตำบลกองแขก ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมตามนโยบายรัฐบาล ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา ท้องที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน และในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

พร้อมระบุว่า การแก้ปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนรัฐบาลได้วางพื้นฐานตามโรดแมปของประชารัฐให้ตรงกับความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และได้ขอให้สื่อมวลชนและสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ด้วย เพราะตอนนี้มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรครัฐบาลที่ทำงานให้ประชาชน

จากนั้นเดินทางไปยังบ้านแม่ปาน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมโครงการธรรมชาติปลอดภัย บ้านแม่ปาน อำเภอแม่แจ่ม ภายใต้แม่แจ่มโมเดล “The Project of Natural Safety Mae Chaem (Mae Chaem Model)” ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555 มุ่งพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูงให้ชุมชนต้นแบบ ควบคู่ไปกับการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งด้วยการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เน้นการทำเกษตรที่หลากหลาย สามารถช่วยให้เกษตรกรลดการบุกรุกป่า และการเผาป่าตามวิถีชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุปัญหาหมอกควันและไฟป่าได้ โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขยายรูปแบบโครงการไปยังพื้นที่อื่นด้วย

ในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังลานตลาดชุมชนบ้านหลุก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 5 พื้นที่ 4 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) เนื้อที่รวม 28,095-0-10 ไร่

นายกรัฐมนตรีพบประชาชน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 / เป็นประธานสักขีพยานการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนและสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน / มอบอุปกรณ์รณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าให้กับผู้แทนชุมชน ณ ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม (ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแจ่มหลวง) จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 10,552 ไร่ 2) พื้นที่ป่าสงวนป่าแม่ปายฝั่งซ้าย จังหวัด แม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 4,466-0-92 ไร่ 3) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย จังหวัดลำปาง เนื้อที่ 4,625-3-8 ไร่ และ 4) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ธิ แม่ตีบ แม่สาร จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 7,532-1-54 ไร่

พร้อมมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ผู้แทนชุมชน ให้ชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 17 พื้นที่ 4 จังหวัด เนื้อที่รวม 24,489-1-22 ไร่ รวมทั้งมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมให้แก่ผู้แทนชุมชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับราษฎรที่ได้รับการจัดที่ดินทำกิน และส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าในรูปแบบป่าชุมชน

จากนั้น เดินทางไปพบกับผู้นำภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ณ โรงงานอินทราเซรามิก ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ชมผลิตภัณฑ์เซรามิก การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้และครั่ง ของลำปางนครหัตถศิลป์ ถิ่นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่อินทราเอาท์เลท ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industry) ที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ

ซึ่งผลิตภัณฑ์เซรามิกของจังหวัดลำปาง มีจุดเด่นที่สามารถทำงานหัตถศิลป์สู่หัตถอุตสาหกรรม โดยคงอัตลักษณ์ของลำปาง เช่น “ชามตราไก่” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้จัดเตรียมแผนงานสนับสนุน เพื่อยกระดับสินค้า ให้ได้มาตรฐานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาให้ลำปาง เป็น creative industrials design capital หรือ ลำปางนครหัตถศิลป์ ถิ่นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลต่อไป

โดยนายกรัฐมนตรี ได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยตนเอง ได้แก่ แก้วเซรามิก และของตกแต่งภายในบ้าน รวมทั้ง ได้เซ็นชื่อบน “ชามตราไก่” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของลำปาง เพื่อเป็นที่ระลึก ก่อนเดินทางต่อไปยังสะพานรัษฎาภิเศก ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อเยี่ยมชมสะพานรัษฎาภิเศกและ street art ริมแม่น้ำวัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และ creative tourism ของรัฐบาลต่อไป

มติ ครม. มีดังนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

รับ 4 ข้อเสนอ เชื่อมโยงอุตสาหกรรม – ท่องเที่ยว – เกษตร – ยกระดับสาธารณสุข

รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดย ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดเสนอ ทั้ง 26 ข้อ ดังนี้

  1. ให้สภาพัฒน์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ศักยภาพภาคเหนือตอนบนด้าน MICE, Medical & Wellness Hub, Creative LANNA และ Food Valley เชื่อมโยงระหว่างแผนงาน GMS กับมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แผนพัฒนาภาคเหนือภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
  2. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงเมืองเก่าลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ทั้งนี้ ควรนำผลการศึกษาที่ได้ไปกำหนดแผนงานหรือแผนปฏิบัติงาน โดยให้ความสำคัญกับรูปแบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
  3. ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ เช่น กระเทียม สับปะรด ลำไย เป็นต้น โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพดิน การจัดหาพันธุ์ที่เหมาะสม การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบสู่เกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การจัดหาตลาดที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับ ตลอดจนกวดขันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรโดยผิดกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
  4. ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดสวัสดิการด้านการสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (emergency physician) บริการแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่มีความจำเป็นต่อพื้นที่ จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าที่จำเป็น (เช่น เครื่อง CT scan ฯลฯ) รวมทั้งการสร้างมาตรการจูงใจบุคลากรทางการแพทย์ไปปฏิบัติงาน เป็นต้น หากโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อม ให้กระทรวงสาธารณสุขประสานสำนักงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2562 มาดำเนินการโดยด่วน

ทั้งนี้นายกิติศักดิ์ สินวนาทรัพย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลำปาง ระบุว่า การได้ร่วมประชุมกับ ครม. เอกชนคาดหวังที่จะเห็นการปรับการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ในการพัฒนาด้านต่างๆ อยากให้พัฒนาโดยใช้การตลาดนำการผลิตเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรได้ด้วย ส่วนในเรื่องของการเลือกตั้งนั้นในมุมของเอกชนก็เห็นว่าเมื่อจัดการเลือกตั้งแล้วขอให้นิ่งเพื่อให้มีความเชื่อมั่น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจนั้นขับเคลื่อนโดยเอกชน หากเลือกแล้วการเมืองนิ่ง เอกชนเชื่อมั่น ทุกอย่างก็เดินต่อไปได้

สั่ง 5 กระทรวง หนุน New S-Curve ภาคเหนือตอนบน

  • ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์สมัยใหม่ (Northern e-Commerce and Modern Logistics Digital Transformation Center for Community Enterprise) โดยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการและธุรกิจชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ การเพิ่มช่องทางการตลาดผ่าน e-commerce) การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน เป็นต้น
  • ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Senior Wellness Center) และใช้ digital health platform ให้เกิดระบบนิเวศ ยกระดับคุณภาพชีวิตการดูแลผู้สูงอายุ และสร้างความเข้มแข็งทางด้านบริการสุขภาพ โดยคำนึงถึงความพร้อมและความคุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
  • ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง พิจารณายกระดับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) สู่การเร่งสร้างผู้ประกอบการและธุรกิจนวัตกรรม โดยการนำองค์ความรู้และงานวิจัยมาพัฒนา startup และ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพเชิงพื้นที่ในเรื่อง Cosmetic Valley, Bio Economy, Food Innovation และ Medical & Wellness Hub โดยคำนึงถึงความพร้อมและความคุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน หากโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมเชื่อมโยงกับศักยภาพที่มีอยู่ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประสานสำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณโดยด่วนต่อไป
  • ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจร (Northern Boutique Arabica Coffee Hub) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกาแฟอาราบิก้าไทยสู่ตลาดโลก โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบครบวงจรบนพื้นฐานของศักยภาพและอัตลักษณ์ของกาแฟ การพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตในระดับฟาร์มถึงผู้บริโภค และการเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟของภูมิภาค
  • ให้ ก.อุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับ Northern Thailand Food Valley สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล (Northern Thailand Food Valley Scale up for Future Food Innovation to International Market) โดยการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตของผู้ประกอบการอาหารในภาคเหนือสู่การผลิตอาหารแห่งอนาคต (Functional Food, Medical Food, Organic Food, Novelty Food) โดยให้บูรณาการใช้ศูนย์ความเป็นเลิศอาหาร (Center of Food Excellence: CoFE) ที่กระจายในแต่ละภูมิภาค เชื่อมโยงการทำงานกับ Food Innopolis อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center: ITC) ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
  • ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยอัตลักษณ์ล้านนาเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม MICE (Creative LANNA MICE Heritage) โดยพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP เชื่อมโยงชุมชนนวัตวิถีให้ได้มาตรฐาน MICE หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อม ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2562 มาดำเนินการในโอกาสแรก
  • ทั้งนี้นางศิริพร ตันติพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการเพิ่มวงเงินในการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวประชารัฐ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธ.ว.พ.) ที่มีวงเงินให้สินเชื่อเหลือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีอีกจำนวนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้นจึงเสนอให้ขยายระยะเวลาและวงเงินในโครงการนี้รวมทั้งจำแนกกลุ่มการให้สินเชื่อออกเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มไฟฟ้า กลุ่มเซรามิก และเสนอการต่อยอดการพัฒนาฟู้ดวัลเลย์ที่ได้ดำเนินที่จังหวัดเชียงใหม่มา 7 ปีแล้ว โดยเสนอให้ตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในการพัฒนาสินค้าออกมาไปทดลองตลอด ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนตามที่เสนอ 150 ล้านบาทพัฒนาในระยะ 3 ปี 2563-2565 จะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ได้อีกจำนวนมาก จากที่ 7 ปี ฟู้ดวัลเลย์สามารถสร้างทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้ถึง 2,000 ราย และยังเป็นการสนับสนุนการแปรรูปสินค้าภาคเกษตรด้วย

    ขณะที่จังหวัดลำปางเองได้เสนอขอหน่วยงานรัฐสนับสนุนงบประมาณ 80 ล้านบาทในการตั้งโรงงานดินกลาง ที่อำเภอแจ้ห่ม ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะทำให้ผู้ประกอบการรวมถึงรายเล็กที่มีอยู่กว่า 200 รายสามารถเข้าถึงวัตถุดิบต้นทุนต่ำได้ และเชื่อว่าจะสร้างมูลให้กับอุตสาหกรรมเซรามิก จ.ลำปาง จากปีละ 3,000 ล้านบาท 3,600 ล้านบาทในปี 2565

    ไฟเขียวลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาคเหนือตอนบน 10 โครงการ 1.7 หมื่นล้าน

    การเพิ่มศักยภาพการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 4 ข้อเสนอ ได้แก่ ให้ สทนช. ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเร่งรัด 1) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่สุยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 2) ก่อสร้างประตูระบายน้ำดอยแต ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และ 3) ก่อสร้างระบบระบายน้ำปลายคลองแม่แตง-แม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่ ตามขั้นตอน ทั้งนี้ ให้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดเข้าแผนงานบูรณาการจัดการน้ำของประเทศต่อไป

    นายกรัฐมนตรี​พบผู้นำภาคเอกชน​ ผู้ประกอบการ​ และเยี่ยมชมการผลิตเซรามิก​การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้และครั่ง​ของลำปางนครหัตถศิลป์​ถิ่นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์​

    และให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนา “ลำปางหัตถอุตสาหกรรมเซรามิก” โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จังหวัดลำปาง หากจำเป็นต้องขยายหรือพัฒนาเพิ่มเติมเร่งด่วน โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานสำนักงบประมาณพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

    ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามกลุ่มจังหวัดได้มีข้อเสนอทั้งหมด 10 โครงการ รวมวงเงินโครงการทั้งหมดประมาณ 17,660 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ขอเร่งรัดดำเนินกําร 8 โครงการ ได้แก่ 1. การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาน จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัด วงเงินลงทุน 100 ล้านบาท 2. การก่อสร้างขยายสะพานข้ามทางแยกต่างระดับ แยกภาคเหนือ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 ตอนเกาะคา-สามัคคี กับทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาน เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง เงินลงทุน 100 ล้านบาท 3. การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง หมายเลข 116 ตอนป่าสัก-สะปุ๋ง-บ้านเรือน-สันป่าตอง จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 19 กม. เงินลงทุน 850 ล้านบาท

    4. ให้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 1136 ตอนเหมืองง่า-ลำพูน เพื่อเชื่อมทางเลี่ยงเมืองลำพูน สายเหมืองง่า-ท่าจักร และเชื่อมโยง จ.เชียงใหม่ เงินลงทุน 300 ล้านบาท 5. การพัฒนาทางหลวงหมายเลข 1035 ตอนวังหม้อพัฒนา-แจ้ห่ม เงินลงทุน 3,300 ล้านบาท 6. การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่ริมเชื่อมต่อไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เงินลงทุน 6,971 ล้านบาท 7. การก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เงินลงทุน 4,268 ล้านบาท 8. เร่งรัดการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดเชียงใหม่ (truck terminal) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาค ลดปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง เงินลงทุน 1,711 ล้านบาท 9. การเสริมสร้างให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองอัจฉริยะ “Smart Nimman” โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ เช่น การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน การปรับปรุงทางเท้า เงินลงทุน 60 ล้านบาท และ 10. ขอให้มีการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานเชียงใหม่ รองรับการขยายท่าอากาศยานฯ ในอนาคต

    ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจัดลำดับความสำคัญแผนงานและโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องตามกรอบและเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) และให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานและผู้ว่าราชการจังหวัดนำผลการดำเนินโครงการของรัฐบาลไปชี้แจงประชาชนได้รับทราบต่อเนื่องด้วย

    นอกจากนี้ มีโครงการอื่นที่ขอรับการสนับสนุนอีก 2 โครงการ ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม “เมืองเก่าลำพูน” โดยนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินบริเวณถนนในเมืองเก่าลำพูน, การขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ (logistic) เชื่อมต่อจากลำปาง-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

    โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม “เมืองเก่าลำพูน” และการเสริมสร้างเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ “Smart Nimman” โดยการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างกนะทรวงคมนาคม, กฟภ., กปภ., อบจ.เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอน, ให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาศึกษาความเหมาะสมการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมจากจังหวัดลำปาง-จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับการสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป

    ต่ออายุโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เฟส 2 อีก 6 เดือน

    อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นในการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นการขยายเวลาจากที่มาตรการระยะที่ 1 ได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากเดิมที่ให้นำเงินที่จ่ายเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ ในร้านค้าประชารัฐโดยไม่สามารถถอนออกมาเป็นเงินสดได้ สามารถถอนเงินสดผ่านตู้ ATM และสาขาของธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ มีวงเงินที่ใช้ดำเนินการจำนวน 4,370 ล้านบาท (ราว 728 ล้านบาทต่อเดือน) เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 4,145,397 ราย โดยจะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมีผลบังคับใช้

    สำหรับการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินฯ ผู้ที่ได้รับเงิน 300 บาทต่อเดือนสามารถกดเป็นเงินสดได้ไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่ได้รับเงิน 200 บาทต่อเดือนให้สามารถกดเงินสดได้ไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

    ทั้งนี้ จะทำให้ผู้ร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับเงินเพิ่มรายละ 200 บาทต่อเดือน จากโครงการระยะแรกได้รายละ 300 บาท รวมเป็น 500 บาทต่อเดือน จะสามารถกดเงินสดออกมาใช้จ่ายได้สูงสุด 400 บาทต่อเดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับเงินเพิ่มรายละ 100 บาทต่อเดือน จากระยะแรกรับรายละ 200 บาท รวมเป็น 300 บาทต่อเดือน จะสามารถกดเงินสดได้สูงสุด 200 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการให้ทางเลือกสำหรับประชาชนที่ต้องการเบิกเป็นเงินสด ส่วนประชาชนผู้ถือบัตรที่ไม่ต้องการเบิกเงินออกมาก็สามารถใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าประชารัฐได้ตามปกติ

    “เป็นการปรับแนวทางการใช้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปลดล็อกให้สามารถเบิกเป็นเงินสดบางส่วนได้ จากเดิมที่ต้องนำไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าเท่านั้น เนื่องจากได้ทำการสำรวจจากผู้ใช้บัตร พบว่ามีความต้องการใช้เงินสดไปจับจ่ายใช้สอยในสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากร้านธงฟ้าบ้าง รวมทั้งมีภาระที่ต้องใช้จ่ายเป็นเงินสด ดังนั้นจึงได้ปลดล็อกเงื่อนไขนี้ให้ในช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน 2562 โดยที่ยังต้องเหลือยอดไว้อีก 100 บาทในบัตรสำหรับการใช้ซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า เพื่อเป็นการช่วยอุดหนุนประชาชนในท้องที่ที่เข้าร่วมโครงการ”

    ด้านนายนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการนั้นพบว่า จากจำนวนผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 จำนวน 4,145,397 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็น 80% ของผู้ที่พัฒนาแล้ว

    โดยพบว่าหลังเข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,566,353 ราย แบ่งเป็นจำนวนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,451,237 ราย และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 1,012,727 ราย คงเหลือ 1,040,842 ราย หรือคิดเป็น 50%

    และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมมาตรการฯ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวมีผลสำเร็จซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลุดพ้นจากเส้นความยากจน (poverty line) หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจนหรือมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี มีจำนวนถึง 115,116 ราย จากเดิมก่อนพัฒนาที่ไม่มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายใดมีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี

    เห็นชอบก่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพ มช. 1,200 ล้าน

    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ของ มช. ในวงเงิน 1,209 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ 358.6 ล้านบาท และใช้เงินนอกงบประมาณสมทบ 850.4 ล้านบาท โดยให้ มช. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

    โดยโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และนานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในการบริการสุขภาพทางเลือกใหม่ เพื่อเป็นศูนย์เครื่องมือกลางรักษาโรคเฉพาะทางในเขตภาคเหนือตอนบน และเพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลกที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องอาศัยการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมไปถึงลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และแพทย์เฉพาะทาง และได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้วย

    ทั้งนี้คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการตั้งศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยสามารถรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 400,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 30,000 รายต่อปี และผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูในระยะยาวเพิ่มขึ้น 2,000 รายต่อปี และจะส่งผลให้สามารถผลิตแพทย์เฉพาะทาง และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้น จำนวน 500 คนต่อปี ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย 2,500 คนต่อปี และเกิดเครือข่ายการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง

    จัดงบฯ 17 ล้าน ฟื้นฟูพื้นที่บ้านป่าแหว่ง เชียงใหม่

    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานให้ ครม. ทราบถึงโครงการบ้านพักตุลาการที่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยมีการหาทางออกและย้ายไปในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วจำนวน 17.5 ล้านบาท ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณดังกล่าว เพื่อใช้ในการเข้าฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเร่งฟื้นฟู ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะในส่วนของบริเวณบ้านพัก 30 กว่าหลัง ซึ่งก็เป็นไปตามข้อตกลงที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ ดังนั้น จะมีการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ส่วนอาคารที่พักอาศัยที่เป็นตึก ซึ่งมีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่บ้าง เพื่อคอยให้มีการปรับปรุงพื้นที่ที่ จังหวัดเชียงรายให้แล้วเสร็จ บุคลากรเหล่านั้นได้ย้ายออกทั้งหมด ยืนยันว่าในส่วนบ้านพักจะไม่ให้ใครเข้าอาศัยเด็ดขาด

    อ่านมติ- ครม. ประจำวันที่ 15 มกราคม 2562 เพิ่มเติม