ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(2)

“Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(2)

16 มกราคม 2020


ทอท.ยอมรับ “จุดส่งมอบสินค้า” สุวรรณภูมิ ไม่ได้ประมูล เคยให้ “บางกอก แอร์เวย์” เปิดจุดส่งมอบสินค้าแต่ยกเลิกปี’58 ยันไม่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ

ต่อจากตอนที่แล้ว ที่ประชุม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 เห็นชอบแนวทางบริหารจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในท่าอากาศยานนานาชาติ โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ เปิดคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวมาให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ คู่ขนานไปกับการให้ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าด้วยตนเอง เพื่อให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายใช้ส่งมอบสินค้าร่วมกัน ตามมติคณะกรรมการ ทอท. ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหากรณีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยทำหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด ไปติดต่อขอเช่าพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick – up Counter) แต่ได้รับแจ้งจาก ทอท. ว่า ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ได้ เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสัมปทานโดยวิธีการประมูลไปแล้ว

ให้ “บางกอก แอร์เวย์” เปิดจุดส่งมอบสินค้าแต่ยกเลิกปี’58

ในรายงานที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.นั้น มีประเด็นข้อถกเถียงกันระหว่างทอท.และหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ซึ่งมีความเห็นต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินหลายประเด็น ที่น่าสนใจ คือ หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ว่า “กรณี ทอท.ให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ อาจเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ เป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า จึงเสนอแนะให้ทอท.จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าร่วมกัน นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังตรวจพบ ทอท. เคยให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในสนามบินสุวรรณภูมิ”

วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ทอท.จึงทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยยอมรับว่า เคยอนุญาตให้ บริษัท การบินกรุงเทพฯ ใช้พื้นที่ประมาณ 8 ตารางเมตร เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ภายในสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ปี 2550 แต่บริษัท การบินกรุงเทพฯไม่ได้เปิดให้บริการ จนกระทั่งมาถึงปี 2558 บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทำหนังสือแจ้ง ทอท. ขอให้ยับยั้งการประกอบกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรของบริษัท การบินกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมา บริษัท การบินกรุงเทพฯ ได้ทำเรื่องขอยกเลิก และ ทอท. ได้อนุมัติให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าวไปแล้วในช่วงเดือนเมษายน 2558

สุวรรณภูมิ ไม่เคยเปิดประมูล “Pick-up Counter”

ส่วนเหตุผลที่ทอท.ไม่สามารถจัดหาพื้นที่ในท่าอากาศยานให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรร่วมกันนั้น กรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. ยอมรับว่าไม่เคยเปิดประมูลพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว ทอท.ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งทอท.ได้เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการเพียงรายเดียว เป็นผู้รับสัมปทานดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้จะได้เอกชนรายเดียว แต่เป็นผู้ที่ชนะการประมูล แต่ก็ปฏิบัติถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้น กิจกรรมการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงถือเป็นสิทธิตามสัญญาโดยชอบธรรมของผู้ชนะการประมูล

ดอนเมือง เปิดประมูล ทั้ง “ดิวตี้ฟรี – จุดส่งมอบสินค้า”

กรณีท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการเข้ารับสัมปทานดิวตี้ฟรีและจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว จึงถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ชนะการประมูล คือ บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่ง ทอท. ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นเปิดให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่อื่นได้ ยกเว้นภายในพื้นที่อาคารผู้โดยสาร

ทอท.เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำชี้แจงของทอท.แล้ว จึงทำความเห็นแย้งกลับไปยังทอท.เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ว่า “ตามพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ถือว่าจุดส่งมอบสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง เนื่องจากการซื้อสินค้าได้สำเร็จแล้ว ตั้งแต่มีการซื้อขายที่ร้านค้าปลอดอากรในเมือง เหลือเพียงขั้นตอนการรับ – ส่งสินค้าเท่านั้น

ดังนั้น จุดส่งมอบสินค้า จึงเป็นบริการอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นบริการที่ผูกขาดโดยเอกชนรายเดียว การที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตามสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งได้มอบสิทธิดังกล่าวให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ โดยผ่านทางสัญญาเช่าพื้นที่ เมื่อสิทธิของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ถูกจำกัดโดยสัญญาเช่าพื้นที่ ทอท. จึงมีหน้าที่จัดหาพื้นนอกสัญญาโครงการ เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าได้”

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงยืนยันคำวินิจฉัยเดิม และแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าวไปยัง ทอท. ดังนั้น ในกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถือเป็นกรณีที่ ทอท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดประชุมร่วมกับทอท., กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง โดยผลการวินิจฉัยจากการประชุมดังกล่าว ได้มีมติให้ทอท.จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ หรือ ให้ ทอท. ประสานกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ คู่สัญญา เปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะให้กับผู้ประกอบการายอื่น โดยให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแล ทอท. ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ปรากฎว่าทอท.ไม่สามารถดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เนื่องจากกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ อายุสัญญาสิ้นสุดวันที่ 29 กันยายน 2563

ส่วนกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นไปตามสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรอายุสัญญาสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565

ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานฯทั้ง 2 โครงการ ได้ผ่านการคัดเลือกผู้ประกอบการ โดยใช้วิธีการประมูลทั่วไป สามารถให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการได้รายเดียว จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีเอกชนรายเดียวเป็นผู้รับสัมปทาน แต่เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งถือเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญา ทำให้ ทอท. ต้องระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสัญญาที่มีอยู่เดิม หรือ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้รับสัมปทานได้ รวมทั้งรัฐบาลไม่มีนโยบาย หรือ มอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการในเรื่องนี้มาก่อน จึงไม่สามารถทำตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินได้

AOTหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้า ทั้งใน–นอกสนามบินไม่ได้

ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะ ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ที่อยู่นอกสัญญาสัมปทานฯ ทำเป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานฯครอบคลุมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารทั้งหมด ส่วนพื้นที่นอกอาคารผู้โดยสารนั้น ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากประกาศกรมศุลกากร ฉบับที่ 44/2561 ได้กำหนดพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า ต้องตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ผู้ซื้อจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากรไปแล้ว เพราะเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระอากร

ต่อมา คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร 2 รูปแบบ ภายหลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง โดยทอท.จะเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะด้วยตนเอง คู่ขนานไปกับ การให้สิทธิเอกชนรายเดียวเข้ามาลงทุนเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Common Use) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown) ทุกรายใช้ส่งมอบสินค้าได้ที่ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้ และยังมีส่วนช่วยส่งเสริมรายได้จากการท่องเที่ยว

ภายหลังสัญญาสัมปทานฯเดิมสิ้นสุด การให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท.จะแบ่งออกเป็น 3 สัญญาใหญ่ คือ สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี (Duty free) , สัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และสัญญาประกอบกิจการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty free Pick-up Counter)

อ่าน “Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(ตอนจบ)