ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > ก.ล.ต. ผนึก 32 บจ. ทำดีเพื่อส่วนรวม ขับเคลื่อนโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

ก.ล.ต. ผนึก 32 บจ. ทำดีเพื่อส่วนรวม ขับเคลื่อนโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

4 ธันวาคม 2019


วันนี้ (4 ธันวาคม 2562) ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกับบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฯ จำนวน 32 แห่ง เปิดตัวโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” หรือ “VIBHAVADI ZERO WASTE” อย่างเป็นทางการ

โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ เป็นการดำเนินการภายใต้ “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานในตลาดทุน 12 องค์กรร่วมกันจัดทำและมีพิธีเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 เพื่อให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนร่วมกันทำความดี โดยช่วยกันขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืนตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้แล้วให้สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ริเริ่มโครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ และได้ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนบริษัทจดทะเบียนที่มีที่ทำการหรือมีโครงการอยู่ในแนวถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และลดขยะที่ไม่สามารถหมุนเวียนไปใช้หรือทำประโยชน์อย่างอื่นให้เหลือน้อยที่สุด ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการทั้งหมด 32 แห่ง

นอกจากนี้ โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” จะเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมของเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ที่ ก.ล.ต.และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้ร่วมกับอีก 7 องค์กรจัดตั้งขึ้น และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงวัตถุประสงค์และที่มาของ TRBN

โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ มุ่งเป้าบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลัก 3R “reduce-reuse-recycle” หรือ “ลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิล”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “สิ่งที่ ก.ล.ต.คาดหวังมากที่สุดจากโครงการนี้คือ การสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยในระยะแรกมีเป้าหมายให้แต่ละบริษัทรวมทั้ง ก.ล.ต.มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดหลัก 3R “reduce-reuse-recycle” หรือ “ลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิล” เริ่มตั้งแต่ลดการใช้สิ่งที่จะเป็นขยะในอนาคต และเรียนรู้ในการจัดการขยะแต่ละประเภท ซึ่งเป็นจุดเริ่มของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การทำให้เกิดความยั่งยืนได้จะต้องมาจากตัวเราเองและความร่วมมือกันในสังคม จึงเป็นการทำความดีเพื่อแผ่นดินที่สามารถเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวภายในองค์กรตนเอง และยังหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถขยายผลไปยังองค์กรอื่นได้”

ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะมีการรายงานข้อมูลการบริหารจัดการขยะผ่านแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นเพื่อการวัดผลความคืบหน้า รวมทั้งจะมีการเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊ก “วิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” หรือ @vibhavadizerowaste เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงแชร์ประสบการณ์ไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ

ในงานแถลงข่าว ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมป์ ได้แบ่งปันประสบการณ์การจัดการขยะของมูลนิธิฯ บนดอยตุง โดยเล่าว่า นโยบายกำจัดขยะของมูลนิธิฯ คือ ไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งได้เริ่มจัดการกับขยะมาตั้งแต่ปี 2555 และเห็นผลสำเร็จในปี 2561

ขยะในประเทศไทยมีปริมาณราว 27 ล้านตันต่อปี โดยสัดส่วน 31% สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ อีก 26% ไม่ได้รับการจัดการและ 43% มีการจัดการถูกวิธี แต่ส่วนใหญ่ 90% นำเข้ากระบวนการฝังกลบ

“การจัดการขยะด้วยวิธีฝังกลบในระยะต่อไป มีข้อจำกัดเพราะพื้นที่ที่จะใช้ฝังกลบมีไม่มากแล้ว อีกทั้งการฝังกลบทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งมีผลทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า” ดร.ธนพงศ์กล่าว

สำหรับขยะประเภทต่างๆ ที่นำมารีไซเคิลได้นั้น กระดาษนำกลับมารีไซเคิลได้ 64% กล่องนม UHT นำมารีไซเคิลได้ 5-10% กระป๋องนำมารีไซเคิลได้ 78% ขวด PET นำมารีไซเคิลได้ 70-80% เนื่องจากเก็บได้ง่าย แต่ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวรีไซเคิลได้น้อยกว่า 10% และแต่ละปีไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 45,000 ล้านใบ

ดร. วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมป์

ดร.ธนพงศ์เล่าถึงการจัดการขยะบนดอยตุงว่า ในช่วงแรกก็มีปัญหากในการดำเนินการ เพราะมีคำถามจากพนักงานด้วยกันเองว่า จะแยกไปทำไม มูลนิธิฯ จึงได้ตัดสินใจสร้างศูนย์กำจัดขยะขึ้นในปี 2555 เพื่อไม่ให้มีขยะออกบ่อฝังกลบ โดยมีระบบล้างขยะ ปั่นแห้ง เก็บไปขาย

ขยะที่เก็บมาได้จะมีการแยกออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) ขยะขายได้ 2) ขยะย่อยสลาย 3) ขยะเปื้อน 4) ขยะเชื้อเพลิง 5) ขยะห้องน้ำ 6) ขยะอันตราย จากนั้นแยกอออกเป็นอีก 43 ชนิดตามการใช้ประโยชน์ ส่วนขยะพลังานไม่สามารถกำจัดเองได้ จึงส่งต่อให้กลุ่มเอสซีจีจัดการต่อที่ลำปาง

ภายในศูนย์กำจัดขยะมีเตาเผาขยะชีวมวล แก้วกาแฟดอยตุงที่เคลือบ PBS เศษกระดาษสา ส่วนกล่องนมเก็บไว้เพื่อใช้ทำอิฐมวลเบา

สำหรับขยะขายได้นั้นก็แยกออกอีกเป็น 31 ชนิด แยกละเอียด เพื่อขายให้ได้ราคา ส่วนขยะย่อยสลายเน้นประโยชน์สูงสุด นำไปให้อาหารสัตว์ เลี้ยงไส้เดือน หนอนแมลงวันลาย ทำ EM และทำปุ๋ย ขณะที่ขยะเปื้อน มีเครื่องล้าง ปั่นแห้งก่อนนำไปขาย ส่วนขยะอันตรายส่งให้ผู้เชี่ยวชาญกำจัด แต่หลอดไฟ มีเครื่องบดย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก และขยะห้องน้ำ เผาในเตาที่สร้างมลพิษต่ำด้วยความร้อน 800-900 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจาย ติดเชื้อ

ดร.ธนพงศ์ให้คำแนะบริษัทที่เข้าโครงการถนนวิภาวดีไม่มีขยะว่า อย่างแรกต้องหาแรงบันดาลใจ โดยไปสำรวจว่ากรุงเทพมหานครมีการจัดการขยะอย่างไร ซึ่งมี 3-4 ศูนย์ที่กำจัดขยะ โดยที่อ่อนนุชเป็นที่พักขยะ ส่วนที่หนองแขม มีทั้งที่พักขยะและมีเตาเผาได้ 500 ตันต่อวันเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่วนศูนย์กำจัดขยะที่สายไหมเผาได้ 200 ตนต่อวัน

จากนั้นศึกษาถึงผู้ซื้อ ซึ่งมักมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพื่อนำขยะไปผลิตสินค้าอื่น เช่น ทำอิฐบล็อก รวมทั้งหาตัวช่วยดีที่จัดการขยะให้เป็นศูนย์ และสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ที่ดอยตุงมีจัดกิจกรรม วิชาวิจัยเข้าถึง ให้ความรู้แยกขยะจริง ร่วมกันทำแผนขององค์กร จัดกิจกรรมงานลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รณรงค์การใช้วัสดุธรรมชาติไม่ใช้ถุงหูหิ้ว มีป้ายเตือนจำนวนมาก รวมทั้งลดการใช้ เสียก็ซ่อม และแปรรูปใช้ใหม่