ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > คาเฟ่ อเมซอน โกกรีน ชูแนวคิด “Taste of Nature ” ใส่ใจสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม

คาเฟ่ อเมซอน โกกรีน ชูแนวคิด “Taste of Nature ” ใส่ใจสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม

4 ธันวาคม 2019


วันนี้ (4 ธันวาคม 2562) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ แถลงข่าวกิจกรรมคาเฟ่ อเมซอน โกกรีน โดยนายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก และรองศาสตราจารย์สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ทิศทางการรักษาสิ่งแวดล้อมและแนวทางโกกรีน ของคาเฟ่ อเมซอน

นายสุชาติกล่าวว่า โออาร์มีนโยบายการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลตามแผนจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 จึงให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการใช้พลาสติกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

คาเฟ่อเมซอนดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บนแนวคิด Taste of Nature โดยได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านให้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสลายตัวได้ทางชีวภาพ ด้วยเริ่มใช้แก้ว bio cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบไบโอพีบีเอส (bio PBS) ที่ย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน มาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาได้ขยายไปสู่การใช้หลอดกระดาษ bio และแก้วเย็น PLA ซึ่งลดขยะได้ราว 645 ตันต่อปี ขณะเดียวกัน ก็รณรงค์ให้ลูกค้านำแก้วมาเองตามแนวคิด circular living

นายสุชาติกล่าวว่า คาเฟ่อเมซอนยังลดการสร้างขยะภายในร้านด้วยแนวคิด 3R คือ ลดการใช้ (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และ นำมาแปรรูปใช้ใหม่ (recycle) โดยการลดการใช้นั้นวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้จะงดแจกถุงพลาสติก และตั้งแต่วันสิ่งแวดล้อมไทยเริ่มกิจกรรมแจกถุงผ้าสปันบอนด์จำนวน 1.5 ล้านใบพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ใช้ได้หลายครั้ง

ส่วนการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น แคมเปญรณรงค์ให้ลูกค้านำแก้วมาเองประสบความสำเร็จ โดยในรอบ 6 เดือนหลังของปี 2561 สามารถลดการใช้แก้วได้ถึง 8 ล้านใบ ส่วนในรอบ 10 เดือนแรกปีนี้ลดการใช้แก้วได้ถึง 22 ล้านใบ

“ขณะที่การ recyle นั้นได้นำสิ่งต่างๆ ที่ผ่านการใช้แล้วในร้านมาแปรรูปใช้ใหม่ ได้แก่ การนำเยื่อเมล็ดกาแฟมาทำเป็นผิวโต๊ะ นำขวดพลาสติก PET มาทำเป็นเก้าอี้ นำขวด PET มาทำเป็นเสื้อพนักงาน โดยเสื้อ 1 ตัวใช้ขวดขนาดบรรุจ 500 มิลลิลิตรราว 15-16 ใบ รวมทั้งนำขวดมาทำเป็นผ้ากันเปื้อนอีกด้วย” นายสุชาติกล่าว

วันที่ 1 มกราคม 2563 นี้จะเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนเสื้อและผ้ากันเปื้อนสำหรับพนักงานภายในร้านไปจนครบทุกสาขา

การ recycle ได้ร่วมกับเครือ ปตท. คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซปต์ แห่งแรกที่สถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น สามย่าน เป็นสาขาต้นแบบเพื่อสร้างธุรกิจหมุนเวียน ด้วยการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นเฟอรนิเจอร์สำหรับตกแต่งภายในและภายนอกร้าน เช่น ตู้และชั้นวางของผลิตจากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟที่เป็นของเสียงจากโรงคั่วกาแฟ บอร์ดผนังตกแต่งร้านผลิตจากถุงบรรจุเมล็ดกาแฟ ผนังตกแต่งร้านรูปนกแก้วมาคอว์ผลิตจากแก้วกาแฟพลาสติกพอลิโพรไพลีน โซฟาผลิตจากขวดน้ำดื่ม PET กระถางสวนแนวตั้งผลิตจากแกลลอนนมพลาสติก

สำหรับโครงการ คาเฟ่ อเมซอน ฟอร์ เอิร์ท ที่ให้ส่วนลด 5 บาทแก่ลูกค้าที่นำแก้วมาเองตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกได้ถึง 31 ล้านใบ

“การทำธุรกิจของเรา คำนึงและใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และการที่ลดขยะลงได้ เพราะผู้บริโภคเองให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความร่วมมือมากขึ้น” นายสุชาติกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแยกขยะภายในสถานบริการ และกิจกรรมโครงการนำมาเองและเล่นเกมส์กันที่ร่วมกับแอปพลิเคชัน ECOLIFE เมื่อลูกค้าซื้อเครื่องดื่มและปฏิเสธการใช้แก้วหรือหลอดพลาสติก สามารถสะสมคะแนนภายในแอปพลิเคชัน เพื่อนำไปแลกสินค้าพรีเมียมของคาเฟ่ อเมซอนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2563

คาเฟ่ อเมซอน เป็นแบรนด์กาแฟไทยที่ทำธุรกิจมา 17 ปี ปัจจุบันมี 3,025 สาขาทั่วโลกใน 10 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และโอมาน

รองศาตราจารย์สุชนากล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกในการสร้างขยะทางทะเล โดยคนไทยสร้างขยะปริมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน รวมแล้วปริมาณขยะแต่ละปีมีถึง 26 ล้านตัน ซึ่งสัดส่วน 27% ที่มีการจัดการอย่างถูกวิธี โดย 10-19% นำไปเข้ากระบวนการ recycle อีกกว่า 50% มีการจัดการไม่ถูกวิธี

สำหรับมาตรการการลดขยะจากภาครัฐนั้น ได้แก่ การยกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำหรือ cap seal มีการห้ามใช้พลาสติกไมโครบีดในเครื่องสำอาง และในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ห้างร้านต่างๆ จะเลิกแจกถุงพลาสติก และวางแผนว่าใน 2 ปี หรือราวปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ตลอดจนส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและโครงการวิจัยต่างๆ วิจัยแนวทางที่จะนำพลาสติกมาแปรรูปได้เร็วขึ้น

“พลาสติกมีประโยชน์ แต่ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทิ้งขยะให้ถูกที่และแยกขยะให้ถูกวิธี เพื่อนำกลับมาแปรรูปให้ใช้ใหม่ได้” รองศาตราจารย์สุชนากล่าว