โฮปเวลล์ (ตอน 3): เปิดดีลพิสดารขายหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน เรียกค่าโง่สำเร็จ จ่ายเงินเพิ่ม 20% ของวงเงินชดเชยส่วนที่เกิน 2,000 ล้าน
ต่อจากตอนที่แล้ว หลังศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ปี ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ชุดใหญ่ขึ้นมาตรวจสอบเอกสารและความถูกต้อง พบหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยส่งให้ศาลวินิจฉัยหลายประเด็น
เริ่มตั้งแต่ที่มาของสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ย้อนหลังกลับไปในช่วงต้นปี 2533 กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือที่ คค 0297/7365 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 โดยขอที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) ให้มีมติมอบหมายกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามแทนรัฐบาลไปลงนามในสัญญาสัมปทานฯกับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจลงนามในสัญญาสัมปทานฯ ตามที่กรมอัยการ (ปัจจุบันคือสำนักงานอัยการสูงสุด) ได้ตรวจแก้ไข จากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามที่ ครม.เศรษฐกิจมีมติ
ปรากฏว่ากระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามที่กรมอัยการเคยตั้งเป็นข้อสังเกตในการตรวจร่างสัญญาสัปมทานฯ 4 ข้อ ประเด็นหลัก คือ สัญญาสัมปทานฯ ที่กระทรวงคมนาคมส่งให้กรมอัยการตรวจทานนั้น มีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญา ไม่ใช่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกได้รับสิทธิในสัมปทานฯ ดังกล่าวจากกระทรวงคมนาคมและตามมติ ครม.
ดังนั้น กรมอัยการจึงมีข้อเสนอแนะให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ควรเข้ามาผูกพันในสัญญาสัมปทานฯ ด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดควรเป็นผู้ค้ำประกันบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 กระทรวงคมนาม และ รฟท.ได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด การลงนามในสัญญาสัมปทานฯ ครั้งนั้น คณะทำงานคดีโฮปเวลล์มีข้อสังเกตว่า รฟท.เข้าไปลงนามในสัญญาสัมปทานฯ ได้อย่างไร เป็นการดำเนินการไปตามมติ ครม.หรือไม่
หลังจากเซ็นสัญญาสัมปทานฯ ไปแล้ว กระทรวงคมนาคมก็ทำหนังสือที่ คค 0207/15224 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2533 รายงานให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 4 ธันวาคม 2533 รับทราบการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ ในหนังสือกระทรวงคมนาคมฉบับนี้มีอยู่ท่อนหนึ่งระบุว่า “คณะกรรมการพิจารณาดำเนินโครงการโฮปเวลล์ฯ ที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง ได้เชิญบริษัทโฮปเวลล์ฯ มาเจรจาเกี่ยวกับร่างสัญญาสัมปทานฯ ที่กรมอัยการตรวจแก้ไข รวมทั้งพิจารณาข้อสังเกตของกรมอัยการแล้ว ปรากฏว่า บริษัทโฮปเวลล์ฯ ยอมรับการแก้ไขของกรมอัยการทั้งหมด ยกเว้นประเด็นปลีกย่อย ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์ฯ ขอให้คงไว้ตามร่างสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้สอดคล้องตรงตามผลการเจรจาระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัทโฮปเวลล์ฯ ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว”
กรณีนี้คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าทำสัญญาสัมปทานฯ ครั้งนั้นเป็นไปตามมติ ครม.เศรษฐกิจและมติ ครม.วันที่ 20 มิถุนายน 2533 ที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลลงนามในสัญญาฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ตามที่กรมอัยการตรวจแก้ไขร่างสัญญาสัมปทานแล้ว หรือไม่ อย่างไร
จากนั้นคณะทำงานคดีโฮปเวลล์จึงไปตรวจสอบเอกสารการขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด และหนังสือบริคณห์สนธิที่ผู้ก่อตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำร้องต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 พบว่ามีบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ประกอบกิจการอยู่ที่ฮ่องกง ถือหุ้นจำนวน 599,991 หุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งหมด 600,000 หุ้น โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดมี 10 คน เป็นคนต่างด้าวสัญชาติฮ่องกง, อังกฤษ, จีน และออสเตรเลีย รวม 7 คน ถือหุ้นรวมกัน 599,977 หุ้น ที่เหลือเป็นคนไทย 3 คน ถือคนละ 1 หุ้น โดยมีนายกอร์ดอน วู ยิง เชง เป็นกรรมการบริษัท
ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าว ขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ตามที่ระบุไว้ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ข้อ 2
คำถามคือ กรมทะเบียนการค้า รับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อย่างไร
คณะทำงานคดีโฮปเวลล์จึงขยายผลการตรวจสอบต่อไป พบหลักฐานกระทรวงคมนาคมเคยทำหนังสือที่ คค 0207/7365 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ถึงนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) ขอให้เสนอ ครม.มีมติให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด 4 ข้อ คือ
-
1. ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน
2. ยกเว้น ปว. 281 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2
3. ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
4. ขอสนับสนุนและอำนวยความสะดวก กรณีการก่อสร้างโครงการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนราชการหรือพื้นที่เอกชน
ต่อมา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ครม.เศรษฐกิจนำข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ทั้ง 4 ข้อไปพิจารณา ปรากฏว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533 มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แค่ 2 ข้อ คือ ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนกับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
จากนั้นที่ประชุม ครม.วันที่ 20 มิถุนายน 2533 ก็มีมติเห็นชอบตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจทั้ง 2 ข้อ และในหนังสือเวียนของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติสิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แค่ 2 ข้อเช่นกัน ส่วนคำขอสิทธิประโยชน์ยกเว้น ปว. 281 และขอสนับสนุนกรณีการก่อสร้างโครงการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนนั้น ทั้ง ครม.เศรษฐกิจและ ครม.ไม่ได้มีมติเห็นชอบ จึงไม่ได้กล่าวถึงคำขอสิทธิประโยชน์ 2 ข้อหลังนี้
คณะทำงานคดีโฮปเวลล์จึงตั้งข้อสังเกตว่าผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะนำมติ ครม.ดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนบริษัทได้หรือไม่ และกรมทะเบียนการค้ารับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อย่างไร
ล่าสุด ที่ประชุมคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ ได้มอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ รฟท. และเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานใหม่ถึง 4 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 อันได้แก่ กระทรวงการคลัง, สำนักงานประมาณ, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง
โดยนายนิติธรให้สัมภาษณ์ว่า “คณะทำงานฯ ได้ตรวจพบในช่วงปี 2548 บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ได้ขายหุ้นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับบริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด จดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งตนไม่ยืนยันตัวเลขการซื้อขายหุ้นว่ามีมูลค่า 500 ล้านบาทจริงหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการประกอบกิจการใดๆ จึงมีข้อสงสัยว่า บริษัทยูไนเต็ดซัคเซสฯ ใช้เงินจำนวนมากเข้ามาซื้อบริษัทที่มีความเสี่ยงทางคดีความโดยที่ยังไม่รู้ผลแพ้หรือชนะ การเข้ามาซื้อหุ้นลักษณะนี้ไม่แน่ใจว่ามีเจตนาเข้ามาเพื่อค้าความหรือไม่ ขอย้ำว่าประเด็นนี้เป็นเพียงข้อสงสัย ไม่ได้กล่าวหา ซึ่งคณะทำงานฯ ต้องหาหลักฐานกันต่อไป”
คำสัมภาษณ์ของนายนิติธร สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2548 ของบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด หน้า 34 ที่ได้กล่าวถึงโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. หรือ “BERTS” ว่า “กลุ่มบริษัทโฮปเวลล์ พยายามหาทางออกในปีบัญชีนั้นสำหรับการแก้ปัญหาโครงการ BERTS และหน้า 93 ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ระบุว่า หลังจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (HTL) ได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ BERTS และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับที่อยู่อาศัยในพื้นที่ได้สัมปทานนั้น ต่อมา ทางบริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานฯ จากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ทาง HTL ได้ทำหนังสือโต้แย้ง ซึ่งประเด็นข้อพิพาทจะมีรายละเอียดอยู่ในหมายเหตุ 41 (b) โดยกลุ่มบริษัทได้ตั้งสำรอง (provision) ไว้เต็ม 100% เทียบเท่ากับต้นทุนที่ใช้ในการพัฒนาโครงการ BERTS ตั้งแต่ปี 2547 คิดเป็นมูลค่า 5,313 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
สำหรับรายละเอียดของประเด็นข้อพิพาท ระบุในหมายเหตุ 41 (b) หน้า 108 ว่า “หลังจากกระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น โดยกระทรวงคมนาคม ขอยึดเงินค่าตอบแทนที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายเป็นค่าสัมปทานทั้งหมด รวมทั้งพันธบัตรของธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทโฮปเวลล์ฯ นำมาวางเป็นหลักประกันคิดเป็นมูลค่า 94 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ณ ปี 2547 คิดเป็นมูลค่า 95 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากนั้นในระหว่างปี (2547-2548) บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะกรรมการ (บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด) ยังไม่ทราบผลลัพธ์จากการดำเนินการตามกฎหมายจะออกมาเป็นอย่างไร
จากนั้นในรายงานประจำปี 2549 ของบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด หน้าที่ 6 ระบุว่า กลุ่มโฮปเวลล์ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับกลุ่มบริษัทที่สนใจในเดือนพฤศจิกายน 2548
และในหน้า 34 ระบุว่า เดือนพฤศจิกายน 2548 มีการทำข้อตกลงเพื่อที่จะจำหน่ายการลงทุน (การถือหุ้น) ของกลุ่มในบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ถือหุ้นเต็มจำนวน และดำเนินการโครงการ BERTS และจากการจำหน่ายบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 ทำให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด มีกำไรจากการตั้งสำรองความเสียหายก่อนหน้านี้ กลับมาเป็นกำไร 265 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
หน้า 87 ในหมายเหตุ ประกอบงบการเงิน ข้อ 11 (a) ระบุว่า “ในระหว่างปี บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ได้ทำสัญญาขายบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งรับสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพฯ ให้แก่กลุ่มบริษัทที่สนใจ คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ยังจะได้รับเงินจากการขายครั้งนี้เพิ่มอีก 20% ของมูลค่าส่วนที่เกินกว่า 2,000 ล้านบาท หากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเงินชดเชยจากการดำเนินโครงการโฮปเวลล์ ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขของสัญญาซื้อ-ขาย”
ใครคือผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และการซื้อหุ้นครั้งนี้วัตถุประสงค์การลงทุนคืออะไรกันแน่!!