ThaiPublica > เกาะกระแส > “วรวุฒิ” รักษาการ ผู้ว่ารฟท.ระบุไม่รู้เรื่อง “คดีค่าโง่โฮปเวลล์” นัดอัยการหารือ – สรุปเรื่อง16 พ.ค. นี้

“วรวุฒิ” รักษาการ ผู้ว่ารฟท.ระบุไม่รู้เรื่อง “คดีค่าโง่โฮปเวลล์” นัดอัยการหารือ – สรุปเรื่อง16 พ.ค. นี้

14 พฤษภาคม 2019


นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดีโฮปเวลล์ว่า ขณะนี้ รฟท.ได้นัดหมายที่จะเข้าพบอัยการผู้ที่รับผิดชอบคดีโฮปเวลล์ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562 นี้ เพื่อหารือในรายละเอียดกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จ่ายค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวงเงิน 11,888 ล้านบาท ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน ซึ่งคณะกรรมการ รฟท.ได้รับทราบรายละเอียดของคำพิพากษาฉบับเต็มเรียบร้อยแล้ว และได้มอบหมายให้ รฟท.ไปหารือกับอัยการ

  • ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐโดย รฟท.จ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” 1.18 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน

  • บอร์ด ร.ฟ.ท. เตรียมสั่งสอบคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ผู้บริหารรถไฟไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่ไปฟังคำพิพากษา ไม่สามารถสรุปวงเงินที่ต้องจ่าย

  • เส้นตาย 6 เดือน “รฟท.” จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์อาจต้องจ่าย 24,972 – 58,907 ล้านบาท กับภาระหนี้สินรวม 6 แสนล้าน
  • “รฟท.ได้จัดสั่งคำพิพากษาศาลกครองสูงสุดฉบับเต็ม รวมทั้งได้รายงานให้บอร์ด รฟท.รับทราบแล้ว และบอร์ด รฟท.ได้มอบหมายให้ไปหารือกับอัยการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541 อัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ก็ยังทำงานอยู่ ยังไม่เกษียณ คงต้องไปหารือกับอัยการก่อนว่าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่” นายวรวุฒิกล่าว

    นายวรวุฒิกล่าวว่า บริษัท โฮปเวลล์ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 ตอนนั้นตนเพิ่งเข้าทำงานเป็นพนักงานชั้น 1 หัวหน้าแผนก จากนั้นก็มาเกิดเป็นคดีความกับขึ้นมาในช่วงปี 2534-2545 ซึ่งขณะนั้นตนปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้ากอง

    “การนัดหารือกับอัยการครั้งนี้ เพื่อไปสอบถามข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งประเด็นและแง่มุมกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ต้องไปหารือกับอัยการก่อน เพราะเราไม่รู้เรื่อง อ่านสำนวนคดีก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่ใช่นักกฎหมาย ซึ่งจะต้องให้อัยการเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมดมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ยังมีข้อต่อสู้อีกหรือไม่ เหมือนกับไปปรึกษานักกฎหมาย ก็ต้องไปอัปเดต เพราะศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ รฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2541 ศาลปกครองไม่ได้ตัดสินใหม่ แต่ตัดสินว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่หมดอายุ และบอกว่าให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดเดิม เราก็มีหน้าที่ไปตรวจสอบดูว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเดิมถูกต้องหรือยัง มีประเด็นไหนบ้าง มีอะไรที่ยังไม่ครบ ซึ่ง รฟท.เองจะไปค้นจากไหน ก็ต้องไปถามอัยการ” นายวรวุฒิกล่าว

    นายวรวุฒิกล่าวว่า หลังจากหารือกับอัยการในวันที่ 16 พฤษภาคมแล้ว ก็จะสรุปผลการหารือรายงานคณะกรรมการ รฟท.ภายในวันเดียวกัน จากนั้นก็จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการต่อไป ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะทำงาน ซึ่ง รฟท.ได้เสนอไปแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามกลับมา

    สำหรับเรื่องเงินที่จะจ่ายให้กับโฮปเวลล์ตามคำพิพากษา นายวรวุฒิกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่จะดำเนินการในภายหลัง ไม่กังวล หากต้องจ่ายเงินจริงๆ ก็ต้องไปหารือหรือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง แต่ภารกิจในขณะนี้ต้องจัดการเรื่องคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งโดยต้องมาดูว่าคำพิพากษาถึงที่สุดและเป็นธรรมแล้วใช่หรือไม่