ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โฮปเวลล์(ตอน 1) : ตำนานคดีค่าโง่ จากรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ ถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา… “จบแบบไม่จบ” อ้างโฮปเวลล์ขอเจรจา

โฮปเวลล์(ตอน 1) : ตำนานคดีค่าโง่ จากรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ ถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา… “จบแบบไม่จบ” อ้างโฮปเวลล์ขอเจรจา

19 พฤศจิกายน 2019


มหากาพย์คดีพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 30 ปี เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนำเสนอโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม.รวม 3 ตอนเสนอที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) วันที่ 19 กันยายน 2532 ผ่านความเห็นชอบ หากประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนไม่สำเร็จ เห็นควรให้ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการ โดยขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล หรือให้สัมปทานเอกชนลงทุนก่อสร้างและรับสัมปทานเดินระบบขนส่งมวลชนบนทางรถไฟยกระดับ

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 กระทรวงคมนาคมออกประกาศเชิญชวนมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการลงทุนระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม.และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. หรือที่เรียกว่า “โครงการโฮปเวลล์” โดยให้สิทธิในสัมปทานดำเนินการระบบรถไฟชุมชน, สัมปทานในการจัดเก็บค่าผ่านทางรถยนต์ยกระดับ และมอบสิทธิในการจัดประโยชน์ที่ดินของ รฟท. 4 ทำเลทอง รวมพื้นที่ 247.5 ไร่ คือ บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง 4.5 ไร่, บริเวณบ้านพักสามเหลี่ยมจิตรลดา 40 ไร่, ชุมชนตึกแดงบางซื่อ 120 ไร่ บ้านพักนิคมมักกะสัน 83 ไร่ โดยเอกชนที่สนใจต้องลงทุนก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับพร้อมสถานี เครื่องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณ โทรคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี ไม่รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3-5 ปี

“โฮปเวลล์” ลอยลำ ขายซอง 4 ราย ยื่นข้อเสนอรายเดียว

เปิดประมูลโครงการนี้มีผู้มาซื้อซอง 4 ราย แต่มายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ของนายกอร์ดอน วู มหาเศรษฐีจากฮ่องกง กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค และคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทั่วไป เพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานเจรจากับผู้แทนบริษัทโฮปเวลล์ฯ จนได้ข้อสรุปในเบื้องต้น บริษัทโฮปเวลล์จะก่อสร้างทางรถไฟ เฟสแรก 63.3 กิโลเมตร กระทรวงคมนาคมยอมรับเงื่อนไขของบริษัทโฮปเวลล์ นำเรื่องการขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนเสนอที่ประชุม ครม. ส่วน รฟท.จะจัดสรรที่ดินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน บริเวณบางซื่อ 80 ไร่ บริเวณมักกะสัน 80 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงรถไฟเป็นการชั่วคราว

คมนาคม–รฟท. เซ็นสัญญาสัมปทานฯ กับ “โฮปเวลล์”

วันที่ 25 กรกฎาคม 2533 บอร์ด รฟท.มีมติมอบอำนาจให้ รฟท.ลงนามในสัญญาสัมปทาน ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และให้บริษัทโฮปเวลล์ดำเนินการก่อสร้าง

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 กระทรวงคมนาคม และรฟท.ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยสัญญาสัมปทานฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 30 ปี

ก่อสร้างล่าช้า เตรียมล้มโครงการ

เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปได้ 5 ปี ปรากฏว่างานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปได้แค่ 5% ของระบบงานก่อสร้างทั้งหมด ขณะที่สัญญาฯ กำหนดว่างานก่อสร้างควรมีความคืบหน้าไม่น้อยกว่า 67% ทั้งนี้ เนื่องจากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาได้มีการจัดตั้งรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาบริหารประเทศ โดยมีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำการตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีลักษณะผูกขาด ต่อมาได้มีการประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทนเมื่อปี 2535 แต่ยังไม่ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ รัฐบาลนายอานันท์ประกาศยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 พ.อ. วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตัดสินใจเดินหน้าผลักดันโครงการโฮปเวลล์ต่อ แต่ติดปัญหาปัญหาเรื่องเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และปัญหาเรื่องแบบก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

คมนาคมชง “บิ๊กจิ๋ว” บอกเลิกสัญญา – ยุติโครงการรัฐบาลชวน 2

จนกระทั่งมีถึงรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ วันที่ 19 กันยายน 2540 กระทรวงคมนาคม ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นควรบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากงานก่อสร้างมีความคืบหน้าน้อยมากต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดในแผนงาน แต่ยังไม่ทันได้มีมติบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ รัฐบาล พล.อ. ชวลิตประกาศลาออก เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 บอกเลิกสัญญาบริษัทโฮปเวลล์ฯ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์ฯ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 ต่อมากระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงบริษัทโฮปเวลล์ฯ ลงวันที่ 27 มกราคม 2541 แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ และห้ามบริษัทโฮปเวลล์ฯ เข้าพื้นที่โครงการ

“โฮปเวลล์” ร้องอนุญาโตฯ เรียกค่าเสียหาย

จากนั้นทั้งคมนาคม รฟท. และบริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้มีการทำหนังสือโต้ตอบไปมากันอยู่หลายปี จนมาถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 บริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นคำร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ขอให้คมนาคมและ รฟท.ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์ฯ คิดเป็นมูลค่า 58,979 ล้านบาท ต่อมาทางบริษัทโฮเวลล์ฯ ได้ขอแก้ไขวงเงินชดเชยค่าเสียหายต่ออนุญาโตตุลาการเหลือ 28,334 ล้านบาท

อนุญาโตฯ สั่งคมนาคม–รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.88 หมื่นล้าน บวกดบ. 7.5%

ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ประกอบด้วยค่าก่อสร้างโครงการ 9,000 ล้านบาท, เงินค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินที่บริษัทชำระให้กับ รฟท.แล้ว 2,850 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประมาณ 38.75 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

สภาพทิ้งร้างของตอม่อโครงการโฮปเวลล์ ริมถนนวิภาวดีรังสิต

ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ โฮปเวลล์ยื่นอุทธรณ์ต่อ

คดีนี้ศาลปกครองกลางได้ไต่สวนกันมาจนถึงปลายสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองกลางตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เป็นฝ่ายชนะ โดยพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2 ฉบับ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าโง่ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี บริษัทโฮปเวลล์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งคมนาคม–รฟท.จ่ายค่าโง่ต่อ

จนกระทั่งมาถึงช่วงปลายสมัยของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท. และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 และข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 โดยตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฉบับ จ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ ทั้งหมด

คมนาคม–รฟท. พบหลักฐานใหม่ ยื่นศาลปกครองกลางขอรื้อฟื้นคดี

ภายหลังการเลือกตั้ง รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ภายใต้การนำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจพบหลักฐานใหม่ โดยในขณะที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เข้าทำสัญญาสัมปทานฯในช่วงปี 2533 นั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งอาจขัดกับข้อบังคับตามบัญชี ข. ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 (ปว.281) ที่ห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบก

วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายอัยการ ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอรื้อฟื้นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินไปแล้วใหม่อีกครั้ง โดยคำร้องอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดฟังข้อเท็จจริงพลาด ประกอบกับก่อนหน้านี้สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ หากตรวจพบพยานหลักฐานใหม่ให้นำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้โต้แย้งในประเด็นความสามารถในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของบริษัทโฮปเวลล์ฯ ขณะเข้าทำสัญญาสัมปทานฯ ด้วย และการที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษา ทำให้ผลคดีไม่มีความยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 75 (1)(3)

ศาลปกครองยกคำร้องรื้อฟื้นคดี ชี้หลักฐานใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

ปรากฏศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. หลังศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท.แล้ว เห็นว่า การขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่นั้นเป็นการโต้แย้งประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไปแล้วในประเด็นที่บริษัทโฮปเวลล์ฯ ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการนั้นพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่, ประเด็นบอกเลิกสัญญา และประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 หรือไม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดี และผลของคำพิพากษาที่ศาลปกครองสูงสุด

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุดที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทตามคำอุทธรณ์ได้เอง และไม่มีบทกฎหมายที่บังคับให้ศาลปกครองสูงสุดต้องส่งคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครอง กลับไปให้พิจารณาพิพากษาใหม่ทุกกรณี โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาได้ จึงไม่ถือว่าคดีมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ส่วนประเด็นที่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ฯ ขณะเข้าทำสัญญาสัมปทานฯ เป็นนิติบุคคลต่างด้าวนั้น ก็ไม่ถือเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นใหม่ที่มีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ คำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 75 (1) และ (3) ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่

คมนาคมเบรก รฟท.ยื่นศาลฯ–เพิกถอนทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ฯ

หลังจากศาลปกครองกลางไม่รับคำร้อง รฟท.ปรับกลยุทธ์ใหม่ วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 11.00 น. รฟท.มอบอำนาจให้นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในนาม “ทนายนกเขา” ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยคดีนี้เป็นคดีใหม่ที่ รฟท.มอบอำนาจให้ทนายดำเนินการฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ที่ห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบกที่ระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายประกาศดังกล่าว จึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

ปรากฏว่าในวันนั้น “ทนายนกเขา” ไม่ได้ยื่นคำฟ้องดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากได้รับแจ้งจากกระทรวงคมนาคมว่า ทางบริษัทโฮปเวลล์ฯ ติดต่อขอเจรจากับกระทรวงคมนาคมและ รฟท. โดยบริษัทโฮปเวลล์ฯ ยินยอมให้ รฟท.ยื่นคำร้องขอขยายเวลาชำระเงินชดเชยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกไปได้อีกไม่เกิน 180 วัน โดยบริษัทโฮปเวลล์ฯ จะไม่คัดค้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

“ศักดิ์สยาม” แจงชะลอยื่นฟ้องศาลฯ อ้างโฮปเวลล์ขอเจรจา นัดฟังผล 20 พ.ย.นี้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงสอบถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าเหตุใดจึงสั่งให้ รฟท.ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายศักดิ์สยามตอบว่า “สาเหตุที่ต้องสั่งให้ชะลอการดำเนินคดีเอาไว้ก่อน เพราะว่าทางบริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ขอเจรจา จึงจำเป็นต้องชะลอการดำเนินคดีเอาไว้ เพื่อฟังข้อมูลทั้งหมดให้รอบด้านก่อน ส่วนการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ตอนนี้ได้มาค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว เหลือแต่รอฟังผลการเจรจา โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 น. ตนจะเรียกคณะทำงานคดีโฮปเวลล์มารายงานผลการเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ หากผลการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง ตอนนี้ขอดูข้อมูลทั้งหมดก่อนตัดสินใจ”

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อไปว่า ส่วนคดีที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไปยื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอรื้อฟื้นคดีใหม่ ปรากฏว่าศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องนั้น เป็นคนละประเด็นกับที่ รฟท.ตรวจพบหลักฐานใหม่ และได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นคำฟ้องก่อนหน้านี้ กรณีศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่ ทางกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หากศาลปกครองสูงสุดไม่รับอุทธรณ์อีกก็ถือว่าคดีนี้สิ้นสุด แต่ถ้าศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ ก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลา ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคมและ รฟท.กำลังรอฟังผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอยู่ว่าจะรับอุทธรณ์กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ทั้งกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ก็จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ พร้อมดอกเบี้ย คิดเป็นวงเงินประมาณ 24,798 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท ดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท

ติดตามตอนต่อไป โฮปเวลล์ (ตอน2): เปิดหลักฐานใหม่ พลิกปม “โฮปเวลล์” ขอเจรจา