ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โฮปเวลล์ (ตอน 2): หลักฐานใหม่คดีค่าโง่…การรถไฟพลิกปมเด็ด “โฮปเวลล์” ขอเจรจาด่วน

โฮปเวลล์ (ตอน 2): หลักฐานใหม่คดีค่าโง่…การรถไฟพลิกปมเด็ด “โฮปเวลล์” ขอเจรจาด่วน

20 พฤศจิกายน 2019


  • โฮปเวลล์ (ตอน 1): ตำนานคดีค่าโง่ จากรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ ถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา… “จบแบบไม่จบ” อ้างโฮปเวลล์ขอเจรจา
  • ต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยที่ประชุมบอร์ด รฟท.วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานฯ มีมติมอบอำนาจให้ทนายความ คือ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในนาม “ทนายนกเขา” ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ครั้งนี้ รฟท.ไม่ได้ฟ้องบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าวขณะเข้าทำสัญญาสัมปทานทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. อาจขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 หรือ “ปว. 281” ซึ่งห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบก ตามที่กำหนดในบัญชี ข.ที่ท้ายประกาศ

    วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 11.00 น. นายนิติธรเดินทางถึงศาลปกครองกลาง ยื่นคำฟ้องไปแล้ว ปรากฎว่ามีคำสั่งจากกระทรวงคมนาคมให้ชะลอการยื่นคำฟ้องไว้ก่อน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือแจ้งจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอเจรจากับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.เพื่อหาทางออกร่วมกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมไปเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และกลับมารายงานผลการเจรจาต่อที่ประชุมในช่วงบ่ายของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

    สำหรับที่มาของคดีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ของกระทรวงความนาคมและ รฟท.ตรวจพบว่า ขณะที่กระทรวงคมนาคมประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการนั้นมีผู้มาซื้อซอง 4 ราย ในจำนวนนี้มายื่นซองข้อเสนอเพียงรายเดียวคือบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนอยู่ที่เกาะฮ่องกง ต่อมาก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟฯ แต่เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ข้อ 4 วรรคแรก ระบุ “ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชี ก. หรือบัญชี ข. ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ เว้นแต่จะได้มีพระราชกฤษฎีกาอนุญาต…” หากจะขอยกเว้นการบังคับใช้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2 ที่ระบุว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาล หรือโดยความตกลงที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศ” ส่วนในบัญชี ข.ที่อยู่ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 หมวด 4 การประกอบธุรกิจอื่นๆ (1) ระบุว่ามีกิจการขนส่งทางบน ทางน้ำ และทางอากาศในประเทศรวมอยู่ด้วย

    นายนิติธร ล้ำเหลือ

    จึงมีคำถามตามมาว่า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นรับจดทะเบียนจัดตั้งให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศ) ไทยได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาขอจัดตั้งบริษัทในขณะนั้นมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 ของ ปว. 281 โดยมีคนต่างด้าวถือครองหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัท และยังมีจำนวนผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งของบริษัทด้วย

    คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมที่มีตัวแทนจากสำนักงาน ปปท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) รวมอยู่ด้วย จึงขยายผลการตรวจสอบต่อไป พบว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 กระทรวงคมนาคมเคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ขอให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด 4 ข้อ คือ 1. ขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน 2. ขอยกเว้น ปว. 281 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 3. ขอยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4. ขอสนับสนุน อำนวยความสะดวก กรณีโครงการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของส่วนราชการหรือเอกชน

    นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนำคำขอสิทธิประโยชน์ของบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ทั้ง 4 ข้อไปพิจารณา จากนั้นให้นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ ให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แค่ 2 ข้อ คือ 1. ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน กับ 2. ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ต่อมา ที่ประชุม ครม.วันที่ 20 มิถุนายน 2533 ก็มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนำเสนอแค่ 2 ข้อตามที่กล่าวข้างต้น

    จากนั้นสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งมติ ครม.ดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับทราบ ทั้งมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ, มติ ครม. และหนังสือเวียนแจ้งมติ ครม.ของสำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้กล่าวถึงการให้สิทธิยกเว้น ปว. 281 หรือให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก กรณีโครงการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนราชการและพื้นที่เอกชนแต่อย่างใด เหตุใดกรมทะเบียนการค้ารับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดได้

    ประเด็นต่อมา กรณีกระทรวงคมนาคมทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีและ ครม.นั้น เป็นการขอสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ไม่ได้ขอสิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคลกัน ดังนั้น การที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและ ครม.มีมติดังกล่าวออกมานั้น ถือเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัดเท่านั้น ใช่หรือไม่ ตามหลักการของกฎหมายไม่ว่าคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและ ครม.จะมีมติเป็นประการใด ผู้ร่วมก่อการจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ไม่น่านำมติดังกล่าวมาใช้เพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ ใช่หรือไม่ อย่างไร

    สภาพทิ้งร้างของตอม่อโครงการโฮปเวลล์ ริมถนนวิภาวดีรังสิต

    ดังนั้น ในกรณีที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) รับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ทั้งที่ทราบว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่ยื่นคำขอจัดตั้งมีบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด จดทะเบียนที่เกาะฮ่องกง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 599,991 หุ้น จากทั้งหมด 600,000 หุ้น และมีคนต่างด้าวถือหุ้นรวม 7 คน คนไทย 3 คน ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งผลทำให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสภาพบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจเข้าทำนิติกรรมหรือสัญญาใดๆ ได้ ใช่หรือไม่ อย่างไร

    หลังจากที่คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ตรวจสอบพบจึงทำรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ต่อมา ที่ประชุมบอร์ด รฟท.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีมติมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลฯ สั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิกถอนการรับจดทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปรากฎว่ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว ถูกกระทรวงคมนาคมสั่งเบรก เนื่องจากบริษัทโฮปเวลล์ฯ ทำเรื่องขอเจรจา โดยคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมจะมารายงานผลการเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

    หลังรับทราบผลการเจรจาแล้วจะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ฯ ต่อ หรือจะยอมจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไร

    อ่านต่อตอนที่3 : เปิดดีลพิศดารซื้อหุ้นโฮปเวลล์สวมสิทธิ์เรียกค่าโง่