ThaiPublica > เกาะกระแส > 2019 ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก เรียกร้องแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ-การคอร์รัปชัน

2019 ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก เรียกร้องแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ-การคอร์รัปชัน

27 ธันวาคม 2019


กระแสการประท้วงเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2019 เรียกร้องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ในปี 2019 กระแสการประท้วงเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่มีมูลเหตุจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ต้นทุนคุณภาพชีวิตสูงขึ้น และการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล จนนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางสังคม

ปี 2019 เป็นปีที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการเรียกร้องในวงกว้างให้มีการเปลี่ยนแปลง และเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลในทุกมุมโลก

การประท้วงเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ จากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง และมีทุกรูปแบบทั้งการชุมนุมประท้วงอย่างสันติและการประท้วงที่รุนแรง ผู้คนลงท้องถนนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เป็นเสียงที่คนทั้งโลกได้รับรู้ ไม่ว่าชาติใด ภูมิภาคใด หรือระบบการปกครองแบบไหน

  • หนังสือ The Third Pillar กระแสการประท้วงที่เกิดขึ้น เพราะรัฐและเศรษฐกิจตลาด ทิ้งชุมชุมให้อยู่ข้างหลัง
  • ฮ่องกงดังที่สุดในโลกยืดเยื้อร่วม 6 เดือน

    การประท้วงวันที่ 16 มิถุนายน 2019 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 2 ล้านคน
    ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/2019_Hong_Kong_protests#/media/File:190616_HK_Protest_Incendo_03.jpg

    การประท้วงที่โด่งดังที่สุดในโลก คือการประท้วงของชาวฮ่องกงที่เรียกร้องให้ยกเลิกการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2019 และยืดเยื้อถึงสิ้นปี อีกทั้งกลายเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แม้นางแคร์รี่ ลัม ผู้ปกครองเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากการพิจารณา

    การลงท้องถนนในฮ่องกง นำโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีเป้าหมายต่อต้านรัฐบาลจีน และยกระดับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ที่มีผู้คนร่วม 2 ล้านคนออกมาแสดงพลัง

    อัลเซส ชุง ผู้ประท้วงรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ได้เห็นการรวมพลังของผู้คนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

    ภายในเวลา 6 เดือนการประท้วงที่ฮ่องกงมีความรุนแรงมากขึ้น แม้จนใกล้สิ้นปี ตำรวจปราบจลาจลได้ใช้ปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ และรถบรรทุกหนักล้อมมหาวิทยาลัยซึ่งคาดว่ามีนักศึกษาติดอยู่ในนั้นราว 500 คน ขณะที่ผู้ประท้วงตอบโต้จากภายในด้วยลูกธนู และระเบิดขวด

    กลางเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงยังคงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ยุติการใช้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังจากที่มีการปะทะที่รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงกว้าง ซึ่งมีผลให้มีการจับกุมผู้ประท้วงถึง 99 ราย ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์

    เหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ที่กลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาผู้ชายคนหนึ่งด้านนอกสถานีรถใต้ดิน

    ตะวันออกกลางลุกฮือในรอบ 40 ปี

    นอกจากการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของฮ่องกงแล้ว ตะวันออกกลางเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งมีการประท้วง หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดมาระยะหนึ่ง

    การประท้วงในอิหร่าน ที่มาภาพ: https://www.france24.com/en/20191119-iran-amnesty-international-death-protest-tehran-trump-rouhani-gasoline-petrol-nuclear-sanctions

  • อิหร่าน
  • เหตุการณ์ความไม่สงบเคลื่อนตัวลงถนนหลังการประท้วงกรณีราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 50% ในกลางเดือนพฤศจิกายนอันเป็นผลจากการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯยกระดับไปสู่การลุกฮือที่น่ากลัวที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อ 40 ปีก่อน เพื่อประท้วงการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประท้วง โดยองค์กรนิรโทษกรรมสากลคาดว่ามีคนเสียชีวิต 304 เมื่อรัฐบาลดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วง ขณะที่นายไบรอัน ฮุก ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯประจำอิหร่านให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเดือนธันวาคมว่า คาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คนในเหตุการณ์การประท้วง

    รัฐบาลอิหร่านระบุว่าได้มีการสืบสวนสอบสวนการเสียชีวิตของผู้ประท้วง และไม่เห็นพ้องกับจำนวนผู้เสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียด

  • อิรัก
  • อิรักประสบกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับอิหร่าน เมื่อกลุ่มยาวชนและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ออกมานำการประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ปราบการทุจริตคอร์รัปชัน แก้ไขการว่างงานและปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน

    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์การใช้กำลังรุนแรงกับผู้ประท้วง โดยเฉพาะการใช้กระสุนจริง ทั้งนี้มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิต 354 รายแต่สหประชาชาติเชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงสูงกว่านี้

    นายอเดล อับดุล มาห์ดี นายกรัฐมนตรีอิรักลาออกในปลายเดือนพฤศจิกายน ตามเสียงเรียกร้องของส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

  • เลบานอน
  • ในทางกลับกันที่เลบานอน การประท้วงได้ทำให้กลุ่มคนที่โดยปกติแตกแยกกันกลับมารวมตัวอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและสร้างความหวังว่าความสามัคคีจะเกิดขึ้น

    การเสนอให้เรียกเก็บภาษีการใช้บริการเสียงบนระบบอินเตอร์เน็ต และการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Whatsapp ได้จุดการประท้วงในกลุ่มคนจากหลายภาคส่วน หลากศาสนาและความเชื่อ เยาวชนจำนวนหลายพันคน และกลุ่มผู้ประท้วงที่ไม่มีผู้นำได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมและการแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล

    การประท้วงอย่างสันติได้ขยายวงออกไปทั่วประเทศ ทำให้ประเทศชะงักงันหลายสัปดาห์และส่งผลให้นาย ซาอัด ฮาริริ นายกรัฐมนตรีลาออกในเดือนตุลาคม

    อเมริกาใต้ต่อต้านรัฐบาล

    ในอเมริกาใต้ รูปแบบการประท้วงโดยใช้หม้อ กระทะ หรือเครื่องครัวอื่นๆ มาตีให้เกิดเสียงดังหรือที่เรียกกันว่า cacerolazo เกิดขึ้นในหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการชุมนุมประท้วงระบบการเมืองที่อ่อนแอ

    การประท้วงในชิลี
    ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/sergeiklebnikov/2019/12/03/economic-protests-are-spreading-across-the-globe-heres-where-and-why/#6a82be206b8f

  • ชิลี
  • ประเทศประชาธิปไตยที่สงบที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาใต้ กลับเป็นผู้นำแห่งการประท้วงในปีนี้ นำโดยกลุ่มนักศึกษา ต่อกรณีการขึ้นราคารถไฟใต้ดินขึ้น 4 เซนต์ในกลางเดือนตุลาคม และนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงอย่างรวดเร็ว มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ

    กลุ่มผู้ประท้วงได้จุดไฟเผาสถานีรถใต้ดินหลายแห่ง รวมทั้งปล้นซูเปอร์มาร์เก็ตและโบสถ์อีกจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งปราบปราม สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชิลีคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย

    นายแมทเธียส ลุก นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งกล่าวว่า เรารวมตัวกันเพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อการใช้ละเมิดการใช้อำนาจของรัฐบาลและภาคธุรกิจ การประท้วงได้ลุกฮือกลายเป็นความไม่พอใจต่อความไม่เท่าเทียมที่เป็นประเด็นสะสมมานานและเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    รัฐบาลถูกบีบให้ยกเลิกการประชุมสุดยอดระดับนานาชาติ 2 งานด้วยกันคือ การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ(UN Climate Summit)

  • โคลัมเบีย
  • มีการประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศที่เพื่อต่อต้านรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน ที่ยกระดับจากการประท้วงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเรียกร้องการแก้ไขการคอร์รัปชัน และผู้ประท้วงนับพันคนเรียกร้องให้นายไอแวน ดุก มาร์เกซ ลาออก

    การประท้วงในโคลัมเบียเกิดจากการวางแผนผละงานของสหภาพแรงงาน แต่กลายเป็นการลุกฮือในวงกว้างและเป็นตัวแทนจากฝ่ายค้านในภายหลัง

    รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวในกรุงโบโกต้า เมืองหลวง นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่มีการห้ามออกนอกเคหะสถาน เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้ต้อนผู้ประท้วงด้วยแก๊สน้ำตาหลังจากมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เครือข่ายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการใช้อาวุธร้ายแรงในการปราบปรามฝูงชน

  • โบลิเวีย
  • ความขัดแย้งของการเลือกตั้งและมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการลงคะแนนนำไปสู่การจลาจล ซึ่งมีผลให้นายอีโว โมราเลส ประธานาธิบดีลาออกและต้องออกนอกประเทศไปลี้ภัยที่เม็กซิโก ได้จุดชวนความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้ายแรงของประเทศ

    ชัยชนะการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมของนายโมราเลสท่ามกลางการกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งได้นำผู้คนออกมายังถนน มีการปะทะกันของผู้ชุมนุมของทั้งสองฝ่าย

    สถานการณ์ความตึงเครียดในวงกว้างได้รุนแรงขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความสงบได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 รายและมีการจับกุมผู้ประท้วง 600 ราย

    หลังการลาออกของประธานาธิบดีก็ยังมีการประท้วงเรียกร้องให้เขากลับมาทำหน้าที่ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามพากันเฉลิมฉลอง ทั้งนี้นายโมราเลสยังได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภายในประเทศเพราะเกรงว่าจะเกิดดสูญญากาศทางการเมือง

    การประท้วงที่เวเนซูเอลา ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/2019_Venezuelan_protests#/media/File:Venezuelan_protests_-_23_January_2019.jpg

  • เวเนซูเอล่า
  • เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการแย่งชิงอำนาจนับตั้งแต่ต้นปี การประท้วงที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่องนำโดยผู้นำฝ่ายค้านนายฮวน กวยโด เริ่มขึ้นเมื่อนาย นิโคลาส มาดูโรสาบานตนเข้าทำหน้าที่ประธานาธิบดีสมัยที่สองในเดือนมกราคม

    ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย วิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเข้าสู่จุดแตกหัก กลายเป็นจุดสนใจจากทั่วโลกและประชาคมโลกรวมทั้งสหรัฐได้ใช้ไม้แข็งกับนายมาดูโร อย่างไรก็ตามการประท้วงถดถอยลงใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาเพราะหลายคนเชื่อว่า นายกวยโดหมดโอกาสที่จะนำประเทศออกจากภาวะวิกฤติ

    ผู้ประท้วงระบุว่าฝ่ายค้านที่ไม่มีความสามารถที่จะทำให้เกิดการปรองดองและผลักดันให้มีการดำเนินการ ยิ่งทำให้วิกฤติร้าวลึกมากขึ้น และยิ่งมีผลให้การกอบกู้เศรษฐกิจยากขึ้นกว่าเดิม

  • เฮติ
  • ประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกาใต้ ประสบกับวิกฤตินานนับเดือนเช่นกัน เพราะผู้ประท้วงหมดความอดทนกับการทุจริตคอร์รัปชัน เงินเฟ้อ การใช้เงินกองทุนพัฒนาสังคมอย่างไม่เหมาะสมและการขาดแคลนสินค้า จนเรียกร้องให้นายโฮเวเนล มอยส์ ประธานาธิบดีลาออก

  • อินโดนีเซีย
  • การผ่านร่างกฎหมายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในเดือนกันยายนซึ่งมีผลให้ลดอำนาจคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันลงทำให้ประชาชนไม่พอใจและออกมาประท้วงจนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    การประท้วงที่อินโดนีเซีย ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2019/09/indonesia-protests-80-students-hurt-police-clashes-190925044211780.html

    นอกจากนี้ยังมีการประท้วงซึ่งมีสาเหตุจากประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจในหลายแห่งของยุโรป เช่น การประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส การประท้วงเพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระของแคว่นคาตาโลเนียในสเปน การต่อต้านรัฐบาลในปากีสถาน การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรัสเซีย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงอารยะขัดขืน ตลอดจนการเดินขบวนของนักศึกษาในอินเดียและเยาวชนทั่วโลกเรียกร้องให้แก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ไมเคิล มอนเดอเรอ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเศรษฐกิจโลกแห่ง Stratfor ให้ความเห็นว่า ประเทศที่มีการประท้วงและเหตุการณ์ไม่สงบต่างเกิดจากปัญหาและสถานการณ์เดียวกัน คือ ทั้งประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่ที่คนรับไม่ได้ คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ซึ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นและกระตุ้นความไม่พอใจมากขึ้น เมื่อทุกสิ่งอย่างไม่ได้มีผลดีสำหรับทุกคน

    ผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น มีการใช้กำลังตำรวจเพื่อควบคุมการประท้วงในหลายประเทศ ขณะที่บางประเทศต้องใช้กำลังทหาร มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการประท้วงส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยกเว้นที่ซูดานและอัลจีเรีย ที่ทำให้ผู้ประท้วงทั่วโลกมีความหวังขึ้นบ้าง

    เรียบเรียงจาก forbes, nbcnews