
สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานสรุปสถานการณ์ประจำวันที่ 9 มกราคม 2563 กรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ
ประธานนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงหลังจากช่วงเช้าวันที่ 8 มกราคม 2563 กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guards Corps) ได้ปฏิบัติการโจมตี ฐานทัพอากาศอัล-อัสซาดในจังหวัดอันบาร์ และที่ฐานทัพอากาศ อิร์บิล ในอิรัก ซึ่งกองกำลังทหารสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรใช้เป็นที่ประจำการ
ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ จะใช้กำลังทหารตอบโต้อิหร่าน หลังจากที่อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศอิรัก ซึ่งเป็นสัญญานว่า วิกฤติครั้งใหญ่ที่มีชนวนจากการปฏิบัติทางอากาศโจมตีสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ที่ทรงอิทธิพลและได้รับการเคารพอย่างมากของอิหร่าน นั้นผ่อนคลายลง
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าไม่มีทหารสหรัฐฯ บาดเจ็บ และมีความเสียหายน้อยมากจากการยิงขีปนาวุธกว่า 24 ลูกของอิหร่าน
อียูขออิหร่านยึดข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์
นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป เปิดเผยว่าได้ พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีของอิหร่านและเร่งขอให้อิหร่านยึดมั่นในการปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดนิวเคลียร์ที่ได้ทำไว้ในปี 2015 หลังจากที่อิหร่านประกาศยุติไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งรู้จักกันในชื่อ แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม หรือ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ก่อนหน้านี้
นายมิเชลทวีตข้อความว่า “ได้คุยโทรศัพท์กับนายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีของอิหร่านเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด JCPOA ยังคงมีความสำคัญต่อความมีเสถียรภาพของโลก ผมได้ขอให้อิหร่านอย่าทำอะไรที่ตรงข้าม”

โปปขอให้สหรัฐฯ กับอิหร่านเจรจา ข่มใจ
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ขอให้สหรัฐฯ กับอิหร่านหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงและหันมาเจรจาและข่มใจตันเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นในตะวันออกกลาง นับเป็นการให้ความเห็นโดยตรงต่อวิกฤติขณะนี้เป็นครั้งแรกในการกล่าวสุนทรพจน์ประจำปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ State of the World ต่อเอกอัคราชทูตได้ที่รับการแต่งตั้งประจำกรุงวอชิงตัน
“ความยุ่งยากกรณีนี้เป็นสัญญานที่มาจากทั้งภูมิภาค หลังจากความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ที่มากขึ้น” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวกับนักการทูต 180 ราย และกล่าวอีกด้วยว่า “ความตึงเครียดนี้เสี่ยงต่อการค่อยๆ ลดทอนกระบวนการสร้างใหม่ในอิรัก และเป็นต้นตอของความขัดแย้งที่ขยายวงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการเลี่ยง”
ญี่ปุ่นหนุนสหรัฐฯ กรณีอิหร่าน แต่ขอให้ยั้งๆ ไว้
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นยืนหยัดอยู่ข้างสหรัฐฯ ในการตอบโต้ต่อการยิงขีปนาวุธของอิหร่านโจมตีฐานทัพอากาศในอิรักซึ่งกองกำลังสหรัฐฯ ประจำการอยู่ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า “ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยับยั้งชั่งใจ ดังนั้นจุดยืนของญี่ปุ่นคือสนับสนุนการระงับการตอบโต้โดยสหรัฐฯ ” สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
กองกำลังพิทักษ์การปฏิรูปอิหร่านเตือนยังมีอีกหนักกว่าเดิม
ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิรูปอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps — IRGC) กล่าวว่า อิหร่านจะแก้แค้นหนักกว่าเดิมในเร็วๆ นี้ จากการรายงานของสำนักข่าวทาสนิม (Tasnim) โดยอ้างผู้บัญชาการอาวุโส อับดุลเลาะห์ อรากี ซึ่งให้ความเห็นหลังประธานาธิบดีทรัมป์แถลงว่า อิหร่านมีท่าทีที่อ่อนลง จากที่ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศในอิรัก
สำนักทาสนิมรายงานด้วยว่าผู้ช่วยหัวหน้ากองกำลัง IRGC นายอาลี ฟาดาวี ระบุว่า การยิงขีปนาวุธของอิหร่านไปยังเป้าหมายซึ่งมีกองกำลังสหรัฐฯ อยู่นั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของกองทัพอิหร่าน และกองกำลังสหรัฐฯ ไม่สามารถทำอะไรได้
ทูตอิหร่านประจำยูเอ็น ยัน อิหร่านไม่ต้องการสงคราม
นายมาจิด ทัคห์ ราวานชี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า การดำเนินการใดๆ ของอิหร่านในระยะต่อไปขึ้นอยู่ว่าสหรัฐฯ จะทำอะไร แต่เรียกร้องให้มีการถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาค
“อิหร่านไม่ต้องการทำสงคราม อิหร่านไม่ต้องการทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค การเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ดังนั้นอิหร่านต้องการให้มีความสงบสุขเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคนี้สงบสุขได้คือการถอนกองกำลัง กองกำลังสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาค”
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติกล่าวว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องขอความร่วมมือนั้นเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ เพราะสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จากการรายงานของสำนักข่าว IRNA ของรัฐ
นายราวานชีกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มสร้างความตึงเครียดรอบแล้วรอบเล่าและเกลียดชังอิหร่านด้วยการสังหารนายพลกาเซม ซึ่งการให้ความเห็นของนายราวาชีถือเป็นปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอิหร่านต่อการแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์
พิธีรำลึกถึงนายพลกาเซมครบรอบ 3 วัน
อิหร่านได้จัดพิธีรำลึกถึงนายพลกาเซม สุไลมานี ที่กรุงเตหะราน ใกล้กับสถานที่พำนักของอนาตุลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด
ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานจากกรุงเตหะรานว่า อิหร่านยังอยู่ในช่วงการทำพิธีทางศาสนาและเป็นพิธีที่จัดขึ้นตามประเพณีที่จะจัดขึ้นครบรอบ 3 วัน ครบรอบ 7 วันและครบรอบ 40 วันหลังจากมีผู้เสียชีวิต
ผู้ที่เข้าร่วมพิธีนี้ได้แก่ ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ ผู้นำกองกำลัง IRGC และตัวแทนจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์จากเลบานอน รวมทั้งฝ่ายการเมือง
สหรัฐฯ แจ้งยูเอ็นหากจำเป็นก็จะทำ
สหรัฐฯ ได้แจ้งสหประชาติว่า ได้เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการเพิ่มเติมหากจำเป็นในตะวันออกกลางเพื่อคุ้มครองบุคลากรของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของภูมิภาค
ในจดหมายถึงคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เอกอัครราชทูตสหรัฐเคลลี คราฟต์ ระบุว่า การสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี ในกรุงแบกแดด เป็นสิ่งที่พิจารณาว่าทำได้ ภายใต้มาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
มาตรการ 51 กำหนดไว้ว่า ประเทศใดก็ตามต้องรายงานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติในทันที ในกรณที่มีมาตรการตามสิทธิเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรา 51 ปฏิบัติการในซีเรียต่อต้านกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงหรือ ไอเอสในปี 2014
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ หัวเสียหลังทรัมป์ไม่ให้ข้อมูล
นายไมก์ ลี วุฒิสมาชิกซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ ตั้งคำถามถึงฝ่ายบริหารกรณีรายงานสรุปการปฏิบัติการสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี พร้อมกับระบุว่าเป็นการสรุปรายงานที่แย่ที่สุด
ในการแถลงข่าวนายลีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า น่าหงุดหงิดมากที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจสั่งให้มีการปฏิบัติสังหารนายพลกาเซม
ขณะที่นายแรนด์ พอล วุฒสมาชิกพรรครีพับลิกันอีกราย กล่าวว่า ไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยจากการรายงานสรุป นอกเหนือจากรายงานข่าวที่ได้อ่าน และแนวโน้มที่จะใช้วิธีทางการทูตลดลงเพราะการสั่งการของประธานาธิบดีทรัมป์
นายคริส เมอร์ฟี วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ไม่มีหลักฐานใดที่ทำให้เห็นว่ามีการขู่หรือคุกคาม โดยเฉพาะจากนายพลกาเซม สุไลมานี จนทำให้สหรัฐฯ ต้องปฏิบัติการ
“พวกเราค่อนข้างช็อกเพราะขาดหลักฐาน และโดยที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูล ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่จะปฏิบัติการทางทหารโดยที่ไม่แจ้งต่อสภาคองเกรสก่อน”
อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรครีพับลิกันต่างปกป้องการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์

สภาผู้แทนเตรียมโหวตจำกัดอำนาจประธานาธิบดีใช้กองกำลัง
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เตรียมที่จะลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น เรื่องการจำกัดอำนาจประธานาธิบดีในการใช้กำลังทางทหารตอบโต้อิหร่านโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา
เอลิสซา สลอตกิน สมาชิกสภาผู้แทนพรรคเดโมแครตจากมิชิแกน อดีตนักวิเคราtห์ซีไอเอและเจ้าหน้าที่อาวุโส กระทรวงกลาโหม เป็นผู้สนับสนุนญัตติที่กำหนดให้ประธานาธิบดียกเลิกการใช้กองกำลังของประเทศในการปฏิบัติการในอิหร่านหรือตอบโต้อิหร่าน เว้นเสียแต่ว่าสภาได้ประกาศสงครามหรือให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ให้อำนาจเฉพาะในการใช้กองกำลัง และต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันการโจมตีที่พุ่งเป้ามาที่สหรัฐฯ
ออสเตรเลียไม่ถอนทหารออกจากอิรัก
กองกำลังและบุคลากรของออสเตรเลียจะยังคงประจำการที่อิรักเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าว เพราะความตึงเครียดได้ผ่อนคลายลง จากกรณีที่อิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในอิรัก และเรือรบออสเตรเลียจะยังคงแล่นไปช่องแคบเฮอร์มุซตามแผนเพื่อคุ้มครองการเดินในบริเวณนั้น