รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ strategy-business.com เลือกหนังสือ The Third Pillar ของ Raghuram Rajan เป็นหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์ดีที่สุดเล่มหนึ่งของปี 2019 ส่วนการคัดเลือกหนังสือธุรกิจแห่งปี 2019 ของ Financial Times & McKinsey ที่คัดกรองหนังสือธุรกิจเหลือ 6 เล่ม The Third Pillar เป็น 1 ใน 6 เล่มดังกล่าว ในปี 2010 หนังสือ Fault Line ของ Raghuram Rajan เคยได้รับรางวัลชนะเลิศของ Financial Times มาแล้ว
Raghuram Rajan เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย เป็นศาสตราจารย์ด้านการเงินของ Booth School of Business มหาวิทยาลัยชิคาโก้ ในปี 2003-2006 เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และช่วงปี 2013-2015 เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธนาคารกลางของอินเดีย (The Reserve Bank of India)
กระแสการประท้วง
ทุกวันนี้ ทั่วโลกเกิดกระแสการประท้วงทางการเมืองขึ้นมาในหลายประเทศ ในลาตินอเมริกา เกิดการประท้วงและจลาจลในชิลี ไฮติ เอกวาดอร์ และโบลิเวีย ทั้งๆที่ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เศรษฐกิจของลาตินอเมริกาเติบโตอย่างสดใส เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมาจากการนำเข้าของจีน
Michael Reid ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาใต้กล่าวว่า การประท้วงของประชาชนในอเมริกาใต้ มีสาเหตุคล้ายๆกัน คือ คนชั้นกลางหมดหวังกับอนาคตทางเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องกันมาหลายปี คนเรายอมรับความเหลื่อมล้ำ หากเห็นว่ายังมีความหวังและโอกาสในอนาคต
ส่วนการประท้วงในชิลี เพราะคนทั่วไปมองว่า ระบบที่เป็นอยู่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมือง คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำการเมือง ในสหรัฐอเมริกาเอง พรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน ที่เคยเชื่อในเรื่องการค้าเสรี หันมายอมรับเรื่องการกีดกันและจำกัดการค้า และการจำกัดการอพยพ
ในหนังสือ The Third Pillar ของ Raghuram Rajan ได้วิจารณ์วงการเศรษฐศาสตร์ที่มองข้ามความสำคัญของ “ชุมชน” (community) ชุมชนไม่เคยอยู่ในแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์เลย ทั้งๆที่เป็นแนวคิดสำคัญในด้านสังคมวิทยา กระแสทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของประชาชน หรือความคิดแบบชาตินิยม “อเมริกาต้องมาก่อน” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น
ที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการผลิตทำให้โลกเรามั่งคั่งมากขึ้น ทั้งกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ในระยะเวลาของชีวิตเพียงแค่คนหนึ่งรุ่น คนจำนวนหลายพันล้านคนสามารถยกระดับชีวิตจากความยากจน กลายมาเป็นคนชั้นกลาง แต่ขณะเดียวกัน คนทำงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็หวั่นวิตกต่อการจ้างงานสำหรับคนชั้นกลาง ที่กำลังสูญหายไป อันเนื่องมาจากการค้าเสรีของโลก และการผลิตระบบอัตโนมัติ ความกังวลนี้ทำให้นักการเมืองหันมาใช้นโยบายปกป้องการจ้างงานอุตสาหกรรม และมองว่าระบบการค้าเสรีของโลก เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
The Third Pillar เป็นหนังสือที่กล่าวถึงเสาหลัก 3 เสา ที่ได้แก่ รัฐ เศรษฐกิจตลาด และชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนสังคม ความสมดุลของ 3 เสาหลักนี้ ทำให้สังคมเจริญมั่งคั่ง ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลไกตลาด นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีแนวคิดนิยมบทบาทของรัฐ แต่บางคนชื่นชมบทบาทของกลไกตลาด แต่เสาหลักที่ 3 คือชุมชน กลับถูกมองข้าม
เสาหลักทั้ง 3 ของสังคม ต่างก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน รัฐมีหน้าที่ให้หลักประกันในเรื่องความเป็นระเบียบของสังคม และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตทางสังคมดำเนินการไปได้ ส่วนเศรษฐกิจตลาดเป็นแหล่งที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ส่วนชุมชนทำหน้าที่สร้างความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การมีอัตลักษณ์ และความเป็นเอกภาพของคนในชุมชน
สังคมต่างๆจะสร้างเงื่อนไขให้คนเราสามารถมีชีวิตที่เฟื่องฟู หากว่าเสาหลักทั้ง 3 มีความเข้มแข็งทัดเทียมกัน แต่หากเสาใดเสาหนึ่งอ่อนแอลง ก็จะสั่นคลอนโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความสมดุลนี้ สังคมยุคสมัยสมัยกลางในอดีต มีชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ขาดเสาหลักที่เรียกว่า ความเป็นรัฐและเศรษฐกิจตลาด ประเทศที่เจริญด้านการค้าพาณิชย์ในศตวรรษที่ 18 และ 19 มีเศรษฐกิจตลาดของการค้าขายที่เฟื่องฟู แต่รัฐไม่มีอำนาจที่จะผู้กำหนดกฎกติกา ที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย
ปัจจุบัน สังคมในประเทศต่างๆกำลังเผชิญปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่ความสัมพันธ์ของ 3 เสาหลัก เกิดความไม่สมดุล ประเทศตะวันตกอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจตลาด ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพและการแสวงหากำไร ทำให้เกิดความมั่งคั่งอย่างมากขึ้นมา แต่ก็เกิดความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกัน สภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนที่มีฐานะระดับล่าง ไม่พร้อมจะรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ และกลายเป็นฐานสนับสนุนให้กับผู้นำที่มีความคิดแบบประชานิยมและชาตินิยม
ความหมายของ 3 เสาหลัก
คำว่า “รัฐ” (State) หมายถึง โครงสร้างธรรมภิบาลทางการเมืองของสังคม ส่วน “เศรษฐกิจตลาด” (Market) คือโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคเอกชนทั้งหมด ที่เกื้อหนุนการผลิตและการแลกเปลี่ยนในสังคม คำว่าตลาดเศรษฐกิจหมายถึงตลาดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า บริการ แรงงาน หรือตลาดทุน
ส่วนคำว่า “ชุมชน” (Community) หมายถึงกลุ่มทางสังคม ที่สมาชิกกลุ่มอาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดหนึ่งที่แน่นอน โดยมีรัฐบาล รากฐานทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่ร่วมกัน ชุมชนมีความสำคัญต่อสังคม เพราะทำให้คนแต่ละคนดำรงอยู่ในเครือข่ายที่เป็นจริงของมนุษย์เรา และทำให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกในอัตลักษณ์ ชุมชนยังทำให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกในเรื่อง อำนาจการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง เช่น การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น หรือการเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมผู้ปกครองนักเรียน เป็นต้น
The Third Pillar กล่าวว่า ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า ความไม่สมดุล เมื่อรัฐ เศรษฐกิจตลาด และชุมชน มีความสัมพันธ์ที่สมดุล จะสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน รัฐทำหน้าที่ให้ความมั่นคงทางชีวิต และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจตลาดที่มีการแข่งขัน จะให้หลักประกันว่า คนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เกิดจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่วนคนในชุมชน ที่มีบทบาททางสังคมและการเมือง จะช่วยปกป้องไม่ให้เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมแบบพวกพ้อง
ดังนั้น สังคมจะเกิดปัญหา หากเสาหลักใดเสาหนึ่งเกิดอ่อนแอขึ้นมา หรือว่าเข้มแข็งกว่าเสาหลักอื่น หากเศรษฐกิจตลาดอ่อนแอ สังคมจะไร้ประสิทธิภาพในการผลิต หากชุมชนอ่อนแอ สังคมจะมุ่งไปในทิศทางทุนนิยมแบบพวกพ้อง หากรัฐอ่อนแอ สังคมจะเกิดความหวาดกลัว และผู้คนไม่สนใจที่จะมีบทบาททางสังคม หากเศรษฐกิจตลาดมีบทบาทหลัก สังคมจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะเหตุนี้ ความสมดุลของ 3 เสาหลักจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
สร้างความสมดุลใหม่
ความไม่สมดุลของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้สร้างเงื่อนไขให้กับการเกิดกระแสประชานิยมขึ้นมา แนวคิดประชานิยมอ้างว่า ตัวเองเสนอทางออกในการแก้ปัญหา ที่มีสาเหตุจากความไม่สมดุลดังกล่าว ในด้านหนึ่งคือการฟื้นฟูความสำนึกในเรื่องชุมชน โดยส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศ ในแนวทางแบบชาติพันธุ์ ในอีกด้านหนึ่ง ก็เสนอมาตรการเศรษฐกิจ เช่น การเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้า เช่น เหล็ก เพื่อปกป้องการจ้างงานในประเทศ
หนังสือ The Third Pillar เสนอแนวคิดการสร้างความสมดุลใหม่ของสังคมขึ้นมาเรียกว่า ท้องถิ่นนิยมที่ทุกคนมีส่วนร่วม (inclusive localism) แม้ว่าแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีสภาพที่แตกต่างกันไป แต่ลักษณะสำคัญของแนวคิดนี้ คือการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปให้กับท้องถิ่นมากขึ้น กระจายความรับผิดชอบไปให้ท้องถิ่น ที่จะมีอำนาจตัดสินใจในเรื่อง อนาคตทางเศรษฐกิจของตัวเอง
ตัวอย่างรูปธรรมในทางปฏิบัติ เช่นเป็นเรื่องของท้องถิ่นหรือเมืองต่างๆที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะอนุญาตให้ศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ อย่าง Walmart หรือ Tesco มาเปิดธุรกิจในท้องถิ่นหรือไม่ หรือว่าจะสงวนธุรกิจค้าปลีกไว้ให้กับร้านค้าในท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนรัฐบาลกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนับสนุนการยกฐานะทางสังคมของคนในท้องถิ่น เช่น อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ในการผลิตเอกสารการเรียนรู้ เพื่อแจกจ่ายแก่นักเรียนทุกคน
สาระสำคัญของ The Third Pillar คือ ทุกวันนี้ เสาหลักของสังคมเกิดความไม่สมดุล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และความไม่พอใจของคนทั่วไปต่อสภาพดังกล่าว ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคิดแบบชาตินิยมหรือการปกป้องการค้า ก็ไม่ใช่ทางออกต่อปัญหาที่มาจากโลกาภิวัตน์หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทางออกคือสร้างความสมดุลระหว่าง รัฐ เศรษฐกิจตลาด และชุมชน ส่วนวิธีการสร้างความสมดุลก็คือ ท้องถิ่นนิยมที่ทุกคนมีส่วนร่วม
เอกสารประกอบ
The Third Pillar , Raghuram Rajan, Penguin Press, 2019.