ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม” ส่ง “ไพบูลย์” ร่วมวง กมธ.แก้ รธน. – มติ ครม.กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ 1.5 แสนล้านบาท เน้น “ลงทุน-ช่วยเกษตรกร”

“บิ๊กป้อม” ส่ง “ไพบูลย์” ร่วมวง กมธ.แก้ รธน. – มติ ครม.กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ 1.5 แสนล้านบาท เน้น “ลงทุน-ช่วยเกษตรกร”

26 พฤศจิกายน 2019


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ณ สาธารณรัฐเกาหลี

ส่ง “ไพบูลย์” ร่วมวง กมธ.แก้ รธน.

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงกรณีความคืบหน้าการพิจารณาบุคคลทำหน้าที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ ครม. จำนวน 6 คน และนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ว่า มีการเสนอชื่อนายไพบูลย์ไปร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของรัฐบาล แต่ยังไม่มีการพูดกันถึงเรื่องประธาน

เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จะต้องนั่งตำแหน่งประธานหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่าไม่ต้อง ยืนยันว่าตนยังไม่รู้เลย เพราะนั่งประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล ยังไม่รู้รายละเอียด

เมื่อถามว่านอกจากนายไพบูลย์ อีก 5 รายชื่อมีใครบ้าง พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ตนจำไม่ได้ พร้อมระบุว่าในที่ประชุม ครม.ยังไม่มีการคุยเรื่องนี้กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด

ชี้ “คิดไปเอง” ยันทีมเศรษฐกิจไม่มีขัดแย้ง

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมเสนอให้ปรับทีมเศรษฐกิจใหม่นั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งของรัฐบาลหรือไม่ โดยยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้ง ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลพยายามแก้ไขอยู่ พยายามทำทุกอย่างเพื่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ดำเนินการอย่างเต็มที่ ทุกสัปดาห์จะมีเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

“เรื่องความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่คิดกันไปเอง ไม่ต้องห่วง เพราะทีมเศรษฐกิจมีการพูดคุยกันอยู่ตลอดอยู่แล้ว” พล.อ. ประวิตร กล่าว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการปรับ ครม.เศรษฐกิจ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ

เมื่อถามว่าในฐานะผู้ใหญ่ของรัฐบาล มองอย่างไร พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลนั้นมีมากมาย แต่ปัญหาเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยพยายามทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่ ที่อาศัย และที่ทำกิน ถามว่าจะให้รวยวันนี้หรือพรุ่งนี้ได้อย่างไร

เมื่อถามว่าเป็นเพราะทีมเศรษฐกิจมาจากหลายพรรคจะมีผลต่อการประสานงานหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีผล รัฐมนตรีเศรษฐกิจทั้ง 3 พรรคหารือร่วมกันอยู่ตลอดไม่ต้องเป็นห่วง พร้อมระบุว่า ในวันนี้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จะแถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ยังไม่ใช่เรื่องของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้คนไทย

มติ ครม.มีดังนี้

กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่รวมเม็ดเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
  • ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่

    • โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับหมู่บ้าน โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A, B และ C จำนวน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน สนับสนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
    • โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยรัฐบาลจะต้องชเชยดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 707.7 ล้านบาท
    • โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองพักชำระหนี้หรือลดภาระหนี้เงินกู้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้กับสมาชิกที่มีความเดือดร้อนตามแนวทางที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ที่มีกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาประกอบอาชีพสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและหนี้นอกระบบ โดยคาดว่าจะมีกองทุนหมู่บ้านที่สนใจพักชำระหนี้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบต่อไปโดยไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ

    • มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินรวม 27,458.89 ล้านบาท

    นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการโดยสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 เนื่องจากมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ วงเงินรวม 2,667.35 ล้านบาท

    • มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (cash back) จำนวน 50,000 บาท ต่อราย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และจะให้ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 รายแรกเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลฐานภาษีของกรมสรรพากรมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธ์จะต้องผ่านเกณฑ์ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ผ่าน www.บ้านดีมีดาวน์.com หากผ่านเกณฑ์จะได้รับเอสเอ็มเอสยืนยัน จากนั้นจึงส่งให้สถาบันการเงินพิจารณาคำขอกู้ หากผ่านเกณฑ์จะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ของผู้กู้ต่อไป ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศิกายน 2562 – 31 มีนาคม 2563

    ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาครั้งนี้ ในระยะสั้นหรือในช่วงปลายปีนี้จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบ 80,000 ล้านบาท มาจากการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ 50,000 ล้านบาท และเงินค่าเก็บเกี่ยว 27,000 ล้านบาท และค่าเพาะปลูก ที่รัฐเคยอนุมัติงบประมาณไปแล้ว 2,600 ล้านบาท ส่วนระยะกลางจะมีเงินเข้าสู่ระบบทั้งจากเงินกองทุนหมู่บ้านฯ ที่รัฐใส่ลงไปแห่งละ 2 แสนบาท รวม 14,000 ล้านบาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธ.ก.ส.ให้กองทุนหมู่บ้านฯ ไปลงทุนอีก 50,000 ล้านบาท ส่วนระยะยาวคงต้องรอประเมินผลจากโครงการบ้านดีมีดาวน์อีกครั้งว่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนเท่าไร ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปประเมินอีกครั้ง

    อนึ่ง หากรวมเม็ดเงินของมาตรการดังกล่าว การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะมีเม็ดเงินทยอยไหลสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนจากสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท (รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 707.7 ล้านบาท) จากการพักชำระหนี้ 50,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 50,000 ล้านบาทจะเป็นภาระงบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายทั้งทางตรงและการชดเชยแต่รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง

    “คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ แต่ถามว่าจะถึง 2.6% หรือไม่ ทางรัฐบาลพยายามเต็มที่ที่จะดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยก่อนหน้านี้มาตรการชิมช้อปใช้ก็ช่วยเหลือในส่วนของการบริโภคไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก รอบนี้จะเน้นไปที่การลงทุนผ่านกองทุนหมู่บ้าน รวมไปถึงช่วยเหลือเกษตรกรที่ก่อนหน้าต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมาสักพักแล้ว ดังนั้น ไม่อยากให้วัดว่าอะไรดีกว่ากันหรืออะไรมาทดแทนกัน ส่วนของขวัญปีใหม่อื่นๆ ช่วงปลายปีกำลังพิจารณาอยู่” นายอุตตมกล่าว

    แก้นิยามเอสเอ็มอี เอื้อรัฐบาลส่งเสริมได้ตรงจุด

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. …. เป็นการปรับแก้คำนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดย่อม โดยยังคงใช้เกณฑ์จำนวนลูกจ้างแต่เปลี่ยนจากเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินมาเป็นเกณฑ์รายได้ของวิสาหกิจ ในการกำหนดขนาดกิจการและแบ่งกิจการออกเป็นประเภทการผลิตสินค้า ประเภทการให้บริการ ประเภทการค้าส่ง และประเภทการค้าปลีก เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย SME ในการส่งเสริมและช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

    รายละเอียดของนิยามที่ปรับแก้ใหม่มีดังนี้

    • วิสาหกิจรายย่อย ประเภทการผลิตสินค้าและประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท
    • วิสาหกิจขนาดย่อม ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 6-50 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-100 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 6-30 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-50 ล้านบาท
    • วิสาหกิจขนาดกลาง ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 51-200 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 100-500 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 31-100 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50-300 ล้านบาท

    ทั้งนี้ จำนวนลูกจ้าง ให้พิจารณาจากหลักฐานแสดงจำนวนลูกจ้างที่ได้จัดทำขึ้นตามกฎหมาย และจำนวนรายได้ ให้พิจารณาจากรายได้รวมที่ระบุไว้ในงบการเงินที่จัดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีกำหนดหรือเอกสารบัญชีแสดงรายได้ ส่วนกรณีที่กิจการมีจำนวนลูกจ้างเข้าเกณฑ์นิยามวิสาหกิจประเภทหนึ่งแต่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ ให้ยึดรายได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ออกร่างกฎกระทรวงดูแลสวัสดิการแม่วัยรุ่น

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. …. เพื่อให้ไปเป็นตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมและให้บริการด้านต่างๆ แก่แม่วัยรุ่น ดังนี้

    • กำหนดให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการฝึกอาชีพหรือจัดหาที่ฝึกอาชีพให้แก่แม่วัยรุ่นที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัด
    • กำหนดให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนจัดหาผู้ประสงค์ที่จะรับเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นเป็นการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ครอบครัวทดแทนในกรณีที่แม่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้
    • กำหนดให้มีการบริการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่วัยรุ่นและครอบครัว จัดหาที่พักที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แม่วัยรุ่นได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

    รวมทั้งร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดการทำงานเชิงรุก โดยส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนทุกระดับสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ รวมถึงบริการและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และเฝ้าระวัง ทั้งนี้ กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 60 วัน หลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    แก้กฎกระทรวงเอื้อเอกชนทำเอกสารภาษีอิเล็กทรอนิกส์

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการนำส่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งการกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องนำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลังจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการออกกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติในกฎหมาย ดังนี้

    1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการนำส่งเงินภาษี

    มีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีตามตามประมวลรัษฎากรอาจเลือกวิธีการนำส่งภาษีต่อกรมสรรพากรผ่านธนาคารหรือนิติบุคคลอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการกำหนดทางเลือก ไม่ใช่วิธีที่บังคับให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีต้องปฏิบัติ และไม่มีกรอบระยะเวลาที่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีจะต้องเลือกวิธีการนำส่ง

    2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ

    มีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย 1) ธุรกิจสถาบันการเงิน 2) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะตั้งขึ้น และ 3) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่อยู่ในครอบครองในปีที่ผ่านมาต่อกรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ ธุรกรรมที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือธุรกรรมที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

    ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้เริ่มจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว จึงมีระยะเวลานานพอสมควรก่อนที่จะจัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากร จึงเห็นได้ว่า ประโยชน์ของร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการเสียภาษีและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารทางภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษและลดต้นทุนในการดำเนินการด้านภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

    เห็นชอบตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง ดึงเกษตรกรดูงาน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้องค์การส่งเสริมการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ค.ส.) ยืมเงินจำนวน 51.7 ล้านบาท จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับลงทุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ เป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยี (เช่น การสแกนเบอร์โคเพื่อเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบรีดนมแบบไปป์ไลน์ที่บันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (การจัดของเสียในฟาร์ม) และคำนึงถึงการกินอยู่ของแม่โคตามหลักสวัสดิภาพสัตว์

    “โดยคาดว่า Thai-Denmark Smart Dairy Farm จะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและการสร้างบุคคลากรมืออาชีพในการเลี้ยงโคนมปีละไม่น้อยกว่า 680 คน เป้าหมายระยะยาวของโครงการฯ คือ เกษตรกรนำความรู้จากการมาเยี่ยมชมและอบรมไปใช้ในการจัดการฟาร์มของตนเอง สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการเลี้ยงโคนมได้ และคาดว่าภายในสิ้นปีหน้าโครงการจะเริ่มดำเนินการ มีระยะเวลาโครงการ 15 ปี” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

    เคาะ 6 รายชื่อ โควตา ครม.นั่ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 49 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 12 คน ฝ่ายค้าน 19 คน และพรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ในสัดส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาล แบ่งเป็นสัดส่วนตามที่วิปรัฐบาลเสนอ 6 คน และอีก 6 รายชื่อในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีเสนอ ประกอบด้วย

    1. นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
    2. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
    3. นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า
    4. นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
    5. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
    6. คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สตรีนักธุรกิจ

    ไฟเขียว 2 กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ หวังดูดนักลงทุนต่างชาติ

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ร่างกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 รวม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกรก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ

    โดยร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับผู้ขอในการยื่นคำขอจดทะเบียนและก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ ออกหนังสือรับรอง จดทะเบียน ออกใบแทนหนังสือรับรองรวมถึงการเพิกถอนหนักสือรับรอง หรือยกเลิกทรัพย์อิงสิทธิ และเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานในการดำเนินการต่างๆ

    ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมฯ เป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ การออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ การจดทะเบียนนิติกรรม หรือการดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับทรัพย์อิงสิทธิ

    “คาดว่าการออกรางกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ สร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน หรือนักธุรกิจที่จะนำเงินลงทุนหรือเข้ามาประอาชีพในประเทศ ให้สามารถใช้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการมีกรรมสิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์” นางสาวไตรศุลีกล่าว

    อนึ่ง ทรัพย์อิงสิทธิหมายถึงทรัพย์สินที่อิงจากการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะเป็นผู้ยื่นขอต่อเจ้าหน้าที่ และผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ เช่น นักลงทุนต่างชาติ สามารถใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเช่า โอนเปลี่ยนมือ หรือจำนอง

    เห็นชอบ 3,416 ล้านบาท หนุนโรงเรียนประชารัฐชายแดนใต้

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563-2566 วงเงิน 3,416.54 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

    1) งบดำเนินการ สำหรับจ้างครูรายเดือนเพิ่มโรงเรียนละ 1 คน และสื่อการเรียนการสอนนอกเวลา จำนวน 132.81 ล้านบาท

    2) งบลงทุน เพื่อก่อสร้างหอนอนพร้อมครุภัณฑ์ จำนวน 65 หลัง 1,031.37 ล้านบาท

    3) งบอุดหนุน เพื่อเป็นค่าอาหาร 3 มื้อ และค่าใช้จ่ายสมทบเพิ่มเติมจากงบอุดหนุนรายหัว จำนวน 2,252.36 ล้านบาท

    “โครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2561 ใช้งบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 408.83 ล้านบ้าน เป็นการปรับปรุงโรงเรียนเดิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 37 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ, อ.เทพา, อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนยากจน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบฯ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ต่อไป ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการ 64 โรงเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น 5,049 คน” นางสาวไตรศุลีกล่าว

    เพิ่มสิทธิชาวกะเหรี่ยง “แก่งกระจาน” หลังถูก คกก.มรดกโลกตีกลับ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการรายงานผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 43 ที่มีมติรับรองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก 2 แห่ง คือ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์

    ทั้งนี้ ในส่วนที่เสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนั้น ที่ประชุมได้มีมติส่งกลับเอกสารให้ประเทศไทยกลับมาแก้ไขเรื่องเขตแดนที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและเมียนมา โดยระบุว่าไม่ควรมีการระบุเรื่องเขตแดนในการเสนอเข้าเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ไทยแก้ไขเรื่องสิทธิมนุษยชน

    “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขตามคำเรียกร้องของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว โดยมีการจัดที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ในด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภค และมีการทำข้อตกลงประชาคมร่วมกันว่า ต่อให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ แต่พื้นที่ตรงนี้จะไม่มีการย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ ซึ่งทางไทยจะดำเนินการแก้ไขทั้งหมดและส่งกลับเข้าไปที่คณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง” นางสาวไตรศุลีกล่าว

    ส่ง “ชัยชาญ” รับรอง 7 ร่างเอกสาร ประชุม รมต.อาเซียนด้านอาชญากรรม

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติรับรองร่างเอกสารถ้อยแถลงผลการประชุมจำนวน 7 ฉบับในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 13 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 นี้ ที่ประเทศไทย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นเจ้าภาพ และมี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม รวมถึงร่วมรับรอง 7 ร่างเอกสารผลการประชุมด้วย

    โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว เช่น การก่อการร้าย ลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และการกระทำการอันเป็นโจรสลัด สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอาชญากรรมข้ามชาติอาเซียน และผู้แทนจากผู้การเจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

    ตั้ง “ศรีวราห์” นั่งที่ปรึกษานายกฯ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

    สั่งการเตรียมรับมือน้ำท่วมภาคใต้ น้ำแล้งภาคเหนือ

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า พล.อ. ประวิตรได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.ให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม เตรียมการอย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์ในภาพรวม โดยเฉพาะในส่วนภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมได้ จึงขอให้ทุกหน่วยติดตามข่าวและเตรียมการในเรื่องของการระบายน้ำ เพราะอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ขณะเดียวกันต้องทำงานเชิงรุก หากเกิดน้ำท่วมขึ้นแล้วจะเข้าพื้นที่ไปฟื้นฟูเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างไร

    ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือที่กำลังประสบภัยแล้ง ได้สั่งการให้มีการดูแลอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่จะประสบปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ โดยอยู่ในพื้นที่ของการประปาภูมิภาค 48 แห่ง พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขง 13 แห่ง จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำและวางแผนการใช้น้ำในการเกษตรให้ดี ขณะที่หน่วยงานราชการก็ต้องเข้าไปดูแลให้ทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นการประเมินสถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การสำรวจแหล่งน้ำบาดาล การปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำ และการพิจารณาจัดเก็บน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

    เห็นชอบ 3 กฎกระทรวงแก้เกณฑ์ขออนุญาตโรงงาน

    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 3 ฉบับ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 เพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการโรงงานและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    • สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับแรก คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ได้เพิ่มเติมถ้อยคำเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาในการอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้อนุญาตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และเพิ่มเติมถ้อยคำเกี่ยวกับการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 โดยให้สามารถกระทำผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    • ส่วนร่างที่ 2 เป็นร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงานตามมาตรา 28 มีสาระสำคัญกำหนดวิธีการและระยะเวลาการแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงานโดยให้แจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ก่อนเลิกประกอบกิจการโรงงาน และกำหนดให้กรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นนิติบุคคล การเลิกประกอบกิจการโรงงานต้องมีรายงานการประชุมของคณะผู้บริหารของนิติบุคคลที่มีมติเสียงข้างมากให้เลิกประกอบกิจการโรงงานหรือหนังสือแสดงมติของคณะผู้บริหารของนิติบุคคลเสียงข้างมากให้เลิกประกอบกิจการโรงงานแนบมาพร้อมกับหนังสือแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน

    พร้อมทั้งกำหนดสถานที่แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน โดยโรงงานในกรุงเทพมหานครให้ยื่นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานในต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, กำหนดให้สามารถแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงานผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ และกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่เลิกประกอบกิจการโรงงาน รวมทั้งการออกหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบโรงงานหรือคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการเลิกประกอบกิจการโรงงาน

    • ฉบับสุดท้าย เป็นร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน กรณีประสงค์เปลี่ยนแปลงโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานจำพวกที่ 1 หรือโรงงานจำพวกที่ 2 ตามมาตรา 28/1 มีสาระสำคัญกำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานจำพวกที่ 1 หรือโรงงานจำพวกที่ 2 โดยการให้ผู้รับอนุญาตแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน โดยให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับการแสดงความประสงค์จะประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 หรือการแจ้งเพื่อเริ่มประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มเติม