ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ 250 ส.ว.ผ่านประชามติ 16 ล้านเสียง ถือเป็น “ประชาธิปไตย” – มติ ครม. เพิ่มวงเงินบริหารหนี้ 23,000 ล้าน

นายกฯ ชี้ 250 ส.ว.ผ่านประชามติ 16 ล้านเสียง ถือเป็น “ประชาธิปไตย” – มติ ครม. เพิ่มวงเงินบริหารหนี้ 23,000 ล้าน

26 กุมภาพันธ์ 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน  โดยก่อนตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีระบุว่า คำถามของสื่อแต่ละคำถามเจ็บๆ ทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรสื่อ เพราะนักข่าวก็ทำงานไป เราก็มีงานของเรา

ชี้ 250 ส.ว.ผ่านประชามติ 16 ล้านเสียง ถือเป็น “ประชาธิปไตย”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงข้อสังเกตการแต่งตั้ง 250 ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) เพื่อโหวตใครเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ว่า ขอให้ไปดูกฎหมาย ดูรัฐธรรมนูญ เขียนว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น อย่าลืมว่า ไม่ว่าสมาชิกวุฒิสภาหรืออะไรต่างๆ ก็ตาม ได้ผ่านการทำประชามติจากคน 16 ล้านคนแล้ว คำถามเสริมเขาก็ตอบมาหมดแล้ว นี่คือประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ จะบอกว่าเป็นการบังคับให้คนเห็นชอบนั้น สามารถทำได้หรือกับคน 16 ล้านคน ใครทำได้ช่วยมาบอกตนด้วย

เมื่อถามกรณีการแต่งตั้งให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นายกฯ ก็ถามกลับเพียงสั้นๆ ว่า “ทำไมล่ะ”

ด้าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดเลือก ส.ว. ในส่วนของ คสช. ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการคัดสรร ส.ว. แล้ว โดยมีตนเป็นประธาน จะมีการเรียกประชุมหลังจากนี้ ส่วนกรรมการประกอบด้วยใครนั้นไม่จำเป็นต้องบอกสื่อ

เมื่อถามว่า สัดส่วนของ ส.ว. จะมีทั้งพลเรือน สื่อมวลชน นักวิชาการ เข้าร่วมใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มี แต่จะไม่เอาข้าราชการทหารที่ยังอยู่ในหน้าที่ เพราะเมื่อมีตำแหน่งอยู่จะไปเป็น ส.ว. ได้อย่างไร โดยเราจะคัดเลือก ส.ว. มาจากบุคคลทั่วไป

เมื่อถามว่ามีการโจมตีว่าการที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. และมีส่วนในการคัดเลือกนายกฯ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐด้วย มั่นใจว่า ส.ว. จะไม่โหวตสวนทางกับความต้องการของประชาชน ใช่หรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่สื่อ สื่อจะให้เลือกอย่างไร

เมินดีเบต ชี้ไม่มี “สารัตถะ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงหนังสือประชารัฐสร้างชาติของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าตนเห็นแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องจริงของตนทั้งหมด แต่ตนไม่ได้ให้ความสนใจมากนักเพราะเห็นว่าแจกเฉพาะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกพรรคเท่านั้น เขาเสนอชื่อเรา ก็เป็นเรื่องของเขา

ต่อคำถามว่า นายกฯ เตรียมตัวพร้อมแล้วหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเตรียมตัวมานานแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปดีเบต ไม่ใช่เรื่องกลัว-ไม่กลัว ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าเวทีดีเบตวันนี้เป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีกัน ไม่ค่อยมีสารัตถะ เถียงกันในตอนต้น เมื่อพูดถึงนโยบายในตอนท้ายก็ไม่ใครสนใจแล้ว

“คนก็ไปอินกับตอนแรก ว่าคนนู้นโจมตีคนนี้ เล่นกระทรวงกระทรวงนี้กระทรวงนู้น นี่ไม่ใช่การดีเบต ไปดูต่างประเทศเขาดีเบตกันอย่างไร ผมคงไม่ไปหรอกตอนนี้ ไม่ว่าใครจะมากระตุ้นอย่างไร ผมก็ไม่ได้โกรธ และไม่ได้กลัวด้วย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อสำคัญคือวันนี้ตนกำลังทำงานอยู่ การไปดีเบตจะทำให้ต้องเสียเวลามาประดิษฐ์คำพูด แค่เพียงทำงานในระบบก็เหนื่อยอยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

โชว์วิสัยทัศน์ “มั่นคง – มั่งคั่ง – ยั่งยืน – ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

นายกรัฐมนตรีได้ระบุไปถึงวิสัยทัศน์ในฐานะที่ตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนหนึ่งว่า “วิสัยทัศน์ของผมมีอยู่แล้ว คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จบแล้ว นโยบายของรัฐบาลวันนี้ ผมก็ทำแล้ว 11 ด้าน วาระแห่งชาติหลายอย่างก็แก้ไขปัญหาไปหมดแล้ว ผมก็แสดงฝีมือของผมให้เห็นแล้ว”

“หากจะถามว่าอนาคต หากตนได้เป็นจะทำอะไรต่อ ผมก็จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำแผนแม่บท จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเงินการคลังขึ้นมาแล้ว รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เยอะแยะไปหมดเกี่ยวกลับเรื่องการค้าการลงทุน หากพูดลอยๆ ไม่มีกฎหมายจะทำอย่างไร หากเลิกไม่ทำอย่างที่นายกฯ ทำก็ต้องไปว่ากฎหมายกันใหม่ ซึ่ง 5 ปีแรกเป็นปีที่สำคัญที่สุด จึงต้องมีแผนแม่บทที่ชัดเจน ส่วน 5 ปีต่อๆ ไปก็ทำกันต่อเนื่องไป ฉะนั้นจะทำให้เกิดความทั่วถึงต้องมีกรอบกำหนดนี้ไว้ เพราะวันนั้นต้องตอบคำถามทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลคำนึงถึงรายได้ของประเทศ ประเมินไปว่า 5 ปีจะทำอย่างไรไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนกระทั่งถึงขีดจำกัดให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 5 ปี เคยมีใครทำงานแบบนี้หรือไม่ หากไม่มีกรอบพวกนี้เลย ได้แต่พูดกันไปมาก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาทั้งสิ้น ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นก็ใน 5 ปีข้างหน้านี้แหละ

“หลายเรื่องที่เราเร่งรัดกันได้ก็ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่บอกว่าอนุมัติไว้แล้ว มันอนุมัติไว้แล้วแต่ทำไม่ได้ ถามว่าเยอะไหม เยอะ แต่ทำไม่ได้สักอัน หรือทำได้น้อยมาก เพราะติดที่ประชาชนทั้งหมด ยกตัวอย่างการทำอ่างเก็บน้ำที่วังสะพุง จ.ชัยภูมิ ก็ลดขนาดลง ขยับออกมาจากพื้นที่ป่า ก็สามารถดำเนินการได้ ประชาชนตอบรับ เมื่อมีผลกระทบน้อยที่สุดถ้าแก้ปัญหาแบบนี้ นี่คือวิสัยทัศน์ นี่คือการทำงานของรัฐบาลที่วันหน้าต้องเป็นแบบนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลายอย่างก็มีการออกมาพูดว่าได้มีการทำไว้แล้วอนุมัติไว้แล้วหลายโครงการ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ โดยถามกลับว่าสิ่งที่มีการออกมาพูดนั้นเกิดไหม พร้อมอธิบายต่อไปว่า การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัตินั้นมีขั้นตอน ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ และนำสู่การปฏิบัติให้ได้ โดยกลไก ครม. สภา และกลไกกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“การจะคิดเป็นนโยบายออกมาต้องนำมาสู่การปฏิบัติให้ได้จริง มีการอนุมัติโดย ครม. ในหลักการ แล้วไปทำแผน ขั้นตอนต่อไปคือการไปทำประชาพิจารณ์ โครงการจึงถูกเสนอขึ้นมาอนุมัติ แล้วไปจัดซื้อจัดจ้าง ต้องทำอย่างนั้นจึงจะสำเร็จ หากบอกว่าอนุมัติไว้แล้ว แล้วมาเสร็จรัฐบาลนี้ มันไม่ได้ทำต่อหรอก ก็หยุดไว้แค่นั้นแหละ ทุกเรื่องเลย ผมก็ไม่อยากไปโต้ตอบกับใคร ใครพูดก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ว่าใครนะ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ แต่เป็นประเด็นทางการเมืองในเวลานี้ ซึ่งก็ใช่ หากพูดว่าให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและการหาเสียง แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย หากพูดกันไปมาจนไม่มีสาระอะไรเลย เกิดการกระทบกัน มีการฟ้องร้องกันไปมาจะทำอย่างไร แล้วตนจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร หากเลือกตั้งไปแล้วยังฟ้องกันไม่จบจะทำอย่างไร ทุกคนก็ต้องลดท่าทีตัวเองลงไปบ้าง

ตอกย้ำ คสช.ช่วยหนุนงานรัฐบาล ย้ำ ม.44 ใช้เท่าที่จำเป็น

ต่อคำถามกรณีการประชุม คสช. วันนี้ถือเป็นนัดสุดท้ายหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ถามกลับว่า ปัญหาประเทศแก้ได้ทุกอัน รวดเร็ว ปุปปับหรือไม่ แล้วรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร ให้ คสช. อยู่ได้ถึงตรงไหน ฉะนั้นการใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ก็ใช้เท่าที่จำเป็น เฉพาะกรณีที่ปลดล็อกไม่ได้ ก็ต้องแก้ไข ไม่แก้ไขจะปล่อยให้ปัญหานี้ล่าช้าไปอีก 5-6 เดือนจนกว่าจะมีรัฐบาลได้ไหม ขอให้มองตรงนี้

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลทำคือกาสร้างโอกาสให้คนทุกคนเข้าถึง ไม่ว่าจะถนน เส้นทางรถไฟต่างๆ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์คนรวย แล้วก็มีกฎหมายออกมาหลายตัวเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถตั้งตัวขึ้นมาได้ อันนี้เป็นความจำเป็นที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งดีกว่าที่จะไปพูดกันเรื่องจะให้เป็นเท่านู้นเท่านี้มันยาก หากทำได้ง่ายๆ ตนคงทำไปนานแล้ว ต้องระวังเรื่องข้อกฎหมายด้วย ฉะนั้นเอาไปหาเสียงกันก็เท่านั้น ก็พูดแบบเดิมทุกปี ทุกครั้งที่มีการหาเสียง เพราะอยากให้เป็นประเด็นที่ทำให้คนไม่มีแรงจูงใจ พูดอย่างนี้ก็เลิกหมด ก็เหมือนเดิม ใครเข้ามาก็ทำไม่ได้ ผมเชื่ออย่างนั้น ต้องปรับแก้ให้ได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลนี้ทำตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ใน 11 นโยบายของรัฐบาล และวาระแห่งชาติอีกหลายวาระด้วยกัน เช่น การแก้ปัญหาการบิน ICAO ปัญหาประมง IUU ปัญหายาเสพติด ต่างๆ ก็เดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง ก็ยังมีอีกหลายระดับที่ต้องทำต่อ นั่นคือความต่อเนื่อง

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหายางพาราก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ ปัจจุบันราคายางพาราอยู่ที่ประมาณ 48 บาท โดยจะพยายามผลักดันการใช้ประโยชน์ยางพาราในประเทศมากที่สุด ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสต็อกเก็บปาล์มน้ำมัน หากพบจำนวนที่ไม่ตรงกับยอดที่แจ้งไว้ ต้องชี้แจงให้ได้ว่าจำนวนที่ไม่ตรงมาจากไหน และได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตามบริเวณด่านชายแดน ทั้งนี้ อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา

และวันนี้ได้สั่งการในการประชุม คสช. ให้ฝ่ายความมั่นคงไปดู เรื่องการเช่าที่ดินของเกษตรกรที่ราคาสูงเกินจริง ทำอย่างไรที่จะลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร รวมถึงให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ได้ไปหารือกับผู้ผลิตปุ๋ยให้ลดราคาลงเท่าที่ทำได้ ตลอดจนการทำปุ๋ยสั่งตัดให้ตรงกับพื้นที่ ให้เฉพาะธาตุอาหารที่ขาดเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะแต่ละพื้นที่มีการวาง agri-map ไว้แล้ว ตรวจสอบคุณภาพดินไว้บ้างแล้ว

ฉะนั้นการที่ตนมาพูดทุกวันนี้ ถามว่ามีวิสัยทัศน์หรือเปล่า ที่ตนคิดออกมา หารือร่วมกัน ทำนโยบายออกมา หารือรวมกันมา นี่ไม่ใช่การแถลงวิสัยทัศน์ของตนหรือ ซึ่งเป็นการดำเนินการในช่องทางที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ในฐานะเป็นรัฐบาลและ คสช.

“ก็ต้องใช้ คสช. มาช่วยเสริมทุกอัน หากไม่มาเสริมก็ทำไม่ทันทุกเรื่อง ทั้งการตรวจสอบ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน หากไม่ใช้ทหารมาตรวจสอบ หลายคนบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ทหาร แล้วถามว่าหน้าที่ของใครล่ะ แล้วเขาทำไหวไหม ทำไม่ไหวทหารก็เข้าไปช่วย ไม่ใช่การก้าวล่วง ทหารก็มีแต่เพียงเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน สวัสดิการ เท่านั้นไม่มีโอที ทำ 5 อย่าง ความมั่นคง เศรษฐกิจสังคม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวาระสำคัญของชาติ ก็ได้อย่างเดียว ทำไมไม่ดูว่าเราก็ลดงบประมาณตรงนี้อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็ต้องขอแบบหน่วยงานอื่นด้วย ทำ 5 อย่างก็ขอ 5 เบี้ยเลี้ยง”

“ผมไม่อยากให้เวลา 5 ปี เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วยการมาโจมตี กลับไปที่จุดตั้งต้นใหม่ แล้วผมก็เลยจุดนั้นมาแล้วที่จะบอกว่าผมผิด-ถูก ผมพ้นเวลาเหล่านั้นไปแล้วด้วยกฎหมายหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่าลืมว่าที่ผมเข้ามาเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาประเทศชาติในขณะนั้น เมื่อเข้ามาแล้วเขาก็ต้องมีอำนาจให้ผมสามารถทำงานได้ เพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ต่อเนื่องก็แค่นั้น แล้วทำไมมาตีกันไปมาอีกรอบ ลืมกันหมดหรือยังตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ลืมหมดแล้วใช่ไหมจ๊ะ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่เห็นด้วย – ภาคประชาชนจี้เปิดชื่อ 142 สนช. ผ่านกม.โรงงาน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างอยู่ เพราะมีหลายฉบับที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว เช่น พ.ร.บ.โรงงาน มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ว่า ต้องไปดูว่ากฎหมายพวกนี้ค้างมานานหรือยัง ได้มีการทยอยดำเนินผ่านกฎหมายนับร้อยฉบับมาเรื่อยๆ บางกฎหมายมีการทักท้วง ไม่เห็นชอบ ไม่ผ่านประชาพิจารณ์ก็ยังทำไม่ได้ ก็ต้องมาทำต่อให้ได้ ส่วนอันไหนผ่านมาได้ก็คือได้ ประชาชนยอมรับได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีการใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ หากจะเอาออกมาให้ได้ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น นายกฯ ไปสั่งไม่ได้หรอก

ต่อคำถามกรณีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนให้เปิดเผย 142 รายชื่อ สนช. ที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ควรให้ทั้งหมดแสดงเหตุผลเพื่อความโปร่งใสหรือไม่ หรือจะมีทางออกอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เดี๋ยวให้กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร มีความสำคัญอยู่ตรงไหน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน ทุกคนไม่ต้องการระเบียบ ไม่ต้องการกติกาใหม่ แต่ทุกคนก็ร้องเรียนเรื่องโรงงานมีปัญหา ตั้งแต่การจดทะเบียน การตรวจสอบมาตรฐาน ที่ก่อให้เกิด PM2.5 ซึ่งในทุกส่วนต้องไปดูว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งทุกข้อก็มีทางออก ทุกคนก็ต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนบ้าง แต่หากเกิดความเดือดร้อนกันทั้งหมดก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแล เพื่อให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นสามารถดำเนินการได้

“อันนี้อันตราย พอกฎหมายออกไปแล้วมาบอกว่า ภาคประชาชน แล้วภาคประชาชนที่ไหน เยอะแค่ไหนไม่รู้ เพราะที่ผ่านมาเขาก็บอกว่าเขาทำประชาพิจารณ์ไปแล้วกฎหมายฉบับนี้ คราวนี้บอกว่ามีข้อเรียกร้องประชาชนขอให้ 142 คสช. ที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.โรงงานฯ เปิดเผยรายชื่อและเหตุผล อย่างนี้ไม่ถูก”

โดยตนเห็นว่า ทางออกของเรื่องนี้คือ ให้ทุกคนพิจารณากฎหมายอย่างรอบครอบ ได้รับการยอมรับ มีเสียงส่วนใหญ่ก็ยังต้องรับฟังเสียงส่วนน้อย แต่ทุกอย่างต้องไปตามเสียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาให้เสียงส่วนน้อยด้วยย

เผย สนช. ชะลอพิจารณา พ.ร.บ.ข้าวแล้ว

สำหรับกรณี ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า หลายฝ่ายมองเป็นเหตุความจำเป็นในการต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยการเน้นให้ความสำคัญกับเกษตรกร ซึ่งก็มีฝ่ายที่เห็นชอบกับไม่เห็นชอบ ซึ่งตนไปก้าวล่วงส่วนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่เสนอโดย สนช. ขึ้นมา

“วันนี้ก็ได้รับรายงานมาจากสภาว่า เขาขอชะลอเรื่องนี้ไปก่อน เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้ถูกใช้เป็นโอกาสในการบิดเบือนข้อมูล ผมก็เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ไม่เข้าใจ ที่เข้าใจก็เยอะ ไม่เข้าใจก็มาก กฎหมายก็ต้องเป็นแบบนี้”

เคลียร์ปม “คลิปเสียง” ยันพปชร.ไม่ได้ทำ – จ่อแจ้งความ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่ามีคนอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โทรศัพท์สอบถามชาวบ้าน หากต้องการมีบัตรประชารัฐต่อไปต้องเลือก พปชร. เรื่องการเผยแพร่คลิปเสียงทางโซเชียลมีเดีย ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบว่าพรรคการเมืองมีการทำจริงหรือไม่ โดยได้รับรายงานชั้นต้นมาว่า ไม่มี ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ซึ่งเขาก็ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษอยู่ ฉะนั้นใครที่ให้ข้อมูลนี้ออกมาทางสื่อโซเชี่ยลวันนี้ก็ต้องระมัดระวัง กฎหมายมีอยู่ เมื่อผิดกฎหมาย แล้วมีการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมก็บอกว่าไม่เป็นธรรม

“บอกว่าช่วงนี้ต้องอิสระ อิสระอย่างไร หากบิดเบือนกันไป อิสระมากๆ ได้ไหมล่ะ ข่าวลวง ข่าวปลอมมีมากมาย หลายอย่างก็ทำเทียมทั้งสื้น วันก่อนก็ฟ้องไป 9 คนที่เขาจับมาได้ เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงเขาตามอยู่แล้วผมไม่จำเป็นต้องไปสั่งการ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่งจัดเต็ม “โจ๋” ป่วน “มัธยมวัดสิงห์”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทำร้ายครูและนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ว่า ลงโทษกลุ่มวัยรุ่นแล้ว มีการจับและดำเนินคดีแล้วทั้งหมด โดยตนได้สั่งการให้ใช้กฎหมายให้เต็มที่ ในกรณีแบบนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล บนถนนหนทาง ลักษณะที่สร้างผลกระทบต่อสังคมเช่นนี้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายทุกประการ

ทั้งนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงไปแก้ปัญหา โดยเฉพาะการดื่มเหล้าในวัด ค่านิยมการเปิดเครื่องเสียงในงานบวช

“ก็เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ต้องไม่เกินเลยซึ่งกันและกัน เด็กจะสอบก็ต้องดูว่าไปรบกวนเขาหรือไม่ เป็นเรื่องของจิตสำนึก ส่วนใหญ่เราขาจิตสำนึกกันทำให้สังคมวุ่นวายไปหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้ 

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

แก้ พ.ร.บ.อาชีวะ – ส่งเสริมเรียน ตั้งแต่ ม.ต้น

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติได้กำหนดให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดตามหลักสูตรที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด ได้แก่ 1) ประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา 2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 3) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และ (4) ปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ จากเดิมกำหนดเพียงหลุดสูตร 2-4 เท่านั้น

ทั้งนี้ ให้ถือว่าสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษาตามหลักสูตรที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนดที่มีอยู่ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ เป็นการจัดการเรียนการสอนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

“ครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางอาชีวะ ซึ่งเป็นทักษะที่ขาดแคลนในปัจจุบันและสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดยรัฐบาลมีความตั้งใจว่าควรจะเริ่มการเรียนการสอนลักษณะนี้ได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อย่างไรก็ดี กฎหมายยังไม่ได้กำหนดหลักสูตรที่เกี่ยวเอาไว้ จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม”

ไฟเขียว MOU ตั้งศูนย์สะเต็มระดับภูมิภาคในไทย

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความตกลงในการจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอที่ประเทศไทย [Memorandum of Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Southeast Asian Ministers of Education Organization on the Establishment of the SEAMEO Regional Centre for STEM Education (SEAMEO STEM-ED) in Thailand] โดยเนื้อหาของร่างบันทึกความตกลงฯ ระบุถึงสถานที่ตั้งของศูนย์ฯ อำนาจหน้าที่ของศูนย์ฯ รวมถึงการบริหารจัดการและงบประมาณ

ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ SEAMEOSTEM-ED ในประเทศไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งในด้านสะเต็มศึกษา เป็นศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ระดับภูมิภาคด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพทั้งในประเทศไทยและในประเทศสมาชิกซีมีโอ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากร ให้มีคุณภาพสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ไปใช้เชื่อมโยง และแก้ปัญหาในชีวิตจริง อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคต่อไป

ดึง “สถาบันสอนบริหารโรงแรม” อันดับ 6 ของโลก เปิดสอนในไทย

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ Asian Institute of Hospitality Management, in Academic Association With Les Roches (เลส์โรช) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย ตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ Asian Institute of Hospitality Management, In Academic Association With Les Roches ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถาบันอันดับ 6 ของโลก เทียบกับสถาบันของไทยที่มีอันดับประมาณ 100 เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทยในหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการบริหารธุรกิจการโรงแรม (Bachelor of Business Administration in Global Hospitality Management) โดยจัดตั้งใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดชลบุรีและกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับ อุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 พิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้ามาจัดการศึกษาของสถาบันฯ ดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ รูปแบบ วิธีการ และเงื่อนไข ในการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติแล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560

อนุมัติงบกลางปั้น “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” 857 ล้าน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 857,666,500 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ เพื่อสร้างฐาน (Platform) การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคตโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิต และสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระโครงสร้างหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคน

ในรายละเอียดของโครงการจะแบ่งเป็น

1. การจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร (Non Degree) เป็นการจัดอบรมปรับเปลี่ยนและเพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์เฉพาะของสถานประกอบการหรืออุตสาหกรรมร่วมกับภาคการผลิตที่มีระยะเวลาดำเนินการที่ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อผลิตกำลังคนที่ทำงานในสถานประกอบการและผู้ที่ต้องการเรียนรู้สมรรถนะและทักษะเพิ่มเติม อัตราค่าใช้จ่าย 60,000 บาท/คน โดยจะจัดการอบรม จำนวน 3 รุ่น (ปี 2562-2564) รวม 37,670 คน

2. การจัดการศึกษาในระดับปริญญา (degree) ได้แก่

    2.1 ร่วมมือกับสถานประกอบการในการผลิตบัณฑิตเพื่อต่อยอดการพัฒนาที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอนาคตพลวัต (New S-Curve) อัตราค่าใช้จ่าย 50,000-200,000 บาทต่อคนต่อปี แล้วแต่หลักสูตร จำนวน 5 รุ่น (ปี 2561-2565) รวม 21,460 คน

    2.2 การผลิตบัณฑิตด้วยการบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้ในรายวิชาหลักในศาสตร์สาขาวิชาชีพโดยการพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัล (General Education) โดยสถาบันจะได้รับการสนับสนุนตามความเหมาะสมในลักษณะงบดำเนินการ ในวงเงินประมาณ 2,396,000 บาท/หลักสูตร จำนวน 10 หลักสูตร ดำเนินการปี 2562-2564

ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณในปี 2562 จะแบ่งเป็น 1) หลักสูตรประกาศนียบัตร (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) ปี 2562 อัตราค่าใช้จ่าย 60,000 บาท/คน จำนวน 8,337 คน วงเงินรวม 500,220,000 บาท

2) หลักสูตรปริญญา อัตราค่าใช้จ่าย 50,000-200,000 บาทต่อคนต่อปี แล้วแต่หลักสูตร ปี 2561 จำนวน 2,841 คน และปี 2562 จำนวน 3,988 คน วงเงินแบ่งเป็น

    2.1 ปีการศึกษา 2561 (ตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2562) วงเงิน 256,693,000 บาท

    2.2 ปีการศึกษา 2562 (สิงหาคม 2562 – กันยายน 2562) วงเงิน 95,961,500 บาท

3) การพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) ปี 2562 อัตราค่าใช้จ่าย 2,396,000 บาท/หลักสูตร จำนวน 2 หลักสูตร วงเงิน 4,792,000 บาท

ตั้งงบฯ 1,360 ล้าน จ่ายชดเชยให้บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs

พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Start-up & Innobiz) และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 1,360 ล้านบาท โดยขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีต่อๆ ไป ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี

ในรายละเอียดสืบเนื่องจากณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บสย. ได้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) จำนวนทั้งสิ้น 1,212 ราย วงเงินค้ำประกันรวม 1,994 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายกรอบวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ที่กำหนดไว้ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ รวมถึงวงเงินค้ำประกันต่อรายอาจยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย และโครงการดังกล่าวข้างต้นสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม (Innobiz) ที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บสย. จะให้วงเงินค้ำประกันโครงการจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รวมทิ้งสิ้น 8,000 ล้านบาท รูปแบบการค้ำประกันแบบ Package Guarantee Scheme อายุไม่เกิน 10 ปี โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปีนับตั้งแต่มีมติ โดยวงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs รวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ผู้ประกอบการใหม่ หากเป็นบุคคลธรรมดาไม่เกิน 5 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 10 ล้านบาท ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม หากเป็นบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 40 ล้านบาท ทั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท

สินเชื่อที่ให้ค้ำประกันทุกประเภทที่เป็นสินเชื่อใหม่ ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเช่าแบบลิสซิ่ง สินเชื่อแฟ็กเตอริง และมีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน อัตราไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดย บสย. สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่รัฐบาลจ่ายแทน SMEs ในแต่ละปี ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ 2 ตลอดอายุการค้ำประกัน

ทั้งนี้ คุณสมบัติเอสเอ็มอีที่สามารถค้ำประกันตามโครงการนี้ ได้แก่ 1. เป็น SMEs ที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท 2. เป็น SMEs ประเภทบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย 3. เป็น SMEs ที่ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี 4. เป็น SMEs ที่ได้รับสินเชื่อใหม่ และต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ 5. เป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติหรือจัดชั้นดังกล่าวถึงเป็นพิเศษ ตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย 6. เป็น SMEs ที่ผ่านการคัดกรองความเสี่ยงของลูกค้าตามเกณฑ์ที่ บสย. กำหนด

7. กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-up SMEs) มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารทางราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ 8. กรณีเป็น SMEs ผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรม จะต้องเป็น SMEs ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบด้วยเครื่องมือในการประเมินเทคโนโลยี (Thailand Technology Rating System: TTRS) หรือเกณฑ์อื่นๆ ตามที่ บสย. กำหนด หรือต้องเป็น SMEs ที่มีรายชื่อผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ บสย. เห็นชอบ

เพิ่มกรอบวงเงินบริหารหนี้รัฐอีก 23,000 ล้าน

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ดังนี้

    1.1 การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (การปรับปรุงแผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 23,018.81 ล้านบาท จากเดิม 1,828,119.18 ล้านบาท เป็น 1,851,137.99 ล้านบาท

    1.2 การบรรจุโครงการพัฒนาหรือโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าว รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย

    1.4 อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินโครงการลงทุนและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

    1.5 อนุมัติให้ กค. ให้กู้ต่อแก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนไม่เกิน 15,025.52 ล้านบาทโดยเป็นวงเงินกู้ต่อเดิมของ รฟม. เพื่อรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเงินยืม จำนวนไม่เกิน 4,122.28 ล้านบาท และเรียกเก็บเงินยืมที่ไม่มีดอกเบี้ยกับ กทม.

    1.6 รับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้และการชำระคืนเงินกู้ที่ กค. ให้กู้ต่อแก่ กทม. และแนวทางการชำระคืนเงินตามสัญญาเงินยืมระหว่าง กค. กับ กทม.

ในรายละเอียดของหนี้ที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 32,774.62 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

และในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการพัฒนาและโครงการที่แต่เดิมไม่ได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยจะขอบรรจุเพิ่มเติมและเสนอขออนุมัติมาในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 28,291.45 ล้านบาท เช่น โครงการเงินกู้เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลอื่นๆ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) จำนวน 21,000 ล้านบาท โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 2,700 ล้านบาท โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) จำนวน 1,891.45 ล้านบาทเป็นต้น

ในขณะที่การบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจปรับลดลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ชำระคืนหนี้เงินกู้จากเงินงบประมาณ จำนวน 13,730.24 ล้านบาทแล้ว ประกอบกับยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ วงเงิน 25,000.00 ล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งสัญญาจะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563

ทั้งนี้ ประมาณการหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2562 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมอยู่ในระดับ 42.7% (ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 43.32% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 และอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามนัยมาตรา 50 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐกำหนดที่ระดับ 60%

เห็นชอบรถไฟสีแดง 2 สาย – คาดครบ 10 สายก่อนเปลี่ยนรัฐบาล

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (กค.)เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวม 2 โครงการ ดังนี้

1. โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี

    1.1 อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และสถานีบ้านฉิมพลี ในกรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด

    1.2 ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และหรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4)

2. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต

    2.1 อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ในกรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด

    2.2 ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้ สงป. จัดสรรงบประมาณรายปี หรือ กค. จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4)

    2.3 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ตามที่ คค. เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

ในรายละเอียดทั้ง 2 โครงการเป็นการก่อสร้างทางรถไฟเลียบไปตามแนวเขตทางรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจะเป็นรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รถไฟมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมรถไฟ ระบบสื่อสาร ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้ากำลัง และแม้ว่าตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมจะกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2565 โดยแต่ละโครงการมีวงเงินโครงการ ระยะทาง และจำนวนสถานี สรุปได้ ดังนี้

ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศตะวันตกจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และก่อสร้างสถานีใหม่ จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีสะพานพระราม 6 และสถานีบางกรวย-กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา

ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายทางทิศเหนือจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งนี้ จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมประมาณ 14 ไร่ เพื่อนำที่ดินมาสร้างสถานีทั้ง 4 แห่ง

เพิ่มงบลงทุน 1,150 ล้าน ขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 จากเดิม ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ เป็น ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 655 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับเงินลงทุนโครงการฯ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท สรุปวงเงินลงทุนรวมเป็นจำนวนเงิน 37,961 ล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่ายของ กฟผ. ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องไม่นำวงเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาคำนวณผลตอบแทนการลงทุนในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า

“โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงเนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี ดังนั้น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จึงกำหนดให้ปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 และให้มีโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทน และที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 วงเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีอายุการใช้งานประมาณ 30 ปี”

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการเตรียมการประกวดราคาโครงการฯ กฟผ. พบว่าถ่านหินลิกไนต์เหมืองแม่เมาะมีปัญหาด้านคุณภาพซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าจะไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มพิกัดด้วยถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดังกล่าว กฟผ. จึงปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคของเอกสารประกวดราคาเพื่อให้โรงไฟฟ้าใหม่สามารถรองรับถ่านหินที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปตลอดอายุโรงไฟฟ้าได้ โดยผู้ชนะการประกวดราคาได้เสนอข้อเสนอทางเทคนิคถูกต้อง สามารถรองรับถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดังกล่าวได้และเสนอเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าที่ กฟผ. ได้รับอนุมัติ (ได้รับอนุมัติขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 655 เมกะวัตต์) ในราคา 35,312 ล้านบาท

ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ประกอบกับเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันประกวดราคา (31.2182 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) กับอัตราแลกเปลี่ยนจริง ณ วันที่ กฟผ. ต้องจ่ายค่างานให้กับคู่สัญญาตั้งแต่ปี 2558-2560 (32.5709-36.3271 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติไว้จำนวน 36,811 ล้านบาทไม่เพียงพอ จึงต้องขอปรับเพิ่มวงเงินลงทุน

คุมนำเข้ามันสำปะหลัง ผ่านด่านศุลกากร 24 แห่งเท่านั้น

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สำหรับร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว ได้มีการแก้ไขประเด็นเพิ่มเติมจากประกาศฉบับเดิมใน 3 ประเด็น

1. กำหนดมาตรการในการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยให้มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้ 1) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และต้องแจ้งการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย โดยนำใบแจ้งดังกล่าวแสดงต่อกรมศุลกากร 2) ต้องเก็บมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่นำเข้าไว้ในสถานที่เฉพาะแยกจากสถานที่เก็บที่รับซื้อภายในประเทศ 3) ต้องรายงานการนำเข้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประกาศกำหนด 4) ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต หรือสถานที่เก็บสินค้า หรือยานพาหนะของผู้ประกอบการส่งออก นำเข้า หรือนำผ่าน หรือของบุคคลใด เพื่อตรวจค้นสินค้า

2. กำหนดด่านศุลกากรและจุดในการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยต้องนำเข้าทางพื้นที่จังหวัดด่านศุลกากรและจุดที่กำหนด ดังนี้

    1) กรุงเทพมหานคร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ

    2) จังหวัดกาญจนบุรี ด่านศุลกากรสังขละบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน

    3) จังหวัดจันทบุรี ด่านศุลกากรจันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด

    4) จังหวัดชลบุรี สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบับ

    5) จังหวัดเชียงราย ด่านศุลกากรเชียงของ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

    6) จังหวัดตราด ด่านศุลกากรคลองใหญ่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก

    7) จังหวัดตาก ด่านศุลกากรแม่สอด จุดผ่านแดนถาวรบ้านริมเมย

    8) จังหวัดนครพนม ด่านศุลกากรนครพนม จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน)

    9) จังหวัดนราธิวาส ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก

    10) จังหวัดน่าน ด่านศุลกากรทุ่งช้าง จุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น

    11) จังหวัดบึงกาฬ ด่านศุลกากรบึงกาฬ จุดผ่านแดนถาวรอำเภอเมืองบึงกาฬ

    12) จังหวัดพะเยา ด่านศุลกากรเชียงของ จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก

    13) จังหวัดมุกดาหาร ด่านศุลกากรมุกดาหาร จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)

    14) จังหวัดยะลา ด่านศุลกากรเบตง จุดผ่านแดนถาวรเบตง

    15) จังหวัดระนอง ด่านศุลกากรระนอง จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง

    16) จังหวัดเลย ด่านศุลกากรท่าลี่ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง

    17) จังหวัดศรีสะเกษ ด่านศุลกากรช่องสะงำ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ

    18) จังหวัดสงขลา ด่านศุลกากรสะเดา จุดผ่านแดนถาวรสะเดา

    19) จังหวัดสตูล ด่านศุลกากรวังประจัน จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน

    20) จังหวัดสระแก้ว ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน และจุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา

    21) จังหวัดสุรินทร์ ด่านศุลกากรช่องจอม จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม

    22) จังหวัดหนองคาย ด่านศุลกากรหนองคาย จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

    23) จังหวัดอุตรดิตถ์ ด่านศุลกากรทุ่งช้าง จุดผ่านแดนถาวรภูดู่

    24) จังหวัดอุบลราชธานี ด่านศุลกากรช่องเม็ก จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก

3. กำหนดข้อยกเว้นในการปฏิบัติตามมาตรการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยกำหนดข้อยกเว้นในกรณีที่นำมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเข้ามาเพื่อใช้เป็นตัวอย่างหรือการศึกษาวิจัยในปริมาณเท่าที่จำเป็น

สั่งตั้ง คกก. ถอดบทเรียนปัญหา-วิกฤตทางสังคม

เน้นย้ำว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ทีการดำเนินการในเรื่องสำคัญมากมาย รวมถึงมีการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ทั้งเรื่องประมงผิดกฎหมาย เรื่องการบินพลเรือน ปัญหาการค้ามนุษย์ โดย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการถอดบทเรียน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติทางสังคม เช่น ความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ และผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ นายกฯ สั่งการให้แต่ละกระทรวงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง และจัดทำเป็นบทเรียน ไม่ใช่ให้เรื่องที่จบไปแล้ว จบไปเลย แต่ให้มีการศึกษบทเรียนของเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อนำไปเป็นหลักปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่ต้องใช้ในอนาคต นอกจากนี้ นายกฯ ยังเน้นย้ำเรื่องการทุจริต และการกระทำผิดกฎหมาย จะต้องดูว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และวิธีแก้ไขจะทำได้อย่างไร รวมถึงแนวทางป้องกันที่จะไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต ว่าจะต้องทำอย่างไร

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562เพิ่มเติม