เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ก่อนตอบคำถามสื่อมวลชนนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า วันนี้ตนได้ทำความเข้าใจกับคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ออกมาแล้ว ขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง
สั่งการฝ่ายความมั่นคง สืบปม “หมุดฯ” หาย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ (หมุดคณะราษฎร) ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าหายไปและถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวมาแล้ว และไม่อยากให้เป็นประเด็น ขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องดังกล่าวตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ จึงอยากขอความร่วมมือว่าเรื่องใดที่ไม่ใช่ปัญหาคอขาดบาดตายก็อย่าเอามาให้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเลย ขอให้มองที่อนาคตดีกว่า
สำหรับการรวมกลุ่มเพื่อทวงหมุดคืนนั้นตนเห็นว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะวันนี้ก็มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายต้องการใช้ในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง พลังงาน สุดท้ายก็เป็นเรื่องของหมุดคณะราษฎร มาเป็นปัญหาทั้งหมด
“เรื่องเก่าๆ ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไป ถ้าจะมาโต้แย้งกันไปมา ผมขอไม่พูดดีกว่า เพราะทุกคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน อันนี้คือหลักการของประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่อะไรทั้งสิ้น อยู่ที่ใจคนว่าอยากเห็นประเทศชาติเดินต่อไปอย่างไร ผมก็ได้แต่ขอร้อง ความจริงไม่อยากเพิ่มภาระให้กับฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงดูกฎหมายทุกข้อในช่วงนี้ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวัง แต่ไม่ใช่ผมขู่ เพียงแต่ไม่ต้องการให้บ้านเมืองเดือดร้อนอีกแล้ว เราต้องใช้เวลาที่เหลือให้เต็มที่ อะไรที่ยังไม่เข้าใจก็ขอให้สอบถามมา ผมยินดีที่จะตอบ สิ่งไหนทำได้ก็พร้อมทำให้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
แจงเพิ่มค่าตอบแทนผู้ช่วยงาน คสช. 721 ราย เป็นเรื่องปกติ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเพิ่มค่าตอบแทนผู้เสียสละมาช่วยงาน คสช. ว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้นนอกเหนือจากโควตาปกติให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 721 รายว่า เป็นค่าตอบแทนเรื่องสิทธิประโยชน์ของราชการ แต่ไม่ได้ให้เป็นเงิน เพราะเป็นเรื่องของความดีความชอบเหมือนข้าราชการทั่วไป
“การทำงานของ คสช. หรือชายแดนทั่วไป เป็นการเพิ่มหน้าที่จากหน้าที่หลักที่มีอยู่ เมื่อทำงานจึงต้องมีสิทธิประโยชน์ให้ โดยใช้งบประมาณจากต้นสังกัดเดิม เพราะทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า บำเหน็จที่ว่าไม่ได้เพิ่งทำในปีนี้ แต่ทำมาหลายปีแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ คสช. มีกว่า 20,000 คน มีทั้งผู้ที่ทำงานในหน่วยปกติและทำงานพิเศษตามที่ คสช. มอบหมาย ซึ่งในส่วนหลังจะไม่ได้รับพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากต้นสังกัดแต่ไปทำงานที่ใหม่ จึงมีชดเชยให้บำเหน็จสองขั้นกับข้าราชการพวกนี้ และต้องยอมรับความจริงว่าบุคคลหลายคนที่อยู่ใน คสช. ทำงานค่อนข้างหนัก แม้ช่วงเทศกาลวันหยุดก็ไม่มีโอกาสได้พักผ่อน
“รัฐบาลมองเห็นว่าคนเหล่านี้เราจำเป็นต้องให้ขวัญกำลังใจ แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมด ให้แค่เพียง 3% จาก 2 หมื่นกว่าคนคิดเป็น 700 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และการให้ขั้นของแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน อย่างหน่วยปกติครึ่งปีแรกให้ 0.5 ขั้น ครึ่งปีหลังให้ 0.5 ขั้น รวมเป็น 1 ขั้น ซึ่งคนที่อยู่ใน 700 กว่าคนจะได้อีก 1 ขั้น รวมเป็น 2 ขั้น ซึ่งใน 1 ปี ข้าราชการคนหนึ่งเบ็ดเสร็จจะได้ไม่เกิน 2 ขั้น ไม่ใช่เพิ่มให้อีกเป็น 2 ขั้น หรือหากหน่วยให้ไปแล้ว 1.5 ขั้น ก็จะได้อีก 0.5 ขั้น เพื่อให้ครบ 2 ขั้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อนึ่ง เรื่องขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานใน คสช. ถูกเสนอโดยสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ.คสช.) โดยให้เหตุผลประกอบรายงานว่า
“คสช. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานพิเศษที่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ซึ่งต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและยากลำบากตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้งข้าราชการที่ปฏิบัติงานให้กับ คสช. เป็นการขอตัวจากส่วนราชการต้นสังกัดมาช่วยราชการและต้องปฏิบัติงานในภารกิจของ คสช. เป็นหลัก ทำให้ข้าราชการเหล่านี้มีโอกาสได้รับการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี (2 ขั้น) ที่หน่วยงานต้นสังกัดเดิมน้อยลง ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ จึงเห็นควรขอรับการสนับสนุนโควตาบำเหน็จประจำปี (2 ขั้น) ประจำปีงบประมาณ 2560 เช่นเดียวกับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา และเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด”
ยังไม่จำเป็นต้องปรับ ครม.เศรษฐกิจ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีที่ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาแนะนำให้เปลี่ยน ครม.เศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับ เนื่องจากรัฐบาลมองมิติเศรษฐกิจในหลายด้าน ตั้งแต่ระดับฐานรากที่มีประชากรจำนวนมากจำเป็นต้องพัฒนาในระดับนี้ให้มีรายได้สูงขึ้น ยึดโยงกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ให้คนมีโอกาส มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น
ต่อกรณีผลสำรวจความพึงพอใจการทำงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าความมุ่งหมายของการทำผลสำรวจคืออะไร และคำถามที่ถามเป็นการบังคับคำตอบอย่างไร ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเรื่อง และรู้ทุกเรื่องจากสื่อและจากบุคคลส่งมาให้ ประกอบกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติแก้ไขในหลายๆ เรื่องให้ตรงกับความต้องการ ยืนยันว่ารัฐบาลรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
ตีกลับแผนปรับโครงสร้าง “ไอแบงก์”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ก่อนที่ตนเข้ามาเป็นรัฐบาล ถึงวันนี้ตนใช้เวลา 3 ปีในการแก้ไขปัญหามาตลอด ยอมรับว่าหนักเพราะหนี้เยอะ เนื่องจากมีทั้งรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน รายได้น้อยไม่เพียงพอ ในวันนี้มีข้อเสนอเรื่องขออนุมัติปรับโครงสร้างทางการเงินของไอแบงก์ ซึ่งตนได้ขอให้ไปหามาตรการที่เหมาะสมมาก่อน
“ทุกเรื่องต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมด เช่น ปล่อยกู้เงินผิดประเภท ที่ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น มาตรการที่เหมาะสมมี 2 ทาง คือ ปล่อยให้ล้มไปเลยโดยรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่หากล้มไปผู้ที่ทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งจะดำเนินการคดีฟ้องร้องกันก็ว่ากันไป แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงิน กับอีกทางคือช่วยให้อยู่ต่อได้ ต้องใช้เงินเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะแก้ทางไหนก็ต้องเสียเงินอยู่ดี ขอเรียนว่าไอแบงก์ถือเป็นสัญลักษณ์แล้ว หากจะให้เฉพาะชาวมุสลิมอย่างเดียวก็จะไม่พอเพียงต่อการบริหาร เราจึงต้องไปหามาตรการที่รัดกุมว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ใครจะกู้ได้บ้าง และกู้ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่มีระบบอะไรเลย ยืนยันว่าคนรับผิดชอบก็คือรัฐบาลแต่เราต้องหาคนมารับผิดชอบในเชิงกฎหมายซึ่งกำลังดำเนินการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่ง กต. จับตาสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีว่า ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ตลอด ทั้งนี้เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศมหาอำนาจของโลกจะตัดสินใจดำเนินการเรื่องใด ดังนั้นไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ เพราะจะกระทบต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบด้านการลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลก
มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้
แก้เกณฑ์ “บ้านประชารัฐ” เอื้อประชาชนซื้อบ้าน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการบ้านประชารัฐและโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยโครงการบ้านประชารัฐ ให้แก้ไข
1) ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ จาก ที่กำหนดว่า “ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน” เป็น “ปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย” ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันไม่มีที่อยู่อาศัยและมีความต้องการขอสินเชื่อเพื่อซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้สะดวกขึ้น เนื่องจากบางกรณีผู้ขอกู้เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
และ 2) แก้ไขเงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) กรณีการกู้เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย จากที่กำหนดให้รวมราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย เป็นไม่ต้องนำราคาประเมินที่ดินมารวมพิจารณาด้วย เนื่องจากหากนำราคาประเมินที่ดินมาพิจารณาร่วมด้วย ผู้กู้จะไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ตามวงเงินที่ต้องการก่อสร้างจริง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกู้เพื่อปลูกสร้างทดแทนที่อยู่อาศัยเดิมด้วย
ขณะที่ โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ให้แก้ไข 1) สำหรับโครงการเช่าระยะสั้น (rental) แก้ไข จาก “เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนและมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือนในวันที่ยื่นจองสิทธิ เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือนในวันที่ยื่นจองสิทธิ” ในลักษณะเดียวกับโครงการบ้านประชารัฐ และ 2) โครงการเช่าระยะยาว (leasehold) แก้ไขจาก “เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมากก่อน” เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย”
“การแก้ไขดังกล่าวเนื่องจากผลการดำเนินงานช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าติดปัญหาเรื่องเงื่อนไขคุณสมบัติที่กำหนดให้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ ซึ่งค่อนข้างเข้มงวดเกินไป เนื่องจากหลายคนอาจจะเคยมีแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่งผลให้โครงการ Post Finance ที่อนุมัติวงเงินไว้ตอนแรก 40,000 ล้านบาทและมีผู้ขอสินเชื่อเข้ามาเป็นวงเงินถึง 36,500 ล้านบาท แต่สามารถอนุมัติออกไปได้เพียง 11,335 ล้านบาท ขณะที่โครงการ Pre Finance ที่ให้วงเงินแก่เอกชนไปพัฒนาที่ดิน หรือ developer อนุมัติวงเงินตอนแรก 30,000 ล้านบาท แต่มีผู้สนใจเพียงไม่กี่ราย วงเงิน 257 ล้านบาท เนื่องจากเอกชนหลายรายสามารถระดมทุนผ่านตลาดเงินหรือออกหุ้นกู้ได้ที่ราคาถูกว่าที่ประมาณ 3-4% ต่อปี ระยะเวลา 15 ปี ส่วนนี้ ครม. ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนวงเงินแต่อย่างใด เพราะเป็นไปตามสถานการณ์ของตลาด” นายกอบศักดิ์กล่าว
ต่อมาตรการภาษีส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน – บังคับ “ทำบัญชี-ยื่นภาษี” เข้าระบบ
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน) เพื่อขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
“นอกจากการขยายมาตรการแล้ว ครม. ยังกำหนดเงื่อนไขสำหรับการวางรากฐานวิสาหกิจชุมชนในอนาคต รวมถึงสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเต็มที่ คือ ขอให้วิสาหกิจชุมชนมีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้ประจำวัน พร้อมกับยื่นแบบเสียภาษีเข้ามาในระบบตั้งแต่ปี 2560 ด้วย โดยข้อมูลสถิติปัจจุบันไทยมีวิสาหกิจชุมชนประมาณ 70,000 แห่งในประเทศไทย” นายกอบศักดิ์กล่าว
พักหนี้สมาชิกสหกรณ์ชาวนา/กลุ่มปลูกข้าว 2 ปี 1,535.82 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2561 ปีละ 767.91 ล้านบาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,535.82 ล้านบาท และให้การชดเชยดอกเบี้ยเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ อีก 3% ต่อปี โดยให้ไปตกลงกันว่าภาครัฐและสหกรณ์จะแบ่งรับภาระอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ เดิม ครม. เคยมีมาตรการดังกล่าวสำหรับลูกค้าเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดังนั้นจึงเห็นชอบให้ขยายขอบเขตช่วยเหลือเกษตรกรอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพทำนาของสมาชิกสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีโอกาสนำเงินที่ต้องส่งชำระหนี้ไปฟื้นฟูตนเอง มีเงินทุนไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้ในวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตข้าวกับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 287,676 ราย ต้นเงินกู้รวม 25,596.932 ล้านบาท
ทุ่ม 2,073 ล้านบาท สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนาคต “Futurium”
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบสร้างโครงการศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) ในกรอบวงเงินงบประมาณปี 2560 วงเงิน 2,076 ล้านบาท โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินการ สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น ให้ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในกิจการประเภทดังกล่าวดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะการออกแบบเนื้อหาสาระ การจัดนิทรรศการ และการส่งเสริมการตลาดและการพัฒนาบริบทแวดล้อม โดยจัดตั้งอยู่ที่คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ควบคู่กับกับพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ซึ่งจะเน้นไปทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์มากกว่า
สำหรับโครงการดังกล่าวนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) นิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในส่วนของการก้าวสู่โลกนวัตกรรม หรือ Innovation World 2) พื้นที่จัดแสดง เป็นส่วนของการแนะแนวอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ Jobs World ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้เข้าชมได้ค้นพบแนวทางในการเลือกประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจะเริ่มต้นด้วยการทดลองอาชีพ 27 อาชีพ ก่อนจะขยายต่อไป ระยะเวลาดำเนินโครงการดังกล่าวคือ การก่อสร้าง 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2564
แจงเช่าที่ดิน 99 ปี “อีอีซี” ตามกฎหมายเดิม
นายกอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เงื่อนไขการเช่าที่ดินของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ระยะเวลา 99 ปี ว่าเป็นเงื่อนไขที่สอดคล้องไปกับพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเช่ามีระยะเวลาเหมาะสมกับการลงทุน เป็นการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย โดยระบุไว้ในมาตรา 3 และ 4 ว่า “มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การเช่า” หมายความว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่กำหนดเวลาเช่าไว้เกินสามสิบปีแต่ไม่เกินห้าสิบปี…” และ “มาตรา 4 การเช่าตามพระราชบัญญัตินี้…เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว ผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้มีกำหนดไม่เกินห้าสิบปีนับแต่วันที่ตกลงกัน…”
เตรียมหารือ สานความร่วมมือเศรษฐกิจ รัสเซีย-บาห์เรน
พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ท่าทีของไทยสำหรับการหารือทวิภาคีกับสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นกรอบสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยการประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ซึ่งการประชุมนี้เป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมเป้าหมายการค้าการลงทุน เมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ เดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2562 จะเพิ่มเป้าหมายการค้าลงทุนให้เป็น 5 เท่า รวมทั้งพูดคุยถึงการลดอุปสรรคทางการค้า และพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร เพื่อสนับสนุนการส่งกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางทหาร และครอบคลุมความร่วมมือ ขยายความสัมพันธ์ ให้มีความร่วมมือทางเทคนิคทางทหารร่วมกัน
พล.ต. วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2560 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ซึ่งในการเยือนบาเรนครั้งนี้จะมีการหารือในด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมนักลงทุนซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุภาพ รวมถึงด้านความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างแนวทางและการดำเนินการในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และยาเสพติดที่มีต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ด้านการสาธารณสุข จะมีการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์และสุขภาพ
ยอดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย-ตาย 390 ราย บาดเจ็บเฉียด 4,000 ราย
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รายงานสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ว่า ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2560 มีจำนวนผู้กระทำความผิดและถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 709,441 ราย สามารถยึดรถจักรยานยนต์ได้ 5,677 คัน ยึดรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะได้ 1,835 คัน จับกุมผู้กระทำกฎหมายตามนโยบายรัฐบาลได้ 914,748 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 204,748 ราย และมีจำนวนอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,690 ครั้ง เสียชีวิต 390 คน บาดเจ็บ 3,808 ราย
“สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ การเมาสุราขับรถเร็วเกินกำหนด โดยรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นยานพาหนะอันดับ 1 ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ด้านพฤติกรรมการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า มีสาเหตุมาจากการขับรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อก ดื่มสุราแล้วขับ รวมทั้งขับรถเร็วเกินกำหนด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและแก้ไขต่อไป โดยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว