ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 เดือน “ครม.ประยุทธ์ 2” จัดเต็มอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 800,000 ล้านบาท ทำอะไรบ้าง?

4 เดือน “ครม.ประยุทธ์ 2” จัดเต็มอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 800,000 ล้านบาท ทำอะไรบ้าง?

29 พฤศจิกายน 2019


ครบ 4 เดือนสำหรับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จัดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2562 และเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ค่อนข้างล่าช้าอย่างมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจขาลง ส่งผลให้การออกพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 ต้องถอยออกไป 1 ไตรมาส

แม้รัฐบาลจะพยายามบอกว่าเศรษฐกิจไม่ได้แย่ แค่ชะลอตัวก็ตาม แต่อาการดูจะหนักหนาทีเดียว ถึงกับต้องงัดทุกมาตรการมาช่วย ทั้งมาตรการการเงินที่ลดดอกเบี้ย และเปิดทางให้เงินไหลออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้นเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป รวมทั้งมาตรการการคลัง ที่อัดฉีดเม็ดเงินมากมายให้กับประชาชนลงทุนและใช้จ่าย เพื่อพยุงเศรษฐกิจโดยหวังว่าจะทำให้เงินมันหมุนไปๆ

สำหรับมาตรการเงิน การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบหลายปีไปเมื่อสิ้นปี 2561 ด้วยความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ต่ำที่สุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประเทศไทยเคยมี เทียบกับกับช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 จนกระทบกับราคาและรายได้เงินบาทของผู้ส่งออก ธปท.ได้ออกมาตรการสกัดเงินร้อนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ระลอกแรกด้วยการจำกัดปริมาณการพักเงินของชาวต่างชาติและกำหนดให้รายงานการเคลื่อนไหวเงินเข้มงวดขึ้น ก่อนที่ระลอกที่ 2 ต้องออกมาตรการเปิดเสรีการลงทุนและย้ายเงินออกนอกประเทศของคนไทย เพื่อช่วยสร้างสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เกินดุลมากเกินไป

ด้านมาตรการการคลัง รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินไปแล้วเท่าไหร่และไปทำอะไรบ้าง

“กระตุ้นเศรษฐกิจ-อุดหนุนเกษตรกร” เกือบหมด

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมการใช้จ่ายเม็ดเงินจากการประชุมและมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีขอบเขตกว้างกว่าการใช้งบประมาณและสะท้อนภาพรวมของการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ดีกว่า บ่อยครั้งที่รัฐบาลมักอาศัยกลไกอื่นๆ เข้ามาช่วยออกมาตรการอย่าง เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ยชั่วคราว การช่วยค้ำประกันสินเชื่อ ฯลฯ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รัฐวิสาหกิจ และกองทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งมักจะมัดรวมมาตรการส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น มาตรการสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือคนยากจนโดยเฉพาะ การอุดหนุนเกษตรกรโดยตรง (หลายครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นการช่วยเหลือจากภัยพิบัติหรือเป็นเพียงการอุดหนุนโดยปกติ) การแจกจ่ายเงินกับประชาชนโดยทั่วไป หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจำแนกประเภทการใช้จ่ายอย่างไร ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ครม.ประยุทธ์ 2 ได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วไม่น้อยกว่า 793,160.81 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละเกือบ 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินรวม 518,760.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 65.4% ของเม็ดเงินทั้งหมด โดยแบ่งเป็น
  • มาตรการทางอ้อมผ่านสถาบันการเงินของรัฐ รวม 462,000 ล้านบาท
    • -สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ วงเงินสินเชื่อรวม 262,000 ล้านบาท

      -การค้ำประกันสินเชื่อผ่านรัฐวิสาหกิจอย่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินสินเชื่อค้ำประกัน 150,000 ล้านบาท
      -การพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีกองทุนฯ สมัครใจพักหนี้อย่างน้อยประมาณ 50,000 ล้านบาท

  • มาตรการทางตรงที่ใช้จ่ายงบประมาณโดยตรงหรือทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป
    • -การลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินของรัฐที่รัฐบาลต้องชดเชย วงเงิน 11,135.23 ล้านบาท
      -การแจกเงินหรือลดราคาสินค้า อย่างมาตรการชิม ช้อป ใช้, ร้อยเดียว เที่ยวทั่วไทย ฯลฯ วงเงิน 27,209.5 ล้านบาท
      -การลดภาษีหรือค่าธรรมเนียม อย่างเช่นลดหย่อนภาษีกระตุ้นให้เอกชนลงทุน ลดภาษีเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival วงเงิน 18,416.2 ล้านบาท

  • อุดหนุนเกษตรกร วงเงิน 180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35% โดยส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายเกี่ยวกับประกันรายได้ ช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเก็บเกี่ยว สินเชื่อรวบรวมผลผลิต ฯลฯ นอกจากนี้ การอุดหนุนเกษตรกรยังมีส่วนคาบเกี่ยวกับจากปัญหาภัยพิบัติที่มักกระทบต่อเรือกสวนไร่นาและผลผลิตของเกษตรกรโดยตรงจนรัฐบาลต้องออกมาดูแล แต่ไม่ได้ระบุโครงการว่าเป็นไปเพื่อภัยพิบัติโดยเฉพาะหรือเป็นการช่วยเหลือโดยทั่วไปแบบมาตรการอื่นๆ โดยประเภทของเกษตรกรจะแบ่งเป็น
      -ข้าว วงเงิน 88,843.5 ล้านบาท
      -ปาล์ม วงเงิน 15,408 ล้านบาท
      -มันสำปะหลัง วงเงิน 12,607 ล้านบาท
      -ประมง วงเงิน 766.9 ล้านบาท
      -ปศุสัตว์ 240 ล้านบาท
      -ยางพารา 34,000 ล้านบาท
      -ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียว 374.52 ล้านบาท
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินรวม 75,611.24 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.5% โดยเป็นการลงทุนในโครงการของการไฟฟ้าและการประปา, แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน, การเพิ่มทุนให้ SME Bank, ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์, การลงทุนในโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบการจายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำเหนือเขื่อนอุบลรัตน์, การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานหมู่บ้านผ่านเงินกู้เพิ่มเติมของกองทุนหมู่บ้าน, โครงการโรงเรียนประชารัฐภาคใต้, การสร้างถนนหลวงเชื่อมต่อสามแยกวังมะนาวและเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  ระยะที่ 3, การซ่อมแซมถนนและสะพานจากภัยพิบัติ เป็นต้น
  • สวัสดิการสังคม วงเงินรวม 21,872.11 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% โดยเป็นมาตรการพยุงการบริโภคของผู้ถือสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา ผู้สูงอายุ และเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ภัยพิบัติ วงเงินรวม 24,492 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% โดยเน้นไปที่มาตรการที่ช่วยเหลือภัยพิบัติโดยทั่วไปไม่ได้เจาะจงไปที่กลุ่มประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น แจกจ่ายเงินจังหวัดละ 200 ล้านบาท จำนวน 74 จังหวัด, ลดหย่อนภาษีช่วยน้ำท่วมสำหรับการซ่อมแซมรถยนต์และบ้านที่เสียหายจากน้ำท่วม และมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครอบครัวละ 5,000 บาท
  • อื่นๆ วงเงิน 7.86 ล้านบาท คือเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลนักเรียนอายุไม่เกิน 18 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1
  • นี่คือ 4 เดือนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เกือบ 800,000 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวน 3.22 ล้านล้านบาท

  • เคาะกรอบงบปี ’63 รวม 3.22 ล้าน ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาท – 7 เดือนกับ “ค่าเสียเวลา” ที่ยังประเมินไม่ได้