ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.36 แสนล้าน “สมคิด” เผยโรดโชว์ปลายปี 58 – “ประยุทธ์” หนุน คปป. อ้างช่วยหยุดวิกฤติได้

ครม. อัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.36 แสนล้าน “สมคิด” เผยโรดโชว์ปลายปี 58 – “ประยุทธ์” หนุน คปป. อ้างช่วยหยุดวิกฤติได้

2 กันยายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา

“ประยุทธ์” พอใจทีม ศก.ชุดใหม่ ทำงานเข้าขา

พล.อ. ประยุทธ์ แถลงข่าวภายหลังการประชุม ว่า ครม. ได้เห็นชอบแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการให้กู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนให้นโยบายไปว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้ชาวบ้านเรียกรู้การใช้จ่ายเงิน เพราะจากการประเมินกองทุนหมู่บ้านครั้งล่าสุด ในปี 2555 พบว่า หลายแห่งก็ยังไม่เรียบร้อย โดยสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำจะแตกต่างจากประชานิยม เพราะต้องทั่วถึง เป็นธรรม ไม่ให้กับฐานเสียงหรือหัวคะแนนพรรคการเมืองใด และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการสรุปว่าจะสนับสนุนองค์การมหาชนใดต่อไปหรือไม่ เบื้องต้นบางแห่งอาจต้องยุบเลิก และบางแห่งอาจต้องปรับเปลี่ยน เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนสบายใจ ได้เห็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กับรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนั่งคุยยิ้มแย้มแจ่มใส และตอบรับคำสั่งของตนทุกอันว่าจะนำไปปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าชุดเก่าไม่ดี เพียงแต่เป็นไปตามสถานการณ์ สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้น โดยหน้าที่ของทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันคือเข้ามาขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบของภาครัฐให้เข้ามาหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น

ยันย้าย ขรก.ระดับสูง ไม่มีเรื่อง “เด็กของใคร”

นายกฯ ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ในการประชุม ครม. วันเดียวกันนี้ว่า เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีแต่ละคนเสนอขึ้นมาตามความเหมาะสม อาจมีย้ายกลับไป-กลับมาบ้าง แต่ทั้งหมดเพื่อให้งานต่อเนื่อง ขออย่าได้กังวล ไม่เรื่องเด็กของใครทั้งสิ้น ทุกคนเป็นคนของประชาชน รัฐมนตรีพอใครมาตนก็อนุมัติไปตามนั้น กรณีที่มีการย้ายนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม กลับไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ทั้งที่เพิ่งย้ายมาเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เพียง 2 เดือน เพราะ พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยากได้คนที่รู้งาน

“เช่นเดียวกับการแต่งตั้งให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ไปเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นความต้องการของรัฐมนตรีต้นสังกัด (พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ) ขออย่ากังวลว่ามาจากไหน เพราะทหารก็ย้ายกันแบบนี้ คนในระดับผู้บริหารต้องทำงานได้ ถ้าทำไม่ได้ค่อยเสนอปรับย้าย เช่นเดียวกับรัฐมนตรี หากทำงานไม่ด็ต้องปรับ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

หนุนตั้ง คปป. อ้างช่วยหยุดเหตุวุ่นวาย-สกัดรัฐประหาร

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติว่าให้ความเห็นชอบหรือไม่ในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีทั้งส่วนที่คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ตนเห็นว่าความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 8 ปี มีการชุมนุมมากกว่า 700 วัน แล้วมีพัฒนาความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา เหมือนเหตุการณ์ปี 2557 ที่เลือกตั้งก็ไม่ได้ ครม. จะลาออกก็ไม่ได้อีก จึงต้องกลับไปดูว่ามีความจำเป็นอะไรหรือไม่ ที่จะต้องมีองค์กรอย่าง คปป. ขึ้นมากำกับดูแลเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศ

“คปป. เกิดมาแล้วก็ดับไป มีอำนาจเฉพาะที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และไม่ได้มุ่งหวังว่าจะทำขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อ แต่มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้น โดยไม่มีให้การรัฐประหารอีก ผมคิดว่าเขาคิด คปป. ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการรัฐประหาร”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีบางคนบอกว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ คสช. ก็ได้ประโยชน์ อยากถามว่าได้ประโยชน์อะไร เพราะตนไม่เคยอยากได้อำนาจนี้เลย แล้วการตั้ง คปป. จะเป็นประโยชน์ตรงไหน ที่บอกว่าจะเป็นอำนาจทับซ้อนกันกับรัฐบาลก็ไม่จริง เพราะ คปป. มีขึ้นมาเพื่อดูแล หากเกิดกรณีเลือกตั้งแล้วยังมีการตีกันอยู่ ก็ต้องให้เขาเข้ามาแก้ไปปัญหา โดยต้องให้อำนาจกับเขาบ้าง ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย

เผยจับต่างชาติเอี่ยวบึ้มราชประสงค์ได้ที่ จ.สระแก้ว

ส่วนความคืบหน้าในการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยวันนี้ได้จับกุมตัวชายชาวต่างชาติคนหนึ่งได้ที่ จ.สระแก้ว ซึ่งชายคนนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสาวไปถึงตัวการอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนจะมีสัญชาติใดยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และจะเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องอุยกูร์หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ อยากขอร้องประชาชนให้งดการนำเสนอข่าวที่ไม่มีแหล่งที่มาแน่ชัด และขอให้งดเว้นการใช้คำว่าก่อการร้าย เพราะการก่อการร้ายจะต้องมีการประกาศ เรียกร้องสิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำ แต่ครั้งนี้ก็ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น

ย้ำฟ้องแพ่งจำนำข้าวแน่ เร่งแก้ปมประมง-การบิน

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวจากผู้เกี่ยวข้อง ที่มีข่าวว่าคณะทำงานจะรายงานสรุปผลการทำงานมาให้รับทราบในวันที่ 7 กันยายน 2558 ว่า ขออย่ากังวล ตนจะทำตามกรอบเวลา ไม่ให้คดีนี้หมดอายุความ ยืนยันไม่ได้รังแกใคร หากใครเห็นว่าสู้คดีได้ ก็ไปว่ากันในศาล ถ้าชนะคดีก็เป็นผู้บริสุทธิ์ หากจะรังแกก็มีแค่จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ สำหรับคดีนี้จะต้องเข้า

สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตนได้สั่งการไปแล้วว่าต้องหามาตรการดูแลคนที่เดือดร้อน เช่น จะให้เปลี่ยนเครื่องมือทำประมงได้หรือไม่ จะจดทะเบียนเรือประมงเพิ่มอีกได้เท่าไร รวมถึงการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งจับปลาว่าจะร่วมมือกันในเรื่องนี้อย่างไร เป็นต้น

ขณะที่การแก้ปัญหาการบินไทยที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตนได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ในการเดินหน้าเรื่องดึงคนมาร่วมงานแล้ว เพราะกฎหมายปกติอาจจะทำไม่ได้ โดยอาจจะต้องใช้คนจากกองทัพอากาศหรือจากต่างประเทศ มาเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ

ครม. ไฟเขียวแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้าน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ รวมวงเงิน 136,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ด้วยการให้เงินกองทุนหมู่บ้านกู้จากรัฐบาล แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร วงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินมาจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 2 ปี จากระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 7 ปี ทั้งนี้ เชื่อมาตรการนี้จะทำให้เงินไหลไปถึงมือผู้เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว
  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน วงเงิน 36,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) รับผิดชอบ โดยใช้จ่ายผ่านตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ อาทิ สร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ดีขึ้น
  1. มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ โดยจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น ภายในระยะเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ทั้งนี้ หากไปดูในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จะมีโครงการขนาดเล็กเช่นนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 16,000 ล้านบาท และยังมีอีกกว่า 24,000 ล้านบาท ที่แต่ละกระทรวงสามารถเสนอของบเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการขนาดเล็กได้ ส่วนนี้จะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีมากขึ้น เพราะการทำโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลากว่าจะมีการเบิกจ่ายจริง การทำโครงการขนาดเล็กจะเข้าไปเติมช่องว่างนี้ ทำให้ภาครัฐสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็กที่จะเข้ามารับงาน

“สมคิด” เตรียมเดินสายโรดโชว์ ธ.ค. นี้

นายสมคิดกล่าวว่า ที่เราเลือกกองทุนหมู่บ้าน เพราะเงินจะถึงมือชาวบ้านได้เร็วมาก เป็นการผ่อนคลายความเดือดร้อน อีกส่วนคือเราต้องการให้นำเงินไปพัฒนาแต่ละหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจุดประสงค์จริงๆ คือต้องการให้เขานำเงินไปพัฒนาสินค้าชุมชนหรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเขา ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโครงการที่จะมาต่อเติมในอนาคต ส่วนที่เร่งการเบิกจ่ายโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้มาเบิกจ่ายให้จบภายในเดือนธันวาคม 2558 ก็เพื่อให้เงินหมุน และช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)

มาตรการทั้ง 3 เป็นเพียงแค่แพ็คเกจส่วนแรกที่จะให้เงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท ลงสู่ภูมิภาคให้เร็วที่สุด โดย มท. ก็เริ่มประชุมว่าจะทำอย่างไร เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้านที่นายสุวพันธุ์ (ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) ก็ดูอยู่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร

ทั้งนี้ นายกฯ ได้กำชับว่าเงินที่ให้ไปจะต้องไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดประสงค์ เพราะเงินที่ให้ไปต้องใช้เพื่อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ให้รอดพ้นจากช่วงเวลานี้ ไม่ได้ให้นำไปใช้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้น ในการใช้เงินจะต้องมีการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการกองหมู่บ้านแต่ละแห่งจะต้องมีการดูแลเป็นอย่างดี แต่การตรวจสอบจริงๆ จะไปอยู่ที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ซึ่งที่ผ่านมามีการแบ่งเกรดอยู่แล้ว และครั้งนี้รัฐบาลจะมุ่งไปที่กองทุนหมู่บ้านเกรดเอและเกรดบี เป็นหลัก

“นี่คือแค่เฟสแรก ผมเชื่อว่าอันนี้จะทำให้เงินเริ่มหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยในอีก 1-2 สัปดาห์หน้า จะมีมาตรการเรื่อง SMEs ออกมา เป็นเฟสที่สอง ที่ก่อให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังดูรายละเอียดอยู่ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมถึงเรื่องการรวมกลุ่มวิสาหกิจ (cluster) ด้วย ภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้ เพื่อที่จะนำไปโรดโชว์ในต่างประเทศ จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย” นายสมคิดกล่าว

รองนายกฯ ยังกล่าวว่า ตนได้กล่าวกับนายอภิศักดิ์ ไม่ต้องกังวลว่าการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล จะทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะสูง จนเกิดสัดส่วน 60% ของจีดีพี

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะกำลังแถลงผลการประชุม ครม. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะกำลังแถลงผลการประชุม ครม. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ยัน คตร. ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเบิกจ่ายงบลงทุน

ด้าน พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้กล่าวชี้แจงในที่ประชุมถึงเสียงวิจารณ์ว่าการทำงานของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.) โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐเป็นไปด้วยความล่าช้า ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหน้าที่ คตร. คือติดตามและเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และจะเข้าไปตรวจสอบโครงการใดก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องความไม่ชอบมาพากลเท่านั้น ยืนยันว่า คตร. ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน กลับกันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปด้วยความลื่นไหลด้วยซ้ำ

เปลี่ยนวิธีจัดซื้อจัดจ้างส่วนราชการ เพิ่มความคล่องตัว

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการเพิ่มความคล่องตัวในการจัดหาพัสดุของส่วนราชการในปีงบประมาณ 2559 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) มีการประชุม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับการกำหนดวงเงินในวิธีตกลงราคา e-market และวิธีประกวดราคา e-bidding เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการเป็นไปด้วยความคล่องตัว อันจะส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และมาตรการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ

– เปลี่ยนวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา จากไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 5 แสนบาท

– เปลี่ยนวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคา จากระหว่าง 1 แสนบาท – 2 ล้านบาท เป็นระหว่าง 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท

– คงวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาไว้ที่ เกิน 2 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการด้วยวิธี e-market หรือ e-bidding แล้วแต่กรณี

– เปลี่ยนวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ จากเกิน 1 แสนบาท เป็นเกิน 5 แสนบาท และต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 และข้อ 24 แล้วแต่กรณี

“ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามแนวทางนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 สำหรับกระบวนการจัดหาพัสดุที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ 15 กันยายน 2558 และยังไม่แล้วเสร็จ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการเดิมต่อไป” พล.ต. วีรชนกล่าว

ย้ายข้ามห้วย 3 ปลัด – ตั้ง “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” กลับพลังงาน

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลับมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน, นายไมตรี อินทุสุต รองปลัด มท. เป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.), พล.อ. ทวีป เนตรนิยม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นายณรงค์ รัตนานุกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เป็นเลขาธิการ ปปส. และนายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

มอบหมายรักษาการแทนนายกฯ “ประวิตร” รองนายกฯ คนที่ 2 – “สมคิด” คนที่ 5

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. ในวันเดียวกัน ยังได้รับทราบ “คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 219/2558 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนกัน” และ “คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 222/2558 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ” โดยสาระสำคัญก็คือ ในกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายวิษณุ เครืองาม