ThaiPublica > เกาะกระแส > เคาะกรอบงบปี ’63 รวม 3.22 ล้าน ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาท – 7 เดือนกับ “ค่าเสียเวลา” ที่ยังประเมินไม่ได้

เคาะกรอบงบปี ’63 รวม 3.22 ล้าน ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาท – 7 เดือนกับ “ค่าเสียเวลา” ที่ยังประเมินไม่ได้

1 สิงหาคม 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคาะวงเงิน 3.22 ล้านล้านบาท ขาดดุลเพิ่มเป็น 469,000 ล้านบาท หลังรายได้หลุดเป้า 19,000 ล้านบาท

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้สำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562 ในวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.22 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายได้รัฐบาลสุทธิที่จะจัดเก็บได้ ที่เดิมทีประมาณการไว้และเคยเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อตอนต้นปีที่ 2.75 ล้านล้านบาทจะคงเหลือที่ 2.31 ล้านล้านบาท หรือลดลงไป 19,000 ล้านล้านบาท และต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 469,000 ล้านบาท จากเดิม 450,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ตามปฏิทินงบประมาณที่เสนอไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา การประชุม 4 หน่วยงานวันนี้เพื่อที่จะเห็นชอบให้สำนักงบประมาณนำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เสนอคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งคำของบประมาณจะเข้ามาที่สำนักงบประมาณวันที่ 9 สิงหาคม 2562 โดยสำนักงบประมาณคาดว่าจะสามารถนําเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระที่ 1 ตามกำหนดการ วันที่ 17 ตุลาคม 2562 และวาระที่ 2-3 ประมาณต้นเดือนมกราคม 2563 จากนั้นจึงเสนอวุฒิสภาพิจารณาประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 ซึ่งคาดว่าจะสามารถนําร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ ประมาณปลายเดือนมกราคม 2563

ขณะที่แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563-2565) คาดว่าจะมีการปรับในส่วนของรายได้รัฐบาลสุทธิ จากเดิมกำหนดประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 2,750,000 ล้านบาท ได้ปรับลดลงมา 19,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้มีการประชุมทบทวนกำหนดกรอบรายได้รัฐบาลสุทธิของแผนการคลังระยะปานกลางอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าแผนการคลังระยะปานกลางจะสมดุลในปี 2573 ซึ่งต้องดูตามความเป็นจริงอีกครั้งว่าจะสามารถถึงจุดสมดุลได้ในปีนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยว่าจะต้องใช้จ่ายงบประมาณเท่าไรในการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละปีจากนี้ไป

ทั้งนี้ ช่วงที่รอพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ประกาศใช้ สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบใช้งบประมาณปีก่อนหน้าไปพลางๆ ก่อน โดยใช้ฐานงบประมาณปี 2562 จัดสรรให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ประกอบด้วย เรื่องของเงินเดือนรายจ่ายประจำ ที่มีฐานเดิมอยู่ในปี 2562 และงบลงทุนที่มีสัญญาแล้ว ซึ่งจะไม่มีรายการใหม่

“ฉะนั้น งบประมาณที่มีการพูดถึงว่าจะหายไปนั้นที่จริงแล้วยังมีอยู่ เงินเดือน ทุกอย่างพร้อมที่จะจ่ายทั้งหมด และงบลงทุนก็ยังมีของรัฐวิสาหกิจอยู่ ยังมีรายการที่ภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP และมีกองทุน Thailand Future Fund ที่จะนำมาใช้กระตุ้นหรือรักษาเสถียรภาพของการใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนจากนี้ไป คือ ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมได้ และเมื่องบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 ออกมาประมาณเดือนมกราคม 2563 ก็เริ่มดำเนินการได้ ซึ่งระหว่างเดือนมกราคม 2563 ก่อนหน้านั้น สำนักงบประมาณจะออกมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อที่จะสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายทันทีหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณร่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ประกาศใช้”

ย้อนรอย “การเมืองยืดเยื้อ” – เท “เวลา” ทิ้งน้ำฟรี 7 เดือน

ทั้งนี้ ตามกระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปีจะเริ่มจากการเสนอยุทธศาสตร์งบประมาณ หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะเริ่มจัดทำกรอบงบประมาณคร่าวๆ ก่อนจะนำไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในรายละเอียด และจัดทำเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป

หากย้อนดูการจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โดยเป็นการเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบเวลาว่าภายในวันที่ 8 มกราคม 2562 จะต้องนำกลับมาให้ ครม.เห็นชอบ “กรอบวงเงิน” ของงบประมาณประจำปี 2563 และภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะต้องให้ ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง และจัดทำเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณส่งให้รัฐสภาเห็นชอบในวันที่ 4 มิถุนายน 2562

โดยในวันที่ 8 มกราคม 2562 ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และดูว่าไม่มีท่าทีที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จึงมีมติเห็นชอบให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.ที่กำหนดให้สำนักงบประมาณเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 และเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สำนักงบประมาณจะนำเสนอกระบวนการจัดทำงบประมาณ พร้อมทั้งการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ครม.ใหม่จึงได้มีมติรับทราบปฏิทินงบประมาณและนำมาสู่การประชุมกำหนดกรอบงบประมาณในวันนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนเดียวกับเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 หรือเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

ดังนั้น การตั้งกรอบงบประมาณล่าช้าไป 7 เดือน กอปรกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในขาลงอีกครั้ง “ค่าเสียเวลา” ในครั้งนี้คงยากที่จะประเมินได้ว่าจะขยายตัวในวงกว้างในระยะต่อไปอย่างไร และเป็นความท้าทายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลาอันใกล้จะถึงนี้