ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ยุโรปตะวันตก”ผู้นำศูนย์กลาง Green Finance โลก – “เซี่ยงไฮ้” ที่หนึ่งเอเชียแปซิฟิก

“ยุโรปตะวันตก”ผู้นำศูนย์กลาง Green Finance โลก – “เซี่ยงไฮ้” ที่หนึ่งเอเชียแปซิฟิก

2 ตุลาคม 2019


รายงาน Global Green Finance Index(GGFI 4) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 จัดอันดับศูนย์กลางการเงินด้านการเงินสีเขียวหรือ Green Finance ได้จัดให้ ยุโรปตะวันตกยังคงเป็นผู้นำในการเป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียว เป็นผลจากการดำเนินยุทธศาสตร์ การวางกรอบกติกาและมาตรการชี้วัดของสหภาพยุโรปรวมทั้งการวางกรอบนโยบายด้านการเงินสีเขียวเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของธนาคารกลางในภูมิภาคนี้

รายงานนี้จัดทำจากความร่วมมือของ Finance Watch, Z/Yen และ Long Financce โดยการสนับสนุนของมูลนิธิ MAVA (MAVA Foundation Pour La Nature) องค์กรการกุศลจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

GGFI 4 จัดอันดับ ศูนย์กลางการเงิน 64 ทั่วโลกในด้านความลึกและคุณภาพของการเสนอการเงินสีเขียว ร่วมกับการประเมินความเป็นมืออาชีพด้านการเงินจากข้อมูลเชิงปริมาณที่ใช้เป็นปัจจัยด้านเครื่องมือ

รายงาน Global Green Finance Index 4 ระบุว่า มาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกดีขึ้นมาก ส่งผลให้อันดับของศูนย์กลางการเงินสีเขียวส่วนใหญ่ดีขึ้นทั้งในเชิงความลึกและคุณภาพ โดยเฉพาะในด้านคุณภาพทุกศูนย์กลางการเงินที่ดีกว่าการประเมินครั้งที่แล้ว หรือ GGFI 3 อีกทั้งคะแนนเฉลี่ยในด้านความลึกและคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.2% ในด้านความลึกและ 3.8% ในด้านคุณภาพ จากการประเมินครั้งก่อน

ศูนย์กลางการเงินขนาดเล็กเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น แม้อัมสเตอร์ดัม ยังกลับมาครองอันดับหนึ่งในด้านความลึก หลังจากร่วงไปอยู่อันดับที่สองใน GGFI 3 และชิงอันดับสองด้านคุณภาพจากปารีส ขณะที่ลอนดอนครองอันดับหนึ่งในด้านคุณภาพ แต่ได้คะแนนน้อยกว่าเดิม

สำหรับแนวโน้มรายงานคาดว่า ลอนดอนจะไม่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำด้านคุณภาพไว้ได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อังกฤษยังตามหลังประเทศอื่นเพราะยังไม่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลสีเขียว(sovereign green bond)

ข้อมูลในรายงานยังบ่งชี้ว่า ศูนย์กลางการเงินที่ติดอันดับโลกก็ไม่ได้หมายความจะมีอันดับที่ดีในการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินสีเขียว ตัว อย่างที่เห็นได้ชัดคือ นิวยอร์กที่ติดอันดับหนึ่งศูนย์กลางการเงินโลกในการจัดอันดับล่าสุด( Global Financial Centres Index) กลับติดอันดับ 41 ด้านความลึก และอันดับ 29 ด้านคุณภาพในการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินสีเขียว

รายงานมีข้อมูลในแต่ละภูมิภาคต่อไปนี้

  • ศูนย์กลางการเงินชั้นนำ
  • ในด้านความลึก ศูนย์กลางการเงินสีเขียว 10 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินชั้นนำอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงในอันดับอยู่บ้าง โดยศูนย์กลางการเงินฮัมบวร์กมีความก้าวหน้าขึ้น กระโดดข้าม 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 7 เท่ากับปารีส ส่วนซูริคถอยไปอยู่ที่อันดับ 5

    ในด้านคุณภาพ บรัสเซลแซงเจนีวาขึ้นมาติดอันดับ 10 ส่วนลอนดอนติดอันดับ 1 ศูนย์กลางการเงิน 10 อันดับแรกนี้แต่ละแห่งมีคะแนนห่างกันไม่มากทั้งในด้านความลึกและด้านคุณภาพ

  • ยุโรปตะวันตก
  • ศูนย์กลางการเงินยุโรปตะวันตกทุกแห่งมีอันดับดีขึ้นทั้งในด้านความลึกและด้านคุณภาพ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อันดับทั้งสองด้านไม่เพิ่มขึ้น โดยมิวนิคก้าวข้าม 9 อันดับมาอยู่อันดับ 11 ในด้านความลึก ส่วนกรุงโรมติดอันดับ 6 ขณะที่ลิกเตนสไตน์อันดับเพิ่มขึ้นถึง 8 อันดับ แต่มิลาน ดับลิน และเกิร์นซี่ย์อันดับตกทั้งความลึกและคุณภาพ

  • อเมริกาเหนือ

  • ซานฟรานซิสโก ยังคงครองอันดับหนึ่งในอเมริกาเหนือ แต่ติดอันดับ 11 ใน GGFI 4 และอันดับด้านความลึกเพิ่มขึ้นมาที่อันดับ 17 ขณะที่มอนทรีลติดอันดับหนึ่งของภูมิภาคด้านความลึก อันดับ 13 ด้านคุณภาพแต่โดยรวมแล้วติดอันดับที่ 9 นอกจากนี้ศูนย์กลางการเงินแคนาดายังมีคะแนนนำสหรัฐฯทั้งในด้านความลึกและคุณภาพ

  • เอเชียแปซิฟิก
  • ศูนย์กลางการเงินเอเชียแปซิฟิกโดยรวมมีอันดับตกลงทั้งในด้านความลึกและด้านคุณภาพ แม้อันดับโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อย แต่หมายถึงว่าศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนี้สามารถปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว โดยเซี่ยงไฮ้ยังครองความเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคในด้านความลึก และศูนย์กลางการเงินกวางโจวก็มีอันดับดีขึ้นในด้านความลึกส่งผลให้คะแนนรวมมาอยู่ที่อันดับ 17 แต่ในด้านคุณภาพนั้นเมลเบิร์นและซิดนีย์ครองอันดับหนึ่ง

    สำหรับประเทศไทยอันดับด้านความลึกลดลงมาที่อันดับ 64 จาก 59 ใน GGFI 3 แม้คะแนนเท่าเดิมที่ 332 ส่วนด้านคุณภาพไทยติดอันดับ 61 ด้วยคะแนน 348 จากอันดับ 57 และคะแนน 337 ใน GGFI 4

  • ตะวันออกกลางและอัฟริกา
  • คาซาบลังก้ายังครองผู้นำของภูมิภาค และรักษาอันดับ 13 ด้านความลึกและอันดับ 17 ด้านคุณภาพ ส่วนศูนย์กลางการเงินที่ติดอันดับรายใหม่ปีนี้คือ เทลอาวิฟ ที่เป็นอันดับสองของภูมิภาค แต่มีอันดับที่ 30 ด้านความลึกและอันดับ 25 ด้านคุณภาพ ส่วนศูนย์กลางการเงินอื่นๆส่วนใหญ่อันดับลดลง

  • ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
  • เซาเปาโลติดอันดับหนึ่งของภูมิภาคและมีอันดับดีขึ้นด้านคุณภาพ ขณะที่หมู่เกาะเคย์แมนติดอันดับสองของภูมิภาคด้านความลึก ส่วนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และเม็กซิโกซิตี้อันดับลดลงทั้งด้านความลึกและด้านคุณภาพ
    ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง

    ปรากยังครองตำแหน่งผู้นำของภูมิภาคและครองอันดับเดิม 22 ในด้านคุณภาพ ส่วนวอร์ซอว์ลดลงทั้งความลึกและคุณภาพ ขณะที่อิสตันบูล และมอสโคว์อันดับดีขึ้นด้านความลึก

    รายงานระบุว่า การรับรู้และตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงของความหลากหลายทางชีวภาพของภาคบริการการเงินส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก แม้มีผลกระทบมหาศาลต่อมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน เศรษฐกิจและโลก

    เพื่อให้การเงินมีส่วนลดความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพผู้กำหนดนโยบายควรที่จะ

  • ปรับใช้ตัวชี้วัด ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการทั่วไปและมีแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล

  • พัฒนาเครื่องมือเพื่อลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม

  • ส่งเสริมการไหลเวียนของการเงินเอกชนเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

  • ลดการสนับสนุนที่จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม

  • เพิ่มงบประมาณในโครงการอนุรักษ์ที่ไม่สามารถหาเงินกู้ได้<
  • รายงานในการสำรวจยังได้สอบถามว่าการเงินสีเขียวด้านใดที่น่าสนใจและอะไรที่จะมีผลต่อความยั่งยืน รวมทั้งปัจจัยใดที่จะมีผลขับเคลื่อนการเงินสีเขียว ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามให้คำตอบว่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน กรีนบอนด์ และโครงสร้างพื้นฐานการเงินยั่งยืน ยังเป็นปัจจัยที่ให้ความสำคัญและมีผลต่อความยั่งยืนมาก