ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะที่จีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอน10) กับมาตรการผักชีโรยหน้า

มลภาวะที่จีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอน10) กับมาตรการผักชีโรยหน้า

1 ธันวาคม 2014


อิสรนันท์…รายงาน

คงเป็นเรื่องขำอีกเรื่องหนึ่งของคนทั่วโลกว่ารัฐบาลแดนมังกรช่างรู้จักใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ในการรณรงค์ด้วยวิธีแปลกๆ เพื่อฝึกวินัยลูกหลานมังกรในเรื่องของสุขอนามัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างคราวที่เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 นั้น ผู้นำจงหนานไห่ได้รณรงค์สร้างสุขาหรือส้วมที่สะอาดได้มาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้งสอนลูกหลานมังกรให้รู้จักใช้ห้องสุขาให้ถูกวิธี ซึ่งปรากฏว่าได้ผลในระดับหนึ่ง ขณะนี้ห้องสุขาของจีนไม่ขึ้นชื่อลือชาเหมือนในอดีตแล้ว

ที่มาภาพ : http://m.wsj.net/video/20141103/110314asiatodaybeijing/110314asiatodaybeijing_1280x720.jpg
ที่มาภาพ : http://m.wsj.net/video/20141103/110314asiatodaybeijing/110314asiatodaybeijing_1280x720.jpg

คราวนี้ ระหว่างที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) เมื่อวันที่ 10-11 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางหมอกควันพิษที่ยังครอบคลุมทั่วนครหลวงในระดับที่ค่อนข้างอันตราย จนอาจทำให้เสียหน้าเจ้าภาพได้หากขืนปล่อยให้ผู้นำภาคีสมาชิกเอเปกต้องสวมหน้ากากป้องกันหมอกพิษระหว่างเดินทางมายังที่ประชุม ซึ่งคงเป็นภาพที่ดูไม่จืดแน่ๆ เหมือนกับภาพที่ทำให้ผู้นำจีนต้องขายหน้ามาแล้วเมื่อนักวิ่งมาราธอนส่วนหนึ่งได้สวมหน้ากากกันหมอกพิษขณะเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนนานาชาติหรือปักกิ่งอินเตอร์เนชันแนลมาราธอนครั้งที่ 34 ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ซึ่งโชคร้ายที่บังเอิญเกิดมลภาวะทางอากาศปกคลุมเมืองหลวงพอดี แต่เจ้าภาพไม่สามารถเลื่อนการแข่งขันที่มีคนเข้าร่วมราว 30,000 คน ออกไปได้ จึงได้แต่ขอร้องให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยเฉพาะนักวิ่งรุ่นคุณปู่หรือผู้มีปัญหาทางเดินหายใจ นักวิ่งมาราธอนกลุ่มหนึ่งจึงแก้ปัญหาด้วยการสวมหน้ากากอนามัยท่ามกลางหมอกควันพิษที่สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกถึง 16 เท่า

และเพื่อป้องกันการหน้าแตกซ้ำสอง ผู้นำจงหนานไห่ซึ่งได้ชูคำขวัญรับการเป็นเจ้าภาพเอเปกว่า “ท้องฟ้าสดใสพร้อมต้อนรับเอเปก” จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและป้องปรามหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ให้ข้าราชการในเขตปริมณฑลได้โบนัสพิเศษหยุดยาวถึง 6 วัน แต่ข้าราชการเหล่านั้นต้องทำงานชดเชยในวันอาทิตย์ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ เพื่อลดจำนวนรถราบนท้องถนน ควบคู่ไปกับการปัดฝุ่นนำนโยบายให้รถวิ่งตามเลขป้ายทะเบียนว่าเป็นเลขคู่หรือเลขคี่กลับมาใช้ใหม่เป็นการชั่วคราว เชื่อว่า มาตรการนี้สามารถลดความแออัดบนท้องถนนลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน โรงงานต่างๆ ในกรุงปักกิ่ง รวมไปถึงบริษัทใหญ่น้อยกว่า 2,000 แห่ง และเขตก่อสร้างอีกเกือบ 2,500 แห่ง ในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งอยู่ติดกับกรุงปักกิ่ง ก็ต้องปิดโรงงานชั่วคราวเช่นกัน นอกจากนี้ ทางการยังห้ามตั้งแผงปิ้งย่างอาหารเสียบไม้ริมถนนด้วย

จะว่าไปแล้ว มาตรการผักชีโรยหน้าระยะสั้นเหล่านี้ ไม่ว่าจะให้ข้าราชการได้หยุดยาวติดต่อกันหลายวัน การสั่งปิดโรงเรียนและปิดโรงงานชั่วคราวล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่แดนมังกรมักจะงัดมาใช้เป็นประจำทุกครั้งที่เป็นเจ้าภาพการประชุมหรือการแข่งขันกีฬา อาทิ คราวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หรือเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์กวางโจว 2010 และการแข่งขันกีฬาเยาวชนเมืองนานกิง เป็นต้น

แต่ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วก็คือ มาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศระยะสั้นเหล่านั้นเริ่มแผ่ขยายไปครอบคลุมถึงประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายพันปี นั่นก็คือประเพณีเกี่ยวกับการตาย ซึ่งปรกติแล้วลูกหลานจะต้องทำพิธีกงเต็ก มีการเผาเสื้อผ้ากระดาษ บ้านกระดาษ ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ยังมีรถยนต์กระดาษ มือถือกระดาษ ข้าวของเครื่องใช้ และภูเขาเงินภูเขาทอง สำหรับให้ผู้ล่วงลับได้ใช้ในปรโลกและมีชีวิตที่สุขสบายหลังความตาย แต่ในช่วงการประชุมเอเปก ทางการได้ห้ามชาวกรุงปักกิ่งทำพิธีกรรมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกจับกุม ถูกปรับ หรืออาจถูกจำคุกได้

เมื่อการประชุมเอเปกสิ้นสุดลง กระบวนการ “ผักชีโรยหน้า” ก็มีอันโรยรา และกลายเป็นว่าคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่งกลับยิ่งแย่ลง โดยทางการอ้างว่าเนื่องจากย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว ประชาชนจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความอุ่นมากขึ้น ประกอบกับโรงงานต่างๆ ได้เริ่มเดินเครื่องจักรอีกครั้งและเร่งงานเป็นการใหญ่ชดเชยการผลิตที่ต้องชะงักงันไปช่วงการประชุมเอเปก พลอยทำให้การใช้ถ่านหินในโรงงานต่างๆ พุ่งพรวดหลายเท่า

ด้วยความหงุดหงิดกับการทำงานแบบผักชีโรยหน้า ชาวเน็ตหลายคนจึงระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการโพสต์ข้อความวิจารณ์การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและองค์การบริหารท้องถิ่น อาทิ ชาวเน็ตคนหนึ่งได้โพสต์ข้อความถึงผู้ว่าการเมืองเจิ้นโจว มณฑลเหอหนาน ว่า “เราผู้เป็นประชาชนคนหนึ่งขอบอกความจริงกับท่านว่าเราไม่พอใจยิ่งกับวิธีการรับมือและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษของท่านและรัฐบาล” โชคดีที่ทางการเหอหนานใจกว้างไม่ถือสา แถมยังตอบกลับว่าพร้อมจะทำงานให้ดีขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า การจะเปลี่ยนเมืองเปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้นได้ ต้องมาจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนก่อน ทางการเองซึ่งก็เบื่อหน่ายเต็มทีกับการต้องทนรับฟังเสียงบ่นและตอบคำถามซ้ำซากเรื่องมลภาวะในอากาศ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนการนำเสนอประเด็นใหม่ให้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น แทนที่จะนำเสนอแต่เรื่องของระดับคุณภาพอากาศในแต่ละวันเป็นเช่นใด รุนแรงถึงขั้นต้องเตือนภัยหรือไม่เหมือนเช่นที่ทำเป็นประจำ แต่สื่อและนักวิชาการได้ร่วมกันเปิดประเด็นที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อนักท่องเที่ยวต่างถิ่นหรือจากต่างแดนแทนถึงกลวิธีการเที่ยวชมกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ให้สนุกสนานโดยไม่มีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยสื่อสร้างสรรค์ได้หันไปนำเสนอประเด็นใหม่ในเชิงแนะนำว่านักท่องเที่ยวต่างถิ่นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่กรุงปักกิ่งในช่วงฤดูร้อน ส่วนช่วงเวลาดีที่สุดที่จะเดินชมเมืองหลวงแห่งนี้ก็คือช่วงฤดูใบผลิต่อเนื่องจนถึงฤดูใบไม้ร่วง

ในรายงานของไชนาเรียลไทม์ (ซีอาร์ที) อ้างรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหามลภาวะทางอากาศที่ครอบคลุมกรุงปักกิ่งต่อเนื่องมานานหลายปีได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เห็นได้ชัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวชมปักกิ่งลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้วเทียบกับสถิติช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยวก็คือปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีแต่การตอกย้ำว่าอากาศเลวร้ายจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

เพื่อให้การนำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ได้รับความน่าเชื่อถือ ซีอาร์ทีจึงดึงข้อมูลระดับของหมอกควันพิษจากสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งที่ได้ติดตั้งเครื่องวัดระดับมลภาวะทางอากาศในปักกิ่งมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วรายงานกลับไปยังกระทรวงต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เกทับด้วยการทำเป็นเตือนว่าข้อมูลนี้ยังไม่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือได้มากพอ เนื่องจากเครื่องวัดสภาพอากาศที่มีอยู่เพียงเครื่องเดียวนี้มักจะเสียบ่อยๆ ในช่วงแรกหลังการติดตั้ง

แม้จะเกทับว่าข้อมูลยังไม่มีความแม่นยำมากพอ แต่จากสถิติที่รวบรวมไว้เป็นเวลา 47,563 ชั่วโมง ระหว่างเดือน เม.ย. 2551 – เม.ย. 2557 ก็ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด นักวิเคราะห์แดนมังกรหลายคนมองในแง่สร้างสรรค์ว่าปักกิ่งยังคงเป็นสวรรค์สำหรับการท่องเที่ยวอยู่หากนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งอากาศค่อนข้างจะสะอาดมากกว่าเดือนอื่นๆ แต่ควรจะหลีกเลี่ยงการเยือนในเดือน ก.พ. ให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นเดือนที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงมากที่สุด

“กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีบทบาทสำคัญมากที่สุด” ศาสตราจารย์เหรินยี่ จาง ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรยากาศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ให้ความเห็นพร้อมกับเสริมว่า ลมจากตอนเหนือในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วงจะช่วยพัดพามลภาวะในอากาศให้จางหายไป แต่หมอกควันพิษนี้จะหนาแน่นเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว เนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินมากขึ้นเช่นเดียวกับการใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อนหรือเครื่องทำความร้อนในช่วงหน้าหนาว เป็นต้น

ส่วนมหานครเซี่ยงไฮ้นั้น จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยให้เห็นว่า ช่วงที่ดีที่สุดที่เหมาะจะไปเที่ยวก็คือช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ฟ้าใสมากที่สุดในรอบปี แต่เดือนต้องห้ามเยือนมหานครแห่งนี้ก็คือเดือน ธ.ค. เนื่องจากมีระดับหมอกควันพิษหนาแน่นพอๆ กับกรุงปักกิ่ง

ศาสตราจารย์จางย้ำว่า สภาพภูมิศาสตร์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับของหมอกควันพิษใน 2 มหานครโลกนี้ต่างกัน เซี่ยงไฮ้อยู่ใกล้มหาสมุทร ลมจากมหาสมุทรจึงทำให้อากาศของเซี่ยงไฮ้สะอาดกว่าที่กรุงปักกิ่งมาก ขณะที่กรุงปักกิ่งอยู่ลึกเข้ามาตอนในแถมอยู่ใกล้กับทะเลทราย จึงไม่อาจเลี่ยงพ้นปัญหานี้ได้ อย่างดีก็แค่บรรเทาให้เบาบางลงเท่านั้น

ที่มาภาพ : http://thediplomat.com
ที่มาภาพ : http://thediplomat.com

แต่เชื่อว่าปัญหานี้คงจะคลี่คลายลงเนื่องจากมีข่าวดีถึง 2 ข่าวซ้อนในช่วงนี้ ข่าวแรกก็คือ จีนและสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงที่จะกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยสหรัฐฯ จะลดการปล่อยคาร์บอนระหว่าง 26-28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเมื่อปี 2548 ให้สำเร็จภายในปี 2568 ส่วนจีนจะทำตามเป้าหมายเดียวกันภายในปี 2573 หรืออาจจะเร็วขึ้นกว่ากำหนดก็ได้

ข่าวดีข่าวที่ 2 ก็คือ ขณะนี้ตัวเลขการใช้ถ่านหินเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่จากการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเรื่องส่งเสริมการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินมากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตปีละ 9.7 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับมาตรการห้ามเปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้การใช้ถ่านหินซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศในแดนมังกรลดลง

ขณะเดียวกัน นักวิชาการอีกกลุ่มก็พยายามชี้ว่าบรรษัทข้ามชาติจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการแปลงวิกฤติเป็นโอกาส แทนที่จะมัวแต่โอดครวญว่าได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษ อย่างบริษัทโคคาโคลาและพานาโซนิก ที่บ่นว่าแต่ละปีต้องหามาตรการจูงใจให้ผู้บริหารยอมไปประจำการตามหัวเมืองที่ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศ อาทิ ยอมให้บินกลับไปประเทศบ้านเกิดได้มากครั้งขึ้น นอกเหนือจากต้องให้โบนัสพิเศษ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แอนโทนี หลิว แห่งคณะเศรษฐศาสตร์เฉิงกง ผู้เชี่ยวชาญด้านมลภาวะทางอากาศให้ความเห็นว่า ในเมื่อรู้ๆ กันอยู่ว่า 3 ตัวการที่ก่อปัญหานี้ซึ่งมีผลกระทบครอบคลุมไปถึงหัวเมืองใหญ่น้อย 71 แห่ง จากทั้งหมด 74 แห่ง ก็คือรถยนต์ ถ่านหิน และอุตสาหกรรมหนัก แล้วเหตุใดบรรษัทข้ามชาติเหล่านั้นจึงไม่มองมุมกลับ แปลงวิกฤติเป็นโอกาส ลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะช่วยฟอกอากาศให้สดชื่นขึ้น

อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ แทนที่จะตื่นตูมกับมาตรการจำกัดปริมาณรถยนต์ของรัฐบาล ตัวการใหญ่ในการปล่อยควันพิษ เหตุใดบรรษัทข้ามชาติจึงไม่คิดผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก่อมลภาวะ ส่วนมลภาวะจากถ่านหินนั้น ก็ควรจะหาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อช่วยให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนมลภาวะที่มาจากอุตสาหกรรมหนัก คิดว่าทางแก้ที่ดีที่สุดก็คือย้ายอุตสาหกรรมหนักจากเมืองใหญ่ไปยังพื้นที่ห่างไกล ขณะนี้ปักกิ่งได้สั่งย้ายอุตสาหกรรมหนัก 53 แห่งออกจากเมืองหลวง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์หลิวให้ข้อคิดด้วยว่า ในเมื่อธรรมชาติของผู้บริโภคก็คือยินดีจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นหรืออากาศสะอาดขึ้น บรรษัทที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลก็ควรจะจับจุดนี้มาเป็นประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนยินดีจ่ายเงินซื้อหน้ากากหรือเครื่องฟอกอากาศ หรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ที่จะช่วยปกป้องจากปัญหานี้ เชื่อว่าบรรษัทข้ามชาติอย่างจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และจีอี จะได้เปรียบกว่าบริษัทอื่นในเรื่องการเจาะตลาดบริการสิ่งแวดล้อมและช่วยรักษาสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความเชื่อถือมานานผิดกับบริษัทจีนที่ยังขาดในเรื่องนี้

ขณะที่การขยายตลาดเครื่องการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ก็ยังมีโอกาสเติบใหญ่อยู่มาก หากมีการพัฒนาสินค้าให้สามารถฟอกอากาศในพื้นที่ที่ใหญ่มากขึ้น อาทิ บ้านทั้งหลังหรือทั่วสำนักงาน แทนที่จะฟอกอากาศแค่ห้องเล็กๆ เพียงห้องเดียว เป็นต้น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์หลิวเชื่อว่ามีโอกาสเติบโต เนื่องจากนับวันลูกหลานมังกรที่มีฐานะดีขึ้นนิยมไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ จึงเป็นโอกาสงามที่จะขยายตลาดนี้เช่นเดียวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองที่คุณภาพอากาศยังดีอยู่