ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ผู้ใช้ 5G อาเซียนทะลุ 220 ล้านคนปี 2025 ลาวเดินหน้าโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม

ASEAN Roundup ผู้ใช้ 5G อาเซียนทะลุ 220 ล้านคนปี 2025 ลาวเดินหน้าโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม

20 ตุลาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 ตุลาคม 2562

  • ผู้ใช้ 5G อาเซียนทะลุ 220 ล้านคนปี 2025
  • เวียดนามยกเลิก 2G เร็วๆนี้เร่ง 5G
  • ลาวเดินหน้าโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม
  • มาเลเซียผลักดันดิจิทัลอีโคโนมี
  • กัมพูชาทดสอบดิจิทัลวอลเล็ตลดต้นทุนโอนเงิน

ผู้ใช้ 5G อาเซียนแตะ 220 ล้านคนปี 2025

ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Economy/ASEAN-workers-compromising-digital-security

รายงาน เรื่อง 5G in ASEAN:Reigniting Growth in Enterprise and Consumer Markets โดย A.T. Kearney ประเมินว่า ในอาเซียน สิงคโปร์จะนำประเทศอื่นๆในปี 2020 ในการเปิดบริการ 5G ตามด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย การเติบโตในช่วงแรกอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงและจากตัวเครื่องที่มีราคาสูง หลังจากการยอดผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับราคาตัวเครื่องลดลงมาอยู่ในระดับที่ซื้อได้ราว 300-500 ดอลลาร์ ดังนั้นจึงคาดว่าการใช้ 5G จะเพิ่มขึ้น 25-40% ในประเทศใหญ่ในภูมิภาคนี้ภายในปี 2025

โดยภายในปี 2025 ผู้ใช้บริการ 5G ในอาเซียนโดยรวมจะมีจำนวนกว่า 200 ล้านคนและอินโดนีเซียจะเป็นผู้นำในการใช้เครือข่าย 5G ด้วยจำนวน มากว่า 100 ล้านคน รองลงมาคือไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา ลาวและบรูไนตามลำดับ

รายงานยังประเมินว่า บริษัทเทเลคอมผู้ให้บริการจะขยายตัวอย่างมากจากการให้บริการ 5G โดยในปี 2025 อาจจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 4.5 -6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 9-12% ของรายได้ในปัจจุบัน โดยเป็นรายได้จากลูกค้าราว 2.5-3.5 พันล้านดอลลาร์ และรายได้จากธุรกิจ 1.5-2.5 พันล้านดอลลาร์

รายงานของ A.T. Kearney ระบุว่า 5G เป็นก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงจากยุคแรกๆ เพราะใช้เวลาน้อยมากในการติดต่อสื่อสารกันแต่ละครั้ง อีกทั้งสามารถรับส่งปริมาณข้อมูลที่ในจำนวนมหาศาล และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อย โดย 5G จะเร็วขึ้นกว่าเดิม 50 เท่า มีการตอบสนองเร็วขึ้น 10 เท่าและใช้พลังงานน้อยกว่า 4G

นอกจากนี้ยังเป็นเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนา 5G เพราะผู้บริโภคมีการใช้ข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อย่างกว้างขวาง

สำหรับทั่วโลกรายงานคาดว่าจะมีผู้ใช้ 5G ทะลุ 2.5 พันล้านคนภายในปี 2025 โดยที่จำนวนมากกว่า 1 พันล้านคนเป็นชาวจีน และการเติบโตของตลาดจีนจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีปริมาณตัวเครื่องมากขึ้นในระดับราคาที่ซื้อหาได้ง่ายกว่าเดิม

ในประเทศอื่นทั้ง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และเยอรมนีจะมีผู้ใช้ 5G มากกว่า 50% ในแต่ละประเทศหรือมีประชากรราว 700-800 ล้านคนเชื่อมต่อกัน

เวียดนามยกเลิก 2G เร็วๆนี้เร่ง 5G

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) จะประกาศโรดแมปยุติการใช้เครือข่าย 2Gเพื่อนำคลื่นความถี่มารองรับการใช้บริการในระบบ 3G กับ 4G และ 5G

นายฟาน ท๋าว เหงียน ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปัจจุบันประชากร 132 ล้านคนใช้โทรศัพท์มือถือ โดยที่ 3G กับ 4G มีสัดส่วนรวมกันราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่อีก 50% เป็นผู้ใช้ระบบ 2G

นายเหงียนกล่าวว่า ในเร็วๆนี้กระทรวงจะประกาศแผนเพื่อยุติการใช้ 2G อย่างเบ็ดเสร็จ และหันมาเน้นที่เทคโนโลยีบรอดแบนด์ 3G กับ 4G และจะเริ่มดำเนินการเพื่อให้บริการ 5G ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคาดว่าจะเป็นสิ้นปีนี้ เพื่อเสริมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ Internet of Things (IoT)

นายเหงียนกล่าวว่า เวียดนามไม่ต้องการตามหลังประเทศอื่นในการให้บริการเครือข่ายบรอดแบนด์ 5G โดยกระทรวงได้ออกใบอนุญาตให้ทดสอบคลื่นความถี่ 5G กับผู้ให้บริการรายใหญ่ เพื่อทดลองให้บริการ 5G ในเมืองใหญ่หลายเมือง

นอกจากนี้การปรับปรุงเครือข่ายโทรศัพท์บรอดแบนด์พื้นฐาน เช่น ไฟเบอร์ สายทองแดง และการส่งผ่านสัญญานระบบไร้สาย ทั้ง 3G 4G และ 5G มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานของระบบเทเลคอมและความก้าวหน้าของประเทศ

ปัจจุบันเวียดนามมีผู้ใช้โทรศัพท์บรอดแบนด์พื้นฐาน 14 ล้านรายจากประชากรทั้งหมด 96 ล้านคน ดังนั้นอัตราความหนาแน่นของการใช้อยู่ที่ 16% จึงสามารถขยายได้อีกมาก

สำหรับการทดสอบระบบ 5G นั้น เวียดเทล( Viettel ) เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายรายแรกและรายเดียวที่ทดสอบการให้บริการ 5G จากการเปิดเผยของ นาย เลือง ฟาม นาม หว่าง ผู้บริหารจากฝ่ายใบอนุญาตและการตลาด ของกระทรวง MIC

การทดสอบที่ผลในด้านบวกในการเตรียมการ 5G เวียดเทลมีเป้าหมายที่จะติดตั้งสถานีส่งสัญญานรุ่นแรกในปี 2019 ทดสอบสถานีเครือข่ายในปี 2020 และพร้อมให้บริการในปี 2021

ส่วนผู้ให้บริการรายใหญ่อีกสองรายคือ โมบิโฟน (MobiFone) และวีเอ็นพีที( VNPT) จะเริ่มทดสอบ 5G ภายในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนตามลำดับ

นายหว่างกล่าวว่า กระทรวง MIC ได้นำเสนอนโยบายเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่จะกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล เพื่อเร่งการพัฒนาเครือข่ายและติดตั้งระบบ 4G ให้เสร็จสิ้นและเดินหน้าระบบ 5G อย่างรวดเร็ว

ลาวเดินหน้าโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม


ลาวจะเริ่มศึกษาโครงการรถไฟเชื่อมลาวกับเวียดนามในปี 2021 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ PetroTrade เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ

กระทรวงการลงทุนและวางแผน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MoU) กับPetroTrade เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดของโครงการรถไฟ

เส้นทางรถไฟจะเชื่อมท่าแขกในแขวงคำม่วน ของลาวไปยังชายแดนเวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกวุ๋งอ๋าง จังหวัด ฮาติงห์ ของเวียดนาม ที่จะช่วยเชื่อมโยงลาวกับอาเซียนและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในด้านการค้าการลงทุนรวมทั้งภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ลาวเป็นประเทศอุตสาหกรรมทันสมัย

การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจะทำให้ลาวพลิกสถานะจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลหรือ landlocked country เป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม หรือ land-linked country ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประสบความสำเร็จ

นาย จันทอน สิดทิชัย ประธานอำนวยการ บริษัทPetroTrade กล่าวว่า เส้นทางรถไฟจะมีความยาวประมาณ 240-270 กิโลเมตร โดยอยู่ในลาว 150 กิโลเมตร อยู่ในเวียดนามอีก 120 กิโลเมตร และหลังจากได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนาม บริษัทจะเริ่มสำรวจเส้นทางจากชายแดนเวียดนามไปยังท่าเรือน้ำลึกวุ๋งอ๋าง

การสำรวจและการออกแบบจะเสร็จสิ้นภายใน 8-12 เดือน และหลังจากที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทั้งรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม การก่อสร้างน่าจะเริ่มได้ในสิ้นปี 2021 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024

โครงการรถไฟสายนี้เป็นรถไฟรางเดี่ยว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารด้วยความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีจากอินโดนีเซีย

มาเลเซียผลักดันดิจิทัลอีโคโนมี

รัฐบาลมาเลเซียเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลโดยประกาศความริเริ่มใหม่และหลายมาตรการซึ่งรวมถึงการผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆและนวัตกรรมๆ

ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวนำเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆ เป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ความริเริ่มต่างๆจะยังมีอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของประเทศที่จะร่วมและแบ่งปันความรุ่งเรือง ตลอดจนการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของชาวมาเลเซีย

ดร.มหาธีร์กล่าวอีกว่าการที่มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยีเอไอ การวิเคราะห์ข้อมูล และ เทคโนโลยีเสมือนจริงได้ ต้องมีการปัจจัยสนับสนุนที่ประกอบด้วย การพัฒนาคนที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี นักการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล

Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ริเริ่มในด้านต่างๆ ระบุว่า การวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยีของโลก เพื่อดึงดูดเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่มาสร้างนวัตกรรมในมาเลเซีย

MDEC จะพัฒนาฟินเทค บล็อกเชน และโดรน ต่อเนื่องเพื่อดึงคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัลจากทั่วโลกรวมทั้งความสนใจจากนักลงทุน เช่น การริเริ่มเป็นศูนย์กลางทดสอบการบังคับโดรนจะเริ่มในเร็วนี้เพื่อแสวงประโยชน์จากการใช้โดรนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

ทั้งนั้คาดว่าเทคโนโลยีด้านโดรนจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจราว 127 ล้านดอลลาร์ หรือ 432.7 พันล้านริงกิตในปี 2025 ปัจจุบันบริษัทมาเลเซียหลายรายเป็นผู้นำระดับโลกในด้านตลาดเทคโนโลยีโดรนระดับโลก

MDEC ได้วางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสนองตอบความต้องการแรงงานที่มีทักษาทางเทคโนโลยี ด้วยการระดมกำลังคนและประสานงานกับผู้ที่มีความสามารถทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้มาเลเซียจะจัดตั้ง National Digital Inclusion Council โดยดร.มหาธีร์เป็นประธาน และมีกรรมการจากกว่า 11 กระทรวง เพื่อสร้างโอกาสทำรายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประชาชน

กัมพูชาทดสอบดิจิทัลวอลเล็ตลดต้นทุนโอนเงิน

ที่มาภาพ: https://english.cambodiadaily.com/business/cambodias-central-bank-testing-digital-wallet-to-ease-cross-border-payments-154470/

ธนาคารกลางกัมพูชากำลังทดสอบระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อลดต้นทุนการชำระเงินข้ามแดน ผ่านแพล็ตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นภายในด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ในชื่อบากอง (Bakong)

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ได้ลงนามในข้อตกลงกับธนาคารเมย์แบงก์ของมาเลเซีย เพื่อศึกษาว่า แพล็ตฟอร์มบากองกับแพล็ตฟอร์ม เมย์แบงก์ทูยู(Maybank2u) จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพื่อที่จะลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนเงิน

หากผลออกมาเป็นที่น่าพอใจก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของสองประเทศ โดยนายเจีย เซเรีย ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia ) กล่าวกับสำนักงานขแมร์ไทมส์ ว่า ค่าธรรมเนียมการโอนเงินปัจจุบันสูงถึง 30% แต่แพล็ตฟอร์มบากองที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตรจะช่วยลดต้นทุนลง

แพล็ตฟอร์มบากองเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ใช้แพล็ตฟอร์มนี้เป็น ธนาคารจากกัมพูชา 8 ราย รวมทั้งธนาคารเอซีลีดา ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของกัมพูชาด้วยสินทรัพย์มูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ที่ประเมินในปีก่อน

โฆษก ธนาคารเมย์แบงก์ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของมาเลเซีย กล่าวว่า การเชื่อมโยงบากองกับ Maybank2u จะทำมีผู้เข้าร่วมใช้บริการมากขึ้น ปัจจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์ของชาวมาเลเซีย 52% ผ่านแพล็ตฟอร์ม Maybank2u

ดาโต๊ะ ฮามิร์อุลเลาะห์ บูร์ฮัน ผู้บริหารฝ่าย Community Financial Services ธนาคารเมย์แบงก์กล่าวว่า ธนาคารมีเป้าหมายที่จะให้บริการลูกค้าทั้งในมาเลเซียและกัมพูชาให้โอนเงินระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้นและต้นทุนถูกลง