ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ธ.โลกเปิดรายงาน ชาวฟิลิปปินส์มั่งคั่งขึ้น 14%

ASEAN Roundup ธ.โลกเปิดรายงาน ชาวฟิลิปปินส์มั่งคั่งขึ้น 14%

31 ตุลาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 ตุลาคม 2564

  • ชาวฟิลิปปินส์มั่งคั่งขึ้น 14%
  • กัมพูชารับตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2022 อย่างเป็นทางการ
  • กัมพูชาดันสีหนุวิลล์ขึ้น “เสิ่นเจิ้น 2”
  • มาเลเซียจัดสรรงบ 2022 วงเงิน 150 ล้านริงกิต หนุนเยาวชนสู่ผู้ประกอบการ
  • สมัชชาแห่งชาติเวียดนามถกโมเดลใหม่เศรษฐกิจ
  • ชาวฟิลิปปินส์มั่งคั่งสูงขึ้น 14%

    ที่มาภาพ: https://www.tatlerasia.com/the-scene/people-parties/whats-on-the-other-side-eight-industry-experts-talk-about-whats-up-ahead-in-their-respective-fields

    ธนาคารโลกระบุว่า ชาวฟิลิปปินส์มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าประเทศสมาชิกอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    จากรายงานล่าสุด The Changing Wealth of Nations 2021 ของธนาคารโลก ความมั่งคั่งต่อหัวในฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ 35,135 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนหน้าที่ 30,823 ดอลลาร์ถึง 14%

    รายงานของธนาคารโลกติดตามความมั่งคั่งของ 146 ประเทศระหว่างปี 1995 ถึง 2018 โดยวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของทุนธรรมชาติทั้งแบบหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน ทุนมนุษย์ สินค้าประเภททุน สินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิ และทุนธรรมชาติทางทะเล ซึ่งนับรวมเข้ามาเป็นครั้งแรก

    ในขณะที่ความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็มาพร้อมกับการจัดการสินทรัพย์ทางธรรมชาติบางอย่างที่ไม่ยั่งยืน

    ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เช่น ฟิลิปปินส์ เห็นว่า ความมั่งคั่งป่าไม้ต่อหัวของพวกเขาลดลง 8% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมีนัยสำคัญ

    ปริมาณปลาทะเลทั่วโลกลดลง 83% เป็นผลจากการจัดการที่ไม่ดีและการประมงเกินขนาด และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้แนวโน้มเหล่านี้รุนแรงขึ้น

    “หลายประเทศกำลังอยู่ในเส้นทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากทุนธรรมชาติ มนุษย์ หรือแหล่งผลิตของพวกเขากำลังหมดลง จากการใช้เพื่อเพิ่มรายได้หรือการบริโภคในระยะสั้น” ธนาคารโลกระบุ

    ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์มีความมั่งคั่งต่อหัวอยู่ที่ 817,846 ดอลลาร์ ตามด้วยมาเลเซีย 167,365 ดอลลาร์ ประเทศไทยมาเป็นอันดับ 3 ด้วยเงินจำนวน 78,216 ดอลลาร์

    อินโดนีเซียและลาวมีความมั่งคั่งต่อหัวสูงขึ้นที่ 78,216 ดอลลาร์และ 38,079 ดอลลาร์ตามลำดับ

    มีเพียงเวียดนามและกัมพูชาที่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ เวียดนามความมั่งคั่งต่อหัวอยู่ที่ 34,084 ดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชายังคงตามหลังที่ 18,397 ดอลลาร์ แต่ธนาคารโลกไม่ได้ให้ข้อมูลสำหรับบรูไนและเมียนมา

    ข้อมูลจากรายงาน ความมั่งคั่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำอย่างฟิลิปปินส์กำลังขยายในอัตราที่ค่อนข้างช้า โดยความมั่งคั่งต่อหัวเติบโต 22% เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่า 44%ค่าเฉลี่ยทั่วโลก

    ธนาคารโลกระบุว่า ทุนมนุษย์เป็นแหล่งความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็น 64% ของทั้งหมด

    ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจาก การระบาดใหญ่ของ โควิด-19 โดยคาดว่าจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ 14%

    ธนาคารโลกเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ลงทุนในสินค้าสาธารณะ เช่น การศึกษา สุขภาพ และธรรมชาติ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่ไม่ยั่งยืน และจัดการความเสี่ยงในอนาคต

    นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีมาตรการด้านนโยบายและการกำหนดราคาที่ช่วยสะท้อนมูลค่าทางสังคมของสินทรัพย์และเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการดำเนินการต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้เงินอุดหนุนการประมง การดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอนและส่งเสริมสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียน

    กัมพูชารับตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2022 อย่างเป็นทางการ

    https://www.phnompenhpost.com/national/cambodia-officially-takes-over-asean-chairmanship

    เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมบรูไนได้มีการส่งมอบ ค้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประธานอาเซียนให้กับกัมพูชาเพื่อเริ่มต้นการดำรงตำแหน่งตลอดทั้งปี และนับ เป็นการกลับมารับตำแหน่งผู้นำภูมิภาคเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ตามการเวียนกันเป็นประธานอาเซียนของประเทศสมาชิก

    สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของกัมพูชาในการรักษา 3 เสาหลักของอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเมือง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการดำรงตำแหน่งประธานปี 2022

    สมเด็จฮุน เซน กล่าวในพิธีส่งมอบงานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ผ่านการประชุมทางวิดีโอ ว่า กัมพูชารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง และในทางกลับกัน ก็ภาคภูมิใจในกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จในการก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่

    สมเด็จฮุน เซนแสดงความขอบคุณต่อการเป็นผู้นำอาเซียนของบรูไนในปี 2021 และสิ่งที่ได้ดำเนินการทั้งหมดเพื่อบรรลุคำขวัญประจำปี 2021ที่ว่า “เราใส่ใจ เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” หรือ We Care, We Prepare, We Prosper

    “ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2022 กัมพูชาจะเป็นผู้นำการดำเนินการร่วมกันของอาเซียนในการบรรลุภารกิจที่สำคัญที่สุดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเท่าเทียม แข็งแกร่งและทั่วถึง ตามเจตนารมณ์หลักของหลักการพื้นฐานของอาเซียนเรื่อง “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” หรือ “One Vision, One Identity and One Community” สมเด็จฮุน เซน กล่าว

    สำหรับเสาหลักของอาเซียนในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเมือง สมเด็จฮุน เซนกล่าวว่า กัมพูชาจะมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความเป็นกลางของอาเซียนและความสามัคคีในอาเซียนผ่านกลไกระดับภูมิภาคและความร่วมมือจากพันธมิตรภายนอก

    สมเด็จฮุน เซนกล่าวว่า ในทุกเรื่องกัมพูชาจะยึดวิถีและหลักการของอาเซียนตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียนและ “สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”( Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) รวมถึงเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ASEAN Outlook on the Indo-Pacific ล่าสุด

    “อาเซียนต้องมีความสามารถในการปรับตัวและเข้มแข็งต่อแรงกดดันหรืออิทธิพลใดๆ ที่เกิดจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับความท้าทายของอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายที่รู้จักดี หรือความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคติดเชื้อใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่า เส้นทางของเรานั้นไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง” สมเด็จฮุนเซนกล่าว

    สมเด็จฮุน เซนกล่าวว่า กัมพูชาจะเสริมสร้างเสาหลักของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการดำเนินการตามความคิดริเริ่มและมาตรการทั้งหมดของอาเซียนอย่างมีประสิทธิผลตามที่ตกลงกันไว้ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าสูงสุด เพื่อเร่งการฟื้นตัวให้กลับมาเป็นบวกภายใต้ความปกติใหม่หลังเกิดโรคระบาด

    สมเด็จ ฮุน เซนกล่าวว่า กัมพูชาจะดำเนินการเพื่อให้ อาเซียนยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่น่าสนใจและไม่หยุดนิ่ง โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัล เสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในหมู่สตรีและเยาวชน

    “กัมพูชาจะเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองความจำเป็นในการสร้างชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชนในการสร้างและรักษาสันติภาพ และเพื่อการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง” สมเด็จฮุนเซน กล่าว

    สมเด็จฮุน เซนให้คำมั่นว่า กัมพูชาจะทำงานเพื่อเสริมสร้างความผูกพันระหว่างประชาชนเพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของ “หนึ่งอัตลักษณ์อาเซียน”

    “ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2022 กัมพูชามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำอาเซียนภายใต้แนวคิด “ASEAN ACT” จัดการกับความท้าทายร่วมกัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองทั่วทั้งภูมิภาค และผมหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนอย่างอบอุ่น สู่ราชอาณาจักรกัมพูชาในปี 2022 ” สมเด็จ ฮุน เซนกล่าว

    นายขิน แผ ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งราชบัณฑิตกัมพูชา กล่าวว่า การเป็นประธานอาเซียนเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับกัมพูชาในการแสดงความสามารถในการเป็นผู้นำและเพิ่มบทบาทในภารกิจระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

    นายขิน แผ ชี้ว่า การเป็นประธานจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของกัมพูชาที่ได้รับความชื่นชมจากพลเมืองอาเซียนที่

    “ทุกคนรู้ดีว่ากัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้น ถูกห้าม และถูกโดดเดี่ยวหลังจากแตกยับเยินด้วยสงครามแย่งชิงกัน แต่ก็ไม่รู้มาตลอดว่ากัมพูชาฟื้นตัวจากห้วงเวลาอันน่าสลดใจครั้งนั้นได้ขนาดไหน และไม่เข้าใจบทบาทที่เราสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาคได้ในขณะนี้”

    นายขิน แผกล่าวว่า การเป็นประธานอาเซียนจะเปิดโอกาสให้กัมพูชาผลักดันความคิดริเริ่มระดับภูมิภาคของตนเองไปสู่วาระสูงสุดของอาเซียนในปี 2022 ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ตำแหน่งประธานมีให้สำหรับประธานแต่ละประเทศในแต่ละปี และเป็นที่ยอมรับได้เนื่องจากความเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน

    “นอกจากนี้ยังมองว่ากัมพูชาจะถูกโยนเผือกร้อนใส่ และจะต้องโชว์จัดการอย่างรวดเร็วหลังจากรับลูกได้เพื่อหลีกเลี่ยงผลที่เข้าตัว ซึ่งหมายถึงประเด็นทะเลจีนใต้ แขกรับเชิญที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งขณะนี้มาเยือนถึงหน้าประตูอาเซียนประจำทุกปี”

    นายขิน แผชี้ว่า แม้โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ แต่ก็มีประเด็นที่ “ร้อนแรง” อีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งซึ่งอาจเป็นแห่งความยุ่งยากของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน

    “สถานการณ์ในเมียนมาอาจบานปลายและอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ดังนั้นกัมพูชาจึงต้องเตรียมพร้อมและพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในเมียนมา” นายขิน แผกล่าว

    กัมพูชาดันสีหนุวิลล์ขึ้น “เสิ่นเจิ้น 2”

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/sville-set-turn-second-shenzhen

    กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังได้ทำสัญญาจ้าง สถาบันชั้นนำของจีนให้เป็นที่ปรึกษาใน การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและยกระดับจังหวัดพระสีหนุให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษแบบเอนกประสงค์” ศูนย์กลางโลจิสติกส์ รีสอร์ตและศูนย์นวัตกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    สัญญาดังกล่าวได้มีการลงนามจริงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนายพาน พัลลา และนาย เสี่ยว ซือหม่า ประธานสถาบันออกแบบผังเมืองเสิ่นเจิ้น (Urban Planning Design Institute of Shenzhen: UPDIS และมีนายอัน พร โมนิโรธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี

    แผนแม่บทจะเป็นแผนงานหลักในการพัฒนาเมืองสีหนุวิลล์ให้เป็น “เมืองเสิ่นเจิ้นแห่งที่สอง” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 2015-2025 โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน การพัฒนาจะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ระยะที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูลและการสำรวจพื้นที่ ระยะที่ 2 การประเมินและจัดทำข้อเสนอ ระยะที่ 3 การจัดทำแผนแม่บท และระยะที่ 4 แผนแม่บทเสร็จสมบูรณ์

    นายเสี่ยว กล่าวว่า สถาบันจะแบ่งปันประสบการณ์ 31 ปีในการพัฒนา วางแผน และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้นกับรัฐบาลและประชาชนกัมพูชา

    นอกจากนี้ UPDIS จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนด้านเทคนิคจากพันธมิตร เพื่อสร้างทีมระดับนานาชาติที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา ให้ความร่วมมือ และเปิดกว้าง

    “เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เราจะสามารถจัดทำแผนแม่บทที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสีหนุวิลล์ให้เป็นเมืองหน้าด่าน ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และ เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนและน่าอยู่” นายเสี่ยวกล่าว

    นายอัน พร โมนิโรธ ชี้ว่าแผนแม่บท เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม
    รัฐบาลได้วางวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนจังหวัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ต้นแบบและเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดและดูดซับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็น “กลไกหลัก” ใหม่ในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ .

    “ผมไว้วางใจ UPDIS ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และได้ทำโครงการไปแล้วประมาณ 5,800 โครงการทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะสถาบันที่เป็นผู้นำในการจัดทำแผนแม่บทของเมืองเสิ่นเจิ้น” นายอัน กล่าว

    นายอัน กล่าวอีกว่าสถาบันจะเตรียม “แผนแม่บทคุณภาพสูง” ที่ “แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาสำหรับกัมพูชาที่สามารถดำเนินการได้ตามบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ของประเทศ

    แนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซนในปี 2019 หลังจากทีม UPDIS ของกระทรวงการคลังและองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดการประชุมโดยตรง 3 ครั้งและทำการประเมิน

    ข้อมูลอย่างเป็นทางการของจังหวัด พระสีหนุดึงดูดเงินลงทุนเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 1994 ณ เดือนพฤษภาคม 2020 มีบริษัท 20 แห่งได้พัฒนาโครงการบนพื้นที่รวม 11,647 เฮคเตาร์บนชายฝั่งและหมู่เกาะของจังหวัด ด้วยเงินลงทุนรวม 3.9 พันล้านดอลลาร์

    เพื่อรองรับกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 รัฐบาลได้จัดสรรเงินเกือบ 200 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงถนน 34 สาย

    นายวาสิม โสรยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม เปิดเผยว่า ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ระยะทาง 190.3 กิโลเมตร มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเส้นทางแรกในประเทศได้ก่อสร้างไปแล้วกว่าครึ่งทาง หลังจากนายกรัฐมนตรีได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2019

    มาเลเซียจัดสรรงบ 2022 วงเงิน 150 ล้านริงกิต หนุนเยาวชนสู่ผู้ประกอบการ

    ที่มาภาพ : https://www.bernama.com/en/news.php?id=2018155

    เต็งกู ดาโต๊ะ ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยในการชี้แจงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2022 ว่า ได้เตรียมจัดสรรเงิน 150 ล้านริงกิตสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยผ่านไปยังธนาคารออมสิน( Bank Simpanan Nasional) และธนาคารเพื่อการเกษตร( Agrobank)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลยังมีแผนที่จะขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับโครงการฝึกอบรมอุตสาหกรรมจนถึงปีการประเมิน 2025 โดยจะขยายไปสู่ระดับปริญญาโท, ประกาศนียบัตรวิชาชีพ, และประกาศนียบัตรทักษะทักษะมาเลเซียระดับ 1 และ 2 ของนักศึกษา

    “เยาวชนของประเทศจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ การเปิดรับโลกการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขาในการเผชิญกับโลกที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

    “ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือ 900 ริงกิตแก่นักเรียนนักศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรม ดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนให้เงินช่วยเหลืออย่างน้อย 900 ริงกิตให้กับการใช้บริการจากนักศึกษาเหล่านี้”

    ดาโต๊ะ ซาฟรุล กล่าวว่า รัฐบาลจะให้สิ่งจูงใจแก่นายจ้างที่จ้างผู้ฝึกงานระดับบัณฑิตศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา (มหาวิทยาลัย) ที่มีอายุระหว่าง 18 -30 ปีด้วยเงิน 900 ริงกิตต่อเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 800 ริงกิตก่อนหน้านี้

    ดาโต๊ะ ซาฟรุล กล่าวว่า การจัดทำบประมาณในปีหน้ากระทรวงการคลังได้เปิดกว้าง มีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะทั้งการเข้าร่วมให้ความเห็น 30 ครั้ง บันทึกช่วยจำ 1,100 ชิ้น และข้อเสนอแนะ อีก 50,000 ข้อผ่านพอร์ทัลงบประมาณปี 2022

    “การระบาดใหญ่นี้ทำให้ประเทศต่างๆ ประสบปัญหาในการช่วยชีวิตและปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน” งบประมาณปี 2022 แสดงถึงความหวังของประเทศที่จะเห็นครอบครัวชาวมาเลเซียฟื้นขึ้นมาได้จากการระบาดของโควิด-19

    งบประมาณประจำปียังมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัว สร้างความสามารถในการปรับตัว และขับเคลื่อนการเติบโต งบประมาณ 2022 มีกรอบวงเงิน 332.1 พันล้านริงกิตซึ่งเป็นงบประมาณที่มีกรอบวงเงินสูงสุดเท่าที่ทำมา โดยจากกรอบวงเงินที่เสนอ จะมีการจัดสรร 233.5 พันล้านริงกิตสำหรับงบประจำและ 76.5 พันล้านริงกิตสำหรับการพัฒนา

    “นอกจากจะจัดสรรเงินจำนวน 23 พันล้านริงกิตสำหรับกองทุนโควิด-19 และ 2 พันล้านริงกิตสำหรับกรณีฉุกเฉิน”

    แม้ว่างบประมาณปี 2022 จะเป็นการงบประมาณแบบขยายตัว แต่เต็งกู ซาฟรุล กล่าวว่าการขาดดุลทางการคลังของประเทศในปีหน้าคาดว่าจะหดตัวลงเหลือ 6% ของ GDP เทียบกับ 6.5% ในปี 2021

    สมัชชาแห่งชาติเวียดนามถกโมเดลใหม่เศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/economic-restructuring-plan-under-examination-at-legislature-on-october-30/211627.vnp

    สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเวียดนามได้อภิปราย ร่างแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับปี 2021-2025 ในวันที่ 30 ตุลาคมซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของการประชุมช่วงแรกซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางวิดีโอ

    ในการนำเสนอร่างแผนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายเหงียนชิ ดัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ชี้แจงว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามรูปแบบการเติบโตไปสู่โมเดลใหม่ในทิศทางที่เพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจของประเทศ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การพึ่งพาตนเอง และ ความสามารถการปรับตัว

    นายเหงียน ชิ ดังชี้ว่า เป้าหมายสุดท้ายคือ การสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยสอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของชาติ

    ร่างแผนดังกล่าวระบุกลุ่มเป้าหมายและตัวชี้วัดเจาะจง 6 กลุ่ม โดยมีการเพิ่มตัวชี้วัดประเภทตลาดที่กำลังพัฒนา การปรับโครงสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม

    ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติจะพิจารณาร่างแผนการใช้ที่ดินแห่งชาติสำหรับปี 2021-2030 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2050 และร่างแผนการใช้ที่ดิน 5 ปีสำหรับปี 2021-2025

    แผนการใช้ที่ดินจัดทำโดยมีเป้าหมายในการจัดสรรที่ดินให้กับภาคส่วนและท้องที่ตามความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจในการป้องกันความมั่นคงแห่งชาติ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสรรที่ดินจะต้องตอบสนองความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก้าวสู่อุตสาหกรรม และการขยายตัวของเมือง ในขณะเดียวกันก็ปกป้องระบบนิเวศน์และรักษาพื้นที่นาข้าว 3.5 ล้านเฮกตาร์ และอัตราพื้นที่ป่าไม้ให้ทรงตัวที่ 42-43%